xs
xsm
sm
md
lg

“ทองคำ” การลงทุนที่ผันผวนตามศก.โลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปัจจุบันสถานการณ์ราคาทองคำของโลกกำลังเผชิญความผันผวนอย่างมาก โดยในช่วงเดือนมีนาคมราคาทองคำทะยานตัวไปถึงระดับ 1002.3 ดอลลาร์ฯ / ออนซ์ ซึ่งเป็นราคาที่สูงเป็นประวัติการณ์ หลังจากนั้นราคาทองคำได้เริ่มดิ่งตัวลงมาเรื่อยๆจนมาสู่ระดับต่ำสุดในช่วงต้นเดือนกันยายน โดยอยู่ที่ระดับ 746.8 ดอลลาร์ฯ / ออนซ์ ซึ่งเป็นราคาต่ำสุดตั้งแต่ต้นปี 2551 เลยทีเดียว จะเห็นว่าในช่วงระยะเวลาภายใน 2 เดือนราคาทองคำดิ่งตัวลงมาเกือบ 24%

อย่างไรก็ตามขณะนี้ราคาทองคำได้ทยอยปรับตัวขึ้นมาจากจุดต่ำสุดแล้ว ภายหลังการพร้อมใจกันปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงฉุกเฉินของธนาคารกลางชั้นนำของโลกถึง 8 แห่ง ในขณะเดียวกันกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ก็ประกาศปรับลดการคาดการณ์อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจทั้งในปีนี้และปีหน้าลงจากเดิม

ทั้งนี้การขึ้นลงของราคาทองคำมีสาเหตุมาจากการซื้อขายเก็งกำไรระยะสั้นของกองทุนต่างประเทศ (Hedge Funds) รวมถึงภาวะความผันผวนของตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลก ดังจะเห็นได้จากปัญหาความยืดเยื้อของวิกฤตสถาบันการเงินในสหรัฐฯที่มีผลลุกลามไปยังสถาบันการเงินในประเทศอื่นของโลก อาทิ อังกฤษ ยุโรป และเยอรมนี

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้รวบรวมข้อมูลและการเปลี่ยนแปลงของราคาทองคำตลอดช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา พบว่าช่วงขาขึ้นของราคาทองคำ อยู่ระหว่างเดือน มกราคม - มีนาคม 2551 จากค่าเงินดอลลาร์ฯอ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่องเพราะความยืดเยื้อของปัญหาวิกฤตการณ์สินเชื่อภาคอสังหาริมทรัพย์ด้อยคุณภาพ (Sub-prime) รวมถึงปัญหาความมั่นคงของสถาบันการเงินของสหรัฐฯ , ความกังวลเรื่องเงินเฟ้อ และการซื้อขายทองคำอย่างเสรีในส่วนต่างๆของโลก

ขณะช่วงที่มีความผันผวนขึ้นลงของราคาทองคำสูง อยู่ระหว่างเดือนเมษายน - กรกฎาคม 2551 ตามเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่เผชิญกับความผันผวนค่อนข้างมากทำให้นักลงทุนโยกเงินไปมาระหว่างสินทรัพย์เงินสกุลดอลลาร์ฯกับทองคำ และช่วงขาลงของราคาทองคำ เริ่มต้นตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคม - ต้นเดือนกันยายน ซึ่งราคาทองคำดิ่งตัวลงมาอย่างเห็นได้ชัดมาจากการฟื้นตัวของค่าเงินดอลลาร์ฯ , ความเสี่ยงเงินเฟ้อที่ลดลงจากจากการดิ่งตัวของราคาน้ำมันอย่างต่อเนื่อง และการที่ธนาคารกลางโดยเฉพาะในแถบยุโรปต่างเทขายทองคำออกมาเพื่อที่จะนำรายได้จากการขายทองคำมาเพิ่มการสำรองเงินตราต่างประเทศและนำเงินมาอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ตลาดเงิน

อย่างไรก็ตามตั้งแต่ต้นเดือนกันยายนจนถึงปัจจุบันราคาทองคำกลับมามีแนวโน้มปรับขึ้น เพราะนักลงทุนมีความวิตกกังวลที่จะลงทุนในสินทรัพย์เงินสกุลดอลลาร์ฯจึงมีการโยกเงินไปลงทุนในทองคำมากขึ้น ซึ่งหลังจากที่รัฐสภาสหรัฐฯได้ลงมติอนุมัติแผนฟื้นฟูภาคธนาคารเรียบร้อยแล้วทำให้ราคาทองคำเริ่มปรับตัวลงมาเล็กน้อย แต่ล่าสุดราคาทองคำก็ได้ขยับตัวขึ้นอีก หลังการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลกที่นำโดยธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุต่อว่า ราคาทองคำของประเทศไทยนั้น มีความสัมพันธ์กับราคาทองคำในตลาดโลกเกือบ 100% ทำให้ทิศทางของราคาทองคำในประเทศผันผวนขึ้นลงตามราคาในตลาดโลก โดยจังหวะที่ราคาทองคำดิ่งลงไปมากนั้น ร้านทองจำเป็นต้องออกใบจองให้แก่ลูกค้าไว้ก่อน อย่างไรก็ตามในจังหวะที่ราคาทองคำเริ่มปรับตัวสูงขึ้น ลูกค้ารายย่อยก็จะนำทองคำมาขายทำกำไรกับร้านทองจำนวนมาก ภาพดังกล่าวสะท้อนถึงความสนใจของนักลงทุนรายย่อยในทองคำที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย

สำหรับแนวโน้มของราคาทองคำในอนาคตนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า น่าจะยังคงผันผวนแม้ในช่วงตั้งแต่กลางเดือนสิงหาคมจนกระทั่งสิ้นเดือนกันยายน และช่วงปลายเดือนกันยายนไปจนถึงต้นเดือนตุลาคม ราคาทองคำได้ทยอยปรับลดลงมาจากสาเหตุหลากปัจจัยก็ตาม อย่างไรก็ตามมีการคาดการณ์ว่าราคาทองคำอาจจะมีปัจจัยหนุนแต่ก็จะยังคงมีความผันผวน โดยปัจจัยที่ต้องจับตาได้แก่

ปัจจัยในระยะสั้น
1.ความผันผวนเศรษฐกิจของสหรัฐฯและเศรษฐกิจโลก
ดังจะเห็นได้จากปัญหาวิกฤตทางการเงินของสถาบันการเงินสหรัฐฯหลายแห่งที่กำลังเผชิญกับปัญหาสภาพคล่องอย่างมาก แม้รัฐบาลสหรัฐฯได้พยายามเสนอแผนกู้วิกฤตภาคการเงินแต่ขอบเขตของปัญหาวิกฤตการเงินในครั้งนี้ได้ขยายวงกว้างออกไป จึงทำให้อาจต้องใช้ระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 6 เดือน หรือ 1 ปี จนกว่าปัญหาดังกล่าวจะลงไปสู่จุดที่เลวร้ายที่สุด ขณะเดียวกันในช่วงเวลาดังกล่าวอาจจะมีข่าวร้ายในตลาดการเงินสหรัฐฯตามมาอีกจนทำให้นักลงทุนเกิดความกังวลต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ และอาจจะให้เงินดอลลาร์ฯ ตกอยู่ภายใต้แรงกดดันจนทำให้นักลงทุนโยกการลงทุนมายังทองคำมากขึ้น

อย่างไรก็ตามแนวโน้มราคาทองคำอาจจะไม่ได้ขยับขึ้นไปตามที่คาดการณ์ไว้ หากมีปัจจัยอื่นแทรกเข้ามาในช่วงเวลาดังกล่าว เช่น ถ้าตลาดมีความเชื่อมั่นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจในสหรัฐฯอาจฟื้นตัวได้เร็ว และมาตรการกอบกู้วิกฤตการเงินของทางการสหรัฐฯ รวมถึงมาตรการอื่นๆ หรือการเทขายทองคำออกมาเพื่อเก็งกำไรของบรรดากองทุนต่างๆ เป็นต้น

2.ความต้องการของทองคำที่เพิ่มขึ้นของผู้ซื้อทองรายใหญ่ในช่วงเทศกาลเฉลิมฉลอง อาจจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาทองคำขยับขึ้นในทุกๆปี โดยความต้องการทองคำในอินเดียจะเพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลวิวาห์ นอกจากนั้นกลุ่มผู้ซื้อก็จะซื้อโลหะมีค่าและทองคำเพื่อใช้ใน "เทศกาลทิวาลี" หรือ "เทศกาลแห่งความสว่าง"

ปัจจัยในระยะยาว
สำหรับระยะยาว ราคาทองคำคาดว่ายังมีโอกาสเพิ่มสูงขึ้นได้อีกเนื่องจากเมื่อพิจารณาถึงการลงทุนในทองคำพบว่าอุปสงค์ในทองคำยังคงมีมากกว่าอุปทานของทองคำ โดยส่วนใหญ่แล้วความต้องการลงทุนในทองคำมาจากการนำไปใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องประดับเกือบ 70%

ทั้งนี้อุปสงค์ที่แข็งแกร่งของทองคำจะอยู่ในประเทศ อินเดีย จีน อียิปต์ สหรัฐฯและเวียดนาม ขณะที่ปริมาณทองคำที่ผลิตได้จากเหมืองทั่วโลกกลับมีอย่างจำกัด ประกอบกับธนาคารกลางของประเทศชั้นนำของโลกอาจจะทำการลดการเทขายทองคำออกมาเนื่องจากมีความกังวลต่อภาวะความผันผวนของเศรษฐกิจโลก จึงทำให้ทองคำบางส่วนหายไปจากตลาด ยิ่งส่งผลบวกต่อราคาทองคำที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นได้ในระยะยาว

ผู้เชี่ยวชาญการลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ระดับโลกอ้างอิงถึงผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเยลและเพนซิวาเนียที่พบว่าการลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ในระยะ 10 ปี จะได้ผลตอบแทนสูงกว่าการลงทุนในตราสารทุนถึง 300% เลยทีเดียว เนื่องจากแนวโน้มของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในระยะยาวจะปรับตัวสูงขึ้นจากปัจจุบันตามความต้องการของผู้บริโภคที่เติบโตสูงขึ้นในประเทศจีนและอินเดีย ในขณะที่แหล่งผลิตมีอยู่จำกัด เช่นทองคำ น้ำมัน และสินค้าเกษตร

"การเข้าไปลงทุนในลักษณะการเก็งกำไรยังคงมีความเสี่ยงสูง โดยผู้ลงทุนรายย่อยต้องพึงระมัดระวังความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาทองคำ เนื่องจากถ้าเข้าไปซื้อขายผิดจังหวะก็อาจจะมีโอกาสขาดทุนได้ กอปรกับตลาดซื้อขายทองคำมีสภาพคล่องค่อนข้างจำกัด ดังนั้นการลงทุนในทองคำเพื่อที่จะได้ผลกำไรนั้นควรที่จะเป็นการลงทุนในระยะยาวมากกว่าการเข้าไปเก็งกำไรในระยะสั้น ทั้งนี้สำหรับผู้ที่มีความสนใจที่จะลงทุนในทองคำควรที่จะศึกษาถึงผลกระทบจากปัจจัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ค่าเงินดอลลาร์ฯ ราคาน้ำมัน หรือภาวะเศรษฐกิจทั่วโลก ฯลฯ เพื่อจะสามารถคาดการณ์ทิศทางของราคาทองคำให้เป็นไปอย่างเหมาะสม และได้ผลตอบแทนระยะยาวที่คุ้มค่าในอนาคต"
กำลังโหลดความคิดเห็น