xs
xsm
sm
md
lg

แผนกู้วิกฤต"Hamburger Disease"(จบ)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


มาเล่ากันต่อจากเมื่อวานนี้ หลังจากทราบกันไปแล้วว่า ต้นตอของปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอยู่ที่ไหน และผลกระทบจะมากน้อยเพียงใด คำถามสุดท้ายคือ...

มันจะแก้ปัญหาได้จริงหรือ ?
รัฐบาลบุช หวังว่านี่จะเป็นการแก้ปัญหาได้ชะงัด จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับตลาด และธนาคารจะกล้าปล่อยกู้ให้ภาคธุรกิจและรายบุคคลได้อีก แต่ยังไม่รู้แน่ชัดว่าขนาดของเงินที่จะนำมาใช้ตามแผนกอบกู้หรือฟื้นฟูในครั้งนี้จะมากพอไหม จะทำได้เร็วพอไหม

อย่างไรก็ตาม ในระยะนี้เชื่อว่าจะช่วยตลาดได้ช่วงสั้นๆ หายใจได้อีกเฮือก

ปัญหาต่างๆ ที่เกิดนี้ ไม่ว่าใครจะเป็นต้นเหตุมากน้อยเพียงใด ขอให้จับตามองในอนาคตว่า นี่จะเป็นจุดเปลี่ยนของทุนนิยมแบบอเมริกันที่โลกนิยมยกย่อง สหรัฐจะอ่อนแอและไม่สามารถเป็นผู้นำทางโลกการเงินการลงทุนได้อีก และศูนย์กลางทางการเงินกำลังจะย้ายมาซีกโลกตะวันออก ... เอเชีย

การเอาเงินงบประมาณสาธารณะ (Public Sector) มาช่วยกอบกู้สถานะของสถาบันการเงินซึ่งเป็นภาคเอกชน (Private Sector) ตามนโยบายของ Paulson ที่ บุช กำลังจะขออนุมัติจากคองเกรส จะทำให้ผู้ลงทุนทั่วโลกไม่สามารถไว้วางใจในฐานะทางการเงินของรัฐบาลสหรัฐได้อีก ค่าเงินสหรัฐจะตกต่ำลง เงินเฟ้อจะสูงขึ้นอีกมาก และต้นทุนในการกู้ยืมเงินของสหรัฐก็จะพุ่งสูงขึ้น เพราะผู้ให้กู้จะต้องเรียกดอกเบี้ยสูงพอที่จะคุ้มกับความเสี่ยงที่มากขึ้น

แต่ผู้ลงทุนที่ชาญฉลาด น่าจะพิจารณาซื้อหุ้นสถาบันการเงินสหรัฐโดยตรงในราคาถูก มากกว่าจะไปยอมให้รัฐบาลสหรัฐกู้เงิน จริงไหม ไม่เชื่อก็ดูความคืบหน้าเรื่อง CIC, China’s State Investment Fund หรือที่อื่นๆ กำลังพิจารณาซื้อ Morgan Stanley แล้วกัน เขาไม่ไปล่อยกู้ให้รัฐบาลสหรัฐเอาเงินไปช่วยระบบการเงิน แต่เขาจะไปซื้อกิจการเอง

มีคนพูดว่า “ในเกมของตลาดหุ้น Wall Street หากมองเป็นเกมโมโนโปลี่ที่เราเคยเล่นกัน มันต่างกันตรงที่ว่า Wall Street Monopoly Game ไม่มีใครจะจั่วได้บัตร Get out of jail free เป็นอันขาด”

นอกจากนี้ ในทางการเมืองสหรัฐที่กำลังอยู่ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีนั้น พวกรีพับลิกันหัวอนุรักษ์ มีความเห็นแย้งกับ แมคเคน ที่สนับสนุน บุช ว่า ไม่ควรอุ้มชูกอบกู้ใครอีกแล้ว พอกันที และ เดโมแครท หลายคน ก็ตั้งคำถามกับ โอบามา ว่า ทำไมเราต้องช่วยพวก Wall Street ที่มีพียงไม่กี่คน แทนที่จะไปช่วยคนถึง 4 ล้านคน ที่กำลังเดือดร้อนแสนสาหัสจากการโดนยึดบ้านด้วยเล่า

เหตุการณ์อย่างนี้เรียกว่า Moral Hazard
ทั้ง แมคเคน และ โอบามา ต่างก็รู้ว่า แพ็กเกจการช่วยเหลือกอบกู้สถาบันการเงิน ของ บุช ในครั้งนี้ หากผ่านคองเกรส จะทำให้เกิดข้อจำกัดอย่างใหญ่หลวงที่พวกเขาคนใดคนหนึ่งที่จะได้ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีในอนาคตอันใกล้ ไม่สามารถทำตามแผนที่ประกาศในการหาเสียงได้เลย ไม่ว่าจะเรื่องลดภาษี เรื่องแผนประกันสุขภาพระดับชาติ ฯลฯ

ทั้งนี้ FED โดยปกติจะส่งรายได้ประมาณ 95% ให้กับกระทรวงการคลัง หาก FED ขาดทุนจากการไปอุ้มสถาบันการเงินตามแผนของ บุช รายได้ที่คลังจะได้รับจาก FED ก็จะลดลง นั่นหมายถึงงบประมาณที่จะทำอะไรๆ ให้พลเมืองสหรัฐก็ลดลงด้วย นอกจากนี้ สหรัฐเองตอนนี้ก็มีหนี้มหาศาลอยู่แล้ว การติดลบเพิ่มขึ้นจากการต้องไปกู้ยืมที่แพงขึ้น (ต้องออกพันธบัตรให้ผู้ลงทุนซึ่งสัดส่วนใหญ่คือต่างชาติซื้อโดยต้องให้ดอกเบี้ยสูงขึ้น)

อีกประเด็นที่ยังไม่พบว่ากล่าวถึงมากนักก็คือ หนี้ก้อนใหญ่ในอนาคตที่รัฐบาลไม่ได้ตั้งไว้ในบัญชี นั่นก็คือ Medicare และบำนาญประกันสังคม เมื่อถึงเวลาต้องจ่ายซึ่งเป็นการจ่ายครั้งเดียว – pay as you go or needed จะมีเงินจ่ายพอไหม ? นี่ละคือ Time Bomb ลูกใหญ่

โมเดลหนึ่ง ที่เราอาจได้ยินว่าเขาจะนำมาใช้ก็คือโมเดล RFC … Reconstruction Finance Corporation ที่เคยนำมาใช้ช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ (Depression) ในยุค 1930s
ที่ แฟรงคลิน ดี รูสเวลท์ ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในขณะนั้น ได้ปฏิเสธแผนของประธานาธิบดี ฮูเวอร์

และในยุค 1980 ที่สหรัฐ เกิดปัญหาในระบบ Savings and Loan Bank นั้น ได้มีการก่อตั้ง RTC … Resolution Trust Company ขึ้นมาแก้ไขปัญหา โดยรัฐมีอำนาจที่จะซื้อสินทรัพย์จากธนาคาร และสามารถปิดธนาคารใดก็ได้ และขายสินทรัพย์ที่ซื้อมาได้ในราคาที่เห็นสมควร ซึ่งสามารถกอบกู้ได้มากกว่าครึ่งของความเสียหายซึ่งเกิดขึ้นประมาณ 400,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 13.36 ล้านล้านบาท) อย่างไรก็ตาม ธนาคารส่วนใหญ่ก็ถูกปิดถาวรไปเลย

โดยสรุปแล้ว แผนกอบกู้ของ บุช มีความเสี่ยงสูงมากในอนาคตสำหรับผู้เสียภาษี แต่ก็ไม่มีทางเลือกมากนักในขณะนี้ และอเมริกันต้องเลือกทำอะไรสักอย่างโดยเร็ว แม้ว่าจะเป็นการหนีจากวิกฤตหนึ่งไปสู่อีกวิกฤติหนึ่งก็ตาม

หากแผนกอบกู้ของ บุช ล้มเหลว ประธานาธิบดี คนต่อไปของสหรัฐ ก็ต้องรับภาระในการหาทางเยียวยาต่อไป ซึ่งจะแสนสาหัสยิ่งนัก

ผลกระทบต่อไทยและเพื่อนบ้านในเอเชีย (Bloomberg)
ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวยืนยันหนักแน่นเมื่อวันที่ 20 กันยายน นี้ว่าไม่มีผลกระทบเท่าไรเพราะปัญหาไม่ได้เกิดที่ไทย และผลกระทบต่อธนาคารพาณิชย์ในไทยก็น้อยนิดเดียว ธนาคารเหล่านี้ยังแข็งแรงดีอยู่

Su Ning รองผู้ว่าการธนาคารชาติจีน ก็ยืนยันเช่นเดียวกันว่าผลกระทบโดยตรงน้อยมาก แต่ก็ระมัดระวังว่าการลงทุนจากต่างชาติอาจกระทบบ้าง

นอกจากนี้ เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา จีนได้ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปี และอนุญาตให้ธนาคารส่วนใหญ่ตั้งสำรองหนี้สูญได้ต่ำกว่าที่เคยมา

ธนาคารกลางของญี่ปุ่น และ ออสเตรเลีย ได้อัดฉีดเงินเข้าระบบในสัปดาห์ที่ผ่านมทานี้ไป 113,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 3.8 ล้านล้านบาท) ซึ่งเป็นการให้ความร่วมมือกับยุโรป และ สหรัฐ ในการสนุบสนุนสถาบันการเงิน และเป็นการเรียกความเชื่อมั่นของตลาดให้กลับคืนมา

จะเห็นได้ว่าธนาคารชาติในแถบเอเชียแปซิฟิค ได้เห็นปัญหาว่าหากนานไปกว่านี้ ก็อาจจะลามมาถึงภูมิภาคนี้ได้ ถึงได้ร่วมมือกันช่วยเหลือในขอบข่ายที่กระทำได้ ทั้งนี้ ได้ประชุมร่วมกันและตกลงกันว่าจะร่วมมือสร้างเสริมความแข็งแกร่งในภูมิภาค พร้อมทั้งกำหนดตัวเตือนภัยในระบบที่จะต้องเข้าไปช่วยเหลือหากจะเกิดวิกฤติขึ้นมา พร้อมทั้งหารือที่จะจัดตั้งกองทุนกลางในทุนอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ มูลค่า 80,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 2.7 ล้านล้านบาท) เพื่อไว้ป้องกันในกรณีที่ประเทศใดจะโดนโจมตีค่าเงินด้วย

นอกจากนี้ยังมีข้อตกลงให้กู้ยืมเงินระหว่างกันด้วยเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกันในกรณีเกิดปัญหา

ขณะนี้ มีเงินในภูมิภาคนี้ในทุนสำรอง 3.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 110.2 ล้านล้านบาท) เทียบเท่ากับครึ่งหนึ่งของทุนสำรองทั้งโลก


กำลังโหลดความคิดเห็น