xs
xsm
sm
md
lg

เผยพิรุธแผนตรวจระเบิดเหมืองทองใหม่อัคราฯ นอภ.ตั้ง กก.-อบต.ส่งอบรมนอกพื้นที่วันตรวจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บริเวณที่ตั้งของเหมืองทองอัคราไมนิ่ง ที่คลุมพื้นที่ 3 จังหวัด
ศูนย์ข่าวภาคเหนือ – พบเงื่อนงำการตรวจวัตถุระเบิดเหมืองทอง “อัคราไมนิ่ง” เผยหลังกำหนดวันตรวจแล้ว อบต.ในพื้นที่กลับพาชาวบ้าน พร้อม 2 ใน 5 กรรมการตรวจออนทัวร์โคราช ทำให้ไม่สามารถลงตรวจพื้นที่คลังวัตถุระเบิดเหมืองทองในประทานบัตรใหม่ที่เชื่อว่ามีสินแร่ไม้น้อยกว่า 3 หมื่นล้านได้

รายงานข่าวจากจังหวัดพิจิตร แจ้งว่า ตามหนังสือจากที่ว่าการอำเภอทับคล้อ จ.พิจิตร เลขที่ พจ 0817/2466 ลงวันที่ 10 กันยายน 2551 ลงนามโดย นายประวิทย์ ประวัติเมือง นายอำเภอฯ เกี่ยวกับเรื่องการตรวจสอบคลังวัตถุระเบิด บริษัทอัคราไมนิ่ง จำกัด ผู้รับสัมปทานเหมืองทองในเขตรอยต่อจังหวัดพิจิตร เพชรบูรณ์ พิษณุโลก ได้ระบุว่า นายทะเบียนท้องที่อำเภอทับคล้อ ได้รับคำร้องขอของบริษัท อัคราไมนิ่งฯ โดยนายฟิลิป จอห์น แมคอินไทม์ กรรมการผู้จัดการบริษัท ได้ยื่นคำขออนุญาตซื้อ มี ใช้ และขนย้ายวัตถุระเบิด เพื่อใช้ในการระเบิดหินทำเหมืองบนบกเฉพาะแร่ทองคำ โดยวิธีเหมืองหาบ ในพื้นที่ ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร อันเป็นการขออนุญาตครั้งแรกในพื้นที่ใหม่ประทานบัตรใหม่ ซึ่งได้มีการจัดสร้างสถานที่เก็บวัตถุระเบิดไว้ ณ พื้นที่หมู่ 8 ต.ท้ายดง อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์

จึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบสถานที่เก็บวัตถุระเบิดไปตรวจสอบในวันที่ 18 กันยายนที่ผ่านมา และมีคำสั่งอำเภอทับคล้อที่ 243/2551 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบสถานที่เก็บวัตถุระเบิด จำนวน 5 คน ประกอบด้วยนายประลอง ทรัพย์ประวัติ ปลัดอำเภอ (จพง.ปค.7 ว.) ประธานกรรมการ, สารวัตรป้องกันและปราบปรามสถานีตำรวจภูธรอำเภอทับคล้อ กรรมการ, สัสดีอำเภอทับคล้อ กรรมการ,นายวรากร จำนงค์นาถ กำนันตำบลเขาเจ็ดลูก กรรมการ และนายทองใบ สังฆคุณ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 9 กรรมการ

ทั้งนี้ ให้ตรวจสอบสถานที่เก็บว่ามีความปลอดภัย ปลูกสร้างถูกต้องหรือไม่ เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาอนุญาต รวมทั้งให้มีหน้าที่ตรวจสอบทุกครั้งที่มีการแจ้งการขนย้ายวัตถุระเบิดมายังคลังเก็บของบริษัท

ปรากฏว่า ในช่วงวันที่ 18-19 กันยายน ที่เป็นช่วงเดียวกับกำหนดการตรวจคลังวัตถุระเบิดของบริษัทอัคราไมนิ่งฯ อบต.เขาเจ็ดลูก ที่เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ตั้งเหมืองทอง กลับมีโครงการนำชาวบ้าน ผู้นำท้องถิ่น เจ้าหน้าที่ และองค์กรชุมชนในพื้นที่ เดินทางเข้าอบรมศึกษาดูงาน ณ จังหวัดนครราชสีมา ตามโครงการ “อบรมศึกษาดูงานเพื่อเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาองค์กรของเจ้าหน้าที่และผู้นำท้องถิ่น” ตามหนังสือองค์การบริหารส่วนตำบลเขาเจ็ดลูก ที่ พจ 71001/ ว 789 ลงวันที่ 15 กันยายน 2551

ตามหนังสือดังกล่าว ผู้เข้าร่วมการอบรมหมายรวมถึงกำนัน – ผู้ใหญ่บ้าน ใน ต.เขาเจ็ดลูก ทั้งหมดด้วย และแน่นอนว่า ย่อมหมายถึงกำนันตำบลเขาเจ็ดลูก – ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 9 ที่เป็น 2 ใน 3 กรรมการตรวจคลังวัตถุระเบิดของบริษัทอัคราไมนิ่งฯ ที่ได้รับคำสั่งแต่งตั้งจากอำเภอทับคล้อ ด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ประเด็นปัญหาของเหมืองทองอัคราไมนิ่งฯ ปรากฏขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเมื่อ 15 กันยายน 2551 กลุ่มชาวบ้านรอยต่อ 3 จังหวัดพิจิตร-เพชรบูรณ์-พิษณุโลก ก็ได้ชุมนุมประท้วงกันที่โรงเรียนหัวเฉียว อ.ตะพานหิน จ.พิจิตร เรียกร้องให้ระงับใบประทานบัตรเหมืองทองแปลงใหม่ของ“อัคราไมนิ่ง” ที่พวกเขาเชื่อว่าออกโดยมิชอบ
โดยยืนยันว่า ชาวบ้านในเขต อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร, อ.วังโปร่ง จ.เพชรบูรณ์ ,อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองทองอัคราฯ โดยเฉพาะแปลงประทานบัตรรอบแรก

ต่อมาวันที่ 21 กรกฎาคม 2551กระทรวงอุตสาหกรรม โดยนายสุวิทย์ คุณกิตติ อดีต รมว.(ขณะนั้น) ได้อนุมัติใบประทานบัตรเหมืองแร่ใหม่เพิ่มอีก จำนวน 5 แปลงในเขตจังหวัดพิจิตร เนื้อที่พันไร่เศษ และ 4 แปลงในเขตจังหวัดเพชรบูรณ์รวมเนื้อที่พันไร่เศษ ซึ่งพื้นที่ทำเหมืองอยู่ในบริเวณ เขาหม้อเป็นส่วนใหญ่ ก่อนที่นายสุวิทย์ จะลาออกจากตำแหน่งในอีกไม่กี่วันต่อมา ทั้งที่การยื่นขอประทานบัตรเหมืองแร่แปลงใหม่ของ “อัคราไมนิ่ง” นี้มีเสียงคัดค้านจากประชาชนมาตลอด แต่ทางราชการก็ให้ประทานบัตรเพิ่มขึ้นอีก 9 แปลง

อนึ่งตามคำสั่งกระทรวงอุตสาหกรรม เลขที่ 26917/15804 ,26920/15807 ,26922/15805 ,26921/15806 และ 26923/15808 อนุมัติประทานบัตรเหมืองแร่ 5 แปลง ในเขตจังหวัดพิจิตร ตามคำขอประทานบัตรเลขที่ 1/2546 4-6/2546 และ 1/2547 รวมเนื้อที่โดยประมาณ 1,309 ไร่เศษ และอนุมัติตามคำขอใบประทานบัตรเลขที่ 1-4/2547 ตามจำนวน 4 แปลง ในเขตจังหวัดเพชรบูรณ์ รวมเนื้อที่โดยประมาณ 1,156 ไร่เศษ ลงวันที่ 21 กรกฎาคม 2551 ให้แก่บริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด ในเครือ Kings gate Consolidated NL จากประเทศออสเตรเลีย ที่ได้รับอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษ เพื่อการสำรวจแร่ทองคำ – ประทานบัตร เมื่อปี 36 แล้ว14 แปลง เนื้อที่ประมาณ 110,000 ไร่

ประทานบัตรเหมืองทองคำ 9 แปลงนี้ คาดว่าจะมีทองคำบริสุทธิ์อยู่เกือบ 1 ล้านออนซ์ มูลค่าร่วม 3 หมื่นล้านบาท และบริษัทอัคราไมนิ่งฯ ได้พยายามยื่นขอประทานบัตรทำเหมืองทั้ง 9 แปลงนี้มาแล้วหลายครั้ง ตั้งแต่ 28 กุมภาพันธ์ 2548 เป็นต้นมาแต่ไม่ประสบผลสำเร็จ กระทั่ง 21 กรกฎาคม 2551 จึงได้รับการอนุมัติ
กำลังโหลดความคิดเห็น