ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ผันผวนเช่นนี้ ไม่ว่าจะตลาดหลักทรัพย์ที่ขึ้นหรือลงค่อนข้างรุนเเรง หรือจะเป็นอัตราเงินเฟ้อในเดือนเมษายนที่สูงขึ้นไปถึง 6.2% ซึ่งสูงกว่าการคาดการณ์ของธนาคารเเห่งประเทศไทย (ธปท.) เเต่สิ่งที่กระทบประชาชนมากที่สุด เห็นจะเป็นเรื่องของราคาน้ำมันที่พุ่งสูงไปอย่างไม่มีทีท่าว่าจะหยุดเเละลดราคาลง...ด้วยปัจจัยทั้งหลายเหล่านี้เอง ที่ทำให้มนุษย์เงินเดือน หรือประชาชนที่หาเช้ากินค่ำ ที่มีรายได้ไม่มากนัก ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นเเละประหยัดการใช้จ่ายมากขึ้น
มาถึงจุดนี้ ประชาชนหรือมนุษย์เงินเดือนเริ่มหันกลับเข้ามาออมเงินกันบ้างเเล้ว จากที่มีออมอยู่เเล้วจำนวนหนึ่งก็ออมเพิ่มมากขึ้น ณ ตอนนี้การออมไม่ได้หมายถึงการฝากเงินธนาคารเหมือนหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากการฝากเงินไว้กับธนาคารจะได้ดอกเบี้ยเงินฝากค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล ในขณะเดียวกันพระราชบัญญัติคุ้มครองเงินฝาก ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 สิงหาคม นี้ ทำให้ผู้ฝากเงินส่วนใหญ่เริ่มกระจายเงินฝากหรือไม่ก็หาช่องทางใหม่ในการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำเทียบเท่ากับการฝากเงิน ซึ่งหนึ่งในตัวเลือกนั้นก็คือ "การลงทุนกับกองทุนรวม"
เมื่อมีผู้รู้จักวิธีลงทุนกับกองทุนรวมเเล้ว หลายคนที่อยากลงทุนเเต่ยังมีเงินออมไม่มากพอที่จะซื้อหน่วยลงทุนตามที่กองทุนนั้นๆกำหนดได้ เมื่อเป็นเช่นนั้นคนที่มีเงินออมน้อยๆจะลงทุนได้หรือไม่ ตอบได้ชัดเจนว่าลงทุนได้ เพียงเเต่คุณสมัครโปรเเกรมเซฟวิ่งเเพลน นั้นเอง...วันนี้ "ผู้จัดการกองทุนรวม" มีข้อมูลการลงทุนแบบเซฟวิ่งเเพลนของค่ายกสิกรไทย มานำเสนอเป็นทางเลือกในการออมในยุคข้าวยากหมาแพงเช่นนี้
เอื้อพันธ์ เพ็ชราภรณ์ ผู้บริหารฝ่ายบริหารผู้ลงทุนและทะเบียน บลจ.กสิกรไทย อธิบายข้อมูลของโปรเเกรม Saving Plan ว่า โปรเเกรมนี้เกิดขึ้นมาเผื่อคนที่อยากออมเงินหรือลงทุนในกองทุนรวม เเต่ไม่มีเวลาที่จะไปทำธุรกรรม หรืออยากที่จะลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยโปรเเกรมดังกล่าวได้รับการตอบรับจากลูกค้าทุกเพศทุกวัย ซึ่งยอดของนักลงทุนที่เข้ามาเปิดบัญชีการลงทุนเฉลี่ยเดือนละ 100 รายต่อเดือน ขณะที่ยอดเงินที่หักจากบัญชีของผู้ที่เข้าร่วมโปรเเกรมในปี 2550 มียอดหักบัญชีอยู่ที่ 6 ล้านบาท ซึ่งถ้าเฉลี่ยเป็นรายบุคคลนั้นนักลงทุนจะให้หักเงินจากบัญชีเฉลี่ย 4,000-5,000 บาทต่อเดือนเลยทีเดียว
โดยทางบลจ.ไม่ได้เปิดเเค่กองทุนRMFเเละLTE ที่บังคับต้องลงทุนต่อเนื่องเท่านั้น เเต่บลจ.ยังเปิดให้บริการเซฟวิ่งเเพลนกับกองทุนหุ้น กองทุนตราสารหนี้ เเละกองทุนเเบบผสม อีกด้วย เพื่อเป็นตัวเลือกให้กับนักลงทุน
นิสิตนักศึกษาก็ลงทุนได้
"นิสิตนักศึกษาก็สามารถจะลงทุนในกองทุนรวมได้เช่นกันซึ่ง การออมควรเริ่มตั้งเเต่เด็กๆเเละการลงทุนในกองทุนก็ถือเป็นการออมชนิดหนึ่ง อีกทั้งยังเป็นการช่วยให้ตลาดทุนเเละตลาดเงินบ้านเราพัฒนาได้อีกด้วย โดยน้องๆนิสิต-นักศึกษาต้องมีบัญชีออมทรัพย์ของธนาคารกสิกรไทย ซึ่งทางบลจ.กำหนดการซื้อหน่วยลงทุนครั้งเเรกเพียง 500 บาทเท่านั้น"
สำหรับกองทุนที่เข้าร่วมโปรเเกรมเซฟวิ่งเเพลนมีมากถึง 17 กองทุนให้นักลงทุนได้เลือกดังนี้ 1. กองทุนเปิดรวงบริหารเงินเพื่อการเลี้ยงชีพ 2.กองทุนเปิดรวงข้าวพันธบัตรเพื่อการเลี้ยงชีพ 2.กองทุนเปิดรวงข้าวตราสารหนี้เพื่อการเลี้ยงชีพ 3.กองทุนเปิดรวงข้าวทุนวิภาคเพื่อการเลี้ยงชีพ 4.กองทุนเปิดรวงข้าวหุ้นทุนบริพัตรเพื่อการเลี้ยงชีพ 5.กองทุนเปิดรวงข้าวหุ้นระยะยาว 6.กองทุนเปิดรวงข้าวหุ้นระยะยาวปันผล 7.กองทุนเปิดรวงข้าวหุ้นระยะยาว 70:30 ปันผล 8.กองทุนเปิดรวงข้าวบริหารเงิน 9.กองทุนเปิดรวงข้าวตราสารหนี้
10.กองทุนเปิดรวงข้าวตราสารมั่นคง 11.กองทุนเปิดรวงข้าวหุ้นกู้ 12.กองทุนเปิดรวงข้าวหุ้นทุนบริพัตร 13.กองทุนเปิดรวงข้าว 14.กองทุนเปิดสินวัฒนา 15.กองทุนเปิดรวงข้าวตราสารรัฐระยะสั้น 16.กองทุนเปิดรวงข้าวเซ็ท 50 เเละ17.กองทุนเปิด K-Lifestyle
ส่วนขั้นตอนการสมัครโปรเเกมเซฟวิ่งเเพลนมีดังนี้ .ต้องมีบัญชีกองทุนและซื้อหน่วยลงทุนครั้งแรกไว้แล้ว บัญชีเงินฝากที่จะหักเงินจะต้องเป็นประเภทกระแสรายวัน หรือออมทรัพย์ของบมจ.ธนาคารกสิกรไทย ณ สาขาใดสาขาหนึ่ง โดยที่ชื่อเจ้าของบัญชีเงินฝากไม่จำเป็นต้องตรงกับชื่อผู้ถือหน่วยลงทุน
โดยบลจ.กสิกรไทยได้กำหนดมูลค่าการหักบัญชีเพื่อซื้อหน่วยลงทุนขั้นต่ำไว้ที่ 500 บาทต่อครั้งต่อกองทุน และต้องไม่ต่ำกว่า 5,000 บาทต่อปีต่อกองทุน เเละเราสามารถเลือกวันที่หักบัญชีเพื่อซื้อหน่วยลงทุนได้ 1 วัน ตั้งแต่วันที่ 25 ถึงวันที่ 1 ของทุกเดือน หรือจะลงทุนเฉพาะเดือนก็ได้
การลงทุนเเบบเฉลี่ยราคา
การลงทุนเเบบเฉลี่ยราคา หรือเรียกอีกอย่างว่า Dollar Cost Averaging นั้นมีหลักการสำคัญของการลงทุนโดยทั่วไป คือการกระจายการลงทุน (Diversification) ในหลักทรัพย์หรือตราสารต่างชนิดกันซึ่งลักษณะผลตอบแทนและความเสี่ยงที่ต่างกัน ตลอดจนลงทุนในหลักทรัพย์ หรือตราสารแต่ละประเภทโดยกระจายการลงทุนไปยังผู้ออกหลายราย เป็นต้น การลงทุนในตราสารทุน และตราสารหนี้ ซึ่งผู้ลงทุนที่ลงทุนผ่านกองทุนรวมย่อมได้ประโยชน์จากการบริหารความเสี่ยงโดยบริษัทจัดการจะกระจายการลงทุนดังกล่าวให้แล้ว
นอกจากนั้น ผู้ลงทุนยังสามารถลดความเสี่ยงอันเกิดจากช่วงจังหวะเวลาต่างๆ ระหว่างที่ผู้ลงทุนลงทุนได้ด้วยตนเองอีกชั้นหนึ่ง ด้วยวิธีง่ายๆ โดยการนำเงินลงทุนมาลงทุนอย่างต่อเนื่อง ในจำนวนเงินที่ใกล้เคียงกันอย่างสม่ำเสมอ หรือ แผนการลงทุนอย่างสม่ำเสมอ (Saving Plan) ไม่ว่าจะเป็นช่วงที่ระดับราคาหน่วยลงทุนสูงขึ้นหรือขณะที่ระดับราคาลดลงก็ตาม ในระยะยาวแล้วจะสามารถลดต้นทุนเฉลี่ยในการลงทุนให้ต่ำลงได้ ซึ่งเมื่อต้นทุนต่ำ โอกาสในการทำกำไรก็มากขึ้นและโอกาสที่จะขาดทุนก็มีน้อยลง
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราลงทุนแบบสม่ำเสมอของกองทุนหนึ่งโดยให้หักจากบัญชีจากธนาคารเดือนละ 1,000 บาท ลงทุนไป 1 ปี ก็จะลงทุนในกองทุนนั้น 12,000 บาท เราอาจได้หน่วยลงทุนที่ 1,150 หน่วย เมื่อเทียบกับซื้อกองทุนเพียงรวดเดียว 12,000 บาท ที่ได้หน่วยลงทุน 1,120 หน่วย ซึ่งการลงทุนเเบบทั้ง2 ต่างกันตรงที่ราคาขายเเละราคารับซื้อคืนในเเต่ละวันไม่เท่ากันนั้นเอง ถ้าเราซื้อครั้งเดียวในราคา 11 บาทกว่าต่อหน่วยลงทุนเราก็อาจได้หน่วยลงทุนเท่ากับ 1,120 หน่วย เเต่ถ้าเรากระจายซื้อในเเต่ละเดือนราคาก็จะเปลี่ยนเเปลงไม่เท่ากันเช่นเดือน วันที่ 25 มิถุนายน ซื้อในราคา 10.999 บาทต่อหน่วย ในขณะเดียวกันวันที่ 25 กรกฎาคม ซื้อในราคา 12 บาทต่อหน่วย ทำให้เราได้หน่วยลงทุนเพิ่มขึ้นนั้นเอง เเต่ต้องบอกให้นักลงทุนทราบไว้ก่อนว่า การลงทุนเเบบเฉลี่ยราคานี้ จะไม่มีส่วนต่างของหน่วยลงทุนจนมากเกินไป
ที่สำคัญ คุณเอื้อพันธ์ ทิ้งท้ายไว้ว่า "การลงทุนเเบบเฉลี่ยราคานี้ เหมาะสำหรับกองทุนที่ลงทุนในหุ้น เนื่องจากราคาหุ้นขึ้นลงทุกวัน ทำให้เกิดส่วนต่างของราคาหุ้น เเละจำนวนหน่วยลงทุนจึงมีโอกาสทำให้เกิดกำไรได้ เเต่ทั้งนี้กองทุนตราสารหนี้จะไม่มีผลถ้าลงทุนเเบบ Dollar Cost"
ทั้งนี้ โปรเเกรมการลงทุนเเบบ Saving Plan ทางบลจ.กสิกร ไม่ได้คิดว่าธรรมเนียมเพิ่มจากค่าธรรมเนียมกองทุนที่ได้กำหนดไว้ อย่างไรก็ดีการลงทุนในกองทุนรวมถือว่ามีความเสียงพอสมควร ผู้ที่จะลงทุนก็ควรที่จะศึกษาข้อมูลจากหนังสือชี้ชวนให้ละเอียดก่อนที่จะตัดสินใจลงทุน โปรเเกรม Saving Plan อาจจะเป็นทางเลือกใหม่ของคนชอบออมเป็นเเน่...