xs
xsm
sm
md
lg

บัวหลวงประเดิม3กองใหม่รับมิ.ย. ลงทุนในพันธบัตรไทย-เกาหลีใต้ตามกระแส

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


บลจ.บัวหลวง ตอบรับกระแสกองทุนตราสารหนี้ที่ลงทุนในพันธบัตรไทยและเกาหลีใต้ ประเดิมเปิดขาย 3 กองทุนแรกในเดือนมิ.ย.นี้ ในระหว่างวันที่ 3-9 มิ.ย. ผู้จัดการกองทุนระบุ พันธบัตรไทย-กิมจิ ยังได้รับความนิยมจากนักลงทุน เพราะให้ผลตอบแทนที่ดี มั่นใจแรงตอบรับสูงเช่นเดิม
นายวศิน วัฒนวรกิจกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายการตลาด บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) บัวหลวง จำกัด เปิดเผยถึงนโยบายในการเสนอขายกองทุนในเดือนมิ.ย.2551 ว่า บริษัทมีแผนเปิดขายกองทุนเปิดประเภทตราสารแห่งหนี้ โดยประเดิมด้วย 3 กองทุนแรก ได้แก่ กองทุนรวมบัวหลวงธนรัฐ 14/08 มีอายุโครงการ 4-6 เดือน มูลค่าโครงการ 4,000 ล้านบาท , กองทุนรวมบัวหลวงธนสารพลัส 26/08 อายุโครงการ 5-7 เดือน มูลค่าโครงการ 3,500 ล้านบาท และกองทุนรวมบัวหลวงธนสารพลัส 27/08 อายุโครงการ 10-12 เดือน มูลค่าโครงการ 3,500 ล้านบาท โดยทั้ง 3 กองเปิดเสนอขายพร้อมกันระหว่างวันที่ 3-9 มิ.ย. 2551 นี้เท่านั้น โดยลงทุนขั้นต่ำ 10,000 บาท ในราคาหน่วยลงทุนละ 10 บาท
นายวศิน กล่าวถึงภาพรวมธุรกิจกองทุนรวมว่า กองทุนที่เน้นลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลไทย รวมถึงกองทุนที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐ หรือรัฐวิสาหกิจประเทศเกาหลีใต้ ที่เปิดเสนอขายครั้งเดียวนั้น ยังคงได้รับความนิยมจากนักลงทุนอย่างต่อเนื่อง เพราะให้ผลตอบแทนที่สามารถจูงใจต่อผู้ออมเงินหรือนักลงทุนได้เป็นจำนวนมาก รวมทั้งมีความเสี่ยงต่ำและลงทุนได้ง่าย
ทั้งนี้ กองทุนรวมบัวหลวงธนรัฐ 14/08 มีอายุโครงการ 4-6 เดือน มูลค่าโครงการ 4,000 ล้านบาท และอาจจะเสนอขายได้อีกไม่เกิน 600 ล้านบาท มีวัตถุประสงค์เพื่อระดมเงินจากผู้ลงทุนทั่วไปที่เป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ไปลงทุนในตราสารแห่งหนี้ภาครัฐ เงินฝาก บัตรเงินฝาก ตั๋วสัญญาใช้เงินของสถาบันการเงิน ที่มีความมั่นคงปลอดภัยและเพื่อให้ผลตอบแทนที่ดีกองทุนอาจทำธุรกรรมการซื้อ โดยมีสัญญาขายคืนตราสารแห่งหนี้ภาครัฐกับสถาบันการเงินได้ตลอดอายุของโครงการ
สำหรับกองทุนบัวหลวงธนสารพลัส 26/08 และกองทุนบัวหลวงธนสารพลัส 27/08 นั้น มีวัตถุประสงค์ของโครงการ เพื่อสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนตราสารแห่งหนี้ต่างประเทศ โดยเลือกลงทุนในตราสารที่มีคุณภาพ ทั้งนี้ นโยบายลงทุนของกองทุนจะลงทุนในตราสารหนี้ที่เสนอขายในต่างประเทศ มีมูลค่ารวมกันทั้งสิ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ซึ่งในปัจจุบันกองทุนดังกล่าว จะลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐและหรือรัฐวิสาหกิจเกาหลีใต้ ที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ที่ระดับ AA-
โดยผู้ที่สนใจลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ทั้ง 3 กองทุนดังกล่าว สามารถจองซื้อได้ที่ธนาคารกรุงเทพทุกสาขา และศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จากหนังสือชี้ชวน หรือสอบถามที่ธนาคารกรุงเทพทุกสาขาทั่วประเทศ หรือ บลจ.บัวหลวง
ขณะเดียวกันรายงานข่าวจาก บลจ. บัวหลวง รายงานว่า บริษัทได้ปิดการขายหน่วยลงทุน กองทุนรวมบัวหลวงธนสารพลัส 24/08 กองทุนรวมบัวหลวงธนสารพลัส 25/08 และกองทุนรวมบัวหลวงธนรัฐ 13/08 เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2551 โดยบริษัทจะนำไปจดทะเบียนกองทรัพย์สินเป็นกองทุนรวมต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในวันที่ 4 มิถุนายน 2551 และเริ่มลงทุนให้แก่กองทุนตามนโยบายที่ระบุไว้ทันทีเพื่อเป็นการรักษาผลประโยชน์ของท่านผู้ถือหน่วยลงทุนทุกท่าน
สำหรับกองทุนรวมบัวหลวงธนสารพลัส 24/08 และ กองทุนรวมบัวหลวงธนสารพลัส 25/08 ทั้งสองกองทุนมีมูลค่าโครงการ 3,000 ล้านบาท ทั้งนี้กองทุนจะให้ผลตอบแทนประมาณ 3% กว่าต่อปีโดยกองทุนรวมบัวหลวงธนสารพลัส 24/08 มีอายุโครงการ 10 – 12 เดือน ส่วนกองทุนรวมบัวหลวงธนสารพลัส 25/08 มีอายุโครงการ 5 – 7 เดือน ซึ่งกองทุนมีนโยบายลงทุนในตราสารแห่งหนี้ที่เสนอขายในต่างประเทศไม่น้อยกว่า 80% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน และตราสารแห่งหนี้ดังกล่าวออกโดยภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือสถาบันการเงินที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ตั้งแต่ A- ขึ้นไป ส่วนที่เหลืออาจพิจารณาลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นหรือการหาดอกผลโดยวิธีอื่นตามที่สำนักงานก.ล.ต.กำหนดหรือเห็นชอบให้กองทุนลงทุนได้ รวมถึงการลงทุนในหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นหรือการหาดอกผลโดยวิธีอื่นทั้งในและต่างประเทศ
นอกจากนี้กองทุนอาจลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เพื่อป้องกันความเสี่ยง (Hedging) ในอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราหรือความเสี่ยงอื่นใดที่เกิดขึ้นจากการลงทุนในต่างประเทศตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนดหรือให้ความเห็นชอบ ทั้งนี้ กองทุนจะไม่ลงทุนในตราสารหนี้ที่มีการจ่ายผลตอบแทนอ้างอิงกับตัวแปร
ส่วน กองทุนรวมบัวหลวงธนรัฐ 13/08 มีอายุโครงการ 4 - 6 เดือน มีนโยบายเน้นลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐ เช่น ตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย หรือพันธบัตร หรือตราสารแห่งหนี้ที่กระทรวงการคลัง หรือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเป็นผู้ออก ผู้รับรอง ผู้รับอาวัล หรือผู้ค้ำประกัน โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่า 80% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน และเงินลงทุนที่เหลือจะลงทุนในเงินฝาก บัตรเงินฝาก ตั๋วสัญญาใช้เงิน ตราสารแห่งหนี้ของสถาบันการเงิน และหรือพันธบัตรรัฐวิสาหกิจ และหรือการหาดอกผลโดยวิธีอื่นด้วยการทำ ธุรกรรมการซื้อตราสารแห่งหนี้ภาครัฐกับสถาบันการเงิน โดยมีสัญญาที่จะขายคืนตราสารแห่งหนี้ดังกล่าวตามวันที่กำหนดในสัญญา ทั้งนี้ กองทุนจะไม่ลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Derivatives) และตราสารที่มีลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง (Structured Notes)
ทั้งนี้กองทุนดังกล่าวให้ผลตอบแทนอยู่ที่ประมาณ 2% กว่าต่อปี โดยมีมูลค่าโครงการ 2,000 ล้านบาท และอาจเสนอขายเพิ่มได้อีกไม่เกิน 300 ล้านบาท ทั้งนี้กองทุนดังกล่าวยังมีลูกค้าที่เป็นฐานลูกค้าเดิม ลูกค้ากลุ่มแบงก์ในเครือของแบงก์กรุงเทพ และฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ ที่ยังมีความต้องการเข้ามาลงทุนอยู่ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วกองทุนดังกล่าวยังคงเป็นนักลงทุนชาวไทยเป็นหลัก
กำลังโหลดความคิดเห็น