"ในภาวะที่ราคาสินค้าเกษตรต่างทำสถิติสูงสุดกันทั่วหน้า ยางพาราก็เป็นสินค้าเกษตรตัวหนึ่งที่ราคาพุ่งขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์เช่นกัน และราคาจะสามารถสร้างสถิติใหม่ได้เร็วๆ นี้หรือไม่ หรือราคาใกล้ที่จะปรับตัวลงแล้ว เราลองมาพิจารณาปัจจัยหลัก ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อราคายางกันดีกว่า"
ในภาวะที่ราคาสินค้าเกษตรต่างทำสถิติสูงสุดกันทั่วหน้า ยางพาราก็เป็นสินค้าเกษตรตัวหนึ่งที่ราคาพุ่งขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์เช่นกัน และราคาจะสามารถสร้างสถิติใหม่ได้เร็วๆ นี้หรือไม่ หรือราคาใกล้ที่จะปรับตัวลงแล้ว เราลองมาพิจารณาปัจจัยหลัก ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อราคายางกันดีกว่า
1.ราคาน้ำมัน ราคาน้ำมันดิบในตลาดไนเม็กซ์ ทำสถิติสูงสุดเร็วๆ นี้ประมาณ 148 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลและราคาก็ผันผวนขึ้นลงทีละหลายๆ เหรียญ ล่าสุดอยู่ที่ 134 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ขณะนี้ทั่วโลกได้ตื่นตัวกับภาวะน้ำมันแพงกันอย่างมาก แต่ละประเทศออกมาตรการประหยัดพลังงานและหาพลังงานทดแทนกันยกใหญ่ อาจจะช่วยยับยั้งแรงเก็งกำไรในราคาน้ำมันดิบล่วงหน้าได้บ้าง และถ้าหากน้ำมันยังอยู่ในระดับสูงอย่างนี้ต่อไปหรือสูงขึ้นไปอีกจะมีผลต่อเศรษฐกิจทั่วโลกอย่างมาก ขณะนี้อเมริกาก็กำลังประสบปัญหาเงินเฟ้อและเศรษฐกิจถดถอยอยู่ คาดกันว่าความต้องการใช้น้ำมันจะลดลงด้วย
แล้วราคาน้ำมันเกี่ยวข้องอย่างไรกับราคายาง? เหตุที่ราคาน้ำมันมีผลต่อราคายางนั้น เนื่องจากประการแรก ยางสังเคราะห์ซึ่งเป็นสินค้าทดแทนยางได้มาจากกระบวนการกลั่นน้ำมันดิบ แม้จะทดแทนกันได้ไม่สมบูรณ์ก็ตาม แต่ส่วนใหญ่ราคาก็จะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ประการที่สองราคาน้ำมันเป็นต้นทุนการผลิตและการขนส่งสินค้า และประการสุดท้ายราคาน้ำมันเป็นตัวชี้นำราคาสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity) ทั้งหลายด้วย
2. ค่าเงินบาท ค่าเงินบาทไทยมีแนวโน้มอ่อนค่าลงเมื่อต้นเดือนมิถุนายนปีนี้อยู่ประมาณ 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ปัจจุบันอยู่ที่ 33.4 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และยังมีแนวโน้มอ่อนค่าต่อไปเนื่องจากไม่มีการลงทุนเพิ่มจากต่างประเทศ เพราะสถานการณ์ทางการเมืองยังวุ่นวายอยู่ การลงทุนในตลาดหุ้นไทยก็เบาบาง นักลงทุนต่างประเทศยังเทขายต่อเนื่อง แม้ว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอาร์พี 1 วัน 0.25% ให้อยู่ที่ 3.50% แล้วก็ตาม **การที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าจะเป็นผลดีต่อการส่งออกรวมถึงราคายางที่สูงด้วย** อย่างไรก็ตามค่าเงินบาทอาจได้รับอิทธิพลจากการแข็งค่าของค่าเงินในภูมิภาคบ้างก็ได้ เพราะตอนนี้ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นมาจากกลางเดือนมิถุนายนปีนี้อยู่ประมาณ 107 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ มาอยู่ที่ 104 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ
3. ความต้องการจากประเทศผู้ซื้อ ได้แก่ อเมริกา จีน ญี่ปุ่น เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่าอเมริกาภาวะเศรษฐกิจไม่ดี มีทั้งปัญหาซับพาร์มที่ดูเหมือนยังไม่จบสิ้นและข่าวของบริษัทใหญ่ๆ ประสบปัญหาขาดทุนมากมาย โดยเฉพาะปัญหาของบริษัท General Motors บริษัทผลิตรถยนต์ชั้นนำของอเมริกาประสบปัญหาด้านการเงินอย่างหนักทำให้คาดการณ์ได้ว่าความต้องการนำเข้ายางของอเมริกาจะลดลง ส่วนในประเทศจีนและญี่ปุ่น ขณะนี้ตัวเลขสต๊อกยางลดลงอย่างต่อเนื่องและอยู่ในระดับต่ำมาก อย่างในจีนเมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้วมีสต็อกยางอยู่ประมาณ 80,000 ตัน แต่เดือนมิถุนายนปีนี้มีสต็อกเพียง 15,000 ตันเท่านั้น ในญี่ปุ่นก็เช่นกันเดือนมิถุนายนปีที่แล้วมีสต็อกอยู่ 16,000 ตัน แต่ปีนี้มีแค่ 9,000 ตัน การที่สต็อกยางลดลงอาจมองได้ว่าเนื่องจากราคายางอยู่ในระดับสูงมาก จึงดึงของในสต็อกออกไปใช้ก่อน คำสั่งซื้อที่มีก็ยังมีจำนวนน้อยอยู่แค่พอใช้ ยังไม่มีคำสั่งซื้อเพื่อการสต็อกเข้ามา ดังนั้นคาดว่าเมื่อราคายางปรับตัวลดลงจะมีคำสั่งซื้อเข้ามาอีก ทำให้ราคายางที่ลดลงก็จะลงไม่มาก
4. ฤดูกาลของยาง ในช่วงเดือน พฤษภาคม ถึง สิงหาคม ของทุกปี จะเป็นช่วงฤดูร้อนของภาคใต้ซึ่งเป็นฤดูกาลของการกรีดยางด้วย ปริมาณยางในช่วงนี้จะออกมามาก ทำให้ราคาช่วงนี้ถูก แต่ในปีนี้ภาวะโลกร้อนทำให้อากาศแปรปรวน ฝนตกหนักชุกจนถึงมิถุนายน ทำให้เกษตรกรกรีดยางได้น้อย ดูได้จากราคายางจริงในตลาดประมูลที่หาดใหญ่ ราคาน้ำยางสดทำราคาสูงสุดที่ 101.50 บาทต่อกิโลกรัมเมื่อเดือนมิถุนายนปีนี้ ขณะที่ราคายางแผ่นรมควันชั้น3 ทำราคาสูงสุดที่ 108 บาทต่อกิโลกรัม ราคาส่งออกยางแผ่นรมควันชั้น3 (FOB) กรุงเทพฯ สูงสุดที่ 111.10 บาทต่อกิโลกรัม และราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 ในตลาดล่วงหน้า (AFET) สูงสุดที่ 108.10 บาทต่อกิโลกรัม ในสัปดาห์แรกของเดือนกรกฎาคมนี้ ขณะนี้ราคายางทั้งหมดได้ปรับตัวลงมาแล้ว น้ำยางสดอยู่ที่ 99 บาทต่อกิโลกรัม ราคายางแผ่นรมควันชั้น3 ตลาดประมูลหาดใหญ่ 103 บาทต่อกิโลกรัม ราคาส่งออกยางแผ่นรมควันชั้น3 FOB 108 บาทต่อกิโลกรัม และราคายางแผ่นรมควันชั้น3 ในตลาด AFET 103 บาทต่อกิโลกรัม อาจมองได้ว่ารอบราคาสูงสุดที่ยางไปทำไว้รอบนี้เป็นราคาสูงสุดแล้วในฤดูกาลนี้ ราคากำลังจะปรับตัวลงตามฤดูกาลเนื่องจากว่าขณะนี้ปริมาณฝนทางใต้เบาบางแล้วจากพยากรณ์อากาศ และมีรายงานว่าวันกรีดยางได้ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 20 วันแล้วจากเดือนพฤษภาคมมีวันกรีดได้แค่ 10 วันเท่านั้น
จากปัจจัยดังกล่าวข้างต้น อาจทำให้เราคาดการณ์ทิศทางราคายางในระยะสั้นๆ ประมาณ 1-2 เดือนนี้ได้แล้วว่ามีโอกาสปรับตัวลงหรือไม่
ที่มา บริษัท ธนเกษตร จำกัด