มาต่อกันอีกครั้งเป็นชุดไฮไลต์ ไฟนอลเอพิโสดในซีรีส์กลเม็ดการลงทุนกับมือโปร อยุทธ์ ชาญเศรษฐิกุล อดีตผู้จัดการกองทุนที่ได้รับการยอมรับอย่างสูงในวงการ มีประสบการณ์ด้านการบริหารเงินลงทุนมาอย่างโชกโชน ปัจจุบันเป็นอาจารย์พิเศษของคณะเศรษฐศาสตร์ หลักสูตรเศรษฐศาสตร์นานาชาติ (EBA) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และรองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยครั้งแรกอาจารย์ได้พูดถึงตราสารหนี้สำหรับคนขี้กลัวหน่อย ต่อมาก็เริ่มเจาะลึกด้านการลงทุนในหุ้นแบบปันผล มาครั้งนี้อาจารย์จะเล่าถึงหลักการลงทุนแบบมืออาชีพสำหรับผู้ลงทุนทั้งที่เป็นมือใหม่หัดขับ หรือพวกเด็กแว้นเจนถนนครับ
ถาม: ครั้งที่แล้วเห็นอาจารย์พูดถึงสัดส่วนการเงินเยอะแยะไปหมด ซึ่งดูแล้วค่อนข้างจะยาก จริงๆแล้วเราจำเป็นต้องวิเคราะห์ขนาดนั้นเลยหรือครับ ทำไมหลายคนซื้อเช้าขายบ่ายก็ได้ค่าขนมกลับบ้านแล้ว ไม่เห็นต้องวิเคราะห์อะไรมากมายเลย
อาจารย์อยุทธ์: นักลงทุนที่ชอบซื้อๆขายๆทุกวัน ส่วนหนึ่งก็คงเป็นเพราะสนุก และอยากมีอะไรตื่นเต้นในชีวิต อีกส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะอยากได้กำไรเยอะๆในระยะเวลาสั้นๆ แต่ที่จริงแล้วโอกาสที่เราจะร่ำรวยจากการลงทุนระยะสั้นมากๆแบบนี้มีค่อนข้างน้อย แต่ไม่ใช่ไม่มีโอกาสเอาเสียเลย เหตุที่ผมว่าโอกาสจะกำไรมีน้อยนั้น ลองดูตัวอย่างง่ายๆ ว่าค่าคอมมิชชั่นในการซื้อขายหลักทรัพย์ครั้งหนึ่งอยู่ที่ 0.25% ของมูลค่าซื้อหรือขายบวกด้วยภาษีมูลค่าเพิ่ม หากเราซื้อขายหุ้น 2 รอบต่อเดือน แปลว่าจะต้องเสียค่าธรรมเนียมในการซื้อขายหลักทรัพย์ไปกลับ 2 ทีเท่ากับ 1% ต่อเดือน หรือ 12% ต่อปี ดังนั้นหากเราต้องการกำไรจากการลงทุน 15% เราจะต้องทำกำไรก่อนหักค่าคอมมิชชั่นให้ได้เท่ากับ 27% ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมากๆ ซึ่งหากเปรียบเทียบกับการเป็นเจ้าของกิจการ ถ้ากิจการของท่านมีกำไรเกิน 12% หรือ 15% ก็นับว่าสูงมากแล้ว ไม่นับว่าจะต้องพยายามทำให้ได้ทุกๆปีอย่างต่อเนื่องอีกด้วย ซึ่งค่อนข้างยากที่จะเป็นไปได้
ถาม: ถ้าอย่างนั้นแล้ว รบกวนอาจารย์ช่วยแนะนำกลยุทธ์การลงทุนในหุ้นแก่นักลงทุนหน้าใหม่ด้วยครับ
อาจารย์อยุทธ์: ผมมีกลยุทธ์การลงทุนอันหนึ่ง ซึ่งไปอ่านเจอใน Forbes Magazine เมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว กลยุทธ์นี้เปรียบเทียบการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์กับวิถีการดำรงชีวิตของสัตว์สองประเภท คือเสือและแม่ไก่ เรียกว่า Tiger and Hen Strategy สำหรับแม่ไก่นั้นโดยธรรมชาติจะต้องหาอาหารเพื่อประทังชีวิต ด้วยการขยันจิก แต่ไม่ได้รับประกันว่าในการก้มลงจิกทุกครั้งจะได้ตัวหนอนหรืออาหารทุกครั้งไป หลายๆครั้งก็จะจิกไปเจอกรวด ก้อนหินก้อนเล็กๆ หรือเม็ดทราย ทำให้ปวดท้องหรือปากหักได้ เปรียบได้กับการซื้อขายหลักทรัพย์ในท้องตลาดแบบรายย่อย คือ พยายามซื้อขายบ่อยๆให้ได้กำไรทีละเล็กทีละน้อย โดยหวังว่าจะได้กำไรมากในระยะยาว แต่ในความเป็นจริงแล้วหลายๆครั้งการลงทุนที่ว่าอาจไม่ประสบผลสำเร็จ และขาดทุนในที่สุด แต่แม่ไก่ก็ไม่มีทางเลือกต้องขยันจิกต่อไป เพราะไม่เช่นนั้นแล้วก็คงอดตาย โดยมีก้อนหินก้อนกรวดกองอยู่เต็มท้อง ต่างกันกับเสือที่จะเฝ้าซุ่มดูเหยื่อ ศึกษาพฤติกรรมว่าเหยื่อมีการเคลื่อนไหวอย่างไร ตัวไหนที่อ่อนแอเหมาะที่จะเป็นอาหาร โดยไม่ต้องเสียแรงมากนัก และเฝ้าดูอย่างสงบเงียบจนเหยื่อตายใจว่าพื้นที่ที่ตัวเองอยู่ปลอดภัยจากภัยอันตราย ถึงจะเป็นเวลาที่เสือออกมา และจัดการเหยื่อแบบเบ็ดเสร็จ ปกติแล้วเสือออกล่าไม่บ่อยครั้งนัก เพราะการล่าเหยื่อแต่ละครั้งพอเพียงให้เสือดำรงชีวิตอยู่ได้เป็นเวลานาน โดยไม่ต้องขวนขวายหาอาหารตลอดเวลาเหมือนไก่
ถาม: แสดงว่าอาจารย์อยากให้เราเป็นเสือมากกว่าจะเป็นไก่ใช่ไหมครับ
อาจารย์อยุทธ์:คือผมมองว่าถ้าเราไม่อยากซื้อขายทุกวัน ก็สามารถเลียนแบบการ หาผลตอบแทนแบบเสือได้ โดยศึกษาข้อมูลหลักทรัพย์โดยละเอียดก่อนการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยพื้นฐาน รวมไปถึงการวิเคราะห์ทางเทคนิค จนกระทั่งมั่นใจว่าหลักทรัพย์ที่ศึกษาอยู่เหมาะสมกับเราที่จะลงทุน และมีโอกาสได้ผลตอบแทนที่น่าพอใจ ซึ่งปกติแล้วกระบวนการเหล่านี้จะใช้เวลา ประเด็นจึงอยู่ที่ว่าเรามีศักยภาพพอที่จะเป็นเสือหรือไม่ เพราะการจะเป็นนักลงทุนประเภทเสือในแวดวงการลงทุนได้นั้น ต้องมีความรู้และความแข็งแกร่งในด้านต่างๆเพียงพอ
ถาม: เอ....แสดงว่านักลงทุนรายย่อยทั่วไป ยังไงก็ต้องเป็นแม่ไก่อยู่วันยังค่ำอย่างนั้นหรือครับ
อาจารย์อยุทธ์: ก็ไม่ถึงขนาดนั้น ถ้าเราไม่มีศักยภาพแต่ก็ไม่อยากซื้อๆขายๆรายวัน ก็คงต้องเลือกทางเลือกที่สาม คือ เป็นผู้ตามที่ดี โดยอาจจะได้อาหารที่เป็นเศษเหลือของเหยื่อที่เสือกินอิ่มแล้ว แต่ก็มีกินได้เรื่อยๆอีกนานพอสมควร แต่ท้ายที่สุดเราอาจต้องระวังที่จะกลายสภาพเป็นเหยื่อไปเสียเองด้วย
ถาม: สำหรับนักลงทุนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่อะไรเลย คือ ไม่มีศักยภาพพอที่จะเป็นเสือ ขี้เกียจเกินกว่าจะเป็นไก่ และไม่รู้ว่าจะไปเป็นแร้งลงที่ไหนได้ อาจารย์พอจะมีข้อแนะนำอะไรได้บ้างครับ
อาจารย์อยุทธ์: ถ้าไม่รู้ในเรื่องหุ้นรายตัวเลย รู้อย่างเดียวว่าต้องการลงทุนในหลักทรัพย์ เพราะเชื่อในการลงทุนระยะยาว การลงทุนในกองทุนรวมก็เป็นทางเลือกที่ดี สำหรับเคล็ดลับการลงทุนก็ไม่มีอะไรมาก คือ ก่อนตัดสินใจลงทุน ควรต้องพิจารณาแนวโน้มทิศทางของเศรษฐกิจไทย ถ้าเป็นขาขึ้นก็ไม่ต้องทยอยซื้อ ให้ซื้อไปเลยทีเดียว เพราะถ้าใช้วิธีเฉลี่ยซื้อ ก็จะได้ราคาแพงขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากในช่วงเศรษฐกิจขาขึ้น ราคาหุ้นจะวิ่งนำภาวะเศรษฐกิจเสมอ แต่ถ้าเป็นขาลง ก็ชะลอการลงทุนจนกว่าเศรษฐกิจทำท่าว่าจะนิ่งและพบจุดต่ำสุดแล้ว หรือที่เรียกกันว่า Bottom Out แล้วค่อยๆทยอยลงทุน โดยใช้วิธีลงทุนเป็นจำนวนเงินเท่าๆกันทุกเดือนแบบเฉลี่ยต้นทุนก็ได้ ซึ่งวิธีนี้ต้องอาศัยความมีวินัยในการลงทุนเป็นอย่างมาก
ถาม: แล้วกองทุนรวมที่บริหารตามดัชนีที่เรียกกันว่า Passive กับกองทุนที่มีผู้จัดการกองทุนคอยจัดการให้ที่เรียกกันว่า Active Fund นั้นเราควรเลือกลงทุนอย่างไรครับ อาจารย์อยุทธ์: ส่วนตัวแล้วผมเห็นว่าข้อจำกัดอย่างหนึ่งในวงการกองทุนรวมบ้านเรา คือไม่ว่าจะ Active หรือ Passive Fund จะลงทุนในหุ้นลักษณะใกล้เคียงกันหมด คือมีแต่หุ้นพลังงานเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากอัตราผลตอบแทนอ้างอิงที่ใช้สำหรับเปรียบเทียบผลการดำเนินงานของกองทุนแทบจะเป็นตัวเดียวกัน คือ SET Index หรือ SET50 Index ผมมองว่าถ้ากองทุนรวมมีทางเลือกในการลงทุนในหุ้นไทยที่หลากหลายมากกว่านี้ ก็จะดีสำหรับนักลงทุนทั่วไป โดยอาจมีการลงทุนที่มีดัชนีเปรียบเทียบเป็นตัวอื่นๆ ที่มีการกระจายความเสี่ยงในหลากหลายอุตสาหกรรมมากกว่านี้ หรือมีดัชนีที่เหมาะสมกับทุกภาวะเศรษฐกิจ
ถาม: ก่อนหน้านี้อาจารย์พูดว่าควรชะลอการลงทุนจนกว่าเศรษฐกิจถึงจุดต่ำสุด ไม่ทราบว่าถ้าจะขอให้อาจารย์ฟันธงตรงนี้เลยว่าเราถึงจุดนั้นหรือยัง พอจะได้หรือไม่ครับ
อาจารย์อยุทธ์: ตอบคำถามนี้แล้วกลัวเพื่อนๆในวงการจะโกรธเอา แต่โดยส่วนตัวผมแล้ว มองว่าภาวะเศรษฐกิจตอนนี้ ยังไม่ถึงจุดต่ำสุดทั้งภายในและต่างประเทศ เพราะฉะนั้น คงไม่ต้องรีบร้อนที่จะลงทุนในกองทุนรวมที่เป็นหุ้น แต่อันนี้ไม่ได้หมายรวมถึง LTF และ RMF เพราะถือเป็นการลงทุนระยะยาว ซึ่งได้ประโยชน์จากการได้รับยกเว้นภาษีเงินได้เป็นหลัก
ถาม: ท้ายนี้อาจารย์มีอะไรที่จะฝากไว้ให้นักลงทุนมือใหม่บ้างครับ
อาจารย์อยุทธ์: การลงทุนในหุ้นไทยนั้นไม่ถึงกับยากทีเดียวนัก ที่สำคัญคือเราต้องรู้ศักยภาพของตนเองเสียก่อน ว่าเป็นนักลงทุนแบบไหน ...อยากเป็น เสือ แต่ถ้าขาดความรู้ด้านการเงินและเศรษฐกิจ ก็คงจะลำบาก...ถ้าอยากเป็นผู้ตาม ก็จงตามให้ถูก เพราะไม่มีใครถูกในทุกๆครั้ง ซึ่งก็ขอเป็นกำลังใจว่าในระยะยาวแล้วเราจะอยู่ในกลุ่มที่เป็นบวก คือมีกำไรเรื่อยๆ แม้จะมีขาดทุนบ้างแต่อัตราขาดทุนนั้นต้องถูกจำกัดให้อยู่ในระดับที่รับได้ .......หรือว่าจะเลือกเป็นแม่ไก่ที่ต้องจิกหาอาหารตลอดเวลา.... ก็คงขอฝากไว้เพียงเท่านี้
ทิ้งท้ายได้ดุเด็ดเผ็ดมันมากครับ ต้องขอบคุณท่านอาจารย์อยุทธ์มากๆอีกครั้งที่เปิดใจให้สัมภาษณ์กับ Money DIY ติดต่อกัน 3 ตอนรวดครับ
(สำหรับผู้ที่พลาดสองตอนแรกติดตามได้ที่ www.manager.co.th กองทุนรวม คอลัมน์ Money DIY ครับ)