xs
xsm
sm
md
lg

ไพรเวตฟันด์อนาคตสดใสรับพรบ.เงินฝาก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


บลจ.กรุงไทย เชื่อแนวโน้มกองทุนส่วนบุคคลเติบโตอย่างสดใสจากอานิสงส์พ.ร.บ.สถาบันเงินฝาก เหตุแม้นักลงทุนรายใหญ่แม้กระจายเปิดบัญชีฝากหลายแบงก์ แต่ยังต้องแบ่งส่วนหนึ่งเข้าลงทุน ทำให้กองทุนเอฟไอเอฟมีออกมาในตลาดน้อยลง เพราะบลจ.จะเปลี่ยนไปออกไพรเวต ฟันด์ระดมทุนกับเศรษฐีเพิ่มขึ้น

นายธีรพันธุ์ จิตตาลาน รองกรรมการผู้จัดการ ผู้บริหารสายงานจัดการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กรุงไทย จำกัด กล่าวว่า หลังจากที่พระราชบัญญัติสถาบันคุ้มครองเงินฝากมีผลบังคับบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2551 เป็นต้นไป น่าจะส่งผลทำให้อุตสาหกรรมกองทุนส่วนบุคคล (ไพรเวตฟันด์) ได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้น เนื่องมาจากผลของพรบ.ดังกล่าวนักลงทุนรายย่อยที่มีวงเงินฝากไม่ถึง 1 ล้านบาทยังคงได้รับการคุ้มครองเต็มจำนวน ในขณะที่นักลงทุนรายใหญ่แม้ว่าจะมีการกระจายเงินฝากไปยังหลายธนาคาร แต่คาดว่าไม่น่าจะสามารถกระจายได้เต็มวงเงินทั้งหมดที่มีอยู่ ซึ่งทำให้นักลงทุนรายใหญ่ให้ความสนใจการลงทุนในกองทุนส่วนบุคคลเพิ่มมากขึ้น

"ตอนนี้ 90% ของผู้ที่ฝากเงินในธนาคารพาณิชย์เป็นนักลงทุนรายย่อย ซึ่งมีจำนวนเงินรวมกันคิดเป็นเพียง 10% ของจำนวนเงินทั้งระบบ ในขณะที่ 10% ซึ่งเป็นนักลงทุนรายใหญ่นั้นกลับมีเงินลงทุนรวมกันถึง 90% ของจำนวนเงินทั้งระบบ ซึ่งหลังจากพรบ.มีผลสมบูรณ์ รายย่อยที่มีเงินฝากไม่ถึง 1 ล้านบาทยังได้รับการคุ้มครองอยู่ แต่นักลงทุนรายใหญ่นั้นแม้จะมีการกระจายไปลงทุนในหลายธนาคารแต่ก็ยังไม่พอ ดังนั้นจึงน่าจะให้ความสนใจกับไพรเวตฟันด์มากขึ้น" นายธีรพันธุ์ กล่าว

อย่างไรก็ตามสำหรับการเปลี่ยนแปลงนั้นคาดว่าน่าจะยังไม่เห็นในระยะสั้น แต่น่าจะสามารถเห็นการเปลี่ยนแปลงได้ในอีก 1-2 ปีข้างหน้า เนื่องมาจากในช่วงปีแรกนั้นธนาคารยังมีการคุ้มครอง 100% อยู่

ขณะเดียวกัน หลังจากที่นักลงทุนรายใหญ่มีความรู้และความเข้าใจในการลงทุนผ่านไพรเวตฟันด์เพิ่มมากขึ้นแล้ว น่าจะเห็นความเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมกองทุนอีกประการ คือ บลจ.ต่างๆน่าจะเปิดเสนอขายกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในต่างประเทศ (FIF) ที่มีขนาดกองทุนเล็กประมาณ 100 - 200 ล้านบาทน้อยลงและนำกองทุนในลักษณะดังกล่าวมาจัดตั้งเป็นกองทุนส่วนบุคคลเพื่อระดมทุนกับนักลงทุนรายใหญ่เพียงรายเดียว หรือ กลุ่มนักลงทุนรายใหญ่ไม่กี่รายแทน

"สาเหตุเนื่องมาจากการจัดตั้งกองทุนไพรเวตฟันด์กับคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) นั้นมีความสะดวกกว่าการขอจัดตั้งกองทุนรวมซึ่งมีขั้นตอนที่ยุ่งยากและใช้เวลาในการขอจัดตั้งมากกว่า นอกจากนี้ยังนโยบายการลงทุนของไพรเวตน์ฟันด์เองยังสามารถตอบสนองความต้องการของนักลงทุนได้มากกว่าอีกด้วย" นายธีรพันธุ์ กล่าว

ก่อนหน้านี้นางสาวหัสวรา แสงรุจิ ผู้บริหารฝ่ายการตลาดผู้ลงทุนบุคคล บลจ.กสิกรไทย กล่าวว่า ผลจากพ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝากที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 11 สิงหาคมนั้น คาดว่าในจะช่วงแรกอาจจะไม่ส่งผลต่อกองทุนส่วนบุคคลมากนัก เนื่องมาจากในระยะแรกยังมีการคุ้มครองเต็มจำนวนอยู่ อย่างไรก็ตามผลจากพ.ร.บ.ดังกล่าวน่าจะทำให้นักลงทุนมองหาทางเลือกการลงทุนใหม่ๆเพิ่มมากขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อมูลจากสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) เปิดเผยว่า ณ ปลายเดือนมิถุนายน 2551 อุตสาหกรรมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทั้งระบบมีจำนวนเงินกองทุนรวม 176,501.52 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1020.81 ล้านบาท หรือ 0.58% จากปลายปี 2550 ที่มีจำนวนเงินกองทุนรวม 175,480.71 ล้านบาท โดยบลจ.กรุงไทยนั้น ล่าสุด ณ เดือนมิถุนายน มีจำนวนกองทุนในการบริหารจัดการ 11 กองทุน คิดเป็นจำนวนเงิน 3,158.76 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 1,270.16 ล้านบาท หรือ 67.25% จากปลายปี 2550 ที่บริษัทมีจำนวนกองทุน 10 กองทุน คิดเป็นมูลค่า 1,888.60 ล้านบาท

ทั้งนี้สาเหตุที่จำนวนเม็ดเงินของกองทุนส่วนบุคคลทั้งระบบมีการเพิ่มขึ้นไม่มากนั้น เนื่องมาจากความผันผวนที่เกิดขึ้นในการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นตลาดตราสารหนี้และตราสารทุน ส่งผลทำให้จำนวนเงินกองทุนปรับตัวลดลง ประกอบกับมีลูกค้ากองทุนบางส่วนที่ปิดกองทุนไป อย่างไรก็ตามผู้จัดการกองทุนจากหลายบริษัทยังเชื่อมั่นว่าในช่วงครึ่งปีหลังกองทุนส่วนบุคคลน่าจะยังสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง แต่จากภาวะความผันผวนในการลงทุน โดยเฉพะในตลาดหุ้นไทยอาจจะส่งผลกดดันต่ออุตสาหกรรมบ้าง
กำลังโหลดความคิดเห็น