ภาวะเศรษฐกิจของโลกในขณะนี้ที่อยู่ในช่วงที่ชะลอตัวนั้น ส่งผลให้หลายประเทศหาทางรับมือกันอย่างเต็มที่ ทั้งในเรื่องของอัตราเงินเฟ้อและราคานํ้ามันที่สูงขึ้น ซึ่งในส่วนของราคานํ้านั้น แม้ว่าในขณะนี้จะมีการปรับตัวลดลงมาบ้างแล้ว แต่ก็ไม่รู้ได้ว่าจะทรงตัวนิ่งอยู่ได้ในระดับไหน
ในอีกด้านหนึ่งนั้น ปัญหาซับไพรม์ของสหรัฐก็ยังคงมีการจับตามองและคาดการณ์กันไปต่างๆ จากทั้งนักวิเคราะห์ รวมถึงบรรดานักลงทุนทั้งหลายว่า สถานการณ์จะรุนแรงเพิ่มมากขึ้นไปอีกหรือว่าปัญหาเริ่มที่จะเบาบางลงแล้ว เพราะในขณะนี้บรรดาธนาคารและสถาบันการเงินต่างๆที่ได้รับผลกระทบอยู่ใขณะนี้ ก็ยังคงมีปัญหาจากเรื่องของการเงินอย่างหนัก จนรัฐบาลต้องเข้ามาช่วยเหลือ
ขณะเดียวกัน ประเทศในเอเชียรวมถึงประเทศไทย ต่างก็ได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าวนี้บ้าง แต่ไม่ได้อยู่ในระดับที่รุนแรงเหมือนอย่างประเทศทางตะวันตก ดังนั้น เศรษฐกิจของบรรดาประเทศในเอเชียจึงยังคงอยู่ในระดับที่ดีและมีการเติบโตไปได้...วันนี้ ลองไปฟังมุมมองในเรื่องปัญหาซับไพร์มจากผู้เชี่ยวชาญทางด้านการเงินและการลงทุนว่า จะมองเรื่องนี้อย่างไร รวมถึงแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศไทยในปีนี้ด้วย เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินในลงทุน
โดยในงานสัมมนาเปิดวิสัยทัศน์แผนธุรกิจปี 2552 ร่วมกับบุคลากรและหุ้นส่วนของบริษัทในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) รวมทั้งไทย ของบริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ (ดีลอยท์) ชาร์ลี มาห์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ดีลอยท์ เอเชีย แปซิฟิก ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องการเงินและการลงทุน ได้พูดถึงเรื่องของวิกฤตสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ด้อยคุณภาพหรือ "ซับไพรม์" ในส่วนที่กระทบกับประเทศไทยว่า แม้ประเทศในแถบเอเชียส่วนใหญ่จะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากปัญหาดังกล่าวเหมือนกับประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่นในยุโรป แต่ปัญหาในเรื่องของการผ่อนส่งที่อยู่อาศัยในประเทศไทยนั้น ก็ยังคงมีอยู่เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในอเมริกา เช่น การขายคืนคอนโดราคาแพงที่ผู้อยู่อาศัยไม่สามารถที่จะผ่อนส่งต่อไปได้ เป็นต้น ซึ่งเรื่องนี้เป็นผลมาจากการที่ธนาคารรวมถึงสถาบันการเงินต่างๆมีการปล่อยกู้ที่มากเกินไป ถือเป็นปัญหาประการหนึ่งที่เกิดขึ้น อีกประการคือ ปัญหาเกิดขึ้นจากตราสารหนี้ที่มีสินทรัพย์คํ้าประกัน หรือ ซีดีโอ ที่ส่งผลกระทบต่อธนาคารต่างๆอย่างมาก ที่เห็นได้ชัดคือในสหรัฐอเมริกา ในกรณีของ เมอร์ริริ้น
โดยปัญหาซับไพรม์นี้ ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับบรรดาธนาคารในเอเชียนั้นก็มีบ้าง แต่ค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับทางสหรัฐอเมริกา ซึ่งก็มีบางธนาคารสามารถที่จะผ่องถ่ายหนี้เสียเหล่านั้นออกไปแล้วค่อนข้างมาก เช่น บางธนาคารในประเทศออสเตรเลีย ส่วนผลกระทบที่เกิดจากปัญหาซับไพรม์กับธนาคารในประเทศไทยนั้น ก็ได้รับผลกระทบบ้างแต่ก็ได้รับผลกระทบจากปัญหาอีกประการหนึ่งคือ การที่เศรษฐกิจโลกมีการชะลอตัวลง
ทั้งนี้ จากปัญหาการล้มลงของบริษัทที่ปล่อยสินเชื่อด้านที่อยู่อาศัยอย่าง แฟนดี้ เม และเฟรดดี้ แมค นั้น มีการคาดการณ์ออกมาว่า ปัญหาซับไพร์มละลอกที่ 3 กำลังจะเกิดขึ้นและจะรุนแรงกว่า 2 ครั้งแรกที่เกิดขึ้นมา "ชาร์ลี มาห์" กล่าวว่า ในเรื่องนี้ทางรัฐบาลของทางสหรัฐอเมริกาเองก็ได้เข้ามาแก้ไขปัญหานี้ด้วยการใช้มาตราฐานทางการเงินที่ออกมาใหม่เข้าไปกำกับดูแลบัญชีของแบงก์ต่างๆในอเมริกา คือการเข้าไปรับหนี้จากปัญหาซับไพรม์ของแบงก์ต่างๆ แต่ทางรัฐบาลสหรัฐเองรู้ดีว่าหากทำเช่นนั้นแล้ว จะเป็นการทำให้สถาบันการเงินในสหรัฐเองเสียหายเข้าไปอีก ดังนั้น ทางรัฐบาลจึงต้องรอดูปัญหานี้ไปอีกประมาณ 1 ปี เพื่อพิจารณาว่าปัญหาซับไพรม์จะดีขึ้นขนาดไหน ซึ่งทางรัฐบาลของอเมริกาเองก็กำลังหาทางแก้ปัญหานี้อยู่
ขณะที่ประเทศในแถบเอเชียและแปซิฟิก แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากปัญหาซับไพรม์บ้าง แต่จากการที่เศรษฐกิจของประเทศจีนกับอินเดียมีอัตราการเติบโตที่รวดเร็ว จึงเป็นปัจจัยที่ทำให้ประเทศต่างๆในแถบนี้ไม่ได้รับผลกระทบมากเหมือนในช่วงปี 1997 ขณะเดียวกันภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นก็เป็นปัญหาที่รัฐบาลของแต่ละประเทศจะต้องแก้ไขกันเอง
"ชาร์ลี มาห์" ยังมองว่า ในช่วง 2 ไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ บรรดาธนาคารและสถาบันการเงินต่างๆ มีโอกาสที่จะยํ่าแย่ลงไปอีกจากเรื่องของปัญหาซับไพรม์ ถ้าสถานการณ์ยังไม่มีแนวโน้มว่าจะดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม มองว่าปัญหาซับไพรม์ที่เกิดขึ้นไม่น่าจะสูงขึ้นไปกว่านี้อีกในช่วง 2 ไตรมาสที่เหลือของปีนี้
สำหรับมุมมองที่มีต่อประเทศไทย "ชาร์ลี มาห์" มองว่า แม้ว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยจะได้รับผลกระทบจากเรื่องของราคานํ้ามันและอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น แต่ก็ไม่ได้เกิดขึ้นกับประเทศไทยที่เดียว โดยประเทศสิงคโปร์เองมีอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 6% ซึ่งถือว่าสูงสุดเท่าที่สิงคโปร์เคยประสบมา ดังนั้น จึงมองว่าเศรษฐกิจของประเทศไทย น่าจะมีการเติบโตที่มากกว่า 5 % ในปีนี้และน่าจะมีทิศทางที่ดีเหมือนในช่วงที่ผ่านมา เพราะเศรษฐกิจของประเทศไทยยังได้รับความสนใจจากนักลงทุนจากต่างชาติอยู่ โดยเฉพาะเรื่องของแรงงานที่มีราคาถูก แต่ปัจจัยสำคัญในขณะนี้คือนโยบายของทางภาครัฐบาลเอง ที่จะต้องสร้างความมั่นในให้แก่นักลงทุน รวมทั้งการสร้างความมั่นใจในตัวรัฐบาลเอง ซึ่งถือเป็นจุดสำคัญที่รัฐบาลในแต่ละประเทศจะให้ความมั่นใจแก่นักลงทุนในภาคส่วนต่างๆ
อีกเรื่องหนึ่งที่รัฐบาลไทยจะต้องให้ความมั่นในแก่นักลงทุนคือ เรื่องของราคานํ้ามันที่ยังมีความผันผวนอยู่ ซึ่งหากรัฐบาลสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุนในเรื่องนี้ได้ นักลงทุนจะเพิ่มความเชื่อมั่นในการเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น ขณะเดียวกันอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศไทยนั้น เป็นอุตสาหกรรมที่น่าจะมีความมั่นใจจากนักลงทุนเป็นอย่างมาก เพราะในประเทศไทยมีหลายบริษัทเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมรถยนต์มาก
ด้านสถานการณ์ของปัญหาซับไพรม์ล่าสุด รายงานข่าวระบุว่า ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด ได้มีการดำเนินมาตรการในเรื่องนี้เพิ่มมากขึ้น เพื่อรับมือกับวิกฤติสินเชื่อตึงตัว รวมถึงขยายระยะเวลาในแผนการปล่อยกู้ฉุกเฉิน สำหรับบริษัทด้านการลงทุน ที่กำลังเผชิญกับภาวะสภาพคล่องตึงตัว โดยนักวิเคราะห์มองกันว่า มาตรการใหม่ล่าสุดที่มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มสภาพคล่องในตลาดทุนเป็นการบ่งชี้ให้เห็นว่า เฟดต้องการที่จะรักษาภาวะทางการเงินที่ผ่อนคลาย และเฟดอาจจะยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยต่อไปอีกหลายเดือน เพราะแม้มาตรการที่จะช่วยให้ตลาดการเงินดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพนั้น ควรจะแยกจากการดำเนินนโยบายทางการเงิน แต่ในขณะเดียวกันเฟดต้องการที่จะหลีกเลี่ยงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ในช่วงที่ภาวะตลาดสินเชื่อยังคงเปราะบาง
ทั้งนี้ เฟดระบุว่า จะเสนอการปล่อยกู้แก่ธนาคารภายใต้โครงการการเปิดประมูลวงเงินปล่อยกู้ให้แก่สถาบันเงินฝาก (ทีเอเอฟ) ในระยะเวลาที่ยาวนานขึ้น โดยจะเสนอปล่อยกู้ระยะ 84 วัน เพิ่มเติมจากในปัจจุบันที่ปล่อยกู้ระยะ 28 วัน นอกจากนี้ ยังมีแผนดำเนินการประมูลสลับกันระหว่างสินเชื่อระยะ 28 วัน วงเงิน 75,000 ล้านดอลลาร์ กับสินเชื่อระยะ 84 วัน วงเงิน 25,000 ล้านดอลลาร์ ทุกๆ สองสัปดาห์
ลอเรนซ์ เมเยอร์ อดีตผู้ว่าการเฟด ซึ่งปัจจุบันทำงานให้กับแมคโครอิโคโนมิก แอดไวเซอร์สระบุว่า การประกาศมาตรการของเฟดไม่ได้ช่วยป้องกันการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในทุกสถานการณ์ แต่บ่งชี้ว่าภัยคุกคามของเงินเฟ้อ ต้องรุนแรงมากพอที่จะบดบังแนวโน้มที่ไม่แน่นอนของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ทางด้านกลุ่มนักลงทุนยังเชื่อว่าเฟดจะคุมเข้มนโยบาย โดยสัญญาล่วงหน้าในตลาดการเงินบ่งชี้ในขณะนี้ว่านักลงทุนเชื่อว่ามีโอกาส 68% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมเจ้าหน้าที่กำหนดนโยบายระหว่างวันที่ 28-29 ต.ค.นี้ ก่อนถึงวันการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐช่วงต้นเดือนพฤษจิกายนนี้
ขณะเดียวกันทางด้านของ ดอยช์แบงก์ ธนาคารรายใหญ่สุดของเยอรมนี ก็ได้รายงานการปรับลดมูลค่าสินทรัพย์ในบัญชีจำนวน 2,300 ล้านยูโรในช่วงไตรมาสสอง จากที่นักวิเคราะห์พากันคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่า น่าจะอยู่ที่ 1,760 ล้านยูโร ส่วนรายได้สุทธิลดลง 64% หรือคิดเป็น 649 ล้านยูโร จากเดิม 1,780 ล้านยูโรเมื่อไตรมาสเดียวกันปีที่แล้ว และธุรกิจหลักทรัพย์ในเครือดอยช์แบงก์มียอดขาดทุนก่อนหักภาษี 311 ล้านยูโร ผลจากการเสื่อมค่าของหลักทรัพย์ที่มีสินเชื่อเพื่ออสังหาริมทรัพย์หนุนหลัง
ทั้งนี้ การล่มสลายของตลาดสินเชื่อการเคหะเพื่อผู้มีความน่าเชื่อถือต่ำ ในสหรัฐ ทำให้สถาบันการเงินทั่วโลกต้องขาดทุนสินเชื่อ และปรับลดมูลค่าสินทรัพย์ประมาณ 476,000 ล้านดอลลาร์