xs
xsm
sm
md
lg

วิกฤต“เฝอ” ..ภัยเศรษฐกิจที่ไม่ไกลตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เมื่อวันที่ 10 มิถุนายนที่ผ่านมา ธนาคารกลางของเวียดนาม ได้ปรับลดอัตราแลกเปลี่ยนทางการของสกุลเงินดองต่อดอลลาร์สหรัฐลง 1.96% พร้อมกับประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงขึ้น 2% เพื่อชะลอวิกฤตการณ์ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างรวดเร็วและเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น ซึ่งภาวะวิกฤตการณ์ดังกล่าวทำให้นักลงทุนเกิดความกังวลและเริ่มถอนการลงทุนในภูมิภาคเอเชีย จนดัชนีตลาดหลักทรัพย์และค่าเงินสกุลภูมิภาคเอเชียลดลง

ผลจากความกังวลดังกล่าวทำให้เกิดคำถามว่า วิกฤตเศรษฐกิจเวียดนาม หรือวิกฤต “เฝอ” เกิดจากสาเหตุใด และจะส่งผลลุกลามไปทำให้เศรษฐกิจไทยตกต่ำดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นในช่วงปี 2540 หรือไม่ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) จึงได้ทำการศึกษาถึง สาเหตุของวิกฤตเศรษฐกิจของเวียดนาม ผลกระทบจากภาวะวิกฤตดังกล่าวสู่ประเทศไทย และแนวนโยบายของไทยในการรองรับผลกระทบดังกล่าว

โดยจากจากการศึกษาพบว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศเวียดนามขณะนี้เกิดมาจากหลายสาเหตุ ประกอบไปด้วยภาวะเศรษฐกิจจของเวียดนามที่เติบโตเร็วเกินไปในขณะที่เวียดนามเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดเล็กแบบเปิด (Small-open Economy) จึงจำเป็นต้องนำเข้าสินค้าในระดับสูง ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดของเวียดนามขาดดุลเป็นจำนวนมากอย่างรวดเร็ว

ขณะเดียวกันนอกจากปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดแล้ว เวียดนามยังเผชิญปัญหาเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงและควบคุมได้ยาก โดยภาวะเงินเฟ้อของเวียดนามเกิดทั้งจากภาวะต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น (Cost-push Inflation) ตามราคาน้ำมันดิบและสินค้าโภคภัณฑ์โดยเฉพาะราคาอาหารที่พุ่งขึ้นมาก และภาวะความต้องการภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น (Demand-pull Inflation) ซึ่งปัจจัยที่ทำให้เวียดนามเผชิญวิกฤตการณ์ด้านเงินเฟ้อและวิกฤตการณ์ดุลการชำระเงิน (Balance of Payment Crisis) เกิดจากการที่เศรษฐกิจภายในประเทศเติบโตสูงเกินไป (Overheating Economy) ขณะที่ทางการใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนแบบตายตัว แต่มีเงินทุนไหลเข้าในปริมาณสูง ส่งผลให้ทุนสำรองเงินตรา รวมถึงปริมาณเงินในระบบมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อเนื่องทำให้ธนาคารพาณิชย์มีการปล่อยสินเชื่อในปริมาณสูงขึ้น

นอกจากนี้เงินเฟ้อที่สูงขึ้นในขณะที่ค่าเงินยังคงผูกติดกับดอลลาร์สหรัฐ ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนที่แท้จริงของค่าเงินดองสูงขึ้นมาก ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันด้านราคา ประกอบกับการที่เวียดนามขาดดุลการคลังอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งขาดดุลบัญชีเดินสะพัด นำไปสู่สภาวะการขาดดุลบัญชีแฝด (Twin Deficit) และทำให้ระดับการออมของประเทศลดลง อันเป็นสัญญาณอันตรายต่อภาวะวิกฤต สุดท้ายคือปัจจัยจากการที่ เวียดนามต้องเผชิญกับภาวะเงินทุนไหลเข้าระยะสั้น ในรูปของการลงทุนด้านการเงิน (Portfolio Flow) สูงมาก นำไปสู่สถานการณ์การลงทุนที่มากเกินไป (Over-investment) โดยเฉพาะการเก็งกำไรในตลาดหลักทรัพย์ และนำไปสู่การลงทุนในภาคที่ไม่ก่อให้เกิดผลผลิต (Non-Productive Sector) นำไปสู่ภาวะฟองสบู่และวิกฤตการณ์การเงินในที่สุด

สำหรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจของไทยนั้น สำนักงานเศรษฐกิจการคลังได้ประเมินว่าสถานการณ์เศรษฐกิจเวียดนามขณะนี้อาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยผ่าน 2 ช่องทาง ได้แก่ การค้าระหว่างประเทศและการเงินระหว่างประเทศ โดยจากข้อมูลเชิงประจักษ์ในปี 2550 พบว่า ไทยส่งออกสินค้าไปเวียดนามคิดเป็นมูลค่า 3.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นร้อยละ 2.5 ของมูลค่าส่งออกสินค้าทั้งหมดของไทย สำหรับด้านการเงินระหว่างประเทศพบว่า ไทยเข้าไปลงทุนทางตรงระหว่างประเทศในเวียดนามเพียง 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นร้อยละ 4 ของการเข้าไปลงทุนทางตรงของต่างประเทศทั้งหมดในเวียดนาม ในขณะที่การลงทุนในหลักทรัพย์ และตราสารทุน อาจได้รับผลกระทบจากการด้อยค่าลงของสินทรัพย์และของค่าเงินดอง โดยมีรายละเอียดช่องทางของผลกระทบต่างๆ ดังนี้

1.ช่องทางการค้า ทำให้การส่งออกของไทยไปยังเวียดนามลดลง ขณะที่การนำเข้ามากขึ้นจากค่าเงินดองที่อ่อนค่าลง ทำให้การเกินดุลการค้าของไทยต่อเวียดนามลดลง

2.ช่องทางการลงทุนทางตรงระหว่างประเทศ คาดว่าผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยในเวียดนามจะจำกัดอยู่ในวงแคบ และผลกระทบที่ได้รับจะน้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเกาหลี สิงคโปร์ และไต้หวัน ขณะที่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นน่าจะทำให้ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจเวียดนามลดลง และนักลงทุนอาจตัดสินใจย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีศักยภาพใกล้เคียงกับเวียดนาม ซึ่งไทยน่าจะได้อานิสงค์อย่างมาก

3.ช่องทางการเงินระหว่างประเทศ ซึ่งภาวะวิกฤตการณ์เศรษฐกิจของเวียดนามในเบื้องต้นนี้ได้ส่งผลลุกลาม (Contagion Effect) สู่ภาวะเศรษฐกิจการเงินของประเทศในภูมิภาคเอเชีย โดยทำให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของเอเชียปรับลดลง และทำให้ค่าเงินสกุลภูมิภาคเอเชียอ่อนค่าลง

4.ช่องทางการเก็งกำไรค่าเงินในภูมิภาค เพราะนักลงทุนข้ามชาติมองว่า เศรษฐกิจในภูมิภาคนี้เป็นหนึ่งเดียว จากปัจจัยโครงสร้างที่คล้ายคลึงกัน รวมถึงความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจที่มีอยู่มาก ดังนั้น เมื่อเวียดนามประสบปัญหาเศรษฐกิจ นักลงทุนข้ามชาติจะเริ่มมองว่า เศรษฐกิจใดในภูมิภาคมีปัญหาโครงสร้างพื้นฐาน ก็จะถอนเงินออกจากตลาดทุน ซึ่งจะส่งผลต่อแรงกดดันค่าเงินให้อ่อนค่าลง

อย่างไรก็ตาม แม้ว่า สศค. จะคาดว่าภาคการเงินไทยไม่น่าจะได้รับผลกระทบรุนแรงนัก เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานทางเสถียรภาพเศรษฐกิจของไทยยังคงอยู่ในระดับแข็งแกร่ง แต่ปัญหาทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในเวียดนามยังไม่สิ้นสุด เพราะเศรษฐกิจเวียดนามยังคงเผชิญหน้ากับปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่อาจจะมากขึ้น อัตราเงินเฟ้อยังคงเร่งตัวในระดับสูงตามราคาน้ำมันดิบและราคาอาหารที่สูงขึ้นมาก

ดังนั้นเพื่อป้องกันผลกระทบของวิกฤตการณ์ของเวียดนามสู่ไทย ทางการไทยควรจะวางมาตรการเพื่อสนับสนุนการกระจายตลาดส่งออกให้มากขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากการพึ่งพาเศรษฐกิจภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่ง รวมไปถึงต้องมีการจัดหน่วยงานรัฐควรเฝ้าระวังติดตามการเคลื่อนไหวของเงินทุนที่ไหลเข้าหรือออกจากประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค โดยเฉพาะการป้องกันการเก็งกำไรจากนักลงทุนต่างชาติ และธนาคารแห่งประเทศไทยควรดูแลติดตามค่าเงินบาทไม่ให้มีความผันผวนมากเกินไป

นอกจากนี้ภาครัฐยังควรใช้มาตรการการคลังและการเงินเพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้มีการพึ่งพาแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากภาคการส่งออกน้อยลง และหันมาพึ่งพาการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศมากขึ้น ขณะที่ในระยะยาวนั้นรัฐบาลควรใช้นโยบายสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของประเทศ (Productivity) เพื่อไม่ให้ประเทศประสบกับปัญหาทางเศรษฐกิจเช่นเดียวกับเวียดนาม

กำลังโหลดความคิดเห็น