xs
xsm
sm
md
lg

ปี2552..โอกาสทองบอนด์ในประเทศ อานิสงส์จากพิษเลห์แมน บราเธอร์ส

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตั้งแต่มีปัญหาเรื่องธนาคารของสหรัฐอย่าง เลห์แมน บราเธอร์ ประกาศล้มละลายทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก ดูได้จากดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของทุกประเทศปิดตัวลดลงอย่างเห็นได้ชัด ขณะเดียวประเทศไทยเองก็ได้รับผลกระทบดังกล่าวเช่นกัน โดยเฉพาะตลาดหุ้นที่มีความผันผวนจากปัญหาเรื่องการเมืองที่ยังหาทางออกไม่ได้ เมื่อสถาบันทางการเงินของสหรัฐล้มลงยิ่งทำให้ดัชนีลดลงจนหลายฝ่ายมองหาแนวรับไม่ได้เช่นกัน

หลังจากที่มีปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้น ผู้ถือหน่วยลงทุนของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) หวาดกลัวที่สุดคือ กองทุนที่ผู้ถือหน่วยเข้าไปลงทุนนั้นจะเข้าไปลงทุนในตราสารหนี้อของเลห์แมน บราเธอร์ หรือเอไอจี ทำให้บลจ.ออกมาประกาศว่าทางบลจ.ไม่มีการลงทุนในทรัพย์สินของเลห์แมน บราเธอร์ และเอไอจี

อาสา อินทรวิชัย ผู้จัดการสายการลงทุนตราสารหนี้ บลจ.อยุธยา หรือ เอวายเอฟ มองการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยว่า การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยปีนี้เฉลี่ยอยู่ 4.6% ซึ่งอัตราการเติบโตในไตรมาสแรกเฉลี่ยอยู่ที่ 6% ไตรมาสที่ 2 อยู่ที่ 5.3% ทั้งนี้มาจากปัญหาการเมืองที่ยังมองหาทางออก ประกอบกับยอดส่งออกลดลงทำให้การเติบโตชะลอตัวลง

ในมุมมองของที่มีต่อสหรัฐอเมริกา คือ ปัญหาของสหรัฐยังไม่คลี่คลายหรือแก้ได้ภายในเวลาไม่กี่เดือน คงต้องใช้เวลาไปอีกระยะหนึ่ง โดยก่อนหน้านี้บริษัทเลห์แมน บราเธอส์ เริ่มมีปัญหาตั้งแต่เดือน กรกฏาคม ปีที่แล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้อาจมีนักวิเคราะห์มองว่าช่วงที่สหรัฐขาลงเช่นนี้ ถือว่าเป็นโอกาสดีที่จะเข้าไปลงทุน แต่มุมมองของเรากับมองต่างไปคืออยากให้ชะลอไปก่อน เพราะปัญหาเรื่องของซับไพร์ และเครดิต ที่ยังไม่จบ

ทั้งนี้ คุณอาสา อธิบายให้ฟังว่า ในสหรัฐอเมริกามีสถาบันทางการเงินขนาดใหญ่แบ่งออกเป็น ธนาคาร และบริษัทที่ปรึกษาการลงทุนหรือที่เรียกว่า Investment Bank ซึ่งตราสารหนี้ที่ไม่ได้ออกโดยรัฐบาลเราจะเรียกว่า เครดิต โดยเครดิตจะให้ผลตอบแทนมากกว่าตราสารหนี้รัฐบาลก็จริงแต่ เครดิตมีความเสี่ยงมากกว่าพันธบัตรรัฐบาลเช่นกัน

"ในส่วนของ บลจ.อยุธยา เราได้ตรวจสอบแล้วว่าการลงทุนในตราสารของกองทุนตราสารหนี้ทุกกองทุนของบลจ.เราไม่มีการลงทุนในตราสารหนี้ของ แบร์ สตีน (Bear Stearns) เลห์แมน บราเธอส์ และเอไอจี ซึ่งบลจ.ของเราได้ลงทุนในตราสารหนี้ของธนาคารในต่างประเทศจำนวน 9 แห่ง แบ่งออกเป็นธนาคารของรัฐ 5 แห่ง คือ 1. Emirates Bank International ประเทศดูไบ 2.Bank of Korea ประเทศเกาหลี 3. Korea of Development Bank 4.the import-export bank of Koreaประเทศเกาหลีเช่นกัน และ Industrial bank of Korea"

ส่วนธนาคารพาณิชย์ที่เราได้เข้าไปลงทุนได้แก่ 1..Australia & New Zealand Banking group (ANZ) ของออสเตเรีย 2.National Australia Bank ของประเทศออสเตเรียลเช่นกัน ซึ่งเราได้ให้ความสำคัญกับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ลงโดย S&P,Mood และ Fitch Rating

คุณอาสา กล่าวถึงตราสารหนี้ที่บลจ.ให้ความสนใจว่า ตั้งเเต่ผลตอบเเทนของตราสารหนี้สถาบันการเงินในยุโรปหมดความน่าสนใจลง ทำให้พันธบัตรเกาหลีมาเเทนทีเเต่เมื่อผลตอบเเทนหมดความน่าสนใจอีกครั้ง ทำให้เราต้องมาองหาตราสารหนี้ที่ให้ผลตอบเเทนที่ดี เเละความเสี่ยงน้อย เช่น พันธบัตรที่ออกโดยรัฐบาล หรือธนาคารเเห่งประเทศไทย ขณะเดียวกันพันธบัตรที่ออกโดยเอกชนเช่น บริษัทโตโยต้าเเละบริษัท ฮอนด้า ก็ให้ผลตอบเเทนประกอบการจัดอันดับเรตติ้งก็น่าเชื่อถือเช่นกัน

ก่อนหน้านี้ ณัฐพล ชวลิตชีวิน กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) มองว่าการที่บริษัท เลห์แมน บราเธอร์ส ประกาศล้มละลาย นั้นจะส่งกระทบต่อประเทศไทยในทางอ้อมมากกว่าทางตรง เนื่องจากสถาบันการเงินที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับเลห์แมนฯ มีน้อย โดยส่วนใหญ่จะเป็นการปล่อยสินเชื่อ หรือธุรกรรมสวอป และมีในส่วนเป็นการลงทุนในตราสารหนี้ประมาณ 4,300 ล้านบาท โดยมองว่าเงินต้นใน 1 ดอลลาร์สหรัฐจะได้เม็ดเงินกลับคืนมาประมาณ 30 เซนต์ หรือจะได้เม็ดเงินกลับคืนมาของ 30% ของมูลค่าการกู้ยืมเงินทั้งหมด หรือคาดว่าน่าจะมีความเสียหายประมาณ 3000 ล้านบาท

ในขณะเดียวกัน ณัฐพล มองว่า ในปี 2552 น่าจะมีตั๋วเงินคลังจะมีการออกมาประมาณ 450,000 – 480,000 ล้านบาท โดยออกมารองรับการชดเชยงบประมาณและพันธบัตรที่มีอายุครบการไถ่ถอน โดยแบ่งออกเป็นพันธบัตรที่มีอายุ 5 ปีและ 10 ปี ประมาณ 120,000 ล้านบาท แต่ทั้งนี้ไม่นับรวมการเข้าไปลงทุนในระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานแต่อย่างใด ซึ่งนับว่าเป็นมูลค่าสูงสุดที่กระทรวงการคลังเคยออกตั๋วเงินคลังมา

“ปีหน้าจะมีการออกตราสารหนี้มากขึ้น โดยเมื่ออัตราดอกเบี้ยปรับตัวลดลงถือเป็นว่าเป็นโอกาสที่ดี เพราะเศรษฐกิจถดถอยที่เกิดขึ้นจะทำให้บริษัทเอกชนขนาดใหญ่ (บลูชิพ) ไประดมทุนในต่างประเทศไม่ได้ แต่ต้องขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่ว่าไทยถูกปรับลดอันความน่าเชื่อถือ (เครดิต เรตติ้ง)ด้วย โดยเมื่ออันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยลดลง ก็จะส่งผลให้ภาคเอกชนมีการออกหุ้นกู้ในต่างประเทศไม่ได้ ถึงออกหุ้นกู้ได้ก็จะมีต้นทุนที่แพงมาก และทำให้ภาคเอกชนหันมาออกหุ้นกู้ในประเทศมากขึ้น”
กำลังโหลดความคิดเห็น