xs
xsm
sm
md
lg

แบงก์ชาติอังกฤษชี้หลังรบ.อัดเงินช่วยระบบธนาคารกำลังเข้าสู่เสถียรภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รอยเตอร์ - แบงก์ชาติอังกฤษเผยแพร่รายงานเมื่อวานนี้(28) ชี้ว่าการแทรกแซงภาคการเงินจากรัฐบาลทั่วโลกจะทำให้เกิดความมั่นคงขึ้นในระบบการธนาคาร แต่ปัญหาและความเสี่ยงในธุรกิจธนาคารนั้นยังคงมีอยู่ต่อไป ซึ่งต้องระมัดระวังมิให้ลุกลามมาเป็นวิกฤตได้อีก

ในรายงานเสถียรภาพทางการเงินที่ออกทุก ๆครึ่งปีฉบับล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศอังกฤษ(บีโออี)กล่าวว่า การขาดทุนรวมของภาคการเงินการธนาคารที่เกิดขึ้นจริงๆ อาจจะน้อยกว่าที่ตลาดได้คำนวณเอาไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นความเห็นเดียวกับที่บีโออีได้แสดงไว้ในเดือนเมษายน ก่อนที่จะเกิดความปั่นป่วนอย่างรุนแรงจนกลายเป็นวิกฤตการเงินครั้งสาหัสที่สุดในความทรงจำของคนทั้งหลาย

"การเข้าแทรกแซงอย่างเป็นพิเศษของรัฐบาลและธนาคารกลางต่างๆ น่าจะช่วยทำให้ภาคการธนาคารกลับมามีเสถียรภาพได้ในช่วงเวลาต่อไป" บีโออีกล่าว

"ขณะที่ระบบการเงินของโลกในวงกว้างยังคงมีความเสี่ยงปรากฏอยู่ แต่ปฏิกิริยาตอบรับเฉพาะหน้าสำหรับมาตรการที่ออกมานั้นถือว่าเป็นไปในทางบวก"

เมื่อเดือนเมษายน รายงานเสถียรภาพฉบับก่อนของบีโออีออกมาประเมินภาวะการขาดแคลนสภาพคล่องจะส่งผลต่อตลาดและเศรษฐกิจโดยรวมอย่างไรบ้าง โดยมองภาพเอาไว้ค่อนข้างสดใสว่าความเชื่อมั่นกำลังจะกลับคืนสู่ตลาดการเงิน ทว่ามาถึงตอนนี้ เห็นชัดว่าธนาคารกลางแห่งนี้ใช้ท่าทีที่ระมัดระวังยิ่งกว่าเดิมมาก

"ความไร้เสถียรภาพของระบบการเงินโลกในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมานั้น ถือว่าร้ายแรงที่สุดในความทรงจำของผู้ที่ยังดำรงชีวิตอยู่" รองผู้ว่าการบีโออี จอหน กีฟ กล่าวในรายงานฉบับล่าสุดนี้ "และเมื่อพิจารณาควบคู่ไปกับภาวะเศรษฐกิจขาลงที่กำลังจะมาถึง ทำให้เห็นได้ว่าระบบการเงินยังคงอยู่ภายใต้แรงกดดันอย่างมาก"

"เราต้องคิดใหม่กันถึงขั้นรากฐานว่าจะบริหารความเสี่ยงของระบบการเงินระหว่างประเทศนี้อย่างไร เราจำเป็นต้องสร้างตัวคอยทัดทานอันเข้มแข็งยิ่งขึ้น เพื่อรับมือกับการสั่งสมเพิ่มพูนความเสี่ยงในระบบการเงิน เมื่ออยู่ในช่วงวงจรที่จะก่อให้เกิดอันตรายผ่านต่อไปยังเศรษฐกิจในภาพรวม"

รายงานของบีโออีกล่าวว่า นับตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา ธนาคารกลางและรัฐบาลทั่วโลกได้อัดฉีดเงินเข้าในระบบรวมกันสูงถึง 5 ล้านล้านปอนด์ แต่การอัดฉีดจำนวนมหาศาลขนาดนั้นจะก่อให้เกิดผลตามมาในภายหลัง

"หากว่าบรรดาธนาคารจำเป็นต้องลดการพึ่งพาเม็ดเงินจากทางการลง ก็อาจทำให้ธุรกรรมของธนาคารติดขัดได้ในระยะกลาง"

นอกจากนั้น บรรดาธนาคารยังจำเป็นที่จะต้องลดการหาเงินทุนระยะสั้น ด้วยการขายตราสารระยะสั้นเป็นปริมาณมากๆ รวมทั้งการใช้วิธีระดมหาเงินกู้ต่างๆ เพื่อมาทำให้ฐานะงบดุลบัญชีของพวกตนดูดีขึ้น

"มาตรการทั้งสองประการนี้ ย่อมสอดคล้องกับช่วงระยะเวลาที่จะต้องมีการใช้เงื่อนไขอันเข้มงวดยิ่งขึ้น ในการปล่อยสินเชื่อให้แก่ภาคเศรษฐกิจแท้จริง ทั้งนี้เมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้าที่จะเกิดความปั่นป่วนผันผวน" รายงานกล่าว

รากเหง้าของการขาดแคลนสภาพคล่องรุนแรงในปัจจุบันนั้น อยู่ที่พวกธนาคารไม่ยอมให้ใครกู้เงินเพราะกลัวว่าผู้กู้จะไม่สามารถจะคืนเงินได้ เนื่องจากไม่ทราบว่าผู้ขอกู้ที่เป็นสถาบันนั้นมีหนี้เสียหรือขาดทุนไปเท่าใดแล้ว รายงานของบีโออีชี้

ภาวะเช่นนี้ทำให้ตลาดขาดเม็ดเงินเข้ามาหล่อเลี้ยง และทำให้ภาคธุรกิจและครัวเรือนไม่สามารถเข้าถึงเงินทุนในการดำเนินธุรกรรมประเภทต่าง ๆ และฉุดให้เศรษฐกิจของอังกฤษถอยหลังเข้าสู่การชะลอตัวครั้งรุนแรงครั้งแรกนับตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา

บีโออีกกล่าว "มีสัญญาณเบื้องต้นบางประการแล้วว่า พวกธนาคารต่างๆ กำลังมีความยินดีเพิ่มมากขึ้นแล้ว ที่จะปล่อยกู้ให้แก่ธนาคารแห่งอื่นๆ ในสภาพที่ไม่ได้มีการค้ำประกันหนักแน่นนัก" หลังจากที่รัฐบาลอังกฤษและประเทศอื่นๆ ต่างประกาศแผนการอัดฉีดเงินเพื่อให้ธนาคารต่างๆ สามารถปรับโครงสร้างด้านเงินทุนให้แข็งแกร่งขึ้น
เฉพาะที่อังกฤษนั้น รัฐบาลประกาศอัดฉีดเงิน 50,000 ล้านปอนด์เข้าสู่ธนาคารต่างๆ และค้ำประกันการออกตราสารหนี้ระยะสั้นและระยะกลางใหม่ๆ นับตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นไป บีโออีก็ยังประกาศให้ธนาคารสามารถเอาสินทรัพย์ที่เป็นสินเชื่อบ้านมาสว็อปเป็นตราสารหนี้ของรัฐบาลที่สามารถเปลี่ยนมือได้ง่ายกว่าด้วย

อัตราดอกเบี้ยอินเตอร์แบงก์ที่กระโดดขึ้นสูงมากในช่วงที่มีการขาดสภาพคล่องรุนแรง ก็ลดลงมาอันเป็นผลโดยตรงมาจากมาตรการกอบกู้ภาคการเงินดังกล่าว อย่างไรก็ตามความกลัวเรื่องเศรษฐกิจชะลอตัวรุนแรงและความปั่นป่วนในตลาดที่อาจเกิดขึ้นอีกก็เข้ามาหน่วงเหนี่ยวมิให้ตลาดฟื้นตัวอย่างสมบูรณ์

"ดูเหมือนว่าอัตราดอกเบี้ยเหล่านี้จะไม่คืนกลับไปอยู่ในระดับก่อนเกิดวิกฤตอีกแล้ว เพราะว่ามันสะท้อนถึงความเสี่ยงที่ถูกระบุเอาไว้ต่ำเกินไปในงบดุลบัญชีของบรรดาธนาคาร" บีโออีกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น