xs
xsm
sm
md
lg

ผ่อนเกณฑ์ตั้งกองอินฟาฯหนุนแผนระดมทุนง่ายขึ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สำนักงาน ก.ล.ต. ยืดหยุ่นเกณฑ์จัดตั้งกองทุนรวมสาธารณูปโภค ลดขนาดกองทุนขั้นต่ำลงเหลือ 5,000 ล้านบาท พร้อมเปิดช่อง ลงทุนในโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง หรือแล้วเสร็จ 100% ได้ แถมใจอ่อน ไฟเขียวผู้จัดการกองทุนรวมทั่วไป บริหารกองทุน ล่าสุด ก.ล.ต. เตรียมเรียกหน่วยงานเฮียร์ริ่งอีกรอบ เชื่อได้ขอสรุปหลักเกณฑ์เร็วๆนี้ ด้าน "พิชิต" ขานรับ หนุนแผนระดมทุนได้ง่ายขึ้น

นายพิชิต อัคราทิตย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ผ่อนคลายหลักเกณฑ์การจัดตั้งกองทุนรวมสาธารณูปโภค หรืออินฟาสตรักเจอร์ฟันด์มากขึ้นแล้ว โดยล่าสุด มีการยืดหยุ่นให้กองทุนสามารถจัดตั้งกองทุนด้วยมูลค่าโครงการขั้นต่ำ 5,000 ล้านบาท จากเดิมที่กำหนดกรอบเอาไว้ที่ 10,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังขยายกรอบการลงทุนให้สามารถลงทุนในโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ไปจนถึงโครงการที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ 100% ซึ่งในส่วนนี้ถือว่ายิดหยุ่นมากกว่าหลักเกณฑ์เดิมที่กำหนดให้สามารถลงทุนได้ในโครงการที่ก่อสร้างแล้วเส็จ 80% ขึ้นไป

สำหรับผู้จัดการกองทุนที่จะเข้ามาบริหารจัดการกองทุน จากเดิมที่กำหนดกรอบไว้เฉพาะผู้จัดการกองทุนอสังหาริมทรัพย์เท่านั้น ก็เปิดกว้างให้ผู้จัดการกองทุนรวมทั่วไป สามารถบริหารจัดการกองทุนได้ ส่วนหลักเกณฑ์ในการกู้ยืมเงินนั้น ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง โดยยังคงสัดส่วนเดิมเอาไว้ที่ 10% เช่นเดิม

อย่างไรก็ตาม เร็วๆนี้ สำนักงาน ก.ล.ต. จะมีการเรียกประชุมเพื่อขอแสดงความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง เพื่อหาข้อสรุปในหลักเกณฑ์ดังกล่าว ซึ่งการหารือในครั้งนี้ น่าจะได้ข้อสรุปแล้ว และคาดว่าภายหลังจากสรุปหลักเกณฑ์และออกเป็นประกาศบังคับใช้แล้ว อีกประมาณ 2 เดือนอาจจะได้เห็นกองทุน

นายพิชิตกล่าวว่า การที่หลักเกณฑ์มีความยืดหยุ่นมากขึ้น โดยเฉพาะการกำหนดมูลค่าโครงการขั่นต่ำจาก 10,000 ล้านบาทเป็น 5,000 ล้านบาท จะทำให้จัดตั้งกองทุนได้ง่ายขึ้น และน่าจะขายกองทุนได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้ มองว่าการลงทุนในระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน ผ่านอินฟาสตรักเจอร์ ฟันด์ นั้น จะได้รับความสนใจจากนักลงทุน เพราะในต่างประเทศเอง ให้ผลตอบแทนที่สูงถึง 10-18% ซึ่งสูงกว่าผลตอบแทนของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ที่ประมาณ 7% ดังนั้น จึงต้องการให้รัฐบาลเร่งแก้กฎเกณฑ์ที่จะเป็นอุปสรรคต่อการจัดตั้งกองทุน ซึ่งจะช่วยให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ลงทุน

"หากรัฐบาลอนุญาตให้ตั้งกองทุนเพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานได้แล้วน่าจะได้รับความสนใจจากประชาชน เข้าซื้อหน่วยลงทุนถึงแม้จะมีความเสี่ยงต่อการลงทุนสูง ก็จะได้รับผลตอบแทนสูง เช่น กองทุนที่ตั้งในต่างประเทศได้ผลตอบแทนประมาณร้อยละ 10-18 เพื่อระดมทุนสร้างเขื่อน สนามบิน โรงไฟฟ้า ซึ่งถือเป็นการออมเงินในระยะยาวได้อีกทางหนึ่ง"นายพิชิตกล่าว

ส่วนความคืบหน้าของกองทุนวายุภักษ์ 2 ซึ่งถือเป็นเครื่องมือหนึ่งในการระดมทุนเพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานนั้น มองว่าขณะนี้รัฐบาลยังมีความสามารถในการกู้เงินได้อยู่ ดังนั้น จึงน่าจะยังไม่เห็นในช่วงนี้ อย่างไรก็ตาม กองทุนวายุภักษ์ ยังคงเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการระดมทุนของรัฐบาล โดย 6 ปีที่ผ่านมา กองทุนวายุภักษ์ 1 ได้ส่งเงินให้กับรัฐบาลไปแล้วร่วม 40,000 ล้านบาทโดยไม่ก่อให้เกิดหนี้สาธารณะเลย

"บลจ.เอ็มเอฟซีเองสนใจตั้งกองทุนสาธารณูปโภคอยู่แล้ว แต่ขึ้นอยู่กับว่าภาครัฐเอง จะต้องการให้เอกชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการลงทุนครั้งนี้หรือไม่ เพราะขณะนี้ รัฐบาลยังมีความสามารถในการกู้เงินอยู่ อย่างไรก็ตาม การที่ พ.ร.ก.และ พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจจำนวน 8 แสนล้านบาท ผ่านความเห็นชอบจากสภาฯ น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีให้ภาคเอกชนกล้าที่จะเริ่มลงทุนตามภาครัฐ ซึ่งผลจากการใส่เม็ดเงินลงสู่เศรษฐกิจในระยะสั้นนั้น จะช่วยให้จีดีพีปรับตัวสูงขึ้น แต่ในระยะยาวจะเป็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการแข่งขันในอนาคต"นายพิชิตกล่าว

ก่อนหน้านี้ สำนักงานก.ล.ต. รายงานความคืบหน้าการจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Mutual Fund) ว่า สำนักงาน ก.ล.ต. ได้จัดรับฟังความคิดเห็นไปบ้างแล้ว ในเบื้องต้นได้กำหนดขนาดกองทุนไว้ที่ 10,000 ล้านบาท โดยให้ลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานได้ทั้งในโครงการที่มีรายได้แล้ว และโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง ขณะเดียวกัน ยังอนุญาตให้สามารถแบ่งหน่วยลงทุนเป็นหลายประเภทได้ พร้อมเปิดทางให้กู้ยืมได้ยืดหยุ่นกว่ากองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ด้วย ซึ่งหลักเกณฑ์ในส่วนนี้ ยังต้องศึกษารูปแบบกองทุนชัดเจน ก่อนจะออกเป็นประกาศต่อไป

สำหรับบริษัทจัดการที่สนใจลงทุนใน โครงสร้างพื้นฐาน จอกจากบลจ.เอ็มเอฟซีแล้ว บลจ. กรุงไทย จำกัด (มหาชน) ก็ให้ความสนใจเช่นกัน โดยก่อนหน้านี้ นายสมชัย บุญนำสิริ กรรมการผู้จัดการ บลจ.กรุงไทย เปิดเผยว่า บริษัทสนใจตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานที่ลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคเช่นกัน โดยที่ผ่านมา อยู่ระหว่างการศึกษาการจัดตั้งกองทุนและมีการพูดคุยกับหน่วยงานราชการอยู่อย่างต่อเนื่อง เช่น กรมทางหลวง การทางพิเศษแห่งประเทศไทย แต่อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้คงต้องรอให้หลักเกณฑ์การจัดตั้งกองทุนของสำนักงาน ก.ล.ต. ออกมาอย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรมก่อน
กำลังโหลดความคิดเห็น