ชมรมผู้ซื้อขายสัญญาล่วงหน้า แจงความคืบหน้าค่าคอมฯ เทรดทองผ่านโกลด์ฟิวเจอร์ส ลงทุน 1-5 สัญญา จ่าย 500 บาทต่อสัญญา 6-20 สัญญาจ่าย 400 บาท และ 300 บาท สำหรับการลงทุนตั้งแต่ 21 สัญญาขึ้นไป พร้อมจำกัด นักลงทุน 1 รายเทรดได้สูงสุด 1,000 สัญญา ด้านราคาทองอ้างอิงยังสับสน หลังมี 2 ตัวเลือก ทั้งตลาดทองสิงคโปร์และลอนดอน เหตุมีความต่างเรื่องของเวลา
นายอภิชาติ วิไลรัตน์ รองหัวหน้าฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) หรือ CNS เปิดเผยในงานเสวนา “Gold Futures ทางเลือกใหม่ภายใต้เศรษฐกิจที่ผันผวน” ว่า ชมรมผู้ซื้อขายสัญญาล่วงหน้า ได้กำหนดค่าธรรมเนียมการซื้อขายทองคำในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่มีทองคำเป็นสินทรัพย์อ้างอิง (โกล์ดฟิวเจอร์ส) สำหรับนักลงทุนทั่วไปกำหนดให้นักลงทุนที่มีจำนวน 1-5 สัญญา จะต้องจ่ายอัตราค่านายหน้าพร้อมอัตราค่าธรรมเนียมให้กับตลาดอนุพันธ์และสำนักงานบัญชีเป็นจำนวน 500 บาทต่อสัญญาต่อข้าง ขณะที่ 6-20 สัญญา ต้องจ่ายอัตราค่านายหน้าอัตราค่าธรรมเนียมให้กับตลาดอนุพันธ์และสำนักงานบัญชี เป็นจำนวน 400 บาทต่อสัญญาต่อข้าง และตั้งแต่ 21 สัญญา ขึ้นไปเป็นจำนวน 300 บาท ขณะที่นักลงทุนสถาบันจะต้องจ่ายอัตราค่านายตั้งแต่สัญญาแรกเป็นต้นไปเป็นจำนวนเงินสัญญาละ 300 บาทต่อสัญญาต่อข้าง ซึ่งนักลงทุนสามารถซื้อขายสัญญาสูงสุดได้ 1,000 สัญญา
ในส่วนของการอ้างอิงราคาทองคำนั้น ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ว่าจะอ้างอิงกับราคาทองในตลาดสิงคโปร์หรือตลาดลอนดอน เนื่องจากว่า นายกสมาคมผู้ค้าทองมองว่าควรใช้ราคาทองอ้างอิงในตลาดสิงคโปร์ ขณะที่ตลาดอนุพันธ์อิงราคาทองคำในตลาดลอนดอน ซึ่งเป็นตลาดที่ได้รับการยอมรับและความความเชื่อถือจากนักลงทุนทั่วโลก แต่ขณะเดียวกันราคาทองคำในตลาดสิงคโปร์ซึ่งเป็นตลาดทองคำในภูมิภาคเอเชียที่มีราคาใกล้เคียงกับในประเทศไทยมาก
“การใช้ราคาทองคำในตลาดลอนดอนนั้น จะมีความเสี่ยงในด้านของตลาด ความเสี่ยงในด้านของราคาทองคำ ความเสี่ยงในเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยน และความเสี่ยงในเรื่องความต่างของเวลาจากอัตราแลกเปลี่ยนในช่วง 2 ชั่วโมงหลังจากที่ตลาดไทยปิดตัวแล้ว” นายอภิชาติ กล่าว
สำหรับการลงทุนใน Gold Futures ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้แก่นักลงทุน โดยการซื้อจะใช้ราคาทองอ้างอิงจาก London Gold A.M. Fixing ของวันสุดท้ายของการซื้อขาย ซึ่งเป็นราคาที่ใช้อ้างอิงในการคำนวณราคาสำหรับการส่งมอบเพื่อคำนวณส่วนต่างของราคาเพื่อใช้ในการชำระหนี้ในวันซื้อขายวันสุดท้าย (Final Settlement Price)
ทั้งนี้ ราคาที่ใช้ในการอ้างอิงการซื้อขายในตลาดโกล์ดฟิวเจอร์สในประเทศไทยนั้น ได้อ้างอิงกับราคาตลาดทองคำในลอนดอนประเทศอังกฤษ โดยที่ตลาดจะปิดการซื้อขายหลังประเทศไทยประมาณ 1-2 ชั่วโมง ขณะที่ไทย จะปิดทำการซื้อขายในโกล์ดฟิวเจอร์สหลังจากตลาดหลักทรัพย์ปิดทำการไปแล้ว 15 นาที ซึ่งจากส่วนต่างของเวลาปิดทำการจะเกิดเป็นความเสี่ยงในการซื้อขายแก่นักลงทุน นอกจากนี้ หากนักลงทุนซื้อทองคำในก่อนเวลาที่ตลาดไทยจะปิดแล้วหลังจากนั้นในช่วงต่างของเวลาราคาทองคำในตลาดลอนดอนเกิดปรับตัวลดลงทำให้นักลงทุนที่ซื้อทองเก็บไว้เกิดภาวะขาดทุนได้ แต่ในทางกลับกันหากราคาทองมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น นักลงทุนก็สามารถที่จะสร้างผลตอบแทนที่ดีได้ จึงถือได้ว่าเป็นความเสี่ยงที่นักลงทุนไม่ควรมองข้ามนอกเหนือจากอัตราแลกเปลี่ยน
สำหรับทองคำในตลาดโลกนั้น มีการซื้อขายอยู่ตลอดเวลา โดยมีการหมุนเวียนไปในตลาดต่างๆทั่วโลก ซึ่งมีตลาดการซื้อขายหลักอยู่ใน ลอนดอน ประเทศอังกฤษ ขณะที่ London Gold A.M. Fixing Price ถือเป็นราคาทองคำที่ตลาดทั่วโลกให้การยอมรับ ซึ่งในหนึ่งวันจะมีการประกาศราคาทองคำออกมา 2 ช่วงเวลาได้แก่ ช่วงเช้าและบ่าย โดยในประเทศไทยจะใช้ราคาทองคำในช่วงเช้าของลอนดอนในการกำหนดราคาทองคำ เนื่องจากว่าเวลาจะตรงกับตลาดในช่วงบ่ายของไทย เป็นราคาที่อ้างอิงจากทองคำบริสุทธิ์ 99.5% ต่อ 1 ทรอยเอานซ์ (1 ทรอยเอานซ์ เท่ากับ 31.1035 กรัม) โดยทองคำ 1 บาท จะมีน้ำหนักเท่ากับ 15.244 กรัม ซึ่งทองคำที่ใช้ในเป็นสินทรัพย์อ้างอิงในตลาดซื้อขายทองคำล่วงหน้าของประเทศไทยมีความบริสุทธิ์ 96.5% ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนระหว่างสกุลเงินบาทและดอลลาร์สหรัฐ จะเป็นอัตราแลกเปลี่ยนตามที่ตลาดอนุพันธ์ประกาศกำหนด ซึ่งจะคำนวณจากค่าเฉลี่ยของอัตราแลกเปลี่ยนที่ได้รับจากธนาคารพาณิชย์
อย่างไรก็ตาม ทองคำถือเป็นสินค้าที่จัดอยู่ในหมวด คอมมอดิตี้(Commodity) ซึ่งเป็นที่นิยมของนักลงทุน เนื่องจากการลงทุนในทองคำสามารถซื้อเก็บไว้เพื่อทำกำไรและเพื่อเป็นเครื่องมือกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุน ขณะที่การลงทุน Gold Futures หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่มีทองคำป็นสินทรัพย์อ้างอิงถือว่าเป็นทางเลือกใหม่ให้ในการลงทุนบนราคาทองคำ โดยตลาดอนุพันธ์จะเปิดทำการซื้อขายตั้งแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์2552 นี้
นายอภิชาติกล่าวอีกว่า การซื้อขายโกล์ดฟิวเจอร์ส เป็นการตกลงซื้อขายราคาทองคำล่วงหน้า โดยที่ผู้ซื้อและผู้ขายได้ตกลงทำสัญญาซื้อขายทองคำล่วงหน้าในปัจจุบัน ซึ่งในสัญญาจะมีการระบุราคาที่ตกลงซื้อขายพร้อมจำนวนที่จะซื้อขาย และระยะเวลาของสัญญา จึงทำให้ทั้งสองฝ่ายต้องวางเงินหลักประกันประมาณ 10% และในระหว่างที่สัญญายังไม่สิ้นสุดอายุจะมีการคำนวณผลกำไรขาดทุนทุกสิ้นวันทำการเพื่อปรับฐานะการลงทุนให้ตรงกับราคาซื้อขายของตลาด(Mark-to-Market) อีกทั้ง เมืjอสัญญาสิ้นสุดอายุทั้งสองฝ่ายมีภาระผูกพันธ์ที่ต้องปฏิบัติตาม โดยทั้งสองฝ่ายจะต้องชำระส่วนต่างของราคาด้วยเงินสด ซึ่งการคำนวณผลกำไรขาดทุนสุทธิในวันสิ้นสุดศัญญาจะใช้ราคาที่ตกลงกันไว้ในสัญญาอ้างอิงเพื่อใช้ชำระราคาในวันสิ้นสุดสัญญา(Final settlement Price) และจะไม่มีการส่งมอบทองคำกัน
นอกจากนี้ หากนักลงทุนคาดว่าแนวโน้มราคาทองคำในอนาคตจะปรับตัวเพิ่มขึ้น นักลงทุนควรเลือกใช้กลยุทธ์ คือการเปิดฐานะ Long Position(ซื้อ) หากนักลงทุนคาดว่าราคาทองคำจะปรับตัวลดลง การปิดบานะShort Position(ขาย) โดยที่การขายนั้น นักลงทุนสามารถทำได้ทันทีโดยไม่ต้องมีสัญญาหรือทองคำที่อยู่ในการครอบครองเหมือนการลงทุนในทองคำทั่วไป แต่หากราคาทองเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้จะสามารถทำการปิดฐานะการลงทุนได้ก่อนโดยนักลงทุนไม่จำเป็นต้องถือครองสัญญาจนสิ้นสุดอายุของสัญญา ดังนั้นผลกำไรหรือขาดทุนที่ผู้ลงทุนได้รับจะเท่ากับส่วนต่างของราคาซื้อขายของโกล์ดฟิวเจอร์ส