"พิชิต" วิกฤตเศรษฐกิจ ฉุดธุรกิจกองทุนรวมสะดุด เหตุระดมเงินได้ยากขึ้น หลังรายได้ส่วนเกินของนักลงทุนลดลง แถมยังกลัวการขาดทุนจากหุ้นที่ลดลงทั่วโลก ประเมินปีหน้า การแข่งขันด้านราคามีสูง เพื่อหวังดึงลูกค้าส่งต่อเป็นฐานแบงก์แม่ เสนอขายโพรดักส์อื่น ระบุนวัตกรรมใหม่ๆ ช่วยได้ แต่ไม่ใช่กับกองทุนรวมเมืองไทย เหตุผู้กำกับไม่เอื้อ ห่วงเปิดเสรีเมื่อไหร่ บลจ. อยู่ยาก
นายพิชิต อัคราทิตย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากวิกฤตการเงินและวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ส่งผลให้การระดมทุนในธุรกิจกองทุนรวมทำได้ยากขึ้น เนื่องจากเจ้าของเงินเอง ตัดสินใจเอาเงินมาลงทุนยากขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะรายได้ส่วนเกินลดลง ทำให้มีผลต่อเงินออมโดยตรง นั่นคือ สัดส่วนเงินออมต่อรายได้ลดลงนั่นเอง นอกจากนี้ ยังเป็นผลมาจากรายได้ไม่พอกับรายจ่าย ทำให้มีการดึงเงินออมกลับออกไป โดยจากสาเหตุดังกล่าวที่กล่าวมา ส่งผลให้เงินที่จะนำมาลงทุนลดลง
ขณะเดียวกัน วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นส่งผลด้านจิตวิทยาต่อนักลงทุนด้วยเช่นกัน นั่นคือ นักลงทุนกังวลการขาดทุน เนื่องจากหุ้นในประเทศและหุ้นต่างประเทศเองปรับลดลงอย่างรุนแรงเกือบครึ่งหนึ่งได้ ทำให้กังวลว่าถ้าเข้ามาลงทุนก็จะได้รับผลกระทบโดยตรงในเรื่องของการขาดทุน ซึ่งสถานการณ์อย่างนี้ จะยังต่อเนื่องไปถึงปีหน้า อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้นักลงทุนจะมองหาการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ และได้รับเงินต้นคืน ขณะเดียวกันต้องได้รับผลตอบแทนที่แน่นอนด้วย
ดังนั้น ในส่วนของผลิตภัณฑ์ทางการลงทุนเอง ก็จะออกมาคล้ายกับเงินฝากของธนาคารมากขึ้น อย่างน้อยต้องคุ้มครองเงินต้น และระบุชัดเจนว่าดอกเบี้ยเป็นเท่าไหร่ ซึ่งผลิตภัณฑ์ทางการลงทุนเหล่านี้ จะได้รับความนิยมมากขึ้น เพราะเจ้าของเงินไม่กล้าลงทุนในประเภทอื่น
อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้ธนาคารพาณิชย์เองอาจจะเข้ามาระดมเงินอยู่บ้างในช่วงสั้นๆ นี้ สาเหตุหลักเพราะเงินทุนจากต่างประเทศถอนออกไปเพื่อนำไปชดเชยในส่วนที่ขาดทุน ทำให้ตลาดทุนและระบบธนาคารเกิดสภาพคล่องลดลงในช่วงสั้น ซึ่งส่งผลให้เกิดการแข่งระดมเงินฝากระยะสั้น โดยในปีหน้าเองก็อาจจะยังคงเห็นอยู่บ้างเป็นระยะ
"ทั้งรายได้ที่ลดลงและนักลงทุนกลัวการขาดทุน รวมถึงการที่แบงก์แข่งระดมเงินฝาก ทำให้คู่แข่งในการระดมทุนเพิ่มขึ้น ดังนั้น จึงส่งผลต่อเนื่องให้การระดมทุนของกองทุนรวมทำได้ยากขึ้นตามไปด้วย"นายพิชิตกล่าว
นายพิชิตกล่าวว่า อีกหนึ่งปัจจัยที่จะเห็นในธุรกิจกองทุนรวมปีหน้าคือ การแข่งขันด้านราคาจะมีสูงขึ้น ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นมาแล้วในช่วงระยะเวลาหนึ่ง หรือประมาณช่วงปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเพราะมีบริษัทจัดการกองทุนเพิ่มเข้ามา ทั้งนี้ ในปีหน้าเองเชื่อว่าจะมีบริษัทจัดการรายใหม่เพิ่มขึ้นมาในธุรกิจอีก 1 บริษัท เป็น 24 บริษัทจากปัจจุบันที่มีอยู่ 23 บริษัท อย่างไรก็ตาม วิกฤตที่เกิดขึ้น เชื่อว่าจะไม่มีผลกระทบรุนแรงจนมีบริษัทจัดการต้องล้มไป สาเหตุเพราะบลจ.ส่วนใหญ่ มีธนาคารพาณิชย์เป็นบริษัทแม่ แต่ปัจจัยด้านการแข่งขันราคายังจะไม่ลดลงไปกว่านี้
ทั้งนี้ ในปีหน้า กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (โพวิเดนท์ฟันด์) และกองทุนส่วนบุคคล (ไพรเวทฟันด์) ยังเป็นเครื่องมือในการทำตลาดของบริษัทแม่เป็นหลัก ซึ่งการที่กองทุนทั้ง 2 ประเภทมีการกดราคา เนื่องจากต้องการฐานลูกค้าใหญ่ เพราะธนาคารพาณิชย์ซึ่งเป็นบริษัทแม่ สามารถใช้เป็นฐานในการขายผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่นๆ ต่อไปได้ ดังนั้น ของพวกนี้ จึงเป็นเหมือนของแถมสำหรับบริษัทจัดการที่มีธนาคารพาณิชย์เป็นแม่
อย่างไรก็ตาม การที่มีนวัตกรรมทางการลงทุนใหม่ จะช่วยลดการแข่งขันด้านราคาลงได้ แต่เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมทั่วไปเท่านั้น ไม่ได้เกิดในอุตสาหกรรมกองทุนรวมในบ้านเรา สาเหตุที่สำคัญเพราะกฎหมายทางการเป็นอุปสรรคในการพัฒนานวัตกรรมการลงทุนใหม่ ดังนั้น จากข้อจำกัดที่มีอยู่ จึงทำให้การลงทุนใหม่หรือสินค้าใหม่ไม่เกิดขึ้นมาตอบสนอง นอกจากนี้ ยังเป็นการริดรอนสิทธิของนักลงทุนที่ต้องการนวัตกรรมการลงทุนใหม่ๆ ด้วย ซึ่งเรื่องนี้น่าสนใจว่า ถ้าประเทศไทยมีการเปิดเสรีทางการเงินเมื่อไหร่ ธุรกิจบลจ. อาจจะอยู่ยาก ถ้าไม่มีการพัฒนานวัตกรรมการลงทุนใหม่ๆ เลย
นายพิชิตกล่าวว่า ในปีหน้าช่องทางที่จะเอาเงินไปลงทุนจะลดลง โดยเฉพาะหุ้น กองทุนต่างประเทศ (เอฟไอเอฟ) และการลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ (คอมมอดิตี้) ส่วนกองทุนอสังหาริมทรัพย์ (พร็อพเพอร์ตี้ฟันด์) กองทุนรวมตลาดเงิน (มันนี่มาร์เกต) กองทุนที่กำหนดอายุการลงทุนชัดเจนและให้ผลตอบแทนชัดเจน รวมถึงกองทุนคุ้มครองเงินต้นที่จะได้รับความสนใจมากขึ้น เพราะกองทุนเหล่านี้ มีความเสี่ยงต่ำ