xs
xsm
sm
md
lg

ก.ล.ต.ปลดล็อกขายหน่วยแอลทีเอฟ เพิ่มช่องลุยหุ้นผ่านวอร์แรนซ์-ETF-กองทุนดัชนี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ก.ล.ต. ปลดล็อกเกณฑ์ขายคืนหน่วยลงทุน LTF ไม่เกินปีละ 2 ครั้ง เปิดทางผู้ถือหน่วย วางแผนขายออกตามความเหมาะสม พร้อมเห็นชอบเพิ่มช่องทางกองทุนลุยหุ้น นับการลงทุนในวอแรนซ์ อีทีเอฟ และกองทุนดัชนี รวมในสัดส่วน 65% ได้ ขณะเดียวกัน ยังเห็นชอบแก้ไขเกณฑ์การซื้อหุ้นคืนและการเปิดเผยข้อมูลก่อนการซื้อหุ้นคืนของบริษัทจดทะเบียน หนุนความคล่องตัวและลดระยะเวลาซื้อหุ้นคืนให้รวดเร็วขึ้น
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการ ก.ล.ต. และคณะกรรมการกำกับตลาดทุน เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ที่ประชุมได้มีการหารือและมีมติให้ผ่อนคลายเกณฑ์เรื่องต่างๆ อันเป็นการลดภาระของภาคเอกชนในการระดมทุน ขจัดอุปสรรคในการไถ่ถอนหน่วยลงทุน และเห็นชอบการแก้ไขหลักเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ เกี่ยวกับการซื้อหุ้นคืนเพื่อให้ภาคเอกชนมีความคล่องตัวในการดำเนินการดังกล่าว โดยหนึ่งในมติที่เห็นชอบคือ แก้ไขเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดการกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) โดยได้ยกเลิกเกณฑ์ที่กำหนดให้ขายคืนหน่วยลงทุน LTF ได้เพียงไม่เกินปีละ 2 ครั้ง อันจะมีผลให้ผู้ถือหน่วยลงทุนสามารถวางแผนการขายคืนหน่วยลงทุนได้ตามความเหมาะสม

นอกจากนี้ ตามที่เกณฑ์ปัจจุบันกำหนดให้กองทุนรวม LTF ต้องลงทุนในหุ้นของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่ต่ำกว่า 65% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) ของกองทุนรวมนั้น ในครั้งนี้ได้มีการขยายประเภททรัพย์สินที่สามารถนับรวมในสัดส่วน 65% นี้ได้เพิ่มขึ้น ได้แก่ หลักทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนอ้างอิงกับหุ้นของบริษัทจดทะเบียนหรือกลุ่มหุ้นของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เช่น warrant, single stock futures, กองทุนรวมอีทีเอฟที่สะท้อนดัชนี SET 50 และกองทุนรวมดัชนีหุ้นสามัญ เป็นต้น

นายธีระชัยกล่าวต่อว่า นอกจาเรื่องของกองทุนแอลทีเอฟแล้ว คณะกรรมการ ก.ล.ต. และคณะกรรมการกำกับตลาดทุนยังได้เห็นชอบการแก้ไขหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการออกและเสนอขายตราสารทุนและตราสารหนี้ในวงจำกัด โดยให้ถือว่าได้รับอนุญาตเป็นการทั่วไป และได้รับยกเว้นการเปิดเผยข้อมูลก่อนการเสนอขายหลักทรัพย์ เนื่องจากการเสนอขายดังกล่าว เป็นการเสนอขายให้แก่กลุ่มผู้ลงทุนในวงแคบที่สามารถดูแลตนเองได้ หรือเป็นการเสนอขายให้แก่บุคคลที่รู้ข้อมูลของบริษัทดีอยู่แล้ว ซึ่งการแก้ไขหลักเกณฑ์ดังกล่าวจะช่วยให้การเสนอขายหลักทรัพย์มีความสะดวกมากขึ้น และช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการระดมทุนของภาคเอกชน ประกอบกับการมีผลใช้บังคับของพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 4 ) พ.ศ. 2551 ตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2551 ซึ่งมีข้อกำหนดเกี่ยวกับหน้าที่และความรับผิดของผู้บริหารบริษัทที่ออกและเสนอขายหลักทรัพย์ รวมทั้งให้สิทธิแก่ผู้ลงทุนที่จะเรียกร้องค่าเสียหายได้แล้ว การผ่อนคลายหลักเกณฑ์ในครั้งนี้จึงไม่ได้ทำให้การคุ้มครองผู้ลงทุนด้อยลง เนื่องจากผู้ลงทุนสามารถใช้ช่องทางตามกฎหมายรักษาประโยชน์ของตนเองได้

ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ที่แก้ไขข้างต้น กำหนดให้การเสนอขายหลักทรัพย์ในลักษณะดังต่อไปนี้ไม่ต้องยื่นคำขออนุญาตและไม่ต้องปฏิบัติตามเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลต่อประชาชน ซึ่งได้แก่ 1. การเสนอขาย warrant และใบแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนที่โอนสิทธิได้(Transferable Subscription Right : TSR) ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิม 2.การเสนอขายหลักทรัพย์ให้แก่กรรมการหรือพนักงาน 3.การเสนอขายหุ้นและ warrant ให้แก่ผู้ลงทุนไม่เกิน 50 ราย (เดิมกำหนดไว้ไม่เกิน 35 ราย) 4. การเสนอขาย warrant ที่มีมูลค่าไม่เกิน 20 ล้านบาทในรอบระยะเวลา 12 เดือน 5. การเสนอขายหุ้นกู้แปลงสภาพให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิม และ 6.การเสนอขายตราสารหนี้ให้แก่ผู้ลงทุนสถาบันต่างประเทศ

สำหรับการเสนอขายตราสารหนี้แบบเฉพาะเจาะจงที่เสนอขายต่อผู้ลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายใหญ่ (high net worth investors) ให้ได้รับการผ่อนปรนไม่ต้องยื่นคำขออนุญาต โดยให้ถือว่าได้รับอนุญาตเป็นการทั่วไป แต่ยังคงต้องมีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือและยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล เพื่อคุ้มครองผู้ลงทุน นอกจากนี้ ยังได้ปรับปรุงเกณฑ์ shelf filing สำหรับการเสนอขายตราสารหนี้ระยะสั้นและตราสารหนี้ระยะยาวให้แก่ประชาชนในวงกว้างให้สอดคล้องกัน โดยแก้ไขเกณฑ์ให้ตราสารหนี้ระยะยาวที่จะ shelf filing ไม่จำเป็นต้องมีอันดับความน่าเชื่อถือในระดับ investment grade ขึ้นไป

อย่างไรก็ตาม ประกาศการออกและเสนอขายตราสารทุนและตราสารหนี้ขณะนี้ อยู่ระหว่างขั้นตอนการยกร่างประกาศ ซึ่งคาดว่าจะเผยแพร่ร่างประกาศฉบับสมบูรณ์ทางเว็บไซต์ (www.sec.or.th) ได้ภายในเดือนธันวาคมศกนี้

นอกเหนือจากนี้ คณะกรรมการ ก.ล.ต. เห็นชอบการแก้ไขเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเกี่ยวกับการซื้อหุ้นคืนและการเปิดเผยข้อมูลก่อนการซื้อหุ้นคืนของบริษัทจดทะเบียน เพื่อให้ภาคเอกชนมีความคล่องตัวและลดระยะเวลาซื้อหุ้นคืนให้รวดเร็วขึ้น ซึ่งจะช่วยลดความผันผวนและการเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้น ในขณะเดียวกันยังคงหลักการให้ผู้ถือหุ้นเป็นผู้อนุมัติการซื้อหุ้นคืน

โดยเกณฑ์ที่แก้ไขดังกล่าวประกอบด้วย การปรับวิธีการขออนุมัติผู้ถือหุ้นในการซื้อหุ้นคืน สำหรับกรณีที่จำนวนหุ้นที่บริษัทจะซื้อคืนมีสัดส่วนไม่เกิน 10% ของทุนชำระแล้ว และบริษัทไม่ได้กำหนดไว้ในข้อบังคับบริษัทว่า ให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการที่จะอนุมัติการซื้อหุ้นคืนได้ ให้บริษัทสามารถขออนุมัติจากผู้ถือหุ้นด้วยการทำเป็นหนังสือขอมติแทนการเรียกประชุมผู้ถือหุ้นได้ ทั้งนี้ การผ่อนปรนนี้เป็นมาตรการชั่วคราวมีกำหนด 6 เดือน ขณะเดียวกัน ได้ปรับลดระยะเวลาที่บริษัทจดทะเบียนจะต้องเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับโครงการซื้อหุ้นคืนก่อนทำการซื้อหุ้นคืน โดยปรับลดระยะเวลาเป็น 3 วัน จากเดิม 14 วัน อย่างไรก็ดี เกณฑ์เรื่องนี้ได้กำหนดไว้ในกฎกระทรวงของกระทรวงพาณิชย์ด้วย ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯ อยู่ระหว่างประสานงานเพื่อแก้ไขกฎเกณฑ์ดังกล่าวให้เป็นไปในทางเดียวกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น