xs
xsm
sm
md
lg

Q&A corner : การขายคืนRMFและซื้อเพื่อลงทุนต่อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คำถาม - 1.ผมต้องการขายเงินลงทุนในกองทุน RMF ทั้งหมด ตั้งแต่ปี2544 – 2550 ในเดือน พ.ย. นี้ โดยได้ลงทุนเกิน 5 ปีและอายุเกิน 55 ปีโดยเงินที่ได้จะนำมาซื้อ RMF สำหรับปี 2551 ข้อ2.ซื้อ กองทุน RMF ตามสิทธิโดยรวมกับ Provident Fund แล้วไม่เกิน 700,000 บาท(ตามที่รัฐบาลประกาศ)ภายในปี 2551นี้เพื่อนำเป็นค่าลดหย่อนภาษีปี2551 ในการยื่นภาษีเดือน ก.พ. ปีหน้า คำถามตามความเข้าใจของผมไม่ทราบว่าถูกต้องหรือไม่1. การขายเป็นไปตามเงื่อนไขของกรมสรรพกรหรือเปล่า โดยมีทั้งซื้อและขายในปีนี้ 2.ถ้าเป็นไปตามเงื่อนไข ทาง บลจ จะออกเอกสารอย่างไรในการยื่นภาษีเพื่อรับรอง ไม่ทราบว่ามีใครจะทำแบบนี้หรือเปล่า 3.เงินลงทุน RMF ในปี 2551 ผมต้องลงทุนต่อเนื่องอีก 5 ปี ถึงจะขายได้ เเละคือถ้าซื้อRMF ปี2551 ก่อนแล้วขายพร้อมกับหน่วยลงทุนก่อนหน้าหมดเลยยังสามารถนำเงินที่ซื้อในปี 2551 ไปลดหย่อนได้หรือเปล่า สุรพงษ์

ตอบ - เจ้าหน้าที่จากสมาคมบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนตอบคำถามดังนี้ครับ 1. ถ้าการขายเงินลงทุนในกองทุน RMF ตั้งแต่ปี 2544 ถึงปี 2550 นั้นเป็นการขายเงินลงทุนมีมีการลงทุนต่อเนื่องทุกปี โดยมีการเว้นการลงทุนไม่เกิน 1 ปี ติดด่อกัน และนับปีเฉพาะปีที่มีการลงทุนได้ตั้งแต่ 5 ปี การขายคืนนั้นก็จะเป็นไปตามเงื่อนไขของกรมสรรพากรครับ ส่วนเงินค่าซื้อในปีนี้ หากเกิดขึ้นในช่วงก่อน 1 มีนาคม 2551 เงินได้ส่วนนั้นก็ยังสามารถได้รับสิทธิในลักษณะเดียวกันกับที่ขายคืนไปแล้ว คือ เมื่อมีการลงทุนตอ่เนื่องทุกปี โดยมีการเว้นการลงทุนไม่เกิน 1 ปี และนับปีเฉพาะปีที่มีการลงทุนได้ตั้งแต่ 5 ปี รวมระยะเวลาในการลงทุนนับถือวันที่ขายคืนต้องไม่น้อยกว่า 5 ปี (นับแบบวันชนวันด้วย) เงินลงทุนนี้ก็สามารถขายคืนได้ครับ แต่หากการลงทุนในปี 2551 นี้เกิดขึ้นหลังวันที่ 1 มีนาคม 2551 นอกจากที่จะต้องมีการปฏิบัติให้เป็นไปตามที่กล่าวเช่นการซื้อก่อนวันที่ 1 มีนาคม 2551 แล้วผู้ลงทุนก็จะต้องมีอายุ ณ วันที่ขายคืนไม่น้อยกว่า 55 ปีบริบูรณ์อีกด้วย

2.ในกรณีที่ขายแล้วซื้อกับกองทุนรวมเดิมหรือบริษัทจัดการเดิมนั้น บางแห่งอาจจะออกเอกสารรับรองแยกกันให้ได้ บางแห่งก็อาจจะไม่สามารถทำให้ได้ครับ ขึ้นอยู่กับระบบการปฏิบัติงานของแต่ละบริษัท แต่ผู้ลงทุนก็สามารถทำให้เกิดเอกสารรับรองตามที่ต้องการเองได้โดยการซื้อกองทุนที่ไม่เคยลงทุนมาก่อนเท่านั้นเอง เอกสารก็จะแยกจากกันเองโดยเด็ดขาด ไม่ต้องกลัวว่าบริษัทจัดการจะทำให้ได้หรือไม่ครับ

3. ตามที่กล่าวแล้วใน (1) ครับ ถ้าเป็นเงินลงทุนก่อนวันที่ 1 มีนาคม 2551 ก็จะสามารถขายคืนได้เมื่อครบเงื่อนไขในลักษณะเดิม แต่ก็จะขายได้เฉพาะเงินลงทุนที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 1 มีนาคม 2551 เท่านั้น ส่วนเงินลงทุนส่วนที่เหลือจะขายคืนได้เมื่อเข้าเงื่อนไขว่าผู้ลงทุนมีอายุไม่น้อยกว่า 55 ปีบริบรูณ์ครับ แต่ถ้าลงทุนหลังวันที่ 1 มีนาคม 2551 เงินลงทุนทั้งหมดจะขายคืนได้ก็ต่อเมื่อมีการลงทุนตอ่เนื่องทุกปี โดยมีการเว้นการลงทุนไม่เกิน 1 ปี นับปีเฉพาะปีที่มีการลงทุนได้ตั้งแต่ 5 ปี รวมระยะเวลาในการลงทุนนับถือวันที่ขายคืนต้องไม่น้อยกว่า 5 ปี (นับแบบวันชนวัน) และผุ้ลงทุนมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ ก็จะขายคืนเงินลงทุนทั้งหมดได้ครับ

ส่วน คำถามเพิ่มเติม การขายคืนเงินลงทุนที่ยังไม่ได้ใช้สิทธิลดหย่อนภาษี ผู้ลงทุนจะไม่สามารถนำไปอ้างเพื่อใช้สิทธิในภายหลังได้ อีกทั้งหากมีกำไรจากเงินลงทุนดังกล่าวก็ต้องนำไปรวมเป็นเงินได้เพื่อเสียภาษีในปีที่ขายคืนนั้นอีกด้วยครับ ซึ่งการซื้อที่จะขายคืนรวมพร้อมกันกับส่วนที่ลงทุนมาตั้งแต่ปี 2544 ได้นั้นจะต้องเป็นเงินที่ลงทุนซึ่งเกิดขึ้นก่อนวันที่ 1 มีนาคม 2551 เท่านั้น หากซื้อหลังจากวันดังกล่าว ในส่วนนั้นก็จะไม่สามารถขายคืนพร้อมกันกับส่วนที่ลงทุนมาตั้งแต่ปี 2544 ได้ หากผู้ลงทุนยังมีอายุไม่ครบ 55 ปีบริบูรณ์

สำหรับท่านทีมีข้อสงสัยหรือมีคำถามเพิ่มเติม ส่งคำถามมาได้ที่ fund@manager.co.th หรือโพสต์เป็นความคิดเห็นไว้ที่หน้าข่าวกองทุนรวม www.manager.co.th ทางเราจะหาคำตอบมาให้ท่านอย่างเเน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น