xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ประกันตนออกโรงคัดค้านสปส. ใช้เงินกองทุนซื้อข้าวแจกหวั่นทุจริต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปลัดแรงงาน ขอศึกษาข้อกฎหมายนำเงินกองทุนประกันสังคม1พันล้านบาท ซื้อข้าวสารแจกผู้ประกันตนก่อนดำเนินการ ด้านตัวแทนลูกจ้างออกโรงคัดค้าน หวั่นมีการทุจริตของกลุ่มผู้ได้ประโยชน์ รวมทั้งไม่เห็นด้วยกับการปล่อยกู้ 1 หมื่นล้านบาทปล่อยกู้ให้กับลูกจ้างและนายจ้าง

นายสมชาย ชุ่มรัตน์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการสำนักงานประกันสังคม (บอร์ด สปส.) กล่าวถึงข้อเสนอในที่ประชุมบอร์ด ที่เสนอให้นำเงินกองทุนประกันสังคมกว่า 1 พันล้านบาท ไปซื้อข้าวสารแจกผู้ประกันตน 9.8 ล้านคน ในจำนวนคนละ 1 ถุง หรือ 5 กิโลกรัม เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในช่วงภาวะเลิกจ้างว่า เป็นเพียงข้อเสนอในที่ประชุมเท่านั้น คงต้องพิจารณารายละเอียดข้อกฎหมายอีกครั้ง ว่าผิดระเบียบกองทุนหรือไม่ รวมทั้งศึกษาข้อกฎหมายของกระทรวง เพื่อความรอบคอบ ทั้งนี้มองว่าโครงการดังกล่าวจะสามารถช่วยลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้าง และผู้มีรายได้น้อยในช่วงนี้ได้ ส่วนที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการนำเงินไปใช้ไม่เกิดประโยชน์ ถือเป็นมุมมองที่แตกต่าง

ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวอีกว่า ส่วนมติบอร์ด สปส. กรณีปล่อยกู้ให้กับลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตน เพื่อนำไปประกอบอาชีพอิสระ และปล่อยกู้ให้นายจ้าง เพื่อเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินรวม 1 หมื่นล้านบาทนั้น ได้ยืนยันว่า หากปล่อยกู้ไปแล้ว ลูกจ้างหรือนายจ้างเกิดความล้มเหลว จะไม่ส่งผลกระทบต่อกองทุนให้เกิดหนี้สูญแน่นอน เพราะการปล่อยกู้เป็นหน้าที่ของธนาคารพาณิชย์ ที่ร่วมสัญญา จะเป็นผู้รับผิดชอบรับภาระหนี้ทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดที่สำนักงานประกันสังคม (สปส.) จะนำเงินกองทุนชราภาพ ไปค้ำประกันเงินกู้ 1 หมื่นล้านบาท ผ่านธนาคารพาณิชย์ที่ร่วมสัญญา ให้กับลูกจ้างและนายจ้าง เนื่องจากเงินดังกล่าว มีวัตถุประสงค์ใช้สำหรับผู้ใช้แรงงานที่เกษียณอายุ พร้อมมองว่า รัฐบาลควรนำงบประมาณส่วนกลาง มาปล่อยกู้บรรเทาความเดือดร้อนให้กับลูกจ้างและนายจ้างมากกว่า

“ไม่เห็นด้วยกับโครงการนำเงิน 1 พันล้านบาทของ สปส. ซื้อข้าวสาร 5 กิโลกรัมแจกผู้ประกันตน เพราะไม่ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนได้จริง และอาจเป็นช่องทางการทุจริตของกลุ่มผู้ได้ประโยชน์ โดยแนวคิดดังกล่าวเป็นเพียงแนวคิดของคนส่วนน้อย ไม่ใช่ตัวแทนของผู้ประกันตน และผู้ประกันตนส่วนใหญ่ก็ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าวด้วย”

ก่อนหน้านี้ นายปั้น วรรณพินิจ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด) ที่ผ่านมาว่าที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบในหลักการให้นำเงินกองทุนประกันสังคมจำนวน 1 หมื่นล้านบาทไปใช้ในการลงทุนเพื่อสังคม โดยการปล่อยกู้ผ่านธนาคารพาณิชย์ ซึ่งแยกเป็นในส่วนของลูกจ้าง 4,000 ล้านบาท และผู้ประกอบการ 6,000 ล้านบาท

โดย วิธีการคือ สปส.จะทำข้อตกลงกับธนาคารพาณิชย์ โดยนำเงินไปฝากในธนาคารดังกล่าวที่ร่วมโครงการ ทั้งนี้ สปส.จะยอมรับดอกเบี้ยเงินฝากในอัตราที่ต่ำประมาณ 1% เพื่อให้ธนาคารลดอัตราดอกเบี้ยให้แก่ผู้ประกันตน และสถานประกอบการในอัตราที่ต่ำกว่าตลาด 1-2% ซึ่งเบื้องต้นบอร์ดให้ความสนใจแนวทางของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) ซึ่งมีโครงการฝึกอาชีพ และปล่อยกู้ให้ลูกค้าอยู่แล้ว ข้อแม้นายจ้างต้องไม่เลิกจ้าง

เลขาธิการ สปส. กล่าวว่า สำหรับผู้ประกันตนที่มีสิทธิกู้เงินได้นั้น ต้องเป็นผู้ที่ออกจากงาน หรือต้องการเปลี่ยนงานใหม่ โดยวงเงินที่ปล่อยกู้ขึ้นอยู่กับโครงการที่ขอมา ซึ่งจะไม่เท่ากัน ในส่วนของผู้ประกอบการนั้น ที่ต้องปล่อยกู้เพราะต้องการให้เกิดการจ้างงานเอาไว้ เพื่อ สปส.จะได้ไม่ต้องจ่ายประกันการว่างงานกรณีถูกเลิกจ้าง และยังสามารถเก็บเงินสมทบลูกจ้างต่อไปได้ ดังนั้นจึงต้องตั้งเงื่อนไขพิเศษว่า เมื่อกู้เงินไปแล้ว สถานประกอบการต้องไม่เลิกจ้างลูกจ้าง หากผิดเงื่อนไขก็ต้องมีการลงโทษ เช่น เพิกถอนออกจากระบบที่ สปส.ให้การค้ำประกันอยู่

“การปล่อยกู้ครั้งนี้อาจทำให้เราขาดรายได้ไปปีละประมาณ 200 ล้านบาท แต่ถือว่าเป็นการลงทุนเพื่อสังคม ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา เราจ่ายเงินกรณีว่างงานเพิ่มขึ้นมาก แต่ยังมีกองทุนสะสมเหลืออยู่อีกมาก ซึ่งปีก่อนๆ สปส.เก็บเงินกรณีว่างงานได้ราวปีละ 9 พันล้านบาท แต่จ่ายไปไม่เกิน 2 พันล้านบาท ทำให้ตอนนี้มีเงินกองทุนว่างงานอยู่ราว 3.5 หมื่นล้านบาท” นายปั้นกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น