สถาบันวิจัยนครหลวงไทย (SCRI) ประเมินว่า ในปี 2552 กลุ่ม 4 ประเทศอาเซียน ได้แก่ สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซียและมาเลเซียนั้น “ฟิลิปปินส์” มีความเสี่ยงที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะชะลอตัวลงค่อนข้างมากรองจากสิงคโปร์ อันเป็นผลจากการที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์นั้นอาศัยการส่งออกสุทธิเป็นตัวขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจในแต่ละปีในระดับที่ค่อนข้างสูงโดยอยู่ที่ประมาณ 40%ใกล้เคียงกับสิงคโปร์ ในขณะที่อินโดนีเซียและมาเลเซียอยู่ที่ 17% และ -2% ตามลำดับ นอกจากนี้ เมื่อประเมินศักยภาพทางการคลังของฟิลิปปินส์นั้นพบว่าอยู่ในระดับที่มีศักยภาพต่ำในการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการทางการคลังเนื่องจากหนี้สาธารณะต่อ GDP อยู่ที่ประมาณ 62%
ในขณะที่อินโดนีเซียและมาเลเซียมีหนี้สาธารณะต่อ GDP ในระดับต่ำที่ 35% และ 42% ตามลำดับ ส่งผลให้ทั้งสองประเทศยังมีช่องว่างในการใช้นโยบายการคลังแบบขยายตัวในการรับมือภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวผนวกกับนโยบายการเงินของ 2 ประเทศ ในปี 2552 นั้นมีช่องว่างให้อินโดนีเซียและมาเลเซียลดอัตราดอกเบี้ยได้เนื่องจากเงินเฟ้อในปี 2552 มีแนวโน้มลดลงตลอดทั้งปี
ทาง SCRI มีความเห็นว่า ประเทศใน ASEAN คงไม่สามารถที่จะพึ่งพิงยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยการส่งออกอย่างน้อยในช่วง 5 ปีจากนี้ไป เนื่องจากตลาดส่งออกหลักคือ G-3 กำลังอยู่กระบวนการปรับตัวเข้าสู่ภาวะสมดุล โดยเฉพาะสหรัฐฯที่เดิมอยู่ในฐานะประเทศที่บริโภคมากที่สุดในโลกอาจจะลดทอนการบริโภคลงและเน้นส่งออกมากขึ้นเพื่อลดการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ที่สุดแล้ว ASEAN ต้องหายุทธศาสตร์อื่น
โดยสถาบันวิจัยนครหลวงไทย มองว่า ASEAN กำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินยุทธศาสตร์ที่จะเปลี่ยนทิศทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยกระบวนการเปลี่ยนยุทธศาสตร์ ไม่ได้ดำเนินการหลังวิกฤติเศรษฐกิจสหรัฐฯ หากแต่เริ่มมาตั้งแต่ช่วงหลังวิกฤติเอเชียในปี 2540 และต่อเนื่องจนมาถึงปัจจุบัน ดังจะเห็นจากข้อตกลง ข้อเสนอแนะ รวมทั้งกรอบความร่วมมือมากมาย เช่น ข้อตกลงการแลกเปลี่ยนทุนสำรองระหว่างประเทศของประเทศ ASEAN+3 ในยามวิกฤติ (ASEAN ผนวกเกาหลีใต้ ญี่ปุ่นและจีน) หรือ “ข้อตกลงริเริ่มเชียงใหม่”(Chiang Mai Initiative) รวมทั้งความพยายามรวมกลุ่มประเทศASEAN หรือ “ประชาคมอาเซียนในลักษณะตลาดร่วม” (Common Market) คล้ายกับสหภาพยุโรป โดยผ่านการลงนามในกฎบัตรอาเซียน ซึ่งประเทศอาเซียนส่วนใหญ่ลงนามไปแล้วในวันที่ 15 ธ.ค. 2551(ยกเว้นไทย) และการจัดตั้งกองทุนการเงินระหว่างประเทศของเอเชีย (Asia Monetary Fund : AMF) ซึ่งเคยถูกสหรัฐฯคัดค้านอย่างรุนแรง
แต่ขณะนี้กำลังเดินหน้าโดยมี จีน เกาหลีใต้ และ ญี่ปุ่น เป็นแกนกลางโดยไม่สนใจเสียงคัดค้านจากสหรัฐฯและสหภาพยุโรป ที่เห็นว่าโลกควรจะมีกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เพียงองค์กรเดียวและเอเชียควรจะปฏิบัติตามคำแนะนำและขอความช่วยเหลือในยามฉุกเฉินจาก IMF เท่านั้น ไม่ควรตั้งกองทุนอื่นๆขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ทับซ้อน และความคิดอื่นๆอีกจำนวนมากเช่นพันธบัตรเอเชีย(Asia Bond) ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างเดินหน้าเช่นกัน
SCRI คาดว่า ในปี 2552 เป็นปีที่แนวโน้มทางเศรษฐกิจของ ASEAN 4 ประเทศไม่สดใสนัก โดยทั้ง 4 ประเทศ มีแนวโน้มที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะชะลอลงค่อนข้างมาก และ ในกรณีที่เลวร้ายที่สุดพบว่า สิงคโปร์ อาจจะมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่หดตัว ในขณะที่ประเทศที่สถาบันวิจัยนครหลวงไทย เห็นว่ามีความเสี่ยงสูงในลำดับถัดมา คือ ฟิลิปปินส์ เนื่องจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจในแต่ละปีพึ่งพาการส่งออกสุทธิค่อนข้างมากในระดับที่ ไม่แตกต่างจากสิงคโปร์
นอกจากนี้ ฟิลิปปินส์ยังมีข้อจำกัดในการดำเนินนโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเนื่องจากสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP อยู่ในระดับสูง นอกจากนี้ SCRI เห็นว่า การที่ ASEAN และอาจจะรวมทั้งเอเชียในการหันเหยุทธศาสตร์ที่เน้นการส่งออกไปยังประเทศG-3 มาเป็นยุทธศาสตร์พึ่งพากันเองทั้งในเงินทุนและตลาดการค้านั้น ไม่ว่าจะถูกหรือผิด สำเร็จหรือล้มเหลว แต่ ASEAN กำลังอยู่บนความท้าทายสำคัญที่สุดและผลจากสิ่งที่กำลังทำจะมีส่วนเปลี่ยนโฉมหน้าภูมิศาสตร์ทางเศรษฐกิจในอนาคต
ภาคการบริโภคในประเทศของญี่ปุ่นยังคงน่าเป็นห่วง
สำหรับภาคการบริโภคของญี่ปุ่น ทางสถาบันวิจัยนครหลวงไทย มองว่า ยอดขายปลีกของญี่ปุ่นในเดือนพ.ย. 2551 มีมูลค่า 11.154 ล้านล้านเยน ลดลง -0.6% yoy โดยนับเป็นการปรับลดลงติดลบต่อเนื่องจากในเดือนที่แล้ว ซึ่งชะลอตัวลงอยู่ที่ระดับ -0.6% yoy และยังเป็นการชะลอตัวลงติดลบเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน ในขณะที่ยอดค้าส่งของญี่ปุ่นในเดือนพ.ย. 2551 ปรับลดลง -10.5% yoy มีมูลค่า 36.58 ล้านล้านเยน
SCRI ยังคงประเมินภาคการบริโภคของญี่ปุ่นโดยรวมยังคงจะมีทิศทางการชะลอตัวต่อเนื่อง จากสัญญาณการปรับลดลงต่อเนื่อง ทั้งในด้านของยอดขายปลีกและขายส่ง หลังจากที่ยอดค้าปลีกและค้าส่งของญี่ปุ่นในเดือนพ.ย. 2551 ที่ผ่านมามีการชะลอตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน เป็นสัญญาณที่น่าเป็นห่วงอย่างมากของภาคการบริโภคในญี่ปุ่น เนื่องจากทิศทางการปรับตัวลดลงในด้านของยอดค้าปลีกยังคงจะมีการปรับชะลอตัวต่อเนื่อง
หลังจากที่มีการปรับลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดมีการชะลอตัวอย่างชัดเจน SCRI มองว่านอกจากปริมาณการขายที่ลดลงแล้ว โดยส่วนหนึ่งก็มีปัจจัยมาจากทางด้านราคา ซึ่งราคาสินค้าหลายๆชนิดได้เริ่มมีการปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะระดับราคาน้ำมันในตลาดโลกที่เริ่มมีการปรับลดลงในอัตราเร่งตั้งแต่ในช่วงเดือนก.ย.2551 เป็นต้นมา
ขณะที่ในด้านของภาคการค้าส่ง ที่ถือเป็นหัวใจหลักของภาคการค้าในญี่ปุ่นเนื่องจากมีสัดส่วนกว่า 4 ใน 5 ของภาคการบริโภคโดยรวมก็เริ่มเห็นทิศทางการปรับตัวลดลงที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่ง SCRI ประเมินว่าจะส่งผลไปสู่ภาพของการค้าในองค์รวมให้เห็นสัญญาณการชะลอตัวที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้นอีก ดังนั้นแล้ว SCRI จึงมีมุมมองที่เป็นลบมากขึ้นอีกกับภาคอุปสงค์ในประเทศญี่ปุ่น ว่าอย่างน้อยในช่วงที่เหลือของปีนี้จนถึงช่วงกลางปี 2552 จะยังคงเห็นการปรับตัวลดลงของภาคอุปสงค์ในประเทศญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง และจะส่งผลสืบเนื่องไปสู่ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมให้มีการชะลอตัวลงตามไปด้วย
ที่มาสถาบันวิจัยนครหลวงไทย