xs
xsm
sm
md
lg

บลจ.ยูโอบีเมินวกกลับเข้าลงทุนECPเร่งเจาะนิติบุคคลปั๊มNAVกองชัวร์เดลี่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


บลจ.ยูโอบี (ไทย) เตรียมส่งตัวแทนขายลุยขายกองทุนเปิดยูโอบี ชัวร์ เดลีให้ลูกค้านิติบุคคล โดยเฉพาะบริษัทเอกชนที่มีเงินหมุนเวียน 1 ล้านบาทขึ้นไป หวังช่วยเพิ่มสัดส่วนลูกค้าประเภทสถาบันเป็น 30-40% ระบุพอใจผลการเปิดตัวเพลง-พรีเซ็นเตอร์ "พอล ภัทรพล"ชี้หนุนกองทุนดังกล่าวให้เป็นที่รู้จักและได้รับสนใจมากขึ้น เมินกลับไปลงทุนใน ECP ในช่วงนี้ เหตุไม่มีตราสารหนี้ใดที่น่าสนใจ และให้ผลตอบแทนในระดับที่ลงทุนได้

นายชุติพนธ์ อัชวรานนท์ ผู้อำนวยการอาวุโส – หัวหน้าฝ่ายวางแผนกลยุทธ์ สายงานพัฒนาธุรกิจ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ยูโอบี (ไทย) จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมเพิ่มสัดส่วนลูกค้าประเภทสถาบัน โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้านิติบุคคล หรือบริษัทเอกชนในประเทศที่มีเงินทุนหมุนเวียนเกิน 1 ล้านบาทขึ้นไปให้หันมาลงทุนในกองทุนเปิดยูโอบี ชัวร์ เดลี (UOB Sure Daily Open-ended Fund : UOBSD) เพิ่มขึ้นเป็น 30-40% จากที่มีอยู่ประมาณ 10% ในปัจจุบัน เนื่องจากมองว่าลูกค้ากลุ่มนี้มีเงินทุนหมุนเวียนที่มีสภาพคล่องสูง และมีเม็ดเงินใหญ่กว่าลูกค้ารายย่อย

สำหรับกลยุทธ์ในการดึงลูกค้ากลุ่มนิติบุคคลเข้ามาเพิ่มขึ้นนั้น บริษัทจะใช้ตัวแทนขายเข้าไปเสนอขายกองทุนเปิดยูโอบี ชัวร์ เดลี ถึงบริษัทเอกชนโดยตรง และจะใช้ช่องทางการขายจากธนาคารยูโอบี (ไทย) เป็นตัวช่วยอีกทางหนึ่งด้วย โดยจะเน้นหนักเป็นพิเศษจนถึงเดือนตุลาคม 2551

ส่วนผลการตอบรับจากการนำเพลง "ตัดสินใจ" ซึ่งแต่งโดย บอย โกสิยพงษ์ และขับร้องโดยป๊อด โมเดิร์นด๊อก พร้อมทั้งการนำ พอล ภัทรพล ศิลปาจารย์ มาเป็นพรีเซ็นเตอร์คนแรกในโปรโมตกองทุนเปิดยูโอบี ชัวร์ เดลี หลังจากผ่านมาประมาณ 1 เดือน พบว่าสามารถสร้างความรู้จัก และมีคนสนใจในกองทุนเปิดยูโอบี ชัวร์ เดลีมากขึ้น แต่ในด้านของยอดขายยังไม่เพิ่มขึ้นมากนัก

โดยกองทุนเปิดยูโอบี ชัวร์ เดลี จะเน้นลงทุนในลงทุนในตราสารแห่งหนี้ภาครัฐ ได้แก่ ตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาล ตราสารแห่งหนี้ที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย และรัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังเป็นผู้ออก ผู้รับรอง ผู้รับอาวัล หรือผู้ค้ำประกัน และเงินฝากธนาคาร ทั้งนี้ จะไม่ลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหลักทรัพย์หรือตราสารที่เสนอขายในต่างประเทศ ตราสารหนี้ที่มีการจ่ายผลตอบแทนอ้างอิงกับตัวแปร (Structured Notes) และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Derivative)

ทั้งนี้ สัดส่วนการลงทุนของกองทุนดังกล่าว ณ วันที่ 30 พฤษภาคม 2551 ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลและพันธบัตรรัฐวิสาหกิจ 96.00% ลงทุนในเงินฝากและตราสารหนี้ที่ออกโดยสถาบันการเงิน 3.68% และลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ อีก 0.32%

สำหรับรายชื่อผู้ออกหลักทรัพย์ 10 อันดับแรก ณ วันที่ 30 พฤษภาคม 2551 ได้แก่ 1. บมจ. ธนาคารทิสโก้ 2.37% 2. ธนาคาร คาลิยง 1.19% 3. ธนาคารยูโอบี จำกัด ( มหาชน ) 0.09% 4. ธนาคารซิตี้แบงก์ เอ็น เอ 0.02% 5. บมจ. ธนาคาร ธนชาต 0.01% 6. ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงก์กิ้งคอร์เปอร์เรชั่น 0.00% และลงทุนในพันธบัตรหรือตราสารหนี้ที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน 96%

ขณะที่ผลการดำเนินงานของกองทุน ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2551 สามารถให้ผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 1.38% ผลตอบแทนย้อนหลัง 3 เดือน อยู่ที่ 0.67% ผลตอบแทนย้อนหลัง 6 เดือนอยู่ที่ 1.38% และสามารถให้ผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปีอยู่ที่ 2.74%

นายชุติพนธ์ กล่าวว่า ส่วนการออกกองทุนที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้ประเภทตราสารการเงินของสถาบันการเงินต่างประเทศ หรือ ECP (Euro Commercial Paper) ยังไม่พบว่ามีตราสารหนี้ใดที่มีความน่าสนใจ และให้ผลตอบแทนในระดับที่ลงทุนได้ โดยที่ผ่านมาบริษัทจะเลือกลงทุนในตราสารหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือตั้งแต่ 2 อันดับแรกขึ้นไปเท่านั้น แต่หากในอนาคตตราสารหนี้ที่น่าสนใจ และสามารถให้ผลตอบแทนที่ดีก็พร้อมที่จะเข้าไปลงทุนเช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น