xs
xsm
sm
md
lg

สมาคมบลจ.แจงแก้กม.กองสำรองชีพฟินันซ่าสร้างโมเดลใหม่ตามใจลูกค้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมาคมบลจ.ทำความเข้าใจการแก้กฏหมายใหม่ 5 ข้อในพรบ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เอื้อสมาชิกที่สิ้นสภาพ ทั้งการคงเงิน หรือทยอยรับทรัพย์ ด้าน“บลจ.ฟินันซ่า” จับจังหวะเตรียมสร้างโมเดลกองทุนให้สมาชิกสำหรับกองทุนที่มีขนาดไม่ใหญ่มาก ให้เลือกลงทุนได้ตามใจชอบ ทั้งผลตอบแทนมากเสี่ยงมาก และผลตอบแทนน้อยเสี่ยงน้อย “ธีระ” คาดเริ่มเห็นความชัดเจนในสิ้นปีนี้ ยืนยันลูกค้าของบลจ.ให้การตอบรับเป็นอย่างดี

นายเกษตร ชัยวันเพ็ญ รองประธานกลุ่มธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สมาคมบริษัทจัดการกองทุน หรือ AIMC กล่าวว่า การแก้ไขพระราชบัญญัติ (พรบ.) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีการประกาศใช้ไปแล้วมีทั้งหมด 5 ข้อด้วยกัน โดยการแก้ไขข้อกฎหมายดังกล่าวจะเอื้อผลประโยชน์ให้กับสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพโดยตรง และการที่ทางสมาคมได้เชิญคณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาซักซ้อมความเข้าใจครั้งนี้เพื่อให้ทางคณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกลับไปทำความเข้าใจและเผยแพร่ความรู้รวมถึงสิทธิต่างๆที่สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของบริษัทต่างๆได้เข้าใจมากขึ้นพร้อมทั้งกลับไปแก้ไขกฏข้อบังคับแต่ละกองทุนให้เข้ากับพรบ.ที่มีผลบังคับใช้ไปแล้ว

โดยการแก้ไขพรบ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพข้อแรกคือ การให้สมาชิกคงเงินไว้ในกองทุนจากหลักเกณฑ์เดิมที่กฏหมายไม่ได้กำหนด แต่สมาชิกสามารถขอคงเงินในกองทุนโดยไม่มีภาษีได้ถ้าคงเงินไว้ไม่เกิน 1ปี และไม่การจ่ายเงินออกจากกองทุน พร้อมทั้งต้องสิ้นสมาชิกภาพจากองทุนโดยเปลี่ยนฐานะเป็นเจ้าหนี้ และไม่มีสิทธิได้รับดอกผลเพิ่มเติมจากเงินที่คงไว้ ซึ่งพรบ.ใหม่แก้ไขเป็นอนุญาตให้สมาชิกคงเงินไว้ในกองทุนได้ตามระยะเวลาที่กำหนดในข้อบังคับ แต่ต้องไม่น้อยกว่า 90 วันนับตั้งแต่วันที่ออกจากงาน โดยยังคงเป็นสมาชิกของกองทุนต่อไป และมีสิทธิได้รับดอกผลจากการคงเงินอีกด้วย

สำหรับการแก้พรบ.ข้อที่ 2 นั้นจะเป็นการขอรับเงินเป็นงวด ซึ่งหลักเกณฑ์เดิมนั้น กำหนดไว้ว่าเมื่อสมาชิกสิ้นสมาชิกภาพไปแล้วต้องรับเงินจากกองทุนเพียงครั้งเดียวทั้งจำนวนภายใน 30 วันเมื่อสื้นสมาชิกภาพจากกองทุน ส่วนหลักเกณฑ์ใหม่ที่แก้ไขไปแล้วคือเมื่อสมาชิกสิ้นสมาชิกภาพ สมาชิกที่เกษียณแล้วสามารถขอรับเงินเกษียณได้เป็นงวด และยังคงเป็นสมาชิกภาพกองทุนต่อไปตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของกองทุนนั้นๆ

“การขอรับเงินเกษียณเป็นงวดๆนั้น ยังไม่สามารถรับได้เนื่องจากเรื่องยังอยู่ที่กรมสรรพกร ซึ่งทางสรรพกรได้รับเรื่องไว้พิจาณาแล้ว คาดว่าจะประกาศใช้ได้หลังจากที่ กองทุนบำเน็จบำนาญข้อราชการหรือกบข.ได้รับการพิจารณาก่อน โดยจะไม่เกินสิ้นปีนี้แน่นอน”นายเกษตร กล่าว

ส่วนการแก้ไขพรบ.ข้อที่ 3 คือ สมาชิกของกบข.สามารถโอนเงินมากองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้ โดยการโอนเงินต้องเป็นการโอนเงินไปทั้งจำนวนซึ่งการนับอายุสมาชิกของกองทุนนั้นต้องนับรวมระยะเวลาการเป็นสมาชิกของกบข.ด้วย

นายเกษตร กล่าวอีกว่า การแก้ไขพรบ.ในข้อที่ 4 นั้นแต่เดิมหนึ่งกองทุนคือ “หนึ่งนิติบุคคล” รายได้และค่าใช้จ่ายภายในนิติบุคคลเดียวกันจะแบ่งแยกไม่ได้ ดังนั้นหากต้องการมีหลายนโยบายการลงทุนต้องจัดตั้งกองทุนหลายกองทุน ซึ่งพรบ.ใหม่ได้ยกเว้นหลัก “นิติบุคคล” โดยให้สามารถแบ่งแยกรายได้และค่าใช้จ่ายภายในนิติบุคคลเดียวกันได้ ดังนั้นหนึ่งกองทุนสามารถมีได้หลายนโยบาย (Master fund) และข้อสุดท้ายที่ได้มีการแก้ไขคือ ข้อบังคับกองทุนสามารถกำหนดเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาในการได้เงินสมทบของนายจ้างโดยการแก้ไขเพิ่มเติมว่า ข้อกำหนดนั้นจะต้องไม่ตัดสิทธิของลูกจ้างโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร ทั้งนี้ กลต.อาจจะพิจาณาไม่รับขึ้นทะเบียนเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้หากข้อกำหนดตัดสิทธิของลูกจ้างโดยปราศจากเหตุผล

ด้านนายธีระ ภู่ตระกูล กรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) ฟินันซ่า จำกัด กล่าวถึงการที่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพสามารถมีหลายนโยบาย หรือ Master fund ว่า จะส่งผลดีให้กับสมาชิกในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพราะสมาชิกมีสิทธิที่จะเลือกลงทุนพร้อมทั้งเลือกที่จะรับผลตอบแทนรวมถึงความเสี่ยงเองได้ โดยสมาชิกกองทุนนั้นต้องยอมรับว่ามีหลายวัยด้วยกัน ทำให้การลงทุนที่มีความเสี่ยงน้อยอย่างกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจึงไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุดในการลงทุนเพื่อการเกษียณ ดังนั้นบลจ.จึงได้สร้างการลงทุนประเภท “Life Cycle” ขึ้นมาเพื่อรองรับความต้องการที่จะเกิดขึ้น

“กองทุนที่มีหลายนโยบาย จะใช้ได้ผลกับกองทุนที่มีเม็ดเงินในกองทุนมากหรือเป็นกองทุนที่มีขนาดใหญ่ ถึงจะคุ้มกับค่าใช้จ่าย เราจึงได้ออกแบบกองทุนประเภท Life Cycle ที่เหมือนกับกองทุนรวมทั่วไป เพื่อรองรับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ขนาดไม่ใหญ่นักและเป็นทางเลือกให้กับสมาชิกกองทุนด้วย ตอนนี้ทางบลจ.เราได้มีการพูดคุยกับลูกค้าแล้ว ได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้า คาดว่าจะปลายปีนี้ก็จะเริ่มให้สมาชิกลงทุนได้”นาย ธีระ กล่าว

สำหรับการลงทุนประเภท “Life Cycle” ของบลจ.ฟินันซ่านั้นจะแบ่งออกเป็น 3 กองทุน โดยกองทุนแรกจะเหมาะกับผู้ลงทุนที่มีอายุน้อยกว่า 45 ปี ซึ่งจะเน้นลงทุนในหุ้นต่างประเทศ 40% ทางเลือกอื่นอีก 35% และ หุ้นไทย 25% มีผลตอบแทนเฉลี่ยประมาณ 15% ต่อปี , ส่วนกองทุนในแบบที่ 2 เหมาะกับผู้ลงทุนที่มีอายุตั้งแต่ 45-55 ปี สัดส่วนการลงทุนจะเน้นลงทุนในตราสารหนี้ 30% หุ้นต่างประเทศ 30% หุ้นไทย 20% และทางเลือกอื่น20% ประมาณการผลตอบแทนเฉลี่ย 12% ต่อปื และกองทุนแบบที่ 3 เหมาะกับผู้ลงทุนที่มีอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป จะลงทุนในตราสารหนี้ 60% หุ้นไทย 15% หุ้นต่างประเทศ 15% และทางเลือกอื่นอีก 10% ซึ่งผลตอบแทนโดยประมาณอยู่ที่ 4%ต่อปี

“ส่วนค่าธรรมเนียมของแต่ละกองทุนอาจแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับการบริหารและนโยบายของแต่ละกองทุน ซึ่งกองทุนที่ลงทุนในหุ้นอาจมีค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายสูงกว่ากองทุนตราสารหนี้เป็นต้น”นายธีระ กล่าว

นายประเวศ องอาจสิทธิกุล ผู้ช่วยเลขาธิการอาวุโส สำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัยพย์ กล่าวถึงการแก้ไขพรบ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพว่า หลังจากที่พรบ.ดังกล่าวมีการประกาศใช้เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2551 ที่ผ่านมา ทางสำนักงานได้มีการจัดอบรมให้กับคณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของแต่บริษัท เพื่อไปสร้างความเข้าใจให้กับสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพโดยครั้งแรกที่มีการเปลี่ยนแปลงอาจจะมีปัญหาบ้าง แต่เชื่อว่าเมื่อสมาชิกมีความเข้าใจมากขึ้นก็จะทำให้ปัญหาลดลง ขณะเดียวกันการแก้ไขข้อบังคับในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนี้ ทางสำนักงานเชื่อว่าจะส่งผลดีให้กับสมาชิกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
กำลังโหลดความคิดเห็น