ในบทบาทประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากสหรัฐอเมริกา มีทุนสำรองระหว่างประเทศมากเป็นอันดับ 2 รองจากประเทศจีน ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ใหญ่กว่าประเทศไทยถึง 20 เท่า มีประชากรมากกว่า 127 ล้านคน และรายได้ประชาชาติต่อคนมากกว่า 40,000 ดอลลาร์สหรัฐ การที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นหดตัวลงอย่างรุนแรงที่สุดในรอบกว่า 3 ทศวรรษครั้งนี้ย่อมส่งผลกระเทือนไปในวงกว้างอย่างแน่นอน
ภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาของญี่ปุ่นขณะนี้เป็นแรงกดดันให้รัฐบาลญี่ปุ่นพยายามหาทางออกในทุกๆ ด้าน เพื่อยับยั้งภาวะถดถอยที่ถูกกระทบอย่างหนักจากภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะการชะลอตัวรุนแรงของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่น เพราะถ้าลงไปดูถึงเนื้อในโครงสร้างเศรษฐกิจของญี่ปุ่นซึ่งถือเป็นผู้ผลิตและส่งออกรายใหญ่ของโลกนั้น จะพบว่าประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่พึ่งพิงการส่งออกสูงถึง 46% และเป็นสัดส่วนการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาถึง 20%
ขณะเดียวกันค่าเงินเยนก็มีทิศทางแข็งค่าขึ้นในช่วงที่ผ่านมาจากระดับ 120 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐมาอยู่ที่ระดับประมาณ 88-89 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้สินค้าที่ส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาที่ปัจจุบันก็มีคำสั่งซื้อหดหายลงไปมากอยู่แล้วกลับยิ่งมีราคาสูงขึ้นไปอีก
“การหดตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นต่อเนื่องมาถึง 3 ไตรมาสย่อมส่งสัญญาณว่าได้เข้าสู่ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจอย่างชัดเจน และมีทีท่าว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยของญี่ปุ่นในครั้งนี้อาจจะยืดเยื้อออกไปอีกอย่างน้อย 2-3 ไตรมาสของปี 2552 นี้ก่อนจะเริ่มฟื้นตัวขึ้น”
เชื่อว่าในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลญี่ปุ่นก็รู้ถึงความรุนแรงของบาดแผลตนเองดีอยู่แล้ว จึงมี แผนและมาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องทั้งในส่วนภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ ทั้งการจัดสรรงบประมาณกว่า 1.15 ล้านล้านเยน เพื่อช่วยบริษัทเอกชนที่ประสบปัญหาทางการเงิน หรืองบช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอี 10 ล้านล้านเยน เป็นต้น
ขณะเดียวกันก็ดำเนินการมาตรการทางการเงินโดยใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายซึ่งคาดว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นจะใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายโดยคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.1% ต่อไป
อย่างไรก็ตาม วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นกับญี่ปุ่นที่มีชนวนเหตุสำคัญมาจากสหรัฐอเมริกา ในครั้งนี้นั้น ถ้าหากมาวิเคราะห์ในเชิงเปรียบเทียบแล้ว การหดตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นถือว่า มีผลกระทบไม่มากเมื่อเทียบกับเศรษฐกิจสหรัฐ เพราะหลังเศรษฐกิจญี่ปุ่นเกิดภาวะฟองสบู่แตกเมื่อปี ค.ศ. 1987 ถึงแม้รัฐบาลจะใช้มาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจมาโดยตลอดแต่เศรษฐกิจญี่ปุ่นก็ทรงๆ ตัวมาจนถึงปัจจุบัน ดังนั้นเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่หดตัวครั้งนี้จึงไม่แรงเท่าสหรัฐอเมริกา
ส่วนการถดถอยของเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจไทยมากน้อย แค่ไหนนั้น หากพิจารณาจากโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่ส่วนใหญ่พึ่งพิงการส่งออกเช่นกันกว่า 70% ดังนั้น ถ้าต่างประเทศมีอะไรเปลี่ยนแปลงเราก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงที่จะได้รับผลกระทบเช่นกัน โดยประเทศไทยมีสัดส่วนการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกาประมาณ 20% ใกล้เคียงกับการส่งออกไปญี่ปุ่นที่มีสัดส่วนประมาณ 20% ส่วนยุโรปและเอเชียมีสัดส่วนส่งออกภาคละประมาณ 30%
นอกจากการส่งออกที่ไทยได้รับผลกระทบแล้ว การท่องเที่ยวซึ่งมีผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ นำรายได้เข้าประเทศปีละกว่า 6 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 8% ของเศรษฐกิจไทยก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน เพราะประเทศไทยเป็นหนึ่งในเป้าหมายอันดับต้นๆ ที่นักท่องเที่ยวญี่ปุ่นซึ่งเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงมีความต้องการเดินทางมาท่องเที่ยวมากที่สุด
แรงกระเพื่อมที่ส่งตรงออกมาจากญี่ปุ่นในครั้งนี้เราคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ สิ่งที่ทำได้คือ การปรับตัวและเตรียมความพร้อมที่จะรับมือกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะยืดเยื้อไปจนกว่าจะผ่านพ้นครึ่งปีแรกนี้ไป ด้วยความหวังว่าจะตั้งไข่และเริ่มเดินกันใหม่ได้อีกครั้ง
บทความโดย
รศ.ดร.มนตรี โสคติยานุรักษ์
รองคณบดี คณะรัฐประศาสนศาสตร์ นิด้า
(GSPA NIDA)