xs
xsm
sm
md
lg

รู้จักสุดยอดนักลงทุน : วอเร็น บัฟเฟตต์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ MONEY DIY
โยแมน yeomanwarders-dailymanager@yahoo.com


ช่วงนี้ท่านที่พอจะติดตามสถานการณ์โลกอยู่บ้าง คงจะรับรู้ถึงความปั่นป่วนสุดขีดของตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลก ซึ่งหนนี้เรียกได้ว่าอาการหนักรุนแรงเลยทีเดียว เนื่องจากปกติแล้วมักจะมีแต่หุ้นตก ตกมากมายแค่ไหนก็ว่ากันไป แต่คราวนี้ไม่เพียงแต่หุ้นตกครับ ธนาคารพาณิชย์ใหญ่ๆในอเมริกา และยุโรปก็ล้วนอยู่ในสภาวะหอบแดดขาดเงินหมุนไปตามๆกัน ถ้าไม่ได้รัฐบาลประเทศต่างๆเข้ามาเกื้อหนุนอัดฉีดสภาพคล่อง คงเละกันไปยิ่งกว่านี้

โดยเฉพาะวันที่สภาผู้แทนของสหรัฐฯมีมติไม่ผ่านร่างการช่วยเหลือภาคการเงินฉุกเฉินเมื่อต้นสัปดาห์ที่แล้ว ทำเอาตลาดหุ้นทั่วโลกเอ๋อไปเลย (คงเริ่มคิดว่าเอ...การเมืองบ้านตูเริ่มคล้ายๆประเทศเล็กๆหน้าตาคล้ายขวานรึเปล่านี่) ดัชนีหุ้นดาวโจนส์ตกลงไปในการซื้อขายระหว่างวันถึง 777 จุด หรือ 7% (ลงมากกว่าวันแรกหลังเหตุการณ์เครื่องบินชนตึกเวิล์ดเทรดเซ็นเตอร์เมื่อปี 2544 ที่ตกมากถึง 684 จุด) ส่วนตลาดไทยเองนั้นข่าวดีก็ไม่มีอยู่แล้ว ยังมาเจอข่าวร้ายของชาวบ้านอีก ก็เลยซึมเซาซมซานอย่างที่เห็น

ระยะนี้ถ้าท่านมีโอกาสติดตามข่าวเศรษฐกิจโลกอยู่บ้าง อาจได้ยินชื่อนักลงทุนผู้หนึ่งที่หากเฮียแกตัดสินใจลงทุนในบริษัทไหนแล้ว ก็เหมือนเป็นตราอ.ย. พะยี่ห้อให้บริษัทนั้นๆว่า “มีแล้วรวย” โดยเฉพาะอย่างยิ่งการซื้อกิจการของแกในช่วงวิกฤตินี้ ก็เปรียบเหมือนยันต์กันล้ม ที่ไม่ว่ากลุ่มการเงินหรือธนาคารระดับโลกต้องวิ่งหามาแปะหน้าผากกันให้วุ่น บุคคลผู้นี้มีนามว่า “วอเร็น บัฟเฟตต์” แห่งบริษัทเบิร์กชายร์ แฮธาเวย์ อิงค์ ครับ
วอเร็น บัฟเฟตต์
วอเร็น บัฟเฟตต์ เป็นมหาเศรษฐีที่รวยที่สุดในโลก แซงหน้าเพื่อนซี้ต่างวัยอย่างบิล เกตต์ ด้วยทรัพย์สินรวม 62,000 ล้านเหรียญฯ (หรือประมาณ 2 ล้านล้านบาท) และเคยดังระดับรากหญ้าเมื่อ 2 ปีก่อน จากการประกาศบริจาคทรัพย์สินกว่า 85% ของทั้งหมดที่มี (ซึ่งก็คือหุ้นของบริษัทเบิร์กชายร์ แฮธาเวย์นั่นเอง) ให้กับองค์กรการกุศล โดยแกไม่เชื่อในเรื่องการส่งต่อทรัพย์สินจากรุ่นสู่รุ่น และต้องการให้ลูกๆของแกนั้นมีทรัพย์สิน “เพียงพอที่จะทำอะไรได้ ไม่ใช่มีมากจนไม่ต้องทำอะไรเลย” เท่....ได้ใจจริงๆครับพี่......

สำหรับนักลงทุนแล้ว “วอเร็น บัฟเฟ็ตต์” ถือเป็นสุดยอดนักลงทุนระดับตำนานที่มีชีวิตข้ามช่วงเวลาทั้งดีและร้ายของโลกมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน และยังคงบริหารงานด้านการลงทุนอย่างดีเยี่ยมเป็นที่ยอมรับมาโดยตลอด

วอเร็น บัฟเฟตต์ นั้นเกิดในครอบครัวธรรมดาสามัญ แต่มีหัวการค้าระดับอัจฉริยะมาตั้งแต่เด็กครับ อายุแค่ 13 ก็ยื่นแบบขอคืนภาษี โดยเอาจักรยานมาหักเป็นค่าใช้จ่ายในการหารายได้ อายุได้ 15 ก็ลงทุนกับเพื่อนเป็นเงิน 25 เหรียญฯซื้อเครื่องเล่นพินบอลไปตั้งในร้านทำผม ภายใน 1 เดือนขยายสาขาไปถึง 3 แห่ง (อายุเท่ากันนี่ผมยังนั่งแคะฟันรอดูหนังกลางแปลงในตลาดอยู่เล้ย!) อายุ 21 เรียนจบโท อายุ 26 ตั้งบริษัทลงทุน อายุ 27 มีบ้านเป็นของตัวเอง อายุ 32 เป็นเศรษฐีเงินล้านครั้งแรก อายุ 35 ปีเข้าซื้อกิจการเบิร์กชายร์ แฮธาเวย์ อิงค์ อายุ 69 ปี ได้รับการยอมรับในฐานะ “สุดยอดนักบริหารเงินแห่งศตวรรษที่ 20” จากการสำรวจโดยคาร์สัน กรุ๊ป เหนือกว่าปีเตอร์ ลินช์ และ จอห์น เทมเพิลตัน ล่าสุดปีนี้ อายุได้ 77 ปี เป็นผู้ที่รวยที่สุดในโลก จากการจัดอันดับโดยนิตยสารฟอร์บส์

ไอ้ความเก่งนี่ไม่ต้องพูดถึง แต่ที่ทำให้วอเร็น บัฟเฟตต์ ดังจริงดังนานก็ด้วยหลักการในการบริหารเงินที่แน่วแน่มั่นคงของแกครับ บริษัทเบิร์กชายร์ แฮธาเวย์ นั้นเปรียบไปแล้วก็คล้ายๆกองทุนรวมในรูปแบบหนึ่ง ต่างกันแต่เพียงว่าอยู่ในรูปบริษัทที่เน้นหนักไปที่การเข้าซื้อกิจการทั้งหมด หรือ อย่างน้อย 80% ยกเว้นในบริษัทที่ยิ่งใหญ่ยืนนานจริงๆอย่างบริษัทโคคา-โคลา อเมริกัน เอ็กซ์เพรส พร็อคเตอร์แอนด์แกมเบิล และยิลเล็ต ซึ่งจะเข้าเป็นเจ้าของในลักษณะลงทุนในหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แบบผู้ลงทุนทั่วไป โดยไม่มีอำนาจควบคุมการบริหารงานของบริษัทนั้นๆ

หลักการลงทุนของบัฟเฟตต์นั้นถือเป็นแม่แบบการลงทุนใน “หุ้นที่มีคุณค่า” (Value Stocks) และให้ความสำคัญกับ “การมีส่วนร่วม” (Partnership) ในบริษัทที่เข้าไปลงทุนแบบเจ้าของธุรกิจ ไม่ใช่แค่นักลงทุนที่หาทางได้กำไรประเดี๋ยวประด๋าวจากการขึ้นลงของราคาหุ้นเป็นรายวัน

“การมีส่วนร่วม” ในที่นี้ก็รวมถึงการกระจายอำนาจการตัดสินใจในการบริหารงานในบริษัทต่างๆไปยังผู้บริหารของบริษัทในเครือทั้งหลายซึ่งมีอยู่กว่า 50 บริษัท และการลงทุนในหุ้นของบริษัทจดทะเบียนอื่นๆ ด้วยมูลค่าทรัพย์สินรวมกันกว่า 141,000 ล้านเหรียญฯ (ประมาณ 4.6 ล้านล้านบาท)

สำหรับหลักในการเลือกลงทุนของเบิร์กชายร์นั้น บัฟเฟ็ตต์จะเลือกลงทุนเฉพาะในธุรกิจที่แกเข้าใจเท่านั้น (นี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่บัฟเฟตต์ไม่ลงทุนในหุ้นไมโครซอฟท์ของเพื่อนซี้บิล เกตต์ เพราะแกไม่มีแม้แต่คอมพิวเตอร์เป็นของตัวเอง!) และจะต้องเป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มที่ดีในระยะยาว มีผู้บริหารที่มีความสามารถและเชื่อถือได้ และท้ายสุดคือมีราคาที่สมเหตุสมผล

ฟังแล้วดูอาจจะคร่ำครึเอาการ แต่ถ้ามาดูราคาหุ้นของเบิร์กชายร์ แฮธาเวย์ที่มีราคาเริ่มต้นเพียง 7.56 เหรียญฯในปี 2505 ซึ่งเป็นปีที่บัฟเฟตต์เข้าซื้อกิจการของเบิร์กชายร์ เทียบกับเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (3 ตุลาคม 2551) ราคาหุ้นของเบิร์กชายร์พุ่งขึ้นสูงเท่ากับ 138,500 เหรียญฯ (ก็แค่หุ้นละ 4 ล้านบาทกว่าๆเท่านั้น!) เทียบกับมูลค่าตามบัญชีต่อหุ้นที่เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 21.1% ต่อปี นับตั้งแต่ปี 2507 - 2550

เห็นอย่างนี้แล้ว ก็ใช่ว่าใครจะไปเป็นเจ้าของหุ้นเบิร์กชายร์ ได้ง่ายๆนะครับ เพราะขนาดหุ้นที่อยู่ในคลาส บี ซึ่งมีราคาต่ำกว่าในคลาส เอ ซึ่งเป็นคลาสต้นตำรับนั้นยังราคาต่อหุ้นยังสูงถึง 4,650 เหรียญฯ แถมขั้นต่ำในการซื้อต่อครั้ง คือ 100 หุ้น ก็เท่ากับว่าจะต้องกำเงินอย่างน้อยๆ 15 ล้านบาทขึ้นไปถึงจะมีปัญญาครอบครองหุ้นเบิร์กชายร์ คลาสบี ได้เพียงแค่ร้อยหุ้นเท่านั้น

จบไม่ลง คงต้องขอต่อเรื่องของนักลงทุนผู้ยิ่งใหญ่นี้อีกครั้งคราวหน้าครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น