xs
xsm
sm
md
lg

เอฟไอเอฟพันธบัตรกิมจิฟีเวอร์ ทหารไทยเข็นขายเพิ่มอีก3กอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กองทุนบอนด์แดนโสมได้รับความนิยมสูง บลจ.ทหารไทยปิดจองกองทุนทหารไทยพันธบัตรเกาหลีใต้ รุ่น 1-2 ภายในวันเดียว เตรียมเปิดขายเพิ่มอีก 3 กองใหม่ซีรีสเดียวกัน ตอบรับกระแสนิยมของนักลงทุน รวมมูลค่าถึง 7,500 ล้านบาท ล่าสุดทั้งระบบมีเงินลงทุนจากไทยไหลไปโกยผลตอบแทนพันธบัตรเกาหลีใต้ร่วม 24,000 ล้านบาทแล้ว

นายกำพล จันทรวิบูลย์ ผู้จัดการกองทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ทหารไทย จำกัด เปิดเผยว่า หลังจากที่บริษัทได้มีการเปิดจำหน่ายหน่วยลงทุนของกองทุนเปิดทหารไทยพันธบัตรเกาหลีใต้ รุ่น 1 ระหว่างวันที่ 5-12 มีนาคม 2551 และกองทุนเปิดทหารไทย พันธบัตรเกาหลีใต้ รุ่น 2 ในระหว่างวันที่ 6-13 มีนาคม 2551 ปรากฏว่าได้รับความสนใจจากนักลงทุนเป็นอย่างมาก และสามารถระดมทุนได้เต็มมูลค่าโครงการเพียงช่วงการเปิดเสนอขายไม่นาน

โดยจากความต้องการของนักลงทุนที่มีอยู่อย่างต่อเนื่อง ทำให้บริษัทวางแผนจะเปิดกองทุนเปิดในซีรีย์ทหารไทย พันธบัตรรัฐบาลเกาหลีใต้ รุ่นที่ 3 ,4 และ 5 เพื่อรองรับความต้องการของนักลงทุนเพิ่มเติม โดยทั้ง 3 กองทุนจะเปิดเสนอขายหน่วยลงทุนพร้อมกันในระหว่างวันที่ 10-18 มีนาคม 2551

สำหรับกองทุนเปิดทหารไทย พันธบัตรรัฐบาลเกาหลีใต้ รุ่นที่ 3 มีขนาดกองทุน 1,500 ล้านบาท อายุโครงการประมาณ 1 ปี ประมาณการณ์ผลตอบแทนจากการลงทุนในอัตรา 3.35% , กองทุนเปิดทหารไทย พันธบัตรรัฐบาลเกาหลีใต้ รุ่นที่ 4 มีขนาดกองทุน 1,500 ล้านบาท อายุโครงการ 1 ปี 6 เดือน ประมาณการณ์ผลตอบแทนจากการลงทุนในอัตรา 3.6% และกองทุนเปิดทหารไทย พันธบัตรรัฐบาลเกาหลีใต้ รุ่นที่ 5 มีขนาดกองทุน 1,500 ล้านบาท อายุโครงการ 2 ปี ประมาณการณ์ผลตอบแทนจากการลงทุนในอัตรา 3.8%

ทั้งนี้กองทุนเปิดทหารไทย พันธบัตรรัฐบาลเกาหลีใต้ รุ่นที่ 3 ,4 และ 5 จะมีนโยบายการลงทุนคล้ายกับกองทุนกองทุนเปิดทหารไทย พันธบัตรเกาหลีใต้ รุ่น 1 และ 2 ซึ่งเน้นลงทุนในพันธบัตร ตั๋วเงินคลัง หรือพันธบัตรธนาคารแห่งชาติ ที่รัฐบาลเกาหลีใต้เป็นผู้ออกหรือเป็นผู้ค้ำประกัน ซึ่งมีอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหรือผู้ออกตราสารอยู่ใน 2 อันดับแรก ที่เสนอขายในต่างประเทศ โดยมีมูลค่ารวมกันทั้งสิ้นไม่น้อยกว่า 80% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน โดยส่วนที่เหลือกองทุนอาจพิจารณาลงทุนในเงินฝาก ตราสารแห่งหนี้ในประเทศที่มีอายุของสัญญา อายุของตราสาร หรือระยะเวลาการฝากเงินไม่เกิน 1 ปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการสำรองเงินไว้สำหรับการดำเนินงาน รอการลงทุน หรือรักษาสภาพคล่องของกองทุน
 
ขณะเดียวกันกองทุนอาจทำสัญญาสวอป หรือสัญญาฟอร์เวิร์ดที่อ้างอิงกับอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อป้องกันความเสี่ยง (Hedging) จากอัตราแลกเปลี่ยน (Foregin Exchange Rate Risk) โดยเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กำหนด แต่จะไม่ลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งตราสารหนี้ที่มีลักษณะสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง (Structured Note)

นายกำพล กล่าวต่อว่า สาเหตุที่กองทุนในซีรีย์กองทุนเปิดทหารไทยพันธบัตรเกาหลีใต้ ได้รับความสนใจจากนักลงทุนเป็นอย่างมาก น่าจะมาจากการที่กองทุนสามารถให้ผลตอบแทนในระดับสูงและนับเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงไม่สูงนักเพราะบริษัทได้มีการทำการประกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนไว้

ก่อนหน้านี้นางวิวรรณ ธาราหิรัญโชติ รองประธานกรรมการบริหาร บลจ.กสิกรไทย เปิดเผยว่า บริษัทได้เปิดขายกองทุนเปิด เค พันธบัตรเกาหลี ระหว่างวันที่ 6-12 มีนาคม 2551 โดยมีอายุโครงการประมาณ 1 ปี ขนาดกองทุน 1,400 ล้านบาท ขณะเดียวกัน ตลอดเดือนมีนาคม บริษัทยังจะมีการเปิดการเสนอขายหน่วยลงทุนประเภทนี้อย่างต่อเนื่อง โดยคิดเป็นมูลโครงการรวมทั้งหมดประมาณ 10,000 ล้านบาท

นายฉัตรพี ตันติเฉลิม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.อยุธยา กล่าวว่า บริษัทได้เสนอขายกองทุนเปิดอยุธยาตราสารหนี้พลัส 12M1ซึ่งลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลเกาหลีใต้ รุ่น Korea Monetary Stabilizing Bond “F1” ในระหว่างวันที่ 3 - 10 มีนาคม 2551โดยผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับจากการขายคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติหลังหักค่าใช้จ่ายน่าจะไม่น้อยกว่า 3.25% ต่อปี

ขณะที่นางลดาวรรณ เจริญรัชต์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บลจ.แอสเซท พลัส เปิดเผยว่า หลังจากที่บริษัทได้เปิดเสนอขายกองทุนเปิดแอสเซทพลัสพรีเมี่ยม 6M2 (ASP-P6M2) ซึ่งลงทุนใน CLN ที่อ้างอิงผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลเกาหลีใต้ และพันธบัตรรัฐบาลไทยในต่างประเทศ ระหว่างวันที่ 25 กุมภาพันธ์ – 3 มีนาคมที่ผ่านม ปรากฏว่าได้รับการตอบรับจากนักลงทุนเป็นอย่างดี จนกองทุนสามารถระดมทุนได้ประมาณ 1,400 ล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ได้มีการปรับลดดอกเบี้ยเฟดฟันด์เรสลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้การลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ของสถาบันการเงินในยุโรป (ECP) ให้ผลตอบแทนในระดับที่ไม่น่าสนใจ จนนักลงทุนพยายามแสวงหาทางเลือกการลงทุนที่คล้ายคลึงกันแต่สามารถให้ผลตอบแทนในที่น่าสนใจ ซึงรวมไปถึงการออกกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศ (เอฟไอเอฟ) ที่ลงทุนในพันธบัตรเกาหลีใต้ด้วย

โดยเมื่อรวมมูลค่ากองทุนเอฟไอเอฟที่ลงทุนในเกาหลีใต้ในขณะนี้ และที่บลจ.มีแผนจะออกกองทุนเพิ่มเติมในอนาคต ประกอบไปด้วย บลจ.ทหารไทย , บลจ.กสิกรไทย , บลจ.อยุธยา และบลจ.แอสเซท พลัส จะคิดเป็นมูลค่าเม็ดเงินลงทุนจากกองทุนรวมที่จะเข้าไปลงทุนในพันธบัตรเกาหลีใต้ประมาณ 24,000 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น