xs
xsm
sm
md
lg

เศรษฐกิจโลก...ถึงเมืองไทยจากมุมมอง..ประสาร ไตรรัตน์วรกุล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หลายคนเชื่อว่าปีนี้จะเป็นปีทองสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมการเงินการธนาคาร และเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวลง อย่างไรก็ตามทุกอย่างจะเป็นอย่างที่หลายคนคาดการณืไว้หรือไม่นั้น...? ฉบับนี้ "ผู้จัดการกองทุนรวม"มีคำตอบมาให้ท่านผู้อ่านทุกท่าน... นี่คือถ้อยคำบางส่วนจากงานสัมมนา "ทิศทางการลงทุนในอนาคต" ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2551 โดย บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม วรรณจำกัด ซึ่งได้รับเกียรติจาก ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมผู้จัดการใหญ่ บมจ.ธนาคารกสิกรไทย ที่นำเสนอทัศนะในครั้งนี้

ทิศทางตลาดการเงินโลก

สภาพคล่องโดยรวมในตลาดการเงินโลกถือว่าในช่วงหลังมีสภาพคล่องทางการเงินค่อนข้างสูงเช่นเดียวกับประเทศไทยที่มีสภาพคล่องทางการเงินค่อนข้างสูงรวมทั้งการหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงในระยะหลังมีความเปลี่ยนแปลงผันผวนค่อนข้างเร็ว

ทั้งนี้หากมองภาพเศรษฐกิจโลกกับเศรษฐกิจไทยรวมทั้งตลาดการเงินประเทศไทยในเรื่องการเจริญเติบโตเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2550 จะมีอัตราการเจริญเติบโตที่ชะลอตัวลง สาเหตุส่วนหนึ่งคือเรื่องปัญหาสินเชื่อด้อยคุณภาพในสหรัฐอเมริกา (ซับไพร์ม)ที่กำลังขยายตัวไปยังประเทศต่างทั่วโลก แม้ว่าจะมีเศรษฐกิจใหม่เกิดขึ้น และการเจริญเติบโตค่อนข้างสูง เช่นจีน อินเดีย บราซิล รัสเซีย เป็นต้น แต่ว่าถ้าคิดโดยรวมแล้วมีขนาดไม่ถึง1 ใน 3ของเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา ฉะนั้นการเติบโตของทั้ง 4 ประเทศยังไม่สามารถชดเชยผลของการชะลอตัวนั้นได้

"มองว่า โดยรวมขณะนี้สถาบันบางแห่งอย่างเช่น ไอ เอ็ม เอฟ ได้ปรับลดประมาณการเจริญของเศรษฐกิจโลกจากปีที่แล้วที่ 4.9 % ลงมาที่ 4.1% ซึ่งเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาขณะนี้มีการชะลอตัวค่อนข้างชัดเจนในช่วงครึ่งแรกของปี 2551 ทั้งนี้ ไอ เอ็ม เอฟและธนาคารสหรัฐหรือ เฟด ได้จัดอันดับอัตราการเติบโตขณะนี้อยู่ที่ช่วงประมาณ 1.5 % เพราะภาคอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นภาคที่มีสัดส่วนค่อนข้างมากต่อเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาชะลอตัวลงอย่างมากและถือว่าเป็นเรื่องที่ต้องเฝ้าติดตามต่อไป "

ขณะที่ด้าน ตลาดการเงินล่วงหน้าของสหรัฐอเมริกานั้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาได้สะท้อนสัญญาณออกมาว่ามีการคาดการณ์ว่าเฟดจะลดดอกเบี้ยลงไปสู่ระดับ2%หรือตํ่ากว่าในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ซึ่งปัจจุบันดอกเบี้ยทั่วไปอยู่ที่3.0 ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการตรึงภาษีของประธานาธิบดี บุช ขณะนี้ก็ถูกวิภาควิจารณ์ว่า คนที่ได้รับประโยชน์จากการตรึงภาษีนั้นไม่ใช่คนที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาซับไพร์มโดย

ส่วนเรื่องปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลกนั้น ดร.ประสาร มองว่าปัญหาในขณะนี้คือเรื่องของซับไพร์มที่ขยายตัวไปทั่วโลก ประการต่อมาคือการที่ราคานํ้ามันดิบอยู่ในระดับสูงและมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้น เช่นเดียวกับราคาโภคภัณฑ์ และอีกปัญหาหนึ่งคือเรื่องของความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนที่เป็นไปตามกระแสการเคลื่อนย้ายเงินทุน

แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี51

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจของไทยในปี 2551 การขยายตัวน่าจะอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับปีที่แล้วที่ ประมาณ 4.8% ส่วนการล่งออกน่าจะชะลอตัวลงตามเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง แรงขับเคลื่อนคงจะเน้นหนักไปที่การอุปโภคบริโภคภายในประเทศรวมทั้งเรื่องการใช้จ่ายของภาครัฐ สำหรับปัจจัยเสี่ยงนั้นมีเรื่องการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ราคานํ้ามัน อัตราเงินเฟ้อรวมถึงความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และปัญหาการเมือง

"ประเทศไทยธุรกิจที่จะมีแนวโน้มดีได้แก่ ธุรกิจที่เชื่อมโยงกับโครงการต่างๆของภาครัฐ เนื่องจากภาครัฐมีความตั้งใจที่จะมีการใช้จ่ายและลงทุนสูงขึ้น จะมีตั้งแต่ธุรกิจก่อสร้างที่จะเกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างของภาครัฐ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ รถจักรยานยนต์ ซึ่งได้รับผลดีการจาการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่นมาตรา อี 20 หรือว่าราคาสินค้าเกตรที่ค่อนข้างสูง รวมทั้งธุรกิจประกันชีวิตก็จะได้รับประโยชน์จากการเพิ่มวงเงิน และธุรกิจจากต่างประเทศที่ใช้ไทยเป็นฐานการผลิต เช่น อิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์ ขณะที่ธุรกิจที่อาจจะมีปัญหานั้น ได้แก่ธุรกิจที่ประสบปัญหาการแข่งขันกับต่างประเทศ เช่นเสื้อผ้าสำเร็จรูป ของเด็กเล่น เฟอร์นิเจอร์ ชิ้นส่วน รวมทั้งสถานีบริการนํ้ามันก็ประสบปัญหาการแข่งขันทั้งราคานํ้ามันที่ผันผวนสูง ส่วนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ค่อนข่างทรงตัวเพราะมีทั้งปัจจัยบวกและลบ ปัจจัยบวกคืออัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างตํ่า แต่ปัจจัยลบคือเรื่องความเชื่อมั่นภาคอุปโภคบริโภคแม้จะกระเตื้องขึ้นบ้างแต่ยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างตํ่า" ดร.ประสาร กล่าว

ว่ากันเรื่องดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยน

สำหรับทิศทางอัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยน ดร.ประสานมองว่า เนื่องจากมีการยกเลิกมาตรการ 30% จะทำให้การเคลื่อนย้ายเงินทุนเข้าออกประเทศไทยมีความสะดวกมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะมีผลทำให้อัตราแลกเปลี่ยนมีความผันผวนมากขึ้นรวมทั้งจะเชื่อมโยงไปถึงตลาดการเงินของอเมริกา เพราะสหรัฐอเมริกามีการคาดว่าการประชุมของเฟดในวันที่18มีนาคมนี้อาจจะมีการลดดอกเบี้ยมากกว่า0.5% หรือมีการลดดอกเบี้ยจาก 0.75%ลงมาเป็น0.25% และอาจไปถึง 2%หรือตํ่ากว่า2% ในปลายปี

อย่างไรก็ตาม ดร.ประสานมองว่าธนาคารแห่งประเทศไทยคงมีทางเลือกไม่มากในการประชุมวันที่ 9 เมษายนซึ่งต้องมีการลดดอกเบี้ยเช่นกัน และขณะนี้เองก็มีการประกาศตัวเลขเงินเฟ้อเดือนกุมภาพันธ์ล่าสุดที่ 5.4% ซึ่งถือว่าค่อนข้างสูง จึงประเมินว่าถ้าราคานํ้ามันไม่ขยับสูงขึ้นไปอีก อัตราเงินเฟ้อน่าจะลดลงจนกระทั่งปลายปีอาจไปถึงระดับ 3%

ขณะเดียวกันในอดีตที่ผ่านมาค่าเงินบาทแข็งขึ้น 10% ซึ่งทุกๆ10%ของการแข็งค่าจะมีผลทำให้เงินเฟ้อลดลง 0.05% ซึ่งจากต้นปีมาถึงปลายเดือนกุมภาพันธ์เงินบาทแข็งขึ้นมา 6.6 % ถ้าไปถึงปลายปีค่าเงินบาทแข็งขึ้น 10% น่าจะทำให้เงินเฟ้อลดลงประมาณ 0.5% ส่วนการคาดการณ์ในตลาดพันธบัตรขณะนี้ อาจมีการนำเงินส่วนหนึ่งไปลงทุนในตลาดพันธบัตรเพิ่มขึ้น ดังนั้นตรงนี้ต้องระวังเพราะข่าวที่ปรากฎออกมาว่า อาจจะมีปัญหาซับไพร์มของพันธบัตรรัฐบาลออกมาในจำนวนไม่น้อย ฉะนั้นการเข้าไปลงทุนด้านพันธบัตรต้องระวังเรื่องเหล่านี้

ส่วนเรื่องค่าเงินบาทในขณะนี้ ดร.ประสารมองว่าในระยะสั้นคงไปในทิศทางที่แข็งตัวขึ้นกว่าปัจจุบันและจะมีผลกระทบต่อผู้ส่งออกไม่น้อย แต่การลงทุนเกี่ยวกับเรื่องค่าเงินบาทจะต้องระวังด้วยเพราะในช่วง2เดือนของต้นปีนี้ ค่าเงินบาทได้แข็งตัวขึ้นไปมากกว่าสกุลเงินอื่นเกือบทุกสกุลยกเว้นเงินเยน โดยเงินเยนแข็งขึ้นประมาณ 7% เงินบาทแข็งขึ้นประมาณ 6.6%ในช่วง2เดือนแรก ซึ่งถ้าเทียบกับสกุลเงินสำคัญๆ เช่น เงินไต้หวัน เงินยูโร เงินสิงคโปร์ เงินอินโดนิเซีย เงินจีน เงินฟิลิปปินส์ เงินเกาหลี เงินอินเดีย แล้ว พบว่าเงินบาทแข็งค่ากว่าสกุลเงินเหล่านี้

อย่างไรก็ตาม ดร.ประสาร มองว่า ตัวเลขการส่งออกปีนี้อาจชะลอตัวลงมาที่ 10-12% จากปีที่แล้วที่เติบโตค่อนข้างสูงถึง 18% ฉะนั้นการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้คงจะเน้นหนักมาที่เรื่องของการใช้จ่ายในประเทศรวมถึงการลงทุนในประเทศ และอาจทำให้งบประมาณในปีนี้อาจขาดดุลอยู่ 2แสนล้านบาท

ทิศทางธุรกิจกลุ่มแบงก์

ดังนั้นโดยรวมการเติบโตเศราฐกิจไทยจะอยู่ที่ประมาณ 4.8-4.9% ภายใต้สมมุติฐานที่ว่าภาวะการเงินเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ส่วนในเรื่องตลาดการเงินสภาพคล่องเมื่อปี2550ทรงตัวอยู่ในระดับสูงถึงปลายปี2550 ลดลงมาเล็กน้อย ส่วนปี 2551 อาจจะตึงตัวขึ้นเพราะภาคสถาบันการเงินโดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์อาจจะมีการขยายสินเชื่อในระดับที่ค่อนข้างสูงซึ่งอาจมีการเคลื่อนเงินออมในรูปเงินฝากไปสู่เงินออมที่ให้ผลตอบแทนสูงเพิ่มขึ้น

สุดท้ายนี้ ดร.ประสานยังกล่าวถึงธุรกิจธนาคารพาณิชย์ว่าปี 2551จะมีทิศทางที่ดีขึ้น สาเหตุหนึ่งเพราะธนาคารหลายแห่งไม่จำเป็นที่จะต้องกันสำรองตามมาตราฐานสากล ฉบับที่ 9 เหมือนอย่างช่วงปีก่อนหน้า และการปล่อยสินเชื่อต้องเผชิญกับปัญหาด้านเศรษฐกิจโดยจะมีการแข่งขันกันค่อนข้างสูงและในปี 2551 แผนของธนาคารขนาดใหญ่จะเป็นลักษณะของการขยายตัว ทั้งเป้าที่เป็นสินเชื่อ และเป้าที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย ซึ่งต้องระมัดระวังความเสี่ยงจากปัจจัยความไม่แน่นอนในเศรษฐกิจของประเทศด้วย

ขอขอบคุณ: บลจ. วรรณ จำกัด

กำลังโหลดความคิดเห็น