เป็นเรื่องที่กำลังฮอตฮิตเหลือเกินสำหรับ "ราคานํ้ามัน" เพราะทั้งนักลงทุนและผู้บริโภคต่างพากันจับตามองและให้ความสำคัญกันอย่างมาก เรียกได้ว่าเปิดหน้าหนังสือพิมพ์เมื่อไหร่ ก็เห็นข่าวนี้เป็นอันดับแรก ซึ่งเรื่องนี้ นอกจากจะกระทบการใช้ชีวิตประจำวันของเราๆ ท่านๆ แล้ว หลายคนเป็นห่วงว่าจะกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ เพราะหลายต่อหลายปัญหาตามมาหลังจากราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเงินเฟ้อ หรือราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น
แต่หากมองในแง่ของการลงทุนแล้ว ราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูงดังกล่าว ย่อมเป็นอะไรที่น่าสนใจ สำหรับการลงทุนในบริษัทที่เกี่ยวข้องกับพลังงานน้ำมันนี้ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา เราก็เห็นกองทุนที่ลงทุนในหุ้นกลุ่มพลังงาน หรืออ้างอิงกับการเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันไปบ้างแล้ว...แต่แนวโน้มราคาน้ำมันที่ยังเดาไม่ออกว่าจะไปทางไหน ทำให้หลายคนยังต้องชั่งน้ำหนักก่อนตัดสินใจลงทุน
เมื่อเร็วๆ นี้ มีการจัดสัมมนา "วิเคราะห์วิกฤตน้ำมันโลกและโอกาสการลงทุน" โดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นการรวบรวมกูรูด้านเศรษฐกิจและลงทุนมาร่วมให้ข้อมูล โดยเนื้อหาสาระของงานสัมมนาในครั้งนี้ เชื่อว่าน่าจะพอช่วยให้นักลงทุนเห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้น
ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานนํ้ามันอย่าง อาจารย์ มนูญ ศิริวรรณ บอกว่า ในช่วงภาวะที่ราคานํ้ามันมีความผันผวนอย่างมาในขณะนี้ นักลงทุนรายใดที่สามารถคาดการณ์ทำนายราคานํ้ามันได้อย่างถูกต้องแล้วล่ะก็ บอกได้เลยว่านักลงทุนรายนั้นรวยเลยทีเดียว
ทั้งนี้ สถานการณ์ราคานํ้ามันที่ผันผวนอยู่ในช่วงนี้ ถือว่าเป็นภาวะ ออยล์ช็อคครั้งที่ 3 ที่เกิดขึ้น โดยครั้งแรกนั้นเกิดขึ้นเมื่อครั้งสงครามในตะวันออกกลางเมื่อหลายปีก่อน ทำให้ราคานํ้ามันพุ่งสูงขึ้น ส่วนการเกิดออยล์ช็อคครั้งที่ 2 คือเมื่อครั้งที่เกิดภัยธรรมชาติอย่างรุนแรง คือการที่ประเทศสหรัฐอเมริกาได้รับความเสียหายจากพายุแคทรีนา และส่งผลให้ราคานํ้ามันพุ่งสูงขึ้น และการเกิด ออยล์ช็อคครั้งที่3 นี้ เป็นการเกิดขึ้นซึ่งแตกต่างจากเมื่อ 2 ครั้งแรกที่เกิดขึ้นโดยครั้งที่ 3 นี้ เป็นผลมาจากความต้องการใช้นํ้ามันที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากของประเทศจีนและอินเดีย โดยเฉพาะประเทศจีนที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็ว
โดยแนวโน้มของราคานํ้ามันต่อจากนี้ อาจารย์ มนูญ ระบุว่า เศรษฐกิจของสหรัฐที่ถดถอยลงนั้น ทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า ดังนั้นเมื่อเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนลงมา จึงมีผลให้ราคานํ้ามันปรับตัวลดลง ขณะเดียวกันปริมาณการใช้พลังงานในโลก นอกจากนํ้ามันแล้ว ยังมีถ่านหินที่ใช้กันมาก แม้ว่าประเทศต่างๆทั้วโลกมองกันว่า ต้องลดการใช้ถ่านหินลง เพราะการใช้ถ่านหินนั้นส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อน แต่อย่างไรก็ตามปริมาณการใช้ถ่านหินทั่วโลกก็ไม่ได้มีการลดลงแต่อย่าใด
นอกจากนี้แล้ว ปริมาณการใช้นํ้ามันของประเทศจีนกับอินเดีย จะเป็นตัวบอกถึงราคานํ้ามันในโลกได้ เพราะทั้ง 2 ประเทศนี้มีความต้องการใช้นํ้ามันที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนบรรดานักวิเคราะห์ก็มีทั้งที่มองว่าแนวโน้มราคานํ้ามันจะปรับตัวลง และที่มองกว่าราคานํ้ามันจะปรับเพิ่มขึ้น แต่นักนักวิเคราะห์ในฝ่ายที่มองว่าราคานํ้ามันจะเพิ่มขึ้นนั้น ได้คาดการณ์ว่าราคานํ้ามันจะสูงต่อเนื่องไปและคาดว่าจะสูงขึ้นไปถึงที่ 150 เหรียญดอลลาร์บาร์เรลแต่จะเป็นเมื่อใดนั้นระบุไม่ได้ แต่ในฝ่ายที่มองว่าราคานํ้ามันน่าจะลดลงนั้นเป็นเพราะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง ทำความต้องการใช้นํ้ามันลดลงมา จึงส่งผลให้ราคานํ้ามันปรับตัวลดลงมาตาม
สำหรับปัจจัยที่ส่งผลต่อราคานํ้ามันนั้น ปัจจัยที่สำคัญก็ได้แก่การเติบโตทางเศรษฐกิจของผู้ใช้รายใหญ่อย่างจีนและอินเดีย ซึ่งหากเศรษฐกิจเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องความต้องการใช้นํ้ามันก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ปัจจัยต่อมาคือเรื่องของการตัดสินใจผลิตนํ้ามันของกลุ่มประเทศ โอเปค ( Organisation of Petroleum Exporting Countries : Opec ) ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลกระทบตอราคานํ้ามันได้เพราเป็นที่คาดการณ์ได้ยากว่า กลุ่ม โอเปค จะเพิ่มหรือลดเพดานการผลิตนํ้ามันเมื่อใด ปัจจัยต่อมาคือ การเก็งกำไรในค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องจับตามองในช่วงนี้อย่างมาก เพราะบรรดาธนาคารต่างในประเทศสหรัฐ ต่างเข้าไปเก็งกำไรกันอย่างมากในช่วงนี้ เนื่องจากต้องการนำเงินไปพยุงในส่วนที่ทางธนาคารขาดทุนไปอันเนื่องมากจากวิกฤติซัพไพรม์
ส่วนแนวโน้มราคานํ้ามันในปีหน้านั้น นักวิเคราะห์ในต่างประเทศแทบทุกสถาบันคาดการณ์กันว่า แนวโน้มราคานํ้ามันในปีหน้าจะชะลอตัวลง เพราะเศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะฝืดตัว ทำให้คนใช้จ่ายน้อยลง และคาดว่าในปีหน้าจะมีการควบคุมการเก็งกำไรในสหรัฐมากขึ้นด้วย
นอกจากนี้ บทวิเคราะห์จากทางต่างประเทศเกี่ยวกับเรื่องของนํ้ามัน เปิดเผยว่า ความต้องการใช้นํ้ามันในปัจจุบันได้มีการปรับประมาณการณ์อัตราการเติบโตของความต้องการใช้นํ้ามันในปี 2008 มาอยู่ที่ระดับ 0.3-05% ลดลงกว่าที่ได้ประมาณการณ์ไว้เมื่อต้นปี 2008 ที่คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 1% โดยความต้องการใช้นํ้ามันของประเทศที่พัฒนาแล้ว (สหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น ) มีทิศทางลดลง แต่ก็คาดว่าจะถูกชดเชยจากความต้องการใช้นํ้ามันที่เพิ่มขึ้นของกลุ่มประเทศเกิดใหม่ โดยเฉพาะในทวีปเอเชีย และกลุ่มผู้ส่งออกนํ้ามันดิบ (กลุ่มประเทศในตะวันออกกลาง เวเนซุเอล่า ฯลฯ) โดยราคานํ้ามันดิบในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้นนั้น ส่งผลกระทบเชิงลบต่อกลุ่มประเทศที่มากกว่ากลุ่มประเทศเกิดใหม่ เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศที่พัฒนาแล้วเติบโตน้อยกว่า อีกทั้งกลุ่มประเทศเกิดใหม่หลายประเทศ ยังมีมาตราการตรึงราคานํ้ามันของภาครัฐ ทำให้ราคานํ้ามันในประเทศเหล่านี้ยังไม่เพิ่มขึ้นเต็มที่
ในส่วนของกำลังการผลิตนํ้ามันที่มาจากกลุ่มประเทศ ที่ไม่ใช่สมาชิกโอเปคนั้น มีการมองว่าน่าจะเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ราคานํ้ามันดิบปรับเพิ่มขึ้นในปีนี้ ด้วยเหตุผลที่ว่าปริมาณการผลิตจากประเทศรัสเซีย เม็กซิโก และกลุ่มประเทศแถบทะเลเหลือ ได้ลดลงกว่า 800,000 บาร์เรลต่อวันนับตั้งแต่ต้นปี 2008 เนื่องจากจำนวนบ่อที่สามารถผลิตนํ้ามันดิบได้ลดลง อับเป็นผลจากการบริหารจัดการที่ขาดประสิทธิภาพ และยังมีปัจจัยที่มีส่วนผลักดันราคานํ้ามันดิบในตลาดโลก อาทิเช่น การที่ตลาดขาดความเชื่อมั่นว่าปริมาณการผลิตนํ้ามันดิบจะมีเพียงพอต่อความต้องการในระยะยาว รวมถึงการเพิ่มขึ้นของต้นทุนในการผลิตนํ้ามันจากแหล่งนํ้ามันใหม่ และความไม่ยืดหยุ่นในอุปสงค์ของนํ้ามันที่ใช้สำหรับการขนส่ง โดยความวิตกกังวลว่าอาจเกิดภาวะขาดแคลนนํ้ามันซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ตลาดแสดงออกอย่างชัดเจนถึงการขาดความเชื่อมั่น
ปัจจุบันกำลังการผลิตสำรองของกลุ่ม โอเปค มีเหลือเพียงประมาณ 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งน้อยมากหากเทียบกับเมื่อ 6 หรือ 7 ปีที่แล้วที่มีจำนวนถึงกว่า 5 ถึง 6 ล้านบาร์เรลต่อวัน
โดยสรุป บทวิเคราะห์ ได้ระบุทิ้งท้ายว่า พวกเราคงจะยังต้องใช้นํ้ามันที่มีราคาแพงต่อไปอีกสักพักหนึ่ง เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของราคานํ้ามันในครั้งนี้ เกิดจากปัจจัยพื้นฐานตามที่กล่าวมาแล้ว และยังคาดว่าการลดลงของความต้องการใช้นํ้ามันน่าจะน้อยกว่าที่หลายคนพยากรณ์ แม้ว่าจะเริ่มเห็นประเทศเกิดใหม่หลายประเทศเริ่มลดการสนับสนุนราคานํ้ามัน และปริมาณการผลิตนํ้ามันจากกลุ่มประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิกโอเปค ยังคงสร้างความผิดหวังทั้งในรูปของปริมาณและระยะเวลา
ดังนั้น จึงเชื่อได้ว่าราคานํ้ามันจะยังคงมีความผันผวนอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับโอกาสอันดีสำหรับการลงทุน