xs
xsm
sm
md
lg

ฟินันซ่าเลื่อนขายกองเอฟไอเอฟ เหตุตลาดผันผวนไม่เอื้อต่อการลงทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บลจ.ฟินันซ่า เลื่อนขายกองทุนเอฟไอเอฟ "Global Thematic Equity Fund" ที่เน้นโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน พลังงานทดแทน การอุปโภคและบริโภคในภูมิภาคเอเชียออกไปไม่มีกำหนด เหตุสภาพตลาดผันผวน ไม่เอื้อต่อการลงทุน ส่วนกองทุน Global Managed Futures Fund คาดว่าจะสามารถออกกองทุนได้ประมาณไตรมาส 2 ปีหน้า

นายธีระ ภู่ตระกูล กรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ฟินันซ่า จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทได้เลื่อนแผนงานในการออกกองทุนที่เน้นไปลงทุนในต่างประเทศ (FIF) จำนวน 1 กองทุน ได้แก่ กองทุน Global Thematic Equity Fund ออกไปอย่างไม่มีกำหนด หลังจากกองทุนดังกล่าวได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เรียบร้อยแล้ว และจากเดิมคาดว่าจะสามารถเสนอขายหน่วยลงทุนครั้งแรก (IPO) ได้ประมาณปลายเดือนธันวาคมนี้ เนื่องจากสภาพตลาดมีความผันผวน และไม่เอื้ออำนวยต่อการลงทุนแต่อย่างใด โดยกองทุนดังกล่าวจะเน้นลงทุนในระบบโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน พลังงานทดแทน การอุปโภคและบริโภคในภูมิภาคเอเชีย แต่จะไม่เน้นการลงทุนในภูมิภาคใด โดยจะเป็นการกระจายการลงทุนไปยังทุกภูมิภาคทั่วโลก

ส่วนกองทุน Global Managed Futures Fund ที่จะเน้นลงทุนในตราสารอนุพันธ์ประเภทฟิวเจอร์ส (Futures) ที่อ้างอิงกับหุ้น พันธบัตร อัตราแลกเปลี่ยน ตราสารหนี้ และสินค้าโภคภัณฑ์ในต่างประเทศ ซึ่งจะลงทุนในกองทุนที่มีการจัดตั้งอยู่แล้ว แต่จะไม่มีการปิดค่าความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนของค่าเงินบาทแต่อย่างใด ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการยื่นขออนุมัติจาก ก.ล.ต. และยังติดขัดกฎเกณฑ์บางประการ โดยหาก ก.ล.ต.สามารถแก้ไขกฎเกณฑ์ดังกล่าวภายในไตรมาสแรกปี 2552 คาดว่าจะสามารถออกกองทุนได้ประมาณไตรมาส 2 ปี 2552

อย่างไรก็ตาม การที่สำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต.ได้อนุญาตให้กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) สามารถกำหนดช่วงเวลาขายหน่วยลงทุนได้มากกว่า 2 ครั้งต่อปีนั้น บริษัทมีนโยบายในการเปิดขายหน่วยลงทุนได้ปีละ 2 ครั้งเช่นเดิม แต่อาจจะมีการยืดระยะเวลาให้นักลงทุนสามารถเข้ามาทำการซื้อขาย หรือสับเปลี่ยนโยกย้ายหน่วยลงทุนได้มากขึ้นจากเดิมที่ครั้งละ 2 วันเพิ่มขึ้นเป็นครั้งละ 1 สัปดาห์แทน

นายธีระกล่าวว่า การนำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าอ้างอิงหุ้นรายตัว (Stock Futures) มาช่วยในการบริหารพอร์ตลงทุนนั้น บริษัทยังไม่มีความสนใจในการนำเครื่องมือดังกล่าวมาใช้ในการบริหารพอร์ตลงทุนแต่อย่างใด โดยมองว่าเครื่องมือดังกล่าวเหมาะสมกับนักลงทุนกลุ่มส่วนยบุคคล (Private Fund) มากกว่า ขณะเดียวกัน บริษัทยังไม่มีนโยบายในการนำกองทุนอีทีเอฟ (Exchange Traded Fund) ที่อ้างอิงดัชนีต่างประเทศมาทำเป็นกองทุนเปิดเพื่อนำเสนอขายแต่อย่างใด

ก่อนหน้านี้ นายธีระ ภู่ตระกูล กรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการ บลจ.ฟินันซ่า กล่าวว่า แผนการดำเนินงานในช่วงที่เหลือของปีนี้ นายธีระ กล่าวว่าบริษัทจะพยายามผลักดันการซื้อขายหน่วยลงทุนของกองทุนเปิดภายใต้การบริหารจัดการของบริษัท ได้แก่ กองทุนเปิดฟินันซ่า หุ้นระยะยาว (FAM LTF) กองทุนเปิดฟินันซ่า SET เพิ่มพูนปันผล (FAM EEF) กองทุนเปิดหน่วยลงทุนฟินันซ่า โกลบอล อโลเคชั่น (FAM GAF) กองทุนเปิดหน่วยลงทุนฟินันซ่า โกลบอล คอมมอดิตี้ (FAM GCF) กองทุนเปิดฟินันซ่า มันนี่มาร์เก็ตฟันด์ กองทุนเปิดดัชนีธุรกิจพลังงานและธุรกิจปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ (FAM EPIF) รวมถึงกองทุนรวมหน่วยลงทุน ฟินันซ่าเพื่อการเลี้ยงชีพ (FAM RMF) ซึ่งไม่ได้มีการส่งเสริมการขายกองทุนใดเป็นพิเศษ

ขณะที่กองทุนเปิดฟินันซ่า มันนี่มาร์เก็ตฟันด์ (FAM MM) หลังจากได้เปิดเสนอขายเมื่อประมาณปลายเดือนสิงหาคม 2551 ที่ผ่านมา ปัจจุบัน มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) อยู่ที่ประมาณ 70 ล้านบาท โดยบริษัทจะพยายามผลักดันยอดทรัพย์สินสุทธิให้ถึง 100 ล้านบาทภายในสิ้นปีนี้ ขณะที่มูลค่าทรัพย์สินสุทธิภายใต้การบริหารจัดการ (AUM) สิ้นสุดเดือนตุลาคม 2551 อยู่ที่ประมาณ 20,000 ล้านบาท โดยบลจ.ฟินันซ่า ตั้งเป้าหมายจะพยายามคงมูลค่าทรัพย์สินสุทธิภายใต้การบริหารจัดการให้อยู่ในระดับปัจจุบัน เนื่องจากสถานการณ์ในปัจจุบันค่อนข้างลำบาก และตลาดหุ้นโดยรวมปรับตัวลดลงประมาณ 40% ส่งผลให้มูลค่าทรัพย์สินสุทธิปรับลดลงตามไปด้วย

สำหรับกองทุนเปิดฟินันซ่า มันนี่มาร์เก็ตฟันด์ จะเน้นลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งตราสารแห่งหนี้และ/หรือเงินฝากที่มีความมั่นคง และมีความสามารถในการชำระดอกเบี้ยและเงินต้น ซึ่งจะครบกำหนดชำระคืนไม่เกิน 1 ปีนับตั้งแต่วันที่ลงทุน โดยกำหนดการดำรงอายุถัวเฉลี่ยแบบถ่วงน้ำหนักของกระแสเงินที่จะได้รับจากทรัพยืสินที่กองทุนรวมลงทุนไว้ (portfolio duration) ณ ขณะใดขณะหนึ่งไม่เกิน6เดือน

ทั้งนี้ บริษัทจัดการอาจลงทุนในหรือมีไว้ซึ่ง 1. สัญญาซื้อขายล่วงหน้า เพื่อลดความเสี่ยง (hedging) โดยการลงทุนสำหรับคู่สัญญาในต่างประเทศต้องได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทยและสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต.ทั้งนี้กองทุนจะไม่ลงทุนตราสารที่มีลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง 2. ตราสารหนี้ต่างประเทศ โดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ ก.ล.ต.หรือสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต.ประกาศกำหนดให้ลงทุนได้

ขณะเดียวกัน บริษัทจัดการอาจจะจัดให้มีการสนับสนุนด้านสภาพคล่องแก่กองทุน โดยกู้ยืมเงินหรือทำธุรกรรมการขายโดยมีสัญญาซื้อคืนตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต.หรือสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต.ประกาศกำหนดเพื่อกองทุนได้
กำลังโหลดความคิดเห็น