“เศรษฐกิจไทยปีนี้จะเป็นอย่างไร... เงินเฟ้อจะพุ่งขึ้นอีกหรือไม่... ราคาน้ำมันที่สูงขึ้น จะกระทบการค้าการลงทุนมากน้อยเพียงใด...” ประเด็นคำถามเหล่านี้ คนไทยส่วนใหญ่คงต้องการคำตอบ
หลายสถาบันต่างพยายามตอบคำถามข้างต้น ด้วยผลการประมาณการเศรษฐกิจจากสมมติฐานและเหตุผลทางวิชาการ แต่เมื่อมาถึงวันนี้ความท้าทายเกี่ยวกับคาดการณ์ก็สั่นคลอน เมื่อปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เริ่มมีน้ำหนักมากขึ้น
ปัจจัยเสี่ยงที่รุมเร้า
อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์
อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนับจากไตรมาสสุดท้ายของปี 2550 โดยเฉพาะ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปได้เร่งตัวขึ้นมากและต่อเนื่อง ตัวเลขล่าสุดในเดือนพฤษภาคม 2551 อยู่ที่ร้อยละ 7.6 นับเป็นสถิติสูงสุดในรอบเกือบ 10 ปี ส่งผลให้เงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 5 เดือนของปีนี้อยู่ที่ร้อยละ 5.8
ปัจจัยสำคัญที่ฉุดเงินเฟ้อให้สูงขึ้น ได้แก่ ราคาน้ำมัน ซึ่งในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ปรับตัวสูงขึ้นมาก นอกจากนี้ ราคาอาหาร (food price inflation) ในประเทศต่าง ๆ รวมทั้งประเทศไทยที่เพิ่มสูงขึ้นมากในช่วง 6 – 9 เดือนที่ผ่านมา เนื่องจากความต้องการในตลาดโลกมีมากขึ้น แต่อุปทานเริ่มมีน้อยลงเมื่อพืชอาหารบางชนิดได้ถูกนำไปแปรรูปเป็นพลังงานทดแทน
โดยแนวโน้มทั้งปี 2551 คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 7 และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 2 - 3 ซึ่งนับว่าสูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับร้อยละ 2.3 และร้อยละ 1.1 ตามลำดับในปีก่อน อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อในระดับนี้ อาจเรียกได้ว่าเป็น High Inflation แต่ยังไม่ใช่ Hyper Inflation ซึ่งเป็นระดับที่น่ากลัวมากกว่า
อัตราดอกเบี้ยขาขึ้น
ภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้นมาก อาจกดดันให้ผู้กำหนดนโยบายการเงินจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่เพียงเฉพาะประเทศไทยเท่านั้น
อัตราดอกเบี้ยของไทยนั้น คาดว่าธนาคารพาณิชย์จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยทั้งด้านเงินฝากและจนถึงสิ้นปี 2551 แต่คงปรับขึ้นอีกไม่เกินร้อยละ 0.5 เพื่อมิให้กระทบต่อการขยายสินเชื่อ และคุณภาพสินทรัพย์ในระยะยาว ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายธนาคารแห่งประเทศไทย เริ่มส่งสัญญาณว่าอาจจะพิจารณาทบทวนนโยบายการเงิน โดยมีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอีกร้อยละ 0.25 - 0.5 ภายในสิ้นปี 2551 จากเหตุผลสำคัญที่นอกเหนือจากการเร่งตัวของเงินเฟ้อ คือ อัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่แท้จริง ซึ่งติดลบถึงร้อยละ 4.54 สูงสุดในรอบ 3 ปี จึงอาจทำให้ประชาชนออมน้อยลง และหันไปใช้จ่ายมากขึ้น ซึ่งจะกลับมากดดันให้อัตราเงินเฟ้อเร่งขึ้นอีก
ปัญหาในภาคการเงินของสหรัฐฯ
การที่ FED ได้ออกมาตรการต่าง ๆ อย่างเร่งด่วน เช่น การปล่อยกู้ฉุกเฉินให้กับ Bear Stearns ถึง 30,000 ล้านดอลลาร์ สรอ. และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงถึงร้อยละ 2 ภายในไตรมาสเดียว เป็นต้น
นอกจากนี้ การที่สถาบันการเงินของสหรัฐฯสามารถเพิ่มทุนได้จากเงินทุนของกองทุนเพื่อการลงทุนของรัฐบาลประเทศต่าง ๆ (Sovereign Wealth Fund: SWF) เพื่อมารองรับการตั้งสำรองที่อาจเพิ่มขึ้น จึงมีความหวังว่าปัญหาการตกต่ำของภาคการเงินจะค่อย ๆ บรรเทาลง แต่กระนั้นก็ยังนับเป็นความเสี่ยงสำคัญที่ควรติดตาม
ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากวิกฤติเศรษฐกิจในเวียดนาม
กรณีปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในเวียดนาม เป็นประเด็นสำคัญที่จุดกระแสความกังวลระลอกใหม่ถึงผลกระทบต่อภูมิภาคเอเชีย สถานการณ์ดังกล่าวอาจส่งผลแพร่กระจาย (Contagion Effect) ไปสู่ระบบเศรษฐกิจการเงินของประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชีย เนื่องจากเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้มีโครงสร้างที่คล้ายคลึงและเชื่อมโยงกัน จนนักลงทุนบางส่วนวิตกกังวลว่าอาจเป็นชนวนนำไปสู่วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจอย่างที่เคยเกิดขึ้นในปี 2540
ความไม่แน่นอนทางการเมืองภายในประเทศ
ปัจจัยการเมืองนับเป็นอีกปัจจัยเสี่ยงที่มีอิทธิพลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย ซึ่งดูเหมือนว่าเหตุการณ์ต่าง ๆ น่าจะคลี่คลายลงได้ในปีนี้ แต่กลับมีประเด็นความขัดแย้งขึ้นอีกครั้ง เมื่อรัฐบาลมีแนวคิดที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงส่งผลค่อนข้างมากต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนในระยะนี้
มองหาปัจจัยบวก
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงที่รุมเร้า ยังมีปัจจัยบวกที่จะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2551 อยู่บ้าง ซึ่งสามารถสรุปได้ ดังนี้
เศรษฐกิจของเอเชียและตลาดส่งออกใหม่ยังขยายตัวสูง
แม้ว่าเศรษฐกิจโลกโดยรวมจะชะลอตัวลงในปีนี้ แต่ประเทศในภูมิภาคเอเชีย รวมทั้งกลุ่มประเทศในตะวันออกกลาง แอฟริกา ยุโรปตะวันออกบางประเทศ ยังมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจในเกณฑ์ที่ดี ขณะที่ผู้ประกอบการของไทยได้ปรับแผนการตลาด และขยายการส่งออกสินค้าและบริการไปยังประเทศข้างต้นมากขึ้น จึงทำให้การส่งออกของไทยยังขยายตัวได้ในเกณฑ์สูงกว่าที่คาด
แรงผลักดันจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง
เศรษฐกิจในประเทศที่ฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่องตลอด 2 ไตรมาสที่ผ่าน โดยเฉพาะในไตรมาส 1/2551 ที่ขยายตัวร้อยละ 6.0 โดยมีแรงขับเคลื่อนหลักจากอุปสงค์ในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น โดยการบริโภคภาคเอกชนขยายตัว ขณะเดียวกันการสะสมทุนถาวรก็ขยายตัว
ดังนั้น การขยายตัวทางเศรษฐกิจในระดับสูงจากไตรมาสสุดท้ายปีก่อน กอปรกับพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ยังแข็งแกร่ง โดยอัตราการว่างงานยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นจนสูงแตะระดับ 100,000 ล้านดอลลาร์สรอ. ซึ่งสูงกว่าการนำเข้าเฉลี่ยต่อเดือนถึง 7 เท่า และสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นประมาณ 4 เท่า จะเป็นแรงผลักดันให้เศรษฐกิจโดยรวมทั้งปีขยายตัวได้ในเกณฑ์ดี
ราคาสินค้าเกษตรที่สูงขึ้น
โดยการที่สินค้าเกษตรที่มีราคาโน้มสูงขึ้น จะส่งผลบวกที่สำคัญ คือ ทำให้รายได้ของเกษตรกรปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อเนื่องถึงการบริโภคในประเทศ เพราะเกษตรกรเป็นฐานการบริโภคที่สำคัญ โดยแรงงานในภาคเกษตรมีจำนวนถึงประมาณ 14 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 39 ของแรงงานรวม
การดำเนินนโยบายงบประมาณรายจ่ายแบบขาดดุล
การใช้นโยบายงบประมาณแบบขาดดุลในช่วงนี้ ถือเป็นจังหวะที่เหมาะสม เพราะหนี้สาธารณะของไทยอยู่ในระดับต่ำ และเมื่อเทียบการขาดดุลของงบประมาณรายจ่ายปี 2551 กับ GDP ก็เป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 1.8 ซึ่งเป็นสัดส่วนที่อยู่ในกรอบความยั่งยืนทางการคลัง ทั้งนี้ การเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องนับจากรัฐบาลชุดก่อน นับเป็นปัจจัยที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากพอสมควร และหากรัฐบาลสามารถเร่งรัดการเบิกจ่ายในช่วง 4 เดือนที่เหลือของปีงบประมาณนี้ได้ตามเป้าหมาย ก็จะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศได้มาก
มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล
การให้ความสำคัญต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจของรัฐบาล ด้วยการออกมาตรการต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากผลการศึกษาของธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่ามาตรการภาษีทั้งหมดจะมีส่วนในการกระตุ้นให้ GDP ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดิมอีกประมาณร้อยละ 0.1 – 0.2
การท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว
การท่องเที่ยวของไทยมีสัญญาณฟื้นตัวดีขึ้นมาตั้งแต่ปลายปีก่อน โดยเฉพาะในไตรมาสแรกปีนี้ที่เครื่องชี้การท่องเที่ยวขยายตัวดีขึ้นชัดเจน นอกจากนี้ การที่รัฐบาลได้กำหนดให้การท่องเที่ยวเป็นยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจในช่วงปี 2551 - 2555 จึงทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญกับการรณรงค์และส่งเสริมการท่องเที่ยว และยังได้ตั้งเป้าหมายรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นจากประมาณ 5.4 แสนล้านบาท เป็น 9.6 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 78
โดยสรุปแล้วเมื่อเปรียบเทียบจากปัจจัยบวกข้างต้น จึงมีความเป็นไปได้ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2551 จะยังสามารถฝ่าแรงกดดันจากความเสี่ยงทั้งหลาย และขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยฝ่ายวิจัยธุรกิจ บมจ.ธนาคารกรุงไทย ประมาณการว่า GDP ของไทยในปี 2550 จะขยายตัวได้ประมาณร้อยละ 5.3 เร่งขึ้นจากร้อยละ 4.8
ที่มา : นายรชตพงศ สุขสงวน ฝ่ายวิจัยธุรกิจ สายงานบริหารความเสี่ยง บมจ.ธนาคารกรุงไทย
(บทวิเคราะห์นี้เป็นความคิดเห็นของผู้เขียน ซึ่งธนาคารไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย)