xs
xsm
sm
md
lg

อัปเดต"สินค้าโภคภัณฑ์" ขึ้นหรือลง?...เป็นไปตามเศรษฐกิจโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ต้นปีที่ 2551 ที่ผ่านมา สินค้าโภคภัณฑ์ได้ปรับตัวอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง อันมีสาเหตุมาจากการที่ราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นอย่างสุดกู่ เฉียด 150 เหรียญดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งสร้างความตื่นตระหนกให้แก่ประชาชนคนเดินดินอย่างเราๆ ท่านๆ ขนานใหญ่ ว่าในอนาคตจะเป็นเช่นไร หน่วยงานทางภาครัฐต้องออกมารณรงค์ให้หันไปใช้พลังงานทดแทนอย่างไบโอดีเซลกันอย่างจริงจัง ขณะที่ในหลายประเทศมีความพยายามที่จะพัฒนาพลังงานที่ยั่งยืน ทั้งจากลม น้ำ แสงแดด และสินค้าเกษตรบางประเภท

แต่ทว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ก็กลับคลี่คลายลงเมื่อปลายปี 2551 เมื่อราคาน้ำมันที่ทำทีว่าพุ่งขึ้นแบบไม่มีจุดหมายปลายทางเมื่อต้นปี กลับสวนทางปรับลงมาในช่วงครึ่งปีหลัง และดำดิ่งลงมาจนอยู่ในระดับเดิมอีกครั้งอย่างไม่น่าเชื่อ ฉุดให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวลงด้วยเช่นกัน

ส่วนโลกเองยังต้องเผชิญกับวิกฤติจากสภาวะโลกร้อน ที่เริ่มส่งผลอย่างชัดเจนมากขึ้นทุกที โดยประเทศที่ไม่เคยมีหิมะตกในรอบเฉียดศตวรรษกลับมาตกอีกครั้ง ขณะที่ออสเตรเลียมีอุณหภูมิสูงขึ้นถึง 43 องศาเซลเซียส ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต เนื่องจากไม่เคยร้อนเท่านี้มาก่อน ขณะที่อาร์เจนตินาก็เกิดภัยแล้งที่รุนแรงที่สุดในรอบ 48 ปี ทำให้อุตสาหกรรมผลิตเนื้อ และธัญพืชเสียหายหนัก

ขณะเดียวกัน ยังส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น อุรุกวัย ปารากวัย และพื้นที่ตอนใต้ของบราซิล ความแห้งแล้งที่เกิดขึ้นทำให้วัวล้มตายไปแล้วถึง 300,000 ตัว และสร้างความเสียหายแก่พื้นที่การเกษตรใน จ.ซานตาเฟ่ คิดเป็นมูลค่าถึง 21,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังก่อให้เกิดความตึงเครียดครั้งใหม่ระหว่างรัฐบาลกลาง ภายใต้การนำของประธานาธิบดีคริสตินา เฟอร์นานเดรส กับกลุ่มเกษตรกรที่ขัดแย้งกันเรื่องภาษีส่งออก ทำให้การค้าขายพืชผลการเกษตรต้องหยุดชะงักเมื่อปีที่แล้ว

ที่น่าเป็นห่วงไม่แพ้กันคือ การที่นายสมิทธ ธรรมสโรช อดีตผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ออกมาระบุว่า การเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติในขณะนี้ถือว่ามีความผิดปกติ โดยประเทศไทยเองมีฤดูหนาวยาวนานและอุณหภูมิลดลงต่ำเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากได้รับอิทธิพลมวลอากาศเย็นจากขั้วโลกเหนือผ่านมาทางจีนนานผิดปกติ โดยมาพร้อมกับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้ชายฝั่งภาคตะวันออกด้านอ่าวไทย มีความเร็วลม 45 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีสตรอมเซิร์จขนาดกลางและเล็ก ทำให้เกิดคลื่นกัดเซาะชายฝั่งที่หัวหินจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ซึ่งเห็นได้ชัดเจนบริเวณแหลมตะลุมพุก บริเวณชายฝั่ง บ้านเรือนประชาชนเกิดความเสียหายรุนแรง 2-3 เมตร

ทั้งนี้ การเกิดภัยธรรมชาติที่ผิดปกติในช่วงฤดูหนาวนี้ ทำให้นักวิชาการ นักวิจัยต่างวิเคราะห์สถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางถึงสภาวการณ์ของโลกที่ไม่ใช่เกิดเฉพาะในไทย แต่ในสหรัฐอเมริกา ยุโรป จีน ต่างก็ได้รับผลกระทบจากมวลอากาศเย็นจากขั้วโลกเหนือเคลื่อนตัวเข้าหาเส้นศูนย์สูตร ซึ่งคาดว่าเกิดจากแกนของโลกเอียงห่างจากดวงอาทิตย์มากกว่าปกติจากเดิมในฤดูหนาวแกนโลกจะเอียงห่างจากดวงอาทิตย์ 23.5 องศา แต่ปีนี้อาจห่างมากกว่านั้น ซึ่งในอดีตแกนโลกห่างจากดวงอาทิตย์แค่ 0.5-1 องศา อย่างไรก็ตาม ภายใน 1-2 เดือน น่าจะมีหลักฐานทางวิชาการออกมายืนยันผล

“สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ หากปีนี้ฤดูหนาวยาวนานในฤดูร้อนจะเป็นอย่างไร ซึ่งในปีนี้จะมีภัยพิบัติรุนแรงหรือไม่จะเห็นได้ชัดเจนในช่วงฤดูร้อนนี้ หากหากฤดูร้อนสั้นลง หรือแกนของโลกจะเอียงเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากขึ้นทำให้อุณหภูมิสูงหรืออุ่นล้วนผลกระทบทั้งสิ้น ผลโดยตรงอาจเกิดคลื่นความร้อน หรือฮีตเวฟ เหมือนที่เกิดขึ้นในอินเดียมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก คาดว่าปีนี้อุณหภูมิน่าจะสูงถึง 42 องศาเซลเซียส ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยเฉพาะเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว นอกจากนี้อาจเกิดไฟป่า มีหมอกควันปกคลุมเหมือนที่เคยเกิดในภาคเหนือของไทย สำหรับผลกระทบทางอ้อม โดยเฉพาะอาชีพเกษตรกรรม ผลผลิตทางการเกษตรต่อไร่ลดลง เกิดภาวะแห้งแล้งส่งผลให้ขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ ขณะเดียวกันโรคระบาดจะมากขึ้น โรคภัยไข้เจ็บสูงเพราะเชื้อโรคสามารถแพร่พันธุ์ได้ง่าย ผนวกกับประเทศไทยกำลังประสบวิกฤตทางเศรษฐกิจยิ่งทำให้เกิดปัญหาซ้ำซ้อนซ้ำเติมปัญหาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน”นายสมิทธ กล่าว

อีก3–5 ปีข้างหน้าสินค้าโภคภัณฑ์ยังดูดี
วันนี้ ทีมงาน "ASTVผู้จัดการกองทุนรวม" จะขอพานักลงทุนไปตามติดสถานการณ์การลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ โดยจะมีมุมมองของผู้บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ฟินันซ่า จำกัด ซึ่งนับเป็นเจ้าแรกๆ ในการออกกองทุนที่เน้นลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ก็ว่าได้ แถมยังออกมาก่อนที่สินค้าโภคภัณฑ์จะปรับตัวขึ้นไปอย่างหวือหวา โดยจะมาพูดถึงแนวโน้มสินค้าโภคภัณฑ์ว่าจะยังมีความน่าสนใจอยู่อีกหรือไม่ พร้อมกับบทวิเคราะห์ที่น่าสนใจเกี่ยวกับสินค้าโภคภัณฑ์จากสถาบันวิจัยนครหลวงไทยหรือ SCRI ด้วย

มนต์ชัย จาตุรันต์ภิญโญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการลงทุน บลจ.ฟินันซ่า เปิดเผยว่า สินค้าโภคภัณฑ์ในระยะยาวประมาณ 3 – 5 ปีข้างหน้ายังดูดี โดยราคาได้ปรับลดลงมาจนอยู่ในระดับที่น่าสนใจ โดยดีมานด์ในระยะยาวน่าจะปรับขึ้นไปได้ ส่วนซับพลายอาจจะปรับลดลงเมื่อภาวะเศรษฐกิจไม่ดี หรือหยุดชะงักไป แต่กลับมาลงทุนใหม่ เมื่อภาวะเศรษฐกิจดีขึ้น เมื่อดีมานด์กลับมาสู่ภาวะปกติ

สำหรับกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีความน่าสนใจ ได้แก่ น้ำมัน และกลุ่มโลหะอุตสาหกรรม ขณะที่ทองคำในระยะสั้น ยังได้รับความสนใจในฐานะสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัย(Safe Heaven)และเป็นแหล่งที่พักเงิน แต่ราคายังค่อนข้างผันผวน ส่วนสินค้าเกษตรกรรมยังคงนิ่ง ไม่ค่อยมีความหวือหวามาก และมีความอ่อนไหวต่อภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำน้อยที่สุด โดยเชื่อว่าเมื่อภาวะเศรษฐกิจกลับมาดี ราคาน้ำมันจะปรับขึ้นไปสูงอีกครั้ง

ส่วนการที่เกิดภาวะโลกร้อน ก็จะส่งผลดีต่อสินค้าเกษตรกรรมเป็นหลัก เนื่องจากซับพลายมีน้อยลง ผลผลิตการเกษตรไม่ได้ตามที่คาดหวัง ราคาผลผลิตจึงได้รับผลกระทบไปด้วย อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายเชื่อว่าในปี 2553 สินค้าโภคภัณฑ์จะกลับมาดีอีกครั้ง และการลงทุนทองคำในระยะยาว ไม่ใช่เป็นการลงทุนที่ดี โดยในปัจจุบันเป็นเพียงกระแสมากกว่า และภาวะเศรษฐกิจย่ำแย่ จึงจำเป็นต้องไปลงทุนในทองคำ แต่หากภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัว นักลงทุนจะหันไปลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ อาทิ หุ้น เป็นต้น แทน

ความปลอดภัย...อีกเสน่ห์ของทองคำ
ส่วนทางด้าน สถาบันวิจัยนครหลวงไทยหรือ SCRI มองภาพรวมของสินค้าโภคภัณฑ์ว่า ที่ยังคงมีแนวโน้มมีเสถียรภาพและฟื้นตัวต่อเนื่องยังคงอยู่ในกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีปัจจัยหนุนระยะสั้นชัดเจนจากความตึงตัวหลังการ Destock ช่วงที่ผ่านมา เช่น ค่าระวางเรือ ถ่านหิน สินค้าเกษตรที่ปริมาณสต็อกอยู่ในระดับต่ำเช่นน้ำตาลทราย ขณะที่ โภคภัณฑ์ที่ยังคงคาดไม่ฟื้นตัวส่วนใหญ่อิงกับภาคอุตสาหกรรมและปริมาณสต็อกยังคงสูง เช่น น้ำมัน โดยยังคงมีแรงกดดันสูงจากตัวเลขเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆที่มีแนวโน้มอ่อนแอลง

ส่วนทองคำกลับมามีความน่าสนใจอีกครั้งจากการเป็น Safe Heaven แต่ระดับราคาที่สูงกว่า 900 เหรียญ/ออนซ์เริ่มมีความเสี่ยงสูงขึ้นต่อการเข้าเก็งกำไร เนื่องจากเกินกว่าระดับปัจจัยพื้นฐาน แต่ได้แรงหนุนจากปัจจัยอื่น ดังนั้น ต้องระมัดระวังมากขึ้น หากปัจจัยหนุนต่างๆ เช่น ทิศทางค่าเงิน ภาวะตลาดหุ้น Yield ในตลาดพันธบัตร ปรับเปลี่ยนไป

ทั้งนี้เชื่อว่ากิจกรรมทางเรือในส่วนของเอเชียจะกลับมาเป็นปกติหลังจากผ่านช่วงเทศกาลวันหยุดยาวในช่วงที่มีวันหยุดยาว โดยคาดว่าการปรับเพิ่มขึ้นของค่าระวางเรือจะเกิดอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งสอดคล้องกับการปรับขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2552 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ปัจจัยหนุนในระยะ1-2 เดือนข้างหน้ายังคงมาจากการเจรจาสินแร่เหล็กและถ่านหิน รวมทั้งปัจจัยบวกจากแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนวงเงิน 584,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

สำหรับรายงานสต็อกสินแร่เหล็กของจีนประจำเดือนมกราคม ที่ผ่านมาเริ่มเห็นสัญญาณที่ดีขึ้นหลังจากอัตราการปรับลดลงของinventory ชะลอตัวลงในเดือนม.ค. (-2.1% mom เทียบกับ -11.7% ในเดือนก่อนหน้า) แสดงถึงการลดระดับของสินค้าคงคลัง (destocking) ที่น่าจะใกล้สิ้นสุดลง

ขณะเดียวกัน ในระยะสั้นเชื่อว่าทองคำจะกลับมาได้รับความสนใจในฐานะสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัย เนื่องจากตลาดกลับมามีความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัวมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ส่งผลให้ความเสี่ยงในตลาดทุนสูงขึ้น เเละแนวโน้มทิศทางค่าเงิน US กลับมาอ่อนค่าในระยะสั้น นอกจากนี้ การลงทุนในตลาดพันธบัตรมีผลตอบแทน(Bond Yield) ที่ต่ำ อย่างไรก็ตาม การที่รัฐบาลประกาศเพิ่มปริมาณพันธบัตรที่จะเตรียมออกขายในเดือนกุมภาพันธ์ เพื่อใช้ในแผนกระตุ้นเศรษฐกิจจะเริ่มทำให้ BondYield ขยับขึ้น เเละการลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือกในกลุ่มโภคภัณฑ์อื่นไม่น่าสนใจ อย่างไรก็ตาม การเข้าเก็งกำไรทองคำที่ระดับราคาสูงกว่ากรอบพื้นฐานปี 2552 ที่ 700-900 เหรียญ/ออนซ์ ในปี2552 อาจจะต้องใช้ความระมัดระวังมากขึ้น หากปัจจัยหนุนต่างๆปรับเปลี่ยนไป
กำลังโหลดความคิดเห็น