xs
xsm
sm
md
lg

เอ็มเอฟซีตั้งมาสเตอร์ฟันด์ล่งกองทุนส่วนบุคคลลุยต่างประเทศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


บลจ.เอ็มเอฟซีเผย ลูกค้ากองทุนส่วนบุคคลตอบรับการลงทุนต่างประเทศ เริ่มตื่นตัวเข้ามาปรึกษาบ้างแล้ว ระบุช่วงแรกแนะนำกองทุนเป็นทางเลือกไปก่อน เหตุการลงทุนตรงยังซับซ้อนและต้นทุนสูง แจงอยู่ระหว่างศึกษาตั้งมาสเตอร์ฟันด์ รวมเงินลงทุนเป็นก้อนใหญ่สร้างความน่าสนใจ ส่วนพอร์ตการลงทุนของเอ็มเอฟซีเอง เริ่มปรับพอร์ตหากองทุนตราสารหนี้-อสังหาริมทรัพย์ค่ายอื่นมากขึ้น

นายศุภกร สุนทรกิจ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เอ็มเอฟซี จำกัด เปิดเผยถึงการลงทุนต่างประเทศของกองทุนส่วนบุคคลว่า ในช่วงที่ผ่านมามีลูกค้าบางส่วนเข้ามาคุยกับบริษัทบ้างแล้ว โดยการลงทุนในช่วงแรกนั้น คงต้องจัดรูปแบบการลงทุนผ่านกองทุนที่มีอยู่ในต่างประเทศให้ลูกค้าไปก่อน เนื่องจากการลงทุนโดยตรงค่อนข้างซับซ้อนและมีต้นทุนสูง ซึ่งหลังจากนั้น เมื่อลูกค้าเริ่มเข้าใจมากขึ้น และมีวิธีการจัดการที่เป็นระบบและสามารถลดต้นทุนได้ จึงค่อยแนะนำเป็นขั้นตอนต่อไป

ทั้งนี้ บลจ.เอ็มเอฟซีเอง มีแผนที่จัดตั้งกองทุนในลักษณะของมาสเตอร์ฟันด์ ซึ่งเป็นกองทุนหลักที่ให้ผู้ลงทุนแต่ละรายเข้ามาลงทุนร่วมกัน เนื่องจากเงินลงทุนที่ออกไปลงทุนต่างประเทศเอง สำหรับบุคคลธรรมดาสามารถออกไปลงทุนได้เพียงครั้งละ 5 แสนเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 15 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งถือเป็นจำนวนเงินลงทุนที่ไม่มากนัก แต่หากนำเงินจากผู้ลงทุนหลายรายมารวมกันและลงทุนในกองทุนเดียว จะทำให้ความน่าสนใจในแง่ของจำนวนเงินลงทุนน่าจะมีมากกว่า

"ในช่วงเริ่มต้น เราคงจัดฟันด์ให้ลูกค้าก่อนว่าแต่ละคนสนใจการลงทุนแบบไหน ส่วนการลงทุนโดยตรงค่อยปล่อยให้เป็นขั้นตอนต่อไป เพราะเรื่องนี้ค่อนข้างซับซ้อน บวกกับยังมีต้นทุนที่ค่อนข้างสูง ดังนั้น การหาช่องทางที่ทำให้เป็นประโยชน์ และประหยัดต้นทุนได้มากที่สุดน่าจะช่องทางที่เหมาะสมมากกว่า"นายศุภกรกล่าว

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าหลังจากเวลาผ่านไปสักพัก เมื่อความต้องการของผู้ลงทุนมีมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก็เชื่อว่าบริษัทจัดการกองทุนแต่ละราย จะสามารถหาช่องทางที่ตอบสนองการลงทุนเพื่อเสนอให้ลูกค้าได้ โดยเฉพาะช่องทางการลงทุนที่มีความแปลกใหม่และน่าสนใจ ซึ่งเป็นเป้าหมายของบลจ.เอ็มเอฟซีเช่นกัน ทั้งนี้ กลุ่มเป้าหมายของบริษัทจะเป็นผู้ลงทุนสถาบันที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน รวมถึงผู้ลงทุนรายย่อยเป็นหลัก ซึ่งตอนนี้เราเองพร้อมที่จะบุกตลาดนี้เต็มที่ และเราเชื่อว่าจะสามารถตอบสนองการลงทุนของลูกค้าเป็นรายบุคคลได้

สำหรับการลงทุนในต่างประเทศในส่วนที่เป็นพอร์ตของบลจ.เอ็มเอฟซีเอง นายศุภกรกล่าวว่า เอ็มเอฟซีเองมีพอร์ตเงินส่วนหนึ่งไว้ลงทุนอยู่แล้ว ซึ่งการลงทุนของในปัจจุบัน เราจะพยายามมองหาโอกาสการลงทุนในกองทุนรวมของบริษัทอื่นๆ มากขึ้น ทั้งกองทุนตราสารหนี้ รวมถึงกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ที่เราเห็นว่่าให้ผลตอบแทนที่ดี อย่างไรก็ตาม การที่เราเองเป็นบริษัทที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ทำให้การลงทุนของเรายังจำกัดอยู่ภายใต้เกณฑ์ของ ก.ล.ต. นั่นคือ หากจะลงทุนในหุ้นต้องถือครองสินทรัพย์นั้นอย่างน้อย 1 ปี และหากจะขายหุ้นนั้นออกมาต้องขอมติจากคณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) ก่อน

นอกจากนี้ บริษัทยังมีกองทุนร่วมลงทุนที่ชื่อ AIT ที่เป็นความร่วมมือขององค์กรภาครัฐ 3 ประเทศ โดยมีสถาบันการเงินในต่างประเทศร่วมด้วยอีก 2 แห่ง นั่นคือ กองทุนเทมาเซกของประเทศสิงคโปร์ และธนาคาร PNB ของมาเลเซียร่วมลงทุนอยู่ด้วย ซึ่งกองทุนดังกล่าวมีมูลค่าเงินลงทุนประมาณ 1,000 ล้านบาท และมีอายุกองทุนมาแล้วประมาณ 15 ปี โดยเป็นการร่วมลงทุนในจำนวนเงินที่เท่ากัน ประเทศละ 300 ล้านบาท

ทั้งนี้ นโยบายการลงทุนของกองทุน AIT จะเน้นลงทุนในหุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ รวมถึงมีการลงทุนในบริษัทนอกตลาดด้วย ซึ่งกองทุนดังกล่าวเน้นลงทุนไม่ให้มีการขาดทุน โดยตั้งเป้าสร้างผลตอบแทนประมาณ 10% ต่อปี

รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า สำนักงานได้ออกประกาศซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดสรรวงเงินลงทุนในต่างประเทศ ให้กับบริษัทจัดการกองทุนรับทราบ หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้จัดสรรวงเงินลงทุนเพิ่มอีกจำนวน 12,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งแนวทางการจัดสรรวงเงินดังกล่าว แยกออกเป็นวงเงินสำหรับกองทุนรวมและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ รวมถึงวงเงินสำหรับกองทุนส่วนบุคคล (ไพรเวตฟันด์)

โดยในส่วนของกองทุนส่วนบุคคล สำนักงานได้กำหนดวงเงินลงทุนต่างประเทศให้กับผู้ลงทุนที่เป็นนิติบุคคลตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป รายละไม่เกิน 50 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยจะทยอยจัดสรรให้ครั้งละไม่เกิน 5 ล้านเหรียญสหรัฐ และเมื่อใช้ไปถึง 4 ล้านเหรียญสหรัฐ สามารถขอจัดสรรเพิ่มเติมได้จนกว่าจะเต็มวงเงินที่ได้รับอนุมัติในแต่ละราย

ในกรณีที่เป็นบุคคลธรรมดาและผู้ลงทุนอื่นๆ นอกเหนือจากนิติบุคคล กำหนดวงเงินลงทุนรายละไม่เกิน 5 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยจะทยอยจัดสรรวงเงินให้ครั้งละไม่เกิน 5 แสนเหรียญสหรัฐ และเมื่อใช้ไปถึง 4 แสนเหรียญสหรัฐ สามารถขอจัดสรรเพิ่มเติมได้จนกว่าจะเต็มวงเงินที่ได้รับอนุมัติในแต่ละรายเช่นเดียวกัน

สำหรับการจัดสรรวงเงินของกองทุนรวมและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สำนักงานกำหนดให้กองทุนที่มีนโยบายการลงทุนในต่างประเทศ ต้องขอวงเงินจากสำนักงานก่อน โดยให้บริษัทจัดการยื่นคำขออนุมัติจัดตั้งกองทุนพร้อมทั้งระบุจำนวนเงินทุนโครงการต่อสำนักงาน ส่วนกองทุนที่มีนโยบายลงทุนต่างประเทศบางส่วน ให้ระบุสัดส่วนการลงทุนในต่างประเทศด้วย และเมื่อสำนักงานอนุมัติกองทุนดังกล่าว จะนำส่งรายชื่อต่อธปท.ต่อไป โดยหลังจากสำนักงานอนุมัติวงเงินตามที่ขอไปแล้ว บริษัทจัดการต้องเสนอขายหน่วยลงทุนและจดทะเบียนกองทุนรวมภายในระยะเวลา 30 วันหลังจากวันที่ยื่นหนังสือชี้ชวน ซึ่งหากบริษัทจัดการนั้นไม่จดทะเบียนภายในระยะเวลาที่กำหนด สำนักงานจะยึดวงเงินคืนทั้งหมด แต่ในกรณีที่จดทะเบียนตามระยะเวลาที่กำหนด ในกรณีที่เป็นกองทุนปิดที่ไม่มีการเสนอขายเพิ่ม ให้บริษัทจัดการคืนวงเงินที่เกินกว่าจำนวนที่ขายได้

ทั้งนี้ สำนักงานจะทำการทบทวนวงเงินดังกล่าวทุกๆ 3 เดือน นับจากเดือนที่รับจดทะเบียน โดยจะพิจารณาวงเงินจากการรายงานยอดคงค้างที่บริษัทจัดการส่งให้ หากยอดคงค้างไม่ถึง 50% ของวงเงินที่ได้รับ สำนักงานจะยึดวงเงินคืนครึ่งหนึ่งของจำนวนที่ยังไม่ได้นำไปลงทุนต่างประเทศ ณ ขณะนั้น สำหรับกองทุนเดิมที่ได้รับวงเงินไปแล้ว สำนักงานจะยึดคืนครั้งแรก โดยพิจารณาจากยอดคงค้าง ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2551 ส่วนการขอวงเงินเพิ่ม กองทุนนั้นต้องมีการลงทุนในต่างประเทศตั้งแต่ 75% ของวงเงินที่ได้รับการจัดสรร

ส่วนการลงทุนที่เป็นพอร์ตของบริษัทจัดการ สำนักงานกำหนดวงเงินลงทุนในต่างประเทศสูงสุดบริษัทละไม่เกิน 50 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยจัดสรรให้ครั้งละไม่เกิน 5 ล้านเหรียญ และสามารถขอการจัดสรรเพิ่มเติมได้จนกว่าจะเต็มวงเงินเมื่อใช้ไปถึง 4 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ บริษัทจัดการต้องยื่นขอใช้วงเงินผ่านระบบ FIA ซึ่งสำนักงานจะดึงวงเงินคืนโดยผ่านระบบหากวงเงินที่ได้รับการจัดสรรไม่ได้ถูกใช้ไปภายใน 30 วันนับจากวันที่ได้รับการอนุมัติ ทั้งนี้ ประกาศดังกล่าวให้มีผลตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม 2551 เป็นต้นไป
กำลังโหลดความคิดเห็น