xs
xsm
sm
md
lg

จี้จับตาคอร์รัปชันเชิงนโยบาย-ถมอีก8หมื่นล.แก้วิกฤตหาดพัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพถ่ายทางดาวเทียมของกรมพัฒนาที่ดิน เมื่อ พ.ศ.2538 แสดงให้เห็นพื้นที่ชายหาด ต.สะกอม อ.จะนะ จ.สงขลา ก่อนมีการสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นบริเวณปากคลองสะกอม ชายหาดมีสภาพสมบูรณ์เปี่ยมไปด้วยคุณค่าในทุกๆ ด้าน
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ – แฉ “กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี–องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น” ละเลงงบถมอ่าวไทย หวังแก้วิกฤตคลื่นกัดเซาะชายฝั่ง ทั้งที่รู้ว่าไม่มีทางยับยั้งปัญหาได้ ผลการศึกษาโครงการระบุชัดว่าจะทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่ง แต่กลับใช้ภาษีประชาชนใช้จ่ายแก้ปัญหาซ้ำซ้อน ชี้เข้าข่ายคอร์รัปชันเชิงนโยบาย จับตาแนวคิดสร้างเขื่อนกันคลื่นรอบอ่าวไทย ใช้งบอีกร่วม 80,000 ล้านบาท กรมทรัพยากรชายฝั่งฯ จี้เร่งประเมินโครงการสร้างเขื่อนทั้งหมด พร้อมรื้อถอนจุดที่ไม่เกิดประโยชน์ ด้านนักวิชาการทำใจชายฝั่งถึงขั้นวิบัติจนสายเกินเยียวยาให้กลับคืนสภาพเดิม ชี้แม้จะมีการรื้อเขื่อนก็ไม่เป็นผล 

ผลศึกษาชี้ชัดเขื่อนทำหาดพัง - แต่รัฐยังดันทุรังสร้าง

ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลทั่วประเทศที่กินพื้นที่ไปแล้วกว่า 1 แสนไร่ มูลค่าความเสียหายสูงลิ่วนับล้านล้านบาท โดยมีสาเหตุหลักมาจากสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำชายหาดทั้งรอดักทราย เขื่อนกันคลื่น เขื่อนกันทราย กำแพงกันคลื่น และสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาเป็นระยะเวลาหลายสิบปี และทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ในปัจจุบัน

ปัญหาที่เกิดขึ้นหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานของรัฐคือกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี กระทรวงคมนาคม ได้แก้ปัญหาด้วยการเสนอของบประมาณมาทำโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่น และเขื่อนกันคลื่นรูปตัว T เพื่อแก้ปัญหาการกัดเซาะในจุดต่างๆ หลายจุด โดยไม่ฟังเสียงท้วงติงจากชาวบ้านบางส่วน รวมทั้งนักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญด้านภูมิสัณฐานของชายหาด

ผลปรากฏว่าโครงการดังกล่าวไม่สามารถแก้ปัญหาการกัดเซาะทั้งระบบได้ เนื่องจากโครงสร้างทางวิศวกรรมดังที่กล่าวมา ทำให้พื้นที่บริเวณใกล้เคียงถูกคลื่นกัดเซาะเสียหายต่อเนื่องเป็นลูกโซ่

เจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน สำนักอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้สำรวจทางอากาศ พบว่า พื้นที่อ่าวไทย โดยเฉพาะตอนล่างตั้งแต่นราธิวาส ปัตตานี สงขลา และนครศรีธรรมราช มีการสร้างเขื่อนกันคลื่นและรอดักทรายทั้งสิ้น 25 จุด เฉพาะ จ.นราธิวาส จากปากแม่น้ำโก–ลก ถึงตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ ระยะทาง 20 กิโลเมตร มีเขื่อนกันทรายและกันคลื่นมากถึง 33 ตัว

“พบว่าหลังการก่อสร้างเขื่อนตัวแรกที่ชายฝั่งมาเลเซีย เมื่อปี 2535 ส่งผลให้ตลอดแนวชายฝั่ง 4 จังหวัดของไทย เกิดการกัดเซาะ มีการแก้ปัญหาด้วยการสร้างเขื่อนกันคลื่นและเขื่อนกันทราย แต่กลับเกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่ เนื่องจากชายฝั่งอ่าวไทยมีลักษณะเรียบตรง มีกระแสน้ำชายฝั่งเป็นลักษณะเฉพาะ การมีโครงสร้างกีดขวางจะทำให้กระแสน้ำเกิดการเปลี่ยนแปลงทิศทางและเร่งให้เกิดการกัดเซาะ”

ทั้งนี้ มีตัวอย่างผลการศึกษาโครงการที่ระบุชัดว่าการสร้างเขื่อนจะเกิดผลกระทบอย่างไรต่อชายหาด ตัวอย่างคือ การศึกษาโครงการก่อสร้างเขื่อนกันคลื่นและเขื่อนกันทราย บริเวณปากร่องน้ำท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวีว่าจ้างบริษัทวิศวกรที่ปรึกษาสำรวจความเหมาะสมเพื่อก่อสร้างโครงการ มีรายงานที่ชัดเจนว่า จากการศึกษาข้อมูลก่อนเริ่มโครงการพบว่าเมื่อสิ้นสุดปีที่ 25 หลังการก่อสร้างจะเกิดการกัดเซาะทางด้านเหนือของเขื่อนประมาณ 150 เมตร วิธีแก้คือต้องย้ายทรายจากด้านใต้ของเขื่อนที่มีการทับถมไปเติมด้านทิศเหนือของเขื่อนที่เกิดการกัดเซาะ ซึ่งภายหลังก่อสร้างไปแล้วในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปีคลื่นก็ได้กัดเซาะชายฝั่งข้างเคียงเสียหายไปแล้วมากกว่า 150 เมตร

แสดงให้เห็นว่าเจ้าของโครงการ ทราบดีว่าผลกระทบจากการสร้างรอดักทราย เขื่อนกันทรายและเขื่อนกันคลื่น จะมีผลกระทบเช่นไรต่อชายหาดภายหลังการก่อสร้าง แต่หน่วยงานดังกล่าวก็ยังดันทุรังสร้าง

“ที่ อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช เป็นความผิดพลาดที่สิ้นเปลืองมาก ภายหลังการสร้างเขื่อนกันคลื่นและทรายบริเวณปากน้ำจนเกิดปัญหา ก็แก้ด้วยการสร้างกำแพงกันคลื่น ระยะทาง 2 กิโลเมตร ใช้งบประมาณ 72 ล้านบาท สร้างไปแค่ 2 ปีคลื่นก็ซัดพังหมด มีประเด็นที่น่าตรวจสอบในเรื่องนี้ จากนั้น อบต.ที่ดูแลพื้นที่ก็ของบประมาณอีก 24 ล้านบาท มาสร้างเพิ่มอีก อยากถามว่าทำแบบนี้คุ้มหรือไม่” รศ.ดร.สมบูรณ์ พรพิเนตพงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสมุทรศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มอ.หาดใหญ่ ผู้ซึ่งไม่เห็นด้วยกับการแก้ปัญหาด้วยโครงสร้างทางวิศวกรรม ระบุ

 แฉของบประมาณซ้ำซ้อน - แก้ปัญหาซ้ำซาก

นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่ปรากฏชัดเจนถึงการนำงบประมาณไปถมชายหาด โดยไม่เกิดคุณค่าใดๆ กลับมีแต่ปัญหาที่ต้องแก้ไขไปเรื่อยๆ คือปัญหากัดเซาะชายฝั่งใน จ.สงขลา โดยเริ่มจากปี 2540-2541 กรมการขนส่งทางน้ำฯ ได้ก่อสร้างเขื่อนกันคลื่นและทรายบริเวณปากน้ำสะกอม อ.จะนะ จ.สงขลา ซึ่งเขื่อนกันทรายตัวนี้เองที่เป็นปัญหาให้ชายหาดด้านทิศเหนือของเขื่อนถูกคลื่นกัดเซาะอย่างรุนแรง กรมการขนส่งทางน้ำฯ แก้ปัญหาด้วยการของบประมาณมาก่อสร้างเขื่อนหิน เพื่อป้องกันคลื่นกัดเซาะ แต่ปัญหาไม่ได้จบแค่นั้น

เมื่อพื้นที่ด้านเหนือของเขื่อนดังกล่าวได้ถูกกัดเซาะลามออกไปอย่างต่อเนื่องถึงชายฝั่งบ้านนาทับ อ.จะนะ เสียหายกินพื้นที่ยาวไปจนถึงชายหาดบ้านบ่ออิฐ ต.เกาะแต้ว อ.เมืองสงขลา ชาวบ้านกลัวว่าบ้านเรือนจะถูกคลื่นซัดเสียหาย จึงเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐเข้ามาจัดการรับผิดชอบ โดยชาวบ้านที่เดือดร้อนทราบข้อมูลเพียงว่า คลื่นลมมรสุมจากปัญหาโลกร้อนทำให้ชายหาดพัง จึงเกิดการโต้เถียงกันขึ้นกับชาวบ้านอีกกลุ่ม รวมทั้งนักวิชาการที่แนะนำว่าควรจะแก้ปัญหาให้ถูกจุด แต่ก็ไม่เป็นผล กรมการขนส่งทางน้ำฯ ได้ขออนุมัติงบประมาณอีก 225 ล้านบาท สร้างเขื่อนกันคลื่นขึ้นมาในพื้นที่บ้านบ่ออิฐ ต.เกาะแต้ว อ.เมืองสงขลา

แก้ปัญหาไม่ตรงจุดสูญมูลค่านับล้านล้านบาท

จะเห็นได้ว่าการแก้ปัญหาของกรมการขนส่งทางน้ำฯ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในบางพื้นที่ เป็นไปโดยขาดการศึกษาปัญหาอย่างรอบด้าน โครงสร้างทางวิศวกรรมจุดหนึ่งก่อให้เกิดการกัดเซาะในจุดถัดไป และเมื่อแก้ปัญหาด้วยการสร้างสิ่งปลูกสร้างขึ้นมาเพิ่มเติม ปัญหาการกัดเซาะก็จะย้ายไปยังอีกจุดหนึ่ง ซึ่งหากยังคิดแก้ปัญหาด้วยวิธีนี้ปัญหาก็จะไม่มีวันจบลงอย่างง่ายๆ พื้นที่ชายฝั่งอ่าวไทยจะเต็มไปด้วยเขื่อนกันคลื่น คือมีลักษณะเป็นอ่าวเล็กๆ ประมงชายฝั่งก็จะไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้อีกต่อไป แม้แต่จะลงเล่นน้ำก็จะอันตรายมาก

“ลักษณะดังกล่าวของหาดเอื้อต่อการเกิด Rip Current หรือกระแสน้ำที่พัดในแนวตั้งฉากกับชายฝั่งแล้วตีกลับออกทะเล ซึ่งจะเป็นอันตรายอย่างมากต่อนักท่องเที่ยวที่ลงเล่นน้ำริมหาด คุณค่าทุกๆ ด้านของชายหาดที่สูงนับล้านล้านบาท หรือจนประเมินค่าไม่ได้ก็จะหมดสิ้นไปในทันที” รศ.ดร.สมบูรณ์กล่าว

อย่างไรก็ตาม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดูแลรักษาทรัพยากรชายฝั่ง โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งเคยลงตรวจสอบสภาพพื้นที่ที่เกิดปัญหา ก็ยอมรับว่าไม่มีอำนาจสั่งระงับโครงการสร้างเขื่อนในพื้นที่ต่างๆ พร้อมอ้างว่าที่ผ่านมาทางกรมฯ ได้เคยส่งสัญญาณไปแล้วว่า การแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งไม่สามารถดูเฉพาะพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งได้ ต้องดูภาพรวมทั้งหมด และโครงสร้างทางวิศวกรรมก็ไม่สามารถแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งได้

สำหรับการแก้ปัญหา วิธีการหนึ่งที่นักวิชาการในประเทศและต่างประเทศให้การสนับสนุนว่า จะสามารถแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอันเป็นผลมาจากสิ่งปลูกสร้างได้คือ การย้ายทรายจากทิศใต้ของเขื่อนไปเติมในพื้นที่ด้านทิศเหนือที่ถูกกัดเซาะ เพื่อสร้างความสมดุล เช่น กรณีการแก้ปัญหาบริเวณชายหาดด้านหน้าพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จ.นราธิวาส

แต่จากการยืนยันของ นายณัฐชัย พลกล้า หัวหน้าศูนย์พัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำที่ 4 (สงขลา) กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี ระบุว่า การแก้ปัญหาด้วยการย้ายทราย เคยมีการของบประมาณไปแล้ว แต่สำนักงบประมาณไม่อนุมัติ เนื่องจากมองไม่เห็นคุณค่าของการย้ายทรายจากจุดหนึ่งไปแก้ปัญหาอีกจุดหนึ่ง

“เมื่อมีการออกแบบก่อสร้างมีการประเมินการกัดเซาะไว้แล้วว่า ในแต่ละปีจะเกิดการกัดเซาะเท่าไหร่ แต่เมื่อของบประมาณดำเนินการป้องกันแล้วทางสำนักงบประมาณไม่อนุมัติ ในด้านการศึกษานั้นมีผลออกมาว่าจะเกิดผลกระทบอย่างต่อเนื่อง” นายณัฐชัยกล่าว
ภาพถ่ายทางดาวเทียมของกรมพัฒนาที่ดิน เมื่อ พ.ศ.2544 ภายหลังมีการสร้างเขื่อนกันทรายบริเวณปากคลองสะกอม ส่งผลให้เกิดการกัดเซาะอย่างรุนแรงทางทิศเหนือของเขื่อน
ทส.จี้ประเมินโครงการแก้ปัญหา - รื้อเขื่อนกันคลื่น

จะเห็นได้ว่าหน่วยงานต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องยังขาดการสร้างความรู้ความเข้าใจที่ตรงกันในการแก้ปัญหา ดังกรณีกรมการขนส่งทางน้ำฯ ที่ขออนุมัติงบประมาณซ้ำซ้อนและไม่เกิดคุณค่าใดๆ เช่นกรณีที่เกิดใน จ.สงขลา เริ่มจากของบประมาณสร้างรอดักทรายบริเวณปากน้ำสะกอม เมื่อเกิดปัญหากัดเซาะชายฝั่งขึ้น จึงของบประมาณมาสร้างเขื่อนหินเพื่อแก้ปัญหา แต่เขื่อนหินก็สร้างปัญหาอีก จึงพยายามของบประมาณอีกเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดจากเขื่อนหิน รวมแล้วการแก้ปัญหาจากจุดเล็กๆ เพียงจุดเดียว กลับต้องใช้งบประมาณไปเป็นจำนวนมหาศาล และปัญหาก็ไม่มีทีท่าว่าจะจบลงง่ายๆ

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ทำการวิจัยศึกษาปัญหาที่เกิดขึ้นจนนำมาสู่ข้อเสนอให้มีการประเมินโครงการสร้างเขื่อนริมทะเลต่างๆ อย่างน้อยจังหวัดละ 1 โครงการ เพื่อหามาตรการที่เหมาะสมในการแก้ไขฟื้นฟู และเยียวยาแก่ประชาชนที่กำลังประสบปัญหา ทั้งด้านที่อยู่อาศัยและประกอบอาชีพ ให้พิจารณาโครงสร้างชายฝั่งบางแห่งที่ไม่มีความจำเป็นหรือไม่มีการใช้ประโยชน์ให้รื้อถอนออก เพื่อให้กระแสน้ำและตะกอนชายฝั่งสามารถเคลื่อนที่ได้ตามปกติ และชายฝั่งสามารถปรับตัวเข้าสู่สมดุลตามธรรมชาติ 

‘อ่าวไทย’ วิบัติถาวร - แนะเร่งสรุปบทเรียนป้อง ‘อันดามัน’

รศ.ดร.สมบูรณ์ พรพิเนตพงศ์ กล่าวอีกว่า ปัญหากัดเซาะชายฝั่งอ่าวไทยแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือชายหาดที่ยังสมบูรณ์ปกติ ชายหาดที่อยู่ในขั้นวิกฤต และชายหาดที่วิบัติไปแล้ว ซึ่งชายฝั่งตั้งแต่ จ.นราธิวาสถึง จ.นครศรีธรรมราชในขณะนี้ถือว่าวิบัติแล้ว เนื่องจากชายหาดขาดทรายมาหล่อเลี้ยงเป็นระยะเวลาติดต่อกันนานจนเสียสมดุล ทั้งนี้เป็นผลมาจากมวลทรายที่ไหลมาตามแม่น้ำลำธารถูกกีดขวางโดยเขื่อน การดูดทรายออกไปเป็นจำนวนมากในหลายพื้นที่ รวมทั้งการสร้างเขื่อนกันคลื่นและทรายริมหาด การกัดเซาะชายฝั่งที่เรื้อรังมานานจนถึงขณะนี้จึงอยู่ในขั้นวิบัติที่จะไม่สามารถกลับมามีสภาพเหมือนเดิมได้อีกต่อไป

“มาถึงตอนนี้ต้องทำใจว่า ชายหาดอ่าวไทยที่ได้รับผลกระทบจากโครงสร้างทางวิศวกรรมจากฝีมือหน่วยงานของรัฐไม่สามารถเยียวยาให้กลับมามีสภาพตามปกติได้แล้ว แม้จะมีการรื้อเขื่อนพวกนั้นออกก็ไม่มีประโยชน์ใดๆ อีกแล้ว ตอนนี้หน่วยงานของรัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องต้องยอมรับความจริงและเตรียมชดใช้เงินเยียวยาให้แก่ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ ในอนาคตอันใกล้เราก็จะเห็นชายหาดอ่าวไทยเต็มไปด้วยเขื่อนกันคลื่นรูปตัว T ตลอดแนวชายฝั่ง ชาวประมงไม่สามารถจอดเรือได้ เพราะคลื่นจะซัดไปกระทบเขื่อนหินเสียหายได้ นักท่องเที่ยวก็เล่นน้ำไม่ได้เพราะอันตราย ไอเค็มจากทะเลจะฟุ้งกระจายมากขึ้น ส่งผลให้อาคารบ้านเรือนผุกร่อนได้ง่าย ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังพยายามของบประมาณมาใช้อยู่เรื่อยๆ ตรงนี้อาจเข้าข่ายเป็นการคอร์รัปชันเชิงนโยบาย”

รศ.ดร.สมบูรณ์ ยังกล่าวอีกว่า ในส่วนของร่างยุทธศาสตร์การจัดการป้องกันแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเล นั้น ผู้ที่มีส่วนในการจัดทำยังมองสาเหตุหลักของปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งว่า เกิดจากธรรมชาติ มากกว่าฝีมือของมนุษย์ ซึ่งจะทำให้การแก้ปัญหาที่ถูกจุดอย่างแท้จริงจะไม่มีทางเกิดขึ้นได้ในอนาคต

“ประเทศไทยมีหาดทรายที่สวยงาม แต่แปลกที่เราไม่มีกฎหมายดูแลรักษาชายหาด ไม่เหมือนกับป่าชายเลน และแนวปะการังที่มีกฎหมายคุ้มครอง ทำให้ชายหาดอ่าวไทยต้องพบกับปัญหาที่แก้ไขไม่ได้แล้วในขณะนี้ ตอนนี้ที่เราทำได้ก็คือนำบทเรียนที่เกิดขึ้นกับฝั่งอ่าวไทยมาสรุปเพื่อเป็นแนวทางป้องกันชายหาดฝั่งอันดามันที่ยังไม่ถูกทำลายมากนักให้ยังคงความอุดมสมบูรณ์ต่อไป” รศ.ดร.สมบูรณ์กล่าว

จับตาถมงบอีก 8 หมื่นล้านสร้างเขื่อนกันคลื่น

ทั้งนี้ มีการตั้งข้อสังเกตว่า หน่วยงานราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ยังคงมีความพยายามอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างเขื่อนกันคลื่นแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง และมีแนวโน้มว่าจะมีการสร้างเขื่อนดังกล่าวตลอดแนวชายฝั่งอ่าวไทย ตามแนวคิดของหน่วยงานรัฐบางหน่วยที่ดูแลด้านการป้องกันภัยพิบัติ ซึ่งจะทำให้ประเทศชาติต้องใช้งบประมาณอีกไม่ต่ำกว่า 80,000 ล้านบาท (ค่าก่อสร้างกิโลเมตรละ 50 ล้านบาท X ความยาวตลอดอ่าวไทย) อันจะทำให้คุณค่าทุกๆ ด้านของชายหาดหมดสิ้นไปอย่างถาวร
กำลังโหลดความคิดเห็น