xs
xsm
sm
md
lg

การบริหารเงินส่วนบุคคล (Personal Finance)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์คุยกับผู้จัดการกองทุน
โดย ดร.ฐนิตพงศ์ ชื่นภิบาล
ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายควบคุมความเสี่ยง
บลจ.อยุธยา จำกัด


เรื่องของการบริหารเงินส่วนบุคคลเป็นเรื่องที่ค่อนข้างกว้าง เพราะแต่ละคนมีแนวทางในการบริหารเงินของตัวเองที่แตกต่างกัน และขึ้นอยู่กับองค์ประกอบที่แตกต่างกัน เช่น บางท่านมีรายได้เยอะ จึงสามารถบริหารการเงินได้หลายรูปแบบ ในขณะที่บางท่านอาจมีรายได้พอประมาณ แต่มีภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบทางการเงินเยอะ ซึ่งอาจทำให้มีข้อจำกัดบางประการในการบริหารเงินของท่าน

David Berky ประธานบริษัท Simple Joe, Inc. ผู้ผลิตซอฟท์แวร์ด้านการเงิน ได้ให้แนวคิดพื้นฐานในการบริหารการเงินส่วนบุคคลไว้ 4 ประการ ได้แก่
1.บริหารเงินเพื่อป้องกันผลกระทบจากเหตุที่ไม่คาดฝัน (Security) เนื่องจากเหตุการณ์เลวร้ายอาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ถึงแม้ว่าท่านจะพยายามดูแลตัวเองอย่างดีอยู่เสมอก็ตาม ตัวอย่างเช่น รุ่นน้องของผมคนหนึ่ง เป็นคนที่ดูแลสุขภาพตัวเองตลอด โดยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายเป็นประจำ ไม่ดื่มเหล้าไม่สูบบุหรี่ แต่อยู่มาวันหนึ่ง น้องเค้ารู้สึกปวดศีรษะมาก จึงไปพบแพทย์ ผลการตรวจออกมาว่าน้องเค้ามีเนื้องอกในสมอง ต้องผ่าตัดด่วน โชคดีที่ทางบ้านของน้องเค้ามีฐานะ จึงไม่เดือดร้อนเท่าไร

จากตัวอย่างที่กล่าวมานี้ จะเห็นได้ว่า ในการบริหารเงินของท่าน ท่านไม่ควรละเลยที่จะเผื่อเงินส่วนหนึ่งไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน หรือเกิดเหตุการณ์ที่จะทำให้ท่านขาดรายได้ เช่น ตกงาน เกิดอุบัติเหตุถึงขั้นพิการ เป็นต้น การบริหารเงินที่ท่านสามารถกระทำได้ ได้แก่ การทำประกันชีวิต ประกันสุขภาพ ประกันการว่างงาน และการกันเงินออมส่วนหนึ่งไว้สำหรับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน เป็นต้น สำหรับบางท่านที่ยังคงมองว่า การทำประกันสุขภาพและประกันชีวิตเปรียบเสมือนการแช่งตัวเองนั้น ผมอยากจะให้เปลี่ยนความคิดเสียใหม่ เพราะว่าเหตุการณ์ที่ท่านไม่คาดฝันนั้นอาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ดังตัวอย่างที่ท่านมักจะเห็นตามหน้าหนังสือพิมพ์ ที่เมื่อหลายครอบครัวขาดเสาหลักในการหารายได้ไป คนที่อยู่เบื้องหลังต้องทนทุกข์ทรมานเพียงใด หรือหลายๆคนที่ไม่ได้ทำประกันสุขภาพไว้ และเมื่อตรวจพบโรคร้ายที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาเป็นเงินจำนวนมาก และต้องรักษาอย่างต่อเนื่อง ก็อาจทำให้ฐานะทางการเงินของท่านย่ำแย่ลง จนเกิดความเครียดได้

2.บริหารเงินเพื่อความมั่นคงของชีวิต (Stability) โดยมีหลักง่ายๆคือ ไม่ใช้จ่ายเกินรายได้ที่มีอยู่ และไม่พยายามสร้างหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ การที่ท่านใช้จ่ายเกินรายได้ที่มี เช่น ซื้อสินค้าราคาแพงผ่านบัตรเครดิต โดยคิดว่าในอนาคตจะมีรายได้เพิ่มขึ้นพอที่จะจ่ายคืนได้ ถือเป็นการนำเงินออมในอนาคตของท่านมาใช้จ่ายล่วงหน้า ในขณะที่ รายได้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตนั้น ยังเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน การกระทำเช่นนี้ นอกจากจะบั่นทอนความสามารถในการใช้จ่ายของท่านในอนาคตแล้ว ยังเป็นการเพิ่มความเสี่ยงที่จะสร้างภาระหนี้สินที่ท่านอาจไม่มีความสามารถพอที่จะชำระได้ (หากท่านไม่มีรายได้เพิ่มขึ้นตามคาด) ซึ่งก็หมายความว่า ความมั่นคงทางการเงินของท่านกำลังถูกสั่นคลอนจากภาระหนี้สินที่มีอยู่ อย่างไรก็ตาม หากหนี้สินที่ท่านมีอยู่ เป็นหนี้สินที่จะสร้างรายได้ในอนาคต เช่น เงินผ่อนชำระค่าอสังหาริมทรัพย์ ที่ท่านซื้อมาเพื่อปล่อยให้ผู้อื่นเช่า หนี้สินเหล่านี้ อาจจัดเป็นเงินลงทุนได้ สำหรับการบริหารเงินเพื่อสร้างความมั่นคง ท่านสามารถกระทำได้ง่ายๆ โดยการจัดทำงบประมาณรายรับ-รายจ่าย ซึ่งจะช่วยทำให้ท่านสามารถติดตามดูได้ว่า รายจ่ายส่วนใดที่ท่านใช้มากเกินไป และรายจ่ายส่วนใดที่ต้องติดตามมากเป็นพิเศษ

3.การบริหารเงินเพื่อสร้างความมั่งคั่ง (Growth) หลังจากที่ท่านสามารถบริหารเงินเพื่อป้องกันผลกระทบจากเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน และสร้างความมั่นคงให้กับชีวิตได้แล้ว ท่านก็สามารถที่จะเริ่มคิดถึงการสร้างความมั่งคั่งให้กับตัวเอง ท่านอาจจะเริ่มจากการศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับช่องทางการลงทุนในรูปแบบต่างๆ เช่น ลงทุนในกองทุนตราสารเงิน พันธบัตรรัฐบาล หุ้น กองทุนรวมประเภทต่างๆ อสังหาริมทรัพย์ สินค้าโภคภัณฑ์ เป็นต้น โดยในช่วงเริ่มต้นของการลงทุน ท่านอาจจะเริ่มจากเงินจำนวนเพียงเล็กน้อยก่อน เพื่อประเมินว่า ท่านมีความเข้าใจในสิ่งที่ท่านลงทุนอยู่มากน้อยเพียงใด เมื่อท่านมั่นใจว่าท่านมีความเข้าใจและมีความเชี่ยวชาญเพียงพอแล้ว ท่านอาจจะเพิ่มเงินลงทุนให้มากขึ้น

สำหรับหลักที่ท่านต้องคำนึงถึงอยู่เสมอสำหรับการลงทุนก็คือ ท่านจะต้องทำการกระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์หลายๆประเภท เพื่อลดความเสี่ยงที่เงินลงทุนของท่านอาจลดลงจากการที่ราคาสินทรัพย์บางประเภทลดลง และท่านควรเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่มีระดับความเสี่ยงที่ท่านยอมรับได้

4. การป้องกันและการจัดการความมั่งคั่ง (Protection and Management) หลังจากที่ท่านสร้างความมั่งคั่งได้เพียงพอเท่าที่ท่านต้องการแล้ว สิ่งที่ท่านจะต้องทำต่อไปก็คือรักษาระดับความมั่งคั่งของท่านไว้ ท่านสามารถทำได้หลายวิธี เช่น หาที่ปรึกษาทางการเงินให้มาดูแลความมั่งคั่งของท่าน ทำประกันอัคคีภัยสำหรับอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น

แนวทางการบริหารเงินส่วนบุคคลที่ Berky แนะนำมานี้ ท่านผู้อ่านอาจนำไปประยุกต์ใช้ได้ตามความเหมาะสมของแต่ละท่าน หรือบางท่านอาจมีแนวทางที่แตกต่างออกไปจากแนวความคิดนี้ ก็ไม่ถือว่าผิดครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น