xs
xsm
sm
md
lg

บุรุษผู้มั่งคั่งที่สุดในประวัติศาสตร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย ดร.สมจินต์ ศรไพศาล บลจ.วรรณ


ผมสะดุดใจกับ ชื่อหนังสือ The Richest Man Who Ever Lived อย่างมาก หนังสือมีชื่อรองว่า King Solomon’s Secrets to Success, Wealth, and Happiness แต่งโดย Steven K. Scott ซึ่งเป็นนักธุรกิจระดับพันล้าน หลังจากที่ผมได้อ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว ได้มีโอกาสบรรยายให้กับทีมขายของ บลจ. วรรณ ซึ่งปรากฏว่ามีผู้ได้รับประโยชน์มากพอควร วันนี้ก็เลยตั้งใจจะแบ่งปัน ความลับสู่ความสำเร็จของกษัตริย์โซโลมอนกับท่านผู้อ่านครับ

กษัตริย์โซโลมอนเกิดประมาณ 974 ปีก่อนคริสตกาล และได้รับราชบัลลังก์จากพระบิดาคือกษัตริย์ดาวิดตอนอายุสิบสอง ตามพระคัมภีร์เดิมกล่าวว่า ท่านได้ขอสติปัญญาจากพระเจ้าเพื่อที่จะได้ปกครองแผ่นดินและตัดสินประชาชนได้อย่างเที่ยงธรรม ภูมิปัญญาเหล่านั้นทำให้กษัตริย์โซโลมอนมีความรุ่งเรืองอย่างมากและมีผู้ประมาณว่าสมบัติของท่านคิดเป็นมูลค่าปัจจุบันต้องเป็นหลักล้านล้านเหรียญ (trillion) กษัตริย์โซโลมอนได้แต่งสุภาษิตสอนแนวทางแห่งการดำเนินชีวิตไว้ 31 บท ซึ่งสก็อตกล่าวว่าภูมิปัญญาเหล่านั้นได้พลิกชีวิตของเขาจากความล้มเหลวสู่ความสำเร็จอย่างที่นึกฝันไม่ถึงมาก่อน และเรื่องที่เขาเสนอเป็นเรื่องแรก คือ กุญแจ

เขาบอกว่า กุญแจสู่ชัยชนะในทุกการแข่งขัน คือ Diligence ซึ่งผมคิดว่าความพาก
เพียรน่าจะเป็นคำแปลที่ใกล้ที่สุด ฟังดูง่ายแต่สก็อตบอกว่ามันลึกซึ้งกว่าที่คุณคิด
ความพากเพียร หมายถึงทักษะที่เรียนรู้ได้อันประกอบด้วย ความเพียรต่อเนื่องและสร้างสรรค์ ทำงานอย่างฉลาดโดยมีการวางแผนงานที่ดีและดำเนินการอย่างเหมาะสม ถูกเวลา ด้วยความมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เพื่อบรรลุถึงผลอันบริสุทธิ์และคุณภาพอันเป็นเลิศ

ถ้าค่อยๆ ย่อยนิยามของความพากเพียรที่สก็อตให้ไว้จะพบว่า ในอันที่จะบรรลุถึงผลอันเสิศนั้น ต้องมีคุณลักษณะสองประการของความพากเพียรคือ ความเพียรอันบริสุทธิ์และความเพียรอันถูกต้อง

กษัตริย์โซโลมอนมีธุรกิจเหมืองทองคำอันยิ่งใหญ่ ดังนั้นจึงมักใช้ศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับการทำเหมือง อย่างคำว่า “บริสุทธิ์” ของโซโลมอนในที่นี้ก็เป็นศัพท์ของการทำเหมือง ไม่ใช่ศัพท์ทางศีลธรรม เราต้องทำอะไรบ้างเวลาขุดหาทองคำ? ก่อนอื่นเราต้องขุดดินออก จนถึงชั้นหิน ขุดหินก้อนใหญ่ๆขึ้นมา แล้วนำไปเข้าเตาหลอมด้วยความร้อนมหาศาล เพื่อหลอมละลายสิ่งปนเปื้อนทั้งหลาย จนเหลือเพียงทองคำบริสุทธิ์ นี่คือความหมายของความบริสุทธิ์ของความพากเพียร

ส่วนความเพียรที่ “ถูกต้อง”นั้นประกอบด้วย ความฉับไว ทรงประสิทธิภาพ และมีประสิทธิผล

สก็อตได้ยกตัวอย่างตอนที่เขาฝึกวิชาการทหาร(น่าจะคล้ายการเรียน ร.ด. ของเรา) มีการแข่งขันสวนสนามซึ่งมีทั้งสิ้น 40 หมวดร่วมแข่งขัน มีอยู่หมวดหนึ่งซึ่งมีผู้นำที่จริงจังและหมายมั่นปั้นมือว่าจะเป็นผู้ได้ชัยชนะเขาให้ลูกหมวดมาฝึกซ้อมตั้งแต่เวลา 7.00 น. ทุกสัปดาห์ตลอดทั้งปี แต่เขาหารู้ไม่ว่า สก็อตได้นำของหมวดของเขาให้เริ่มต้นฝึกตั้งแต่ 6.00 น. ฝึกเป็นเวลาสองชั่วโมงแทนที่จะเป็นเพียงแค่ชั่วโมงเดียว และในชั่วโมงเช้านั้นก็จะมีเพียงหมวดของสก็อตเท่านั้นที่ครอบครองสนามทั้งสนาม ทำให้เขาสามารถฝึกการแปรขบวนที่ซับซ้อนอย่างเป็นความลับได้อีกด้วย

ท่านผู้อ่านคงไม่แปลกใจที่ผลการแข่งขันปรากฏว่า หมวดทหารเอกทั้ง 30 คนของสก็อตได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาด ทั้งนี้ก็เพราะคู่แข่งของเขาเพียงแค่ขยันเท่านั้น แต่มิได้ถึงพร้อมในคุณลักษณะทั้งสองของความพากเพียรที่ทั้งบริสุทธิ์ และถูกต้องอย่างที่ทีมของสก็อตทำ

ท่านผู้อ่านละครับ ท่านได้ตั้งเป้าหมายแห่งความเป็นเลิศในผลงานของท่านหรือเปล่า ท่านพร้อมไหมที่จะพากเพียรอย่างแท้จริงดังที่บุรุษผู้มั่งคั่งที่สุดได้แนะนำ
กำลังโหลดความคิดเห็น