xs
xsm
sm
md
lg

**คอลัมน์ ถนนสู่การลงทุน**

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสาทรธานี
ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจไซเบอร์ (RSU Cyber University)
และผู้จัดการโครงการหลักสูตร MBA มหาวิทยาลัยรังสิต

ตราสารอนุพันธ์ บทเรียนก่อนการเลือกลงทนุใน
SET50 Index Futures / SET50 Index Options / Stock Future / และอนุพันธ์ทองคำ (ตอนจบ)


ความแตกต่างของการซื้อขายตราสารอนุพันธ์ในตลาดแบบมีระเบียบ (Organized Exchange) และตลาดต่อรอง (Over-the-Counter Market) นั้นมีความแตกต่างกันอยู่หลายประการ เช่น ลักษณะของสัญญา ความเป็นมาตรฐาน การวางเงินประกัน สภาพคล่องของการซื้อขาย ความเสี่ยงจากการลงทุน และการส่งมอบและชำระราคา เป็นต้น

ตลาดแบบมีระเบียบ (Organized Exchange) เป็นตลาดที่มีสถานที่การทำการซื้อขายแน่นอน มีกระบวนการในการดำเนินงานเป็นไปตามกฎหมาย มีพระราชบัญญัติรองรับในการเปิดดำเนินงาน มีเวลาเปิดเวลาปิดแน่นอน ราคาซื้อขายมีการเสนอซื้อหรือขายอย่างเป็นระบบ มีช่วงห่างของการขึ้นหรือลงของราคา มีการประกาศราคาและข้อมูลในการลงทุนให้ผู้ลงทุนทราบตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการประกาศผ่านระบบอินเตอร์เน็ต สถานีโทรทัศน์ วิทยุ หรือแม้กระทั่งหนังสือพิมพ์

ตลาดต่อรอง (Over-the-Counter Market) หรือ ตลาด OTC เป็นตลาดที่ไม่มีการซื้อขายกันอย่างเป็นระบบ การเจรจาซื้อขายเป็นการต่อรองกันเอง ซึ่งจำนวนสินทรัพย์หรือหลักทรัพย์ที่ตกลงกันในสัญญาจะมีขนาดที่ไม่เท่าเทียมกัน แต่ตลาด OTC เป็นตลาดที่มีความนิยมมากในปัจจุบัน ซึ่งขนาดของตลาด OTC ในหลายประเทศจะมีขนาดที่ใหญ่กว่าตลาดแบบมีระเบียบ และมีแนวโน้มที่จะมีอัตราการเจริญเติบโตสูงมากขึ้น

การซื้อขายตราสารอนุพันธ์ในตลาดแบบมีระเบียบจะแตกต่างจากตลาดต่อรอง ในรูปแบบของสัญญาที่เป็นมาตรฐาน คือ สัญญาที่จะสามารถนำไปซื้อขายกันในตลาดแบบมีระเบียบได้ จะต้องเป็นสัญญาที่มีมาตรฐานเดียวกัน เช่น ขนาดของสัญญาต้องมีขนาดเท่ากัน วิธีการส่งมอบต้องเหมือนกัน คุณภาพของสินค้าหรือสินทรัพย์ที่กำหนดในสัญญาต้องมีคุณภาพเดียวกัน ทำให้ผู้ซื้อและผู้ขายมีความเข้าใจกันว่าตนเองนั้นกำลังซื้อหรือขายสัญญาประเภทใด การทำให้สัญญาเป็นมาตรฐานเดียวกันนี้ จะทำให้สัญญาที่ซื้อขายในตลาดแบบมีระเบียบสามารถซื้อขายได้สะดวกมากขึ้น เพราะจำนวนผู้ซื้อและผู้ขายจะมีมาก หากสัญญามีความแตกต่างกันมาก การซื้อและการขายจะไม่คล่องตัว เนื่องจากผู้ลงทุนอาจต้องการซื้อหรือขายสินทรัพย์ในจำนวนที่ไม่เท่ากัน

การซื้อขายในตลาดแบบมีระเบียบนี้ เพื่อให้ผู้ลงทุนลดความสี่ยงจากการผิดนัดชำระเงิน หรือผิดนัดส่งมอบสินทรัพย์ ตลาดจะเป็นผู้ทำหน้าที่ในการเรียกเงินประกันจากทั้งสองฝ่าย เพื่อให้เกิดความแน่ใจว่าผู้ลงทุนหรือผู้เก็งกำไรทั้งสองฝ่ายจะไม่ผิดนัดตามสัญญาในอนาคต และการเรียกเงินประกันนี้จะต้องมีการปรับค่าตามราคาตลาดทุกวัน หากผู้ลงทุนฝ่ายใดเกิดการขาดทุนจากการลงทุน ตลาดจำทำหน้าที่ในการเรียกเก็บเงินประกันเพิ่ม เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงให้แก่คู่สัญญา

การซื้อขายในตลาดแบบมีระเบียจะมีสภาพคล่องที่สูงกว่า เพราะสัญญามีมาตรฐานทำให้เกิดความสะดวกในการซื้อขาย และในการลงทุนในตลาดแบบมีระเบียบ การที่สัญญาเป็นมาตรฐาน จะทำให้ผู้ลงทุนสามารถปิดสถานะของตนเองได้เมื่อต้องการ เพราะจะมีผู้ซื้อหรือขายอีกด้านหนึ่งรออยู่ตลอดเวลา

ลักษณะสุดท้ายของตลาดแบบมีระเบียบ คือ การส่งมอบสินทรัพย์ตามสัญญามักไม่มีการเกิดขึ้นจริง แต่ด้วยผู้ลงทุนและผู้เก็งกำไรต้องการผลตอบแทนในรูปแบบของตัวเงิน จึงทำให้การส่งมอบสินทรัพย์ตามสัญญาไม่เกิดขึ้น ดังนั้นการส่งมอบสินทรัพย์ตามสัญญาจึงเป็นเพียงการชำระผลกำไรหรือขาดทุนเท่านั้น

ผู้ค้าในตลาดตราสารอนุพันธ์นอกจากจะมี ผู้ที่ใช้ตราสารอนุพันธ์ในการป้องกันความเสี่ยงแล้วนั้น ผู้ค้าตราสารอนุพันธ์ยังคงมีกลุ่มคนอีก 2 กลุ่ม ซึ่งมีขนาดที่ใหญ่กว่าผู้ป้องกันความเสี่ยง (Hedger) คือ นักเก็งกำไร (Speculator) และ นักค้ากำไร (Arbitrageurs)

นักเก็งกำไร (Speculator) เป็นผู้ที่เข้ามาซื้อขายตราสารอนุพันธ์ในตลาดอนุพันธ์ทุกประเภท ด้วยเหตุผลของการลงทุนที่จะเข้ามาเพื่อการเก็งกำไรจากการซื้อและขายเป็นหลัก นักเก็งกำไรต้องการทำกำไรจากการเคลื่อนไหวของราคา ทั้งในกรณีที่ราคาขึ้น หรือราคาลดลง ซึ่งการลงทุนในตลาดอนุพันธ์ทุกประเภท นักเก็งกำไรจะสามารถทำกำไรได้ในทั้งกรณีที่ราคาของตราสารอนุพันธ์ หรือสินทรัพย์ที่อ้างอิงมีราคาเพิ่มขึ้นหรือลดลง เพราะตราสารอนุพันธ์จะมีลักษณะที่มีความแตกต่างจากการลงทุนในหลักทรัพย์ประเภทหุ้นสามัญ หรือพันธบัตร จึงสามารถทำกำไรได้จากทั้งกรณีที่มีราคาเพิ่มขึ้น หรือราคาลดลง

นักเก็งกำไร เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในตลาดตราสารอนุพันธ์เป็นอย่างมาก เพราะนักเก็งกำไรจะเป็นผู้ที่ช่วยให้ตลาดอนุพันธ์ทุกประเภทมีสภาพคล่อง หากตลาดอนุพันธ์ขาดนักเก็งกำไร หรือมีจำนวนนักเก็งกำไรไมมากพอ จะทำให้ตราสารอนุพันธ์ที่มีการซื้อขายขาดสภาพคล่อง และที่สำคัญคือ ราคาของตราสารอนุพันธ์จะมีราคาที่แพง เปรียบเสมือนการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ หากตลาดหลักทรัพย์มีแต่นักลงทุน ไม่มีนักเก็งกำไรแล้ว ตลาดหลักทรัพย์คงไม่มีการเคลื่อนไหวของราคาเช่นกัน เพราะนักลงทุนจะเป็นผู้ที่ลงทุนตามปัจจัยพื้นฐานที่แท้จริง เป็นผู้ลงทุนที่หวังผลตอบแทนในรูปเงินปันผล และลงทุนในระยะเวลาที่ยาวนาน

แต่นักเก็งกำไร จะเป็นผู้ที่เข้ามามีบทบาทในตลาดอย่างฉาบฉวย หวังผลตอบแทนจากการเปลี่ยนแปลงของราคา เป็นสำคัญ โดยมากนักเก็งกำไร จะเป็นผู้ที่ลงทุนในระยะสั้น ตลาดอนุพันธ์ หรือตลาดหลักทรัพย์ใดมีนักเก็งกำไรจำนวนน้อย ก็จะส่งผลให้การเคลื่อนไหวของราคาเป็นไปได้ช้า

คนกลุ่มสุดท้ายที่เข้ามามีบทบาทในตลาดอนุพันธ์ คือ นักค้ากำไร (Arbitrageurs) เป็นผู้ที่แสวงหารายได้จากการลงทุนในตลาดสองตลาดพร้อม ๆ กัน เพื่อรับส่วนแตกต่างระหว่างตลาด หรือในบางครั้งอาจเลือกลงทุนในตลาดเดียวกัน แต่ลงทุนในตราสารอนุพันธ์คนละชนิดกัน เพื่อหากำไร นักค้ากำไร จะเป็นผู้ที่ทำให้ช่วงห่างของราคาในตลาดที่อยู่ในภูมิภาคที่แตกต่างกัน กลับมาอยู่ในจุดสมดุล

จะเห็นได้ว่าบุคคลทั้ง 3 กลุ่ม เป็นผู้ที่มีประโยชน์ต่อตลาดตราสารอนุพันธ์เป็นอย่างมาก หากขาดคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไปแล้ว ตลาดอาจไม่เกิดสมดุลอย่างที่ควรจะเป็น
กำลังโหลดความคิดเห็น