xs
xsm
sm
md
lg

สิเกาเจอปัญหาคลื่นกัดเซาะชายหาดหนัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตรัง – อำเภอสิเกาเจอปัญหากัดเซาะชายหาดเป็นความยาวกว่า 4 กม.ซึ่งที่ดินบริเวณนี้จะถูกคลื่นกัดเซาะจมหายไป ปีละประมาณ 50 เมตร พร้อมร้องถึงผู้ว่าฯ หาแนวทางแก้ไขปัญหาด้วย

วันนี้ (11 ก.พ.) นายสมจิตร รักรู้ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 2 บ้านพรุจูด ตำบลบ่อหิน อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง พร้อมด้วย นายธรรมฤทธิ์ เขาบาท นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) บ่อหิน และนายชาคริต อนันต์มั่งคั่ง หัวหน้าฝ่ายสำรวจ และออกแบบ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ตรัง ได้นำผู้สื่อข่าวลงไปสำรวจพื้นที่ท่าเทียบเรือทุ่งคลองสน-คลองสิเกา-คลองหัวหิน ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่ 2 ตำบลบ่อหิน หลังประสบปัญหาคลื่นทะเลกัดเซาะชายหาดในแนวยาว 3-4 กิโลเมตร จนทำให้ที่ดินจมหายไปในทะเลแล้วกว่า 200 ไร่ จากพื้นที่เดิมตามหลักฐานหนังสือสำคัญที่หลวง (คสล.) ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 827 ไร่ แต่ขณะนี้คงเหลือที่ดินเพียงแค่ 600 ไร่เท่านั้น

นายธรรมฤทธิ์ เขาบาท นายก อบต.บ่อหิน กล่าวว่า เมื่อปีงบประมาณ 2551 จังหวัดตรัง ได้ใช้งบผู้ว่าฯ ซีอีโอ มาทำการก่อสร้างแนวป้องกันตลิ่ง ระยะทาง 219 เมตร แต่ในส่วนที่เหลือซึ่งอยู่ในระยะที่อันตรายนั้น จะต้องรีบก่อสร้างเขื่อนคลองสน ความยาว 1,800 เมตร นับจากท่าเทียบเรือ จนล้อมรอบหัวแหลมทั้งหมดโดยเร็วที่สุด

ทั้งนี้ เนื่องจากที่ดินบริเวณนี้จะถูกคลื่นกัดเซาะจมหายไปปีละประมาณ 50 เมตร ซึ่งตนเอง พร้อมด้วยผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ ก็ได้เดินทางเข้าร่วมประชุม และเคยรายงานให้ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ได้รับทราบถึงปัญหาแล้ว แต่กลับไม่เห็นความสำคัญ และยืนยันว่าจะเก็บเงินหลวงเอาไว้ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ขณะเดียวกันก็ยังโยนเรื่องนี้ให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง กลับไปดำเนินการศึกษาถึงผลกระทบในโครงการก่อสร้างเขื่อนคลองสน อีกครั้ง ทั้งๆ ที่การก่อสร้างเขื่อนดังกล่าว ก็เพื่อป้องกันมิให้คลื่นกัดเซาะแผ่นดินจมหายไปมากกว่านี้

อีกทั้งล่าสุด กรมทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลและป่าชายเลน ก็ได้มีการประกาศแผนออกมาชัดเจนว่า ในช่วงปี 2552-2556 หรือภายในระยะเวลา 5 ปีนี้ จะต้องป้องกันแผ่นดินบริเวณชายหาดที่ถูกคลื่นกัดเซาะทั้งหมด เพราะในอนาคตที่ดินริมทะเล และริมแม่น้ำต่างๆ ล้วนแล้วแต่มีความเสี่ยงที่จะจมหายไปด้วยภาวะโลกร้อน

นายก อบต.บ่อหิน จึงฝากถามไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ว่าทำไมโครงการพัฒนาจังหวัดแต่ละโครงการในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งได้มีการศึกษากลั่นกรองกันมาแล้วในทุกระดับ ทั้งหมู่บ้าน หรือตำบล ได้ผ่านการพิจารณาจากคณะอนุกรรมการแผนยุทธศาสตร์พัฒนาจังหวัด ทั้งอำเภอ หรือจังหวัด และยังได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมาธิการงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร จนกระทั่งได้รับการจัดสรรเป็นงบประมาณลงมาแล้ว โดย 1 ในนั้นก็คือ โครงการก่อสร้างเขื่อนคลองสน แต่จนถึงป่านนี้แล้วก็ยังไม่ได้ดำเนินการ ทั้งๆ ที่เป็นโครงการที่มีความสำคัญต่อชุมชนเป็นอย่างยิ่ง

ฉะนั้น ตนจึงอยากให้ทางผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง รีบดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อนคลองสนโดยเร็วที่สุด เพราะยิ่งนานวันก็ยิ่งจะเกิดผลเสียต่อประชาชน ต่อการท่องเที่ยว และต่อแผ่นดินของประเทศ ซึ่งเหตุผลที่แท้จริงก็ไม่มีใครเข้าใจว่าเพราะเหตุใดผู้ว่าราชการจังหวัดตรังจึงต้องให้มีการทบทวนโครงการนี้ใหม่ ทั้งๆ ที่ท่าเทียบเรือทุ่งคลองสนนั้น ถือเป็นประตูสู่การท่องเที่ยวทางทะเลของจังหวัดตรัง และยังสามารถเดินทางไปสู่เกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ได้อีกด้วย นอกจากนั้น บริเวณคลองหัวหินซึ่งตั้งอยู่ทางทิศเหนือของตำบลบ่อหินก็ยังมีเกาะที่สวยงามแห่งหนึ่งคือ เกาะผี ซึ่งสามารถขับรถยนต์เข้าไปถึงที่ได้

ส่วนทางทิศใต้จะจดกับคลองสิเกา ซึ่งเป็นสถานที่ก่อสร้างท่าเทียบเรือทุ่งคลองสน อบจ.ตรัง ซึ่งได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2546 ด้วยงบประมาณ 15 ล้านบาท พร้อมทั้งยังมีการก่อสร้างลานจอดรถ และศาลาพักผ่อนด้วยงบประมาณ 10 ล้านบาท ขณะที่กรมทางหลวงชนบทก็ได้เข้ามาก่อสร้างถนนคอนกรีตเข้าสู่ท่าเทียบเรือทุ่งคลองสน ด้วยงบประมาณ 49 ล้านบาทด้วย

นอกจากนั้น อบจ.ตรัง ก็ยังได้ตั้งงบประจำปี 2552 จำนวน 3.5 ล้านบาท ไว้เพื่อก่อสร้างศูนย์บริการนักท่องเที่ยว และจุดจำหน่ายสินค้า แสดงให้เห็นว่าโครงการต่างๆ ทุกอย่างมีความสอดรับกันหมดแล้ว รอแต่ทางจังหวัดเข้ามาแก้ปัญหาคลื่นกัดเซาะชายหาดเท่านั้น





จี้จับตาคอร์รัปชันเชิงนโยบาย-ถมอีก8หมื่นล.แก้วิกฤตหาดพัง
จี้จับตาคอร์รัปชันเชิงนโยบาย-ถมอีก8หมื่นล.แก้วิกฤตหาดพัง
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ – แฉ “กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี–องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น” ละเลงงบถมอ่าวไทย หวังแก้วิกฤตคลื่นกัดเซาะชายฝั่ง ทั้งที่รู้ว่าไม่มีทางยับยั้งปัญหาได้ ผลการศึกษาโครงการระบุชัดว่าจะทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่ง แต่กลับใช้ภาษีประชาชนใช้จ่ายแก้ปัญหาซ้ำซ้อน ชี้เข้าข่ายคอร์รัปชันเชิงนโยบาย จับตาแนวคิดสร้างเขื่อนกันคลื่นรอบอ่าวไทย ใช้งบอีกร่วม 80,000 ล้านบาท กรมทรัพยากรชายฝั่งฯ จี้เร่งประเมินโครงการสร้างเขื่อนทั้งหมด พร้อมรื้อถอนจุดที่ไม่เกิดประโยชน์ ด้านนักวิชาการทำใจชายฝั่งถึงขั้นวิบัติจนสายเกินเยียวยาให้กลับคืนสภาพเดิม ชี้แม้จะมีการรื้อเขื่อนก็ไม่เป็นผล
กำลังโหลดความคิดเห็น