xs
xsm
sm
md
lg

จับตาน้ำมัน-สินค้าเกษตร ตัวแปรเงินเฟ้อปี2551

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปัญหาที่ต้องจับตามองและมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศในเวลานี้ คงหลีกไม่พ้นเรื่องเงินเฟ้อ และราคาน้ำมัน โดยที่ผ่านมาคนไทยต้องรับภาระจากการที่ราคาสินค้าต่างๆ ทยอยปรับราคาขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง

ซึ่งราคาน้ำมันถือเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น ถึงแม้จะมีการปรับตัวลดลงไปบ้างก็ตาม โดยมิได้มีเพียงประเทศไทยเท่านั้นที่อัตราเงินเฟ้อปรับตัวขึ้นเป็นประวัติการณ์ แต่ประเทศพึ่งน้ำมันจากการนำเข้าเป็นหลักก็ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน

ส่วนแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อจะเป็นอย่างไรต่อจากนี้นั้น มีหลายฝ่ายออกมาให้ความเห็นอย่างกว้างขว้าง ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้บอกถึงเรื่องนี้ว่า หลังจากที่กระทรวงพาณิชย์ได้ประกาศตัวเลขเงินเฟ้อเดือนสิงหาคม 2551 โดยมีประเด็นสำคัญ ต่อไปนี้คือ

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา อยู่ที่ร้อยละ 6.4 ชะลอลงจากร้อยละ 9.2 ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นอัตราที่สูงสุดในรอบ 10 ปี และต่ำกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ที่ร้อยละ 8.7 ขณะเดียวกัน อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือนนี้ก็ชะลอลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.7 จากร้อยละ 3.7 ในเดือนก่อนหน้า ลงมาต่ำกว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทย (ที่ร้อยละ 0.0-3.5) หลังจากขึ้นไปสูงเกินกรอบดังกล่าวติดต่อกัน 2 เดือนระหว่างเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม

การปรับตัวลดลงของอัตราเงินเฟ้อเดือนนี้ เป็นผลมาจากปัจจัยที่สำคัญ 2 ประการ คือ การที่ 6 มาตรการ 6 เดือนฝ่าวิกฤติเพื่อคนไทย เริ่มต้นมีผลบังคับใช้ ส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันในส่วนของแก๊สโซฮอล์และดีเซลลดลงประมาณ 2.47-3.88 บาท จากมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน รวมทั้งช่วยให้ประชาชนบางกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย มีค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภคและค่าโดยสารรถสาธารณะที่ลดลง นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกก็ได้ปรับตัวลดลงมากกว่า 30 ดอลลาร์ฯ/บาร์เรล นับตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของเดือนกรกฎาคม ซึ่งผลโดยรวมของทั้งสองปัจจัยข้างต้น ทำให้ระดับราคาสินค้าและบริการในหมวดยานพาหนะและน้ำมันเชื้อเพลิงลดลงร้อยละ 11.0 จากเดือนก่อนหน้า ขณะที่หมวดค่าโดยสารสาธารณะ และหมวดไฟฟ้า เชื้อเพลิง น้ำประปา และแสงสว่าง ลดลงร้อยละ 4.5 และ 38.7 จากเดือนก่อนหน้า ตามลำดับ นอกจากนี้ ราคาข้าวที่สูงขึ้นไปในช่วงก่อนหน้าได้เริ่มปรับลดลง

แนวโน้มเงินเฟ้อปี 51
ทิศทางเงินเฟ้อในระยะเดือนถัดๆ ไป คาดว่าจะยังคงได้รับผลดีจากมาตรการของรัฐบาลข้างต้น ซึ่งจะดำเนินการเป็นระยะเวลา 6 เดือนนับตั้งแต่วันที่มาตรการมีผลใช้บังคับ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่คาดว่าจะเป็นแรงหนุนระดับเงินเฟ้อในเดือนถัดๆ ไป ได้แก่ การปรับขึ้นราคาค่าโดยสารของรถร่วมบริการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ การปรับขึ้นค่าใช้บริการทางด่วน ขณะที่แนวโน้มราคาน้ำมันในตลาดโลกมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นจากปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติในแหล่งผลิตน้ำมันที่สำคัญ รวมทั้งมีโอกาสที่อัตราค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัต (เอฟที) จะปรับขึ้นสำหรับงวดเดือนตุลาคม 2551 ถึง มกราคม 2552 เนื่องจากราคาก๊าซธรรมชาติในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น

ทั้งนี้ แม้ว่าในเดือนถัดๆไปจะมีปัจจัยบางประการที่อาจหนุนให้ราคาสินค้าผู้บริโภคเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดือนก่อนหน้า (Month-on-Month) แต่จากผลของฐานที่อยู่ในระดับสูงในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า อัตราเงินเฟ้อในเดือนกันยายนจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 6.0-6.5 ใกล้เคียงกับในเดือนสิงหาคม และจะค่อยๆ ชะลอลงไปมีระดับต่ำกว่าร้อยละ 6 ในไตรมาสสุดท้ายของปี ซึ่งจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยของทั้งปี 2551 อาจต่ำลงไปที่ร้อยละ 6.3 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 2.5 โดยสูงกว่าค่าเฉลี่ยของปี 2550 ที่ผ่านมา ซึ่งเท่ากับร้อยละ 2.3 และ 1.1 ตามลำดับ

น้ำมัน-สินค้าเกษตร ตัวแปรเงินเฟ้อปี 51
ประเด็นสำคัญที่ยังคงต้องติดตามก็คือ สถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลก ที่แม้ว่าจะได้ปรับตัวลงมาค่อนข้างมากในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา แต่ราคาน้ำมันดังกล่าวยังคงมีโอกาสผันผวน รวมทั้งราคาสินค้าผู้ผลิต (PPI: Producer Price Index) ที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมาก็อาจจะส่งผลต่อไปยังราคาสินค้าผู้บริโภค นอกจากนี้ ยังคงต้องติดตามทิศทางราคาสินค้าเกษตร ซึ่งแม้ว่ามีแนวโน้มอ่อนตัวลงในระยะข้างหน้า ซึ่งเป็นฤดูกาลที่ผลผลิตของประเทศผู้ผลิตรายสำคัญจะออกสู่ตลาดมากขึ้น แต่หากเกิดสถานการณ์ภัยธรรมชาติที่สร้างความเสียหายแก่พืชผล ก็อาจเป็นตัวแปรให้ราคากลับไปมีระดับสูงขึ้นได้

สรุปตามที่ ศูนย์วิจัยกสิกไทย วิเคราะห์ไว้คือ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ชะลอตัวลงเนื่องจากปัจจัยสำคัญ 2 ประการคือ การประกาศใช้ 6 มาตรการ 6 เดือน และการที่ราคา ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกก็ได้ปรับตัวลดลงมากกว่า 30 ดอลลาร์ฯ/บาร์เรล นับตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของเดือนกรกฎาคม ทำให้ราคาสินค้าและบริการในหมวดลดจากเดือนก่อนหน้า

อย่างไรก็ตาม แรงหนุนระดับเงินเฟ้อหลังจากนี้ยังคงมีอยู่ โดยการ ปรับขึ้นค่าโดยสารของรถร่วมบริการ ค่าทางด่วน และราคาก๊าซธรรมชาติในตลาดโลก จะเป็นตัวแปรที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นอีก ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยของทั้งปี 2551 อาจต่ำลงไปที่ประมาณร้อยละ 6.3 แต่ประเด็นสำคัญที่ยังคงต้องติดตามก็คือ สถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ยังคงมีโอกาสผันผวน รวมทั้งราคาสินค้าเกษตรที่หากเกิดสถานการณ์ภัยธรรมชาติที่สร้างความเสียหายแก่พืชผล ก็อาจเป็นตัวแปรให้ราคากลับไปมีระดับสูงขึ้นได้ และส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อในอนาคตต่อไป

กำลังโหลดความคิดเห็น