ผู้จัดการรายวัน - แบงก์ชาติพอใจผลงานดูแลค่าเงิน หลังเลิกสำรอง 30% บาทเริ่มนิ่งและอ่อนค่าลงประมาณ 10 สตางค์ พร้อมจับตาธุรกรรมแบงก์พาณิชย์-การลงทุนในตลาดตราสารหนี้อย่างใกล้ชิด ขู่หากพบการเก็งกำไร อาจต้องงัดมาตรการมาควบคุมอีก "ประสาร" คาดในการประชุม กนง.ครั้งหน้าอาจลดอาร์พีถึง 0.50% หากเฟดปรับดอกเบี้ยลงในประชุมวันที่ 18 มีนาฯ นี้ อีก 0.75% บิ๊กอสังหาฯ คาดเงินทุนไหลเข้า หนุนสภาพคล่องในระบบเพิ่ม เตือนอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง
นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า หลังจากที่ ธปท.ประกาศยกเลิกมาตรการกันสำรอง30%ของเงินทุนระยะสั้นจากต่างประเทศตั้งแต่วันที่ 3 มี.ค.ที่ผ่านมา การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทเป็นที่น่าพอใจ โดยค่าเงินบาทเริ่มอ่อนค่าลงประมาณ 10 สตางค์ เป็นผลจากที่ตลาดซึมซับข่าวการยกเลิกมาตรการนี้ไปบ้างแล้ว รวมทั้งผู้ส่งออกและนำเข้าเองก็มีความเชื่อมั่นว่าธปท.จะดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพได้ จึงมีแรงซื้อขายเงินดอลลาร์สหรัฐที่สมดุลมากขึ้น หลังจากที่เคยมีทิศทางการเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวตั้งแต่ต้นปี 51 ที่ผ่านมา ซึ่งเงินบาทแข็งค่าขึ้นเพียง 2% ทำให้สบายใจมากขึ้น
“ก่อนมีการยกเลิกมาตรการกันสำรอง 2-3 วัน ผู้ส่งออกมีการเทขายเงินดอลลาร์สหรัฐอย่างถล่มทลาย ซึ่งเป็นการสร้างปัญหาในขณะนั้น แต่ตอนนี้เริ่มเข้าที่เข้าทางมากขึ้น โดยปัจจุบันผู้เล่นในตลาดมีมุมมองที่หลากหลายต่างกับในอดีตที่มีพฤติกรรมเฮโลกันไปซื้อหรือขายเงินดอลลาร์สหรัฐในทางเดียว ซึ่งล่าสุดค่าเงินบาทไทยรวมทั้งค่าเงินในประเทศแถบภูมิภาคอ่อนค่าลงทุกสกุล ยกเว้นเพียงค่าเงินเยนของญี่ปุ่นเท่านั้น”
ส่วนประเด็นที่มีการสั่งห้ามธนาคารพาณิชย์เก็งกำไรค่าเงินบาทนั้น ธปท.ไม่ต้องการให้มีแรงเก็งกำไรเกิดขึ้นในช่วงที่มีการยกเลิก30% ซึ่งต่างกับในช่วงต้นปี 50 แต่ในขณะนี้ธนาคารพาณิชย์ก็ให้ความร่วมมือดี โดยเท่าที่ดูข้อมูลส่วนใหญ่การทำธุรกรรมของธนาคารพาณิชย์เป็นการรองรับคำสั่งซื้อขายของลูกค้าตามปกติ อย่างไรก็ตามฐานะของสถาบันการเงินแต่ละแห่งในการถือเงินตราต่างประเทศแตกต่างกันไป ซึ่งธปท.จะติดตามดูอย่างใกล้ชิดต่อไปว่าเป็นการซื้อขายเงินที่แปลกออกไปหรือไม่ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นธปท.จะมีการยกหูถามผู้บริหารระดับสูงกับเรื่องที่เกิดขึ้น
นอกจากนี้ ในการลงทุนตราสารหนี้ ซึ่งเป็นอีกตลาดหนึ่งที่ธปท.กำลังจับตาดูต่อไป เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมามีเม็ดเงินไหลเข้ามาในการลงทุนนี้ไม่มากนักจากมาตรการ ทำให้ต่อไปอาจมีความเป็นไปได้ที่จะมีเงินไหลทะลักเข้ามาเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเงินทุนที่ไหลเข้ามาจากผลของเศรษฐกิจโลกชะลอ ซึ่งในขณะนี้ตลาดตราสารหนี้มีมูลค่าซื้อขายแต่ละวันสูงถึง 6,700 ล้านบาท โดยเป็นเงินไหลเข้าจากต่างประเทศ 3-4%ของวงเงินทั้งหมด
“มาตรการต่างๆ ที่ใช้ดูแลเงินทุนเคลื่อนย้าย (Capital Control) ของธนาคารกลางทุกแห่งยังคงเก็บไว้ในกระเป๋าอยู่ หากมีความจำเป็นต้องใช้ก็สามารถนำมาดัดแปลงให้เหมาะสมกับสถานการณ์ได้ แม้จะมีการยกเลิกมาตรการนี้แล้วก็ตาม เพราะเราไม่อยากให้คนเล่นค่าเงินเข้ามาเก็งกำไรค่าเงินบาทจนส่งผลให้ค่าเงินมีความผันผวนมากเกินความเป็นจริง”
ขณะเดียวกัน ในอนาคตกระทรวงการคลังจะเป็นอีกรายที่จะเข้าไปช่วยซื้อเงินดอลลาร์ในตลาด จากปัจจุบันที่มีเพียงธปท.รายเดียวที่เข้าไปซื้อเงินดอลลาร์ในตลาด ซึ่งใช้ พ.ร.บ.บริหารหนี้สาธารณะ พร้อมทั้งกระทรวงคลังจะมีการส่งเสริมให้มีการกู้เงินในประเทศแทนต่างประเทศที่จะต้องนำเงินดอลลาร์เข้ามากดดันให้เงินบาทในประเทศแข็งค่าขึ้น ซึ่งปัจจุบันรัฐวิสาหกิจมีหนี้ประมาณ 3,000 ล้านเหรียญ
ผู้ว่าการธปท.กล่าวว่า ส่วนเรื่องการพิจารณาอัตราดอกเบี้ย โดยเฉพาะในขณะนี้ที่ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยไทยกับสหรัฐห่างกัน 0.25%นั้นให้เป็นหน้าที่หลักของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)เป็นผู้พิจารณาทุกๆ 6 สัปดาห์ตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งอัตราเงินเฟ้อและอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามการดำเนินนโยบายการเงิน นโยบายการคลัง และนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนควรจะต้องประสานและให้สอดคล้องกัน
ผู้สื่อข่าวถามถึงกระแสข่าวที่ว่า หาก ธปท.ไม่สามารถดูแลค่าเงินบาทให้เสถียรภาพได้ อาจจะมีการเสนอปลดผู้ว่าการฯ ออกจากตำแหน่ง นางธาริษา กล่าวว่า เรื่องนี้ตนไม่หนักใจ และไม่ท้อ โดยยืนยันว่าไม่มีข้อสัญญาอะไรกับรมว.คลัง แต่การทำงานตำแหน่งผู้ว่าต้องนิ่งๆ วอกแวกไม่ได้จะคิดอะไรนอกเหนือจากเรื่องเศรษฐกิจไม่ได้ โดยยังยืนยันว่า การตัดสินใจยกเลิกสำรอง 30% ธปท.ตัดสินใจทำเอง โดยไม่มีแรงกดดันทางการเมือง หรือใบสั่งจากใครทั้งนั้น
“จริงๆการทำงานในตำแหน่งของผู้ว่าการฯธปท.จะคิดถึงตำแหน่งไม่ได้เลย ซึ่งเป็นสิ่งที่อาจารย์ ป๋วย อึ้งภากรณ์ อดีตผู้ว่าการ ธปท.กล่าวไว้นานแล้วว่า จะตัดสินใจทำอะไรจะต้องไม่คิดถึงตำแหน่ง และเป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ยาก เพราะฉะนั้นจะมี พรบ. ธปท.ฉบับใหม่ ที่การปลดผู้ว่าการต้องชี้แจงเหตุผลในการปลดแล้วทำให้ตำแหน่งผู้ว่ามีความมั่นคงขึ้นหรือไม่นั้น เห็นว่าเป็นเพียงครึ่งหนึ่ง แต่ไม่ใช่ปัจจัยหลักที่จะนำมาพิจารณายกเลิกมาตรการดังกล่าวหรือไม่ยกเลิก 30% หรือปัจจัยในการทำงานในตำแหน่งผู้ว่าการฯ”
"ประสาร" คาด กนง.ลด ดบ.0.50%
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (KBANK) กล่าวว่า ภายหลังจากการยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% จะส่งผลให้เม็ดเงินจากต่างประเทศไหลเข้ามาลงทุนได้สะดวกขึ้น ขณะที่การแข็งค่าของเงินบาทนั้น ไม่น่าจะกระทบต่อภาคส่งออก เนื่องจากผู้ส่งออกส่วนใหญ่ได้ทำการประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้าไว้ก่อนแล้ว ตั้งแต่ก่อนประกาศยกเลิก ขณะที่ผู้นำเข้าอาจมีผลกระทบบ้าง เพราะไม่ได้มีการประกันความเสี่ยงเอาไว้ ซึ่งในส่วนนี้อาจส่งผลให้เงินบาทผันผวนบ้าง
สำหรับในการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)ในวันที่ 18 มีนาคมนี้ คาดว่าจะมีการปรับลดดอกเบี้ยอีก 0.75% เพื่อพยุงเศรษฐกิจสหรัฐฯ ให้ดีขึ้น โดยมองทั้งปีจะเฟดจะปรับลดดอกเบี้ยเฟด ฟันด์ เรทเหลือ 2% จากปัจจุบันอยู่ที่ 3%
ส่วนในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 9 เมษายนนี้ มีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.50% เพื่อรักษาส่วนต่างดอกเบี้ยของไทยและสหรัฐอเมริกา ตามการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก
นายประสารกล่าวอีกว่า แม้ว่ามีการคาดการณ์ว่าภาคการส่งออกจะชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจทั่วโลก แต่ยังคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวประมาณ 4.8-4.9% โดยประเทศไทยคงเน้นด้านอุปโภค บริโภคภายในประเทศมากขึ้น อาทิ การเน้นธุรกิจการก่อสร้างหรือเมกะโปรเจ็กของทางภาครัฐ ที่เป็นตัวช่วยหนุนให้เศรษฐกิจไทยมีจีดีพีใกล้เคียงกับปีก่อน
อสังหาฯคาดเงินไหลเข้า-สภาพคล่องเพิ่ม
นายอดิศร ธนนันท์นราพูล กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการบริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ LH เปิดเผยว่า การที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะมีการประกาศยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30 % ไปแล้ว แต่ยังไม่สามารถให้ความชัดเจนว่าบริษัทฯจะมีการออกกองทุนอสังหาริมทรัพย์หรือไม่ เพราะการออกขายกองทุนอสังหาฯนั้นยังต้องพิจารณาถึงปัจจัยอื่นๆประกอบด้วย
“ ยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% ช่วยให้นักลงทุนต่างชาติไม่ต้องห่วงการนำเงินเข้ามา ซึ่งช่วยให้สภาพคล่องทางการเงินของประเทศดีขึ้น และทำให้การระดมทุนมีความคล่องตัวมากขึ้นด้วย ซึ่งจะยังผลมาถึงบริษัทฯที่จะออกกองทุนอสังหาริมทรัพย์กองใหม่ให้ดำเนินการได้สะดวกมากขึ้น ”นายอดิศรกล่าวและว่า
สิ่งที่ต้องพิจารณาคือ แนวโน้มอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากในปีนี้ยังประเมินค่อนข้างลำบาก เพราะหากจะมีการปรับลดลง ต้องคำนึงถึงการสูงขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ และยังคงต้องคำนึงถึงการไหลเข้าของเงินทุนด้วย
นายโอภาส ศรีพยัคฆ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ผู้นำในตลาดคอนโดมิเนียม กล่าวว่า ยกเลิก 30% นั้น บริษัทฯไม่ได้รับผลประโยชน์โดยตรงจากการ เนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่นั้นเป็นลูกค้าคนไทย แต่จะเป็นการได้รับประโยชน์ทางอ้อมมากกว่า คือ ทำให้มีเงินทุนไหลเข้ามาในประเทศมากขึ้น ซึ่งเป็นผลให้ภาพรวมตลาดหุ้นมีความคึกคักมากขึ้น
พฤกษาชี้ยกเลิก 30% สภาพคล่องจัดสรรเพิ่ม
นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการ บริษัทพฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน)กล่าวว่า สำหรับนักลงทุนต่างชาติ จะช่วยให้ผู้ประกอบการที่ติดกับดักสภาพคล่องหรือที่มีสต๊อกสินค้าในมือจำนวนมาก สามารถนำสต๊อกเหล่านั้นออกมาจัดตั้งเป็นกองทุนอสังหาริมทรัพย์ เพื่อนำเม็ดเงินไปลงทุนต่อได้
“ หลังจากมีการออกมาตรการกันสำรอง 30% ทำให้กองทุนอสังหาฯ หลายกองฯที่จัดตั้งไม่สำเร็จ และเริ่มเห็นนวัตกรรมทางการเงินแบบใหม่ๆออกมาในปีที่แล้ว ซึ่งกองทุนก็เปรียบเสมือนโรงรับจำนำของผู้ประกอบการอสังหาฯ ใครขายบ้านไม่ออกก็เอาไปตั้งกองทุนแล้วนำเงินไปลงทุนต่อ ไม่มีคนมาเช่าบ้านก็ต้องจ่ายผลตอบแทนประมาณ 6-7% ต่อไปนี้กองทุนอสังหาฯ จะเริ่มขายได้เหมือนเดิม การระดมเงินง่ายขึ้น ผู้ประกอบการที่ติดกับดักสภาพคล่องก็จะฟื้นตัวได้อีก”
นอกจากนี้ ยังกระตุ้นให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาซื้ออสังหาฯ ในเมืองไทยเหมือนเช่นในอดีต โดยเฉพาะอสังหาฯราคาแพงในเขตกรุงเทพฯ และในเมืองท่องเที่ยวสำคัญ นอกจากนี้อสังหาฯ ยังเปรียบเสมือนหัวรถจักรในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เมื่อเกิดอสังหาฯ 1 หน่วยจะขับเคลื่อนธุรกิจอื่นๆไปได้อีกถึง 2.5 เท่า อีกทั้งสินเชื่อในภาคอสังหาฯ ยังมีมูลค่าสูงถึง 25-30% ของสินเชื่อทั้งประเทศ.
นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า หลังจากที่ ธปท.ประกาศยกเลิกมาตรการกันสำรอง30%ของเงินทุนระยะสั้นจากต่างประเทศตั้งแต่วันที่ 3 มี.ค.ที่ผ่านมา การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทเป็นที่น่าพอใจ โดยค่าเงินบาทเริ่มอ่อนค่าลงประมาณ 10 สตางค์ เป็นผลจากที่ตลาดซึมซับข่าวการยกเลิกมาตรการนี้ไปบ้างแล้ว รวมทั้งผู้ส่งออกและนำเข้าเองก็มีความเชื่อมั่นว่าธปท.จะดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพได้ จึงมีแรงซื้อขายเงินดอลลาร์สหรัฐที่สมดุลมากขึ้น หลังจากที่เคยมีทิศทางการเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวตั้งแต่ต้นปี 51 ที่ผ่านมา ซึ่งเงินบาทแข็งค่าขึ้นเพียง 2% ทำให้สบายใจมากขึ้น
“ก่อนมีการยกเลิกมาตรการกันสำรอง 2-3 วัน ผู้ส่งออกมีการเทขายเงินดอลลาร์สหรัฐอย่างถล่มทลาย ซึ่งเป็นการสร้างปัญหาในขณะนั้น แต่ตอนนี้เริ่มเข้าที่เข้าทางมากขึ้น โดยปัจจุบันผู้เล่นในตลาดมีมุมมองที่หลากหลายต่างกับในอดีตที่มีพฤติกรรมเฮโลกันไปซื้อหรือขายเงินดอลลาร์สหรัฐในทางเดียว ซึ่งล่าสุดค่าเงินบาทไทยรวมทั้งค่าเงินในประเทศแถบภูมิภาคอ่อนค่าลงทุกสกุล ยกเว้นเพียงค่าเงินเยนของญี่ปุ่นเท่านั้น”
ส่วนประเด็นที่มีการสั่งห้ามธนาคารพาณิชย์เก็งกำไรค่าเงินบาทนั้น ธปท.ไม่ต้องการให้มีแรงเก็งกำไรเกิดขึ้นในช่วงที่มีการยกเลิก30% ซึ่งต่างกับในช่วงต้นปี 50 แต่ในขณะนี้ธนาคารพาณิชย์ก็ให้ความร่วมมือดี โดยเท่าที่ดูข้อมูลส่วนใหญ่การทำธุรกรรมของธนาคารพาณิชย์เป็นการรองรับคำสั่งซื้อขายของลูกค้าตามปกติ อย่างไรก็ตามฐานะของสถาบันการเงินแต่ละแห่งในการถือเงินตราต่างประเทศแตกต่างกันไป ซึ่งธปท.จะติดตามดูอย่างใกล้ชิดต่อไปว่าเป็นการซื้อขายเงินที่แปลกออกไปหรือไม่ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นธปท.จะมีการยกหูถามผู้บริหารระดับสูงกับเรื่องที่เกิดขึ้น
นอกจากนี้ ในการลงทุนตราสารหนี้ ซึ่งเป็นอีกตลาดหนึ่งที่ธปท.กำลังจับตาดูต่อไป เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมามีเม็ดเงินไหลเข้ามาในการลงทุนนี้ไม่มากนักจากมาตรการ ทำให้ต่อไปอาจมีความเป็นไปได้ที่จะมีเงินไหลทะลักเข้ามาเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเงินทุนที่ไหลเข้ามาจากผลของเศรษฐกิจโลกชะลอ ซึ่งในขณะนี้ตลาดตราสารหนี้มีมูลค่าซื้อขายแต่ละวันสูงถึง 6,700 ล้านบาท โดยเป็นเงินไหลเข้าจากต่างประเทศ 3-4%ของวงเงินทั้งหมด
“มาตรการต่างๆ ที่ใช้ดูแลเงินทุนเคลื่อนย้าย (Capital Control) ของธนาคารกลางทุกแห่งยังคงเก็บไว้ในกระเป๋าอยู่ หากมีความจำเป็นต้องใช้ก็สามารถนำมาดัดแปลงให้เหมาะสมกับสถานการณ์ได้ แม้จะมีการยกเลิกมาตรการนี้แล้วก็ตาม เพราะเราไม่อยากให้คนเล่นค่าเงินเข้ามาเก็งกำไรค่าเงินบาทจนส่งผลให้ค่าเงินมีความผันผวนมากเกินความเป็นจริง”
ขณะเดียวกัน ในอนาคตกระทรวงการคลังจะเป็นอีกรายที่จะเข้าไปช่วยซื้อเงินดอลลาร์ในตลาด จากปัจจุบันที่มีเพียงธปท.รายเดียวที่เข้าไปซื้อเงินดอลลาร์ในตลาด ซึ่งใช้ พ.ร.บ.บริหารหนี้สาธารณะ พร้อมทั้งกระทรวงคลังจะมีการส่งเสริมให้มีการกู้เงินในประเทศแทนต่างประเทศที่จะต้องนำเงินดอลลาร์เข้ามากดดันให้เงินบาทในประเทศแข็งค่าขึ้น ซึ่งปัจจุบันรัฐวิสาหกิจมีหนี้ประมาณ 3,000 ล้านเหรียญ
ผู้ว่าการธปท.กล่าวว่า ส่วนเรื่องการพิจารณาอัตราดอกเบี้ย โดยเฉพาะในขณะนี้ที่ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยไทยกับสหรัฐห่างกัน 0.25%นั้นให้เป็นหน้าที่หลักของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)เป็นผู้พิจารณาทุกๆ 6 สัปดาห์ตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งอัตราเงินเฟ้อและอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามการดำเนินนโยบายการเงิน นโยบายการคลัง และนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนควรจะต้องประสานและให้สอดคล้องกัน
ผู้สื่อข่าวถามถึงกระแสข่าวที่ว่า หาก ธปท.ไม่สามารถดูแลค่าเงินบาทให้เสถียรภาพได้ อาจจะมีการเสนอปลดผู้ว่าการฯ ออกจากตำแหน่ง นางธาริษา กล่าวว่า เรื่องนี้ตนไม่หนักใจ และไม่ท้อ โดยยืนยันว่าไม่มีข้อสัญญาอะไรกับรมว.คลัง แต่การทำงานตำแหน่งผู้ว่าต้องนิ่งๆ วอกแวกไม่ได้จะคิดอะไรนอกเหนือจากเรื่องเศรษฐกิจไม่ได้ โดยยังยืนยันว่า การตัดสินใจยกเลิกสำรอง 30% ธปท.ตัดสินใจทำเอง โดยไม่มีแรงกดดันทางการเมือง หรือใบสั่งจากใครทั้งนั้น
“จริงๆการทำงานในตำแหน่งของผู้ว่าการฯธปท.จะคิดถึงตำแหน่งไม่ได้เลย ซึ่งเป็นสิ่งที่อาจารย์ ป๋วย อึ้งภากรณ์ อดีตผู้ว่าการ ธปท.กล่าวไว้นานแล้วว่า จะตัดสินใจทำอะไรจะต้องไม่คิดถึงตำแหน่ง และเป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ยาก เพราะฉะนั้นจะมี พรบ. ธปท.ฉบับใหม่ ที่การปลดผู้ว่าการต้องชี้แจงเหตุผลในการปลดแล้วทำให้ตำแหน่งผู้ว่ามีความมั่นคงขึ้นหรือไม่นั้น เห็นว่าเป็นเพียงครึ่งหนึ่ง แต่ไม่ใช่ปัจจัยหลักที่จะนำมาพิจารณายกเลิกมาตรการดังกล่าวหรือไม่ยกเลิก 30% หรือปัจจัยในการทำงานในตำแหน่งผู้ว่าการฯ”
"ประสาร" คาด กนง.ลด ดบ.0.50%
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (KBANK) กล่าวว่า ภายหลังจากการยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% จะส่งผลให้เม็ดเงินจากต่างประเทศไหลเข้ามาลงทุนได้สะดวกขึ้น ขณะที่การแข็งค่าของเงินบาทนั้น ไม่น่าจะกระทบต่อภาคส่งออก เนื่องจากผู้ส่งออกส่วนใหญ่ได้ทำการประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้าไว้ก่อนแล้ว ตั้งแต่ก่อนประกาศยกเลิก ขณะที่ผู้นำเข้าอาจมีผลกระทบบ้าง เพราะไม่ได้มีการประกันความเสี่ยงเอาไว้ ซึ่งในส่วนนี้อาจส่งผลให้เงินบาทผันผวนบ้าง
สำหรับในการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)ในวันที่ 18 มีนาคมนี้ คาดว่าจะมีการปรับลดดอกเบี้ยอีก 0.75% เพื่อพยุงเศรษฐกิจสหรัฐฯ ให้ดีขึ้น โดยมองทั้งปีจะเฟดจะปรับลดดอกเบี้ยเฟด ฟันด์ เรทเหลือ 2% จากปัจจุบันอยู่ที่ 3%
ส่วนในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 9 เมษายนนี้ มีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.50% เพื่อรักษาส่วนต่างดอกเบี้ยของไทยและสหรัฐอเมริกา ตามการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก
นายประสารกล่าวอีกว่า แม้ว่ามีการคาดการณ์ว่าภาคการส่งออกจะชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจทั่วโลก แต่ยังคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวประมาณ 4.8-4.9% โดยประเทศไทยคงเน้นด้านอุปโภค บริโภคภายในประเทศมากขึ้น อาทิ การเน้นธุรกิจการก่อสร้างหรือเมกะโปรเจ็กของทางภาครัฐ ที่เป็นตัวช่วยหนุนให้เศรษฐกิจไทยมีจีดีพีใกล้เคียงกับปีก่อน
อสังหาฯคาดเงินไหลเข้า-สภาพคล่องเพิ่ม
นายอดิศร ธนนันท์นราพูล กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการบริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ LH เปิดเผยว่า การที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะมีการประกาศยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30 % ไปแล้ว แต่ยังไม่สามารถให้ความชัดเจนว่าบริษัทฯจะมีการออกกองทุนอสังหาริมทรัพย์หรือไม่ เพราะการออกขายกองทุนอสังหาฯนั้นยังต้องพิจารณาถึงปัจจัยอื่นๆประกอบด้วย
“ ยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% ช่วยให้นักลงทุนต่างชาติไม่ต้องห่วงการนำเงินเข้ามา ซึ่งช่วยให้สภาพคล่องทางการเงินของประเทศดีขึ้น และทำให้การระดมทุนมีความคล่องตัวมากขึ้นด้วย ซึ่งจะยังผลมาถึงบริษัทฯที่จะออกกองทุนอสังหาริมทรัพย์กองใหม่ให้ดำเนินการได้สะดวกมากขึ้น ”นายอดิศรกล่าวและว่า
สิ่งที่ต้องพิจารณาคือ แนวโน้มอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากในปีนี้ยังประเมินค่อนข้างลำบาก เพราะหากจะมีการปรับลดลง ต้องคำนึงถึงการสูงขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ และยังคงต้องคำนึงถึงการไหลเข้าของเงินทุนด้วย
นายโอภาส ศรีพยัคฆ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ผู้นำในตลาดคอนโดมิเนียม กล่าวว่า ยกเลิก 30% นั้น บริษัทฯไม่ได้รับผลประโยชน์โดยตรงจากการ เนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่นั้นเป็นลูกค้าคนไทย แต่จะเป็นการได้รับประโยชน์ทางอ้อมมากกว่า คือ ทำให้มีเงินทุนไหลเข้ามาในประเทศมากขึ้น ซึ่งเป็นผลให้ภาพรวมตลาดหุ้นมีความคึกคักมากขึ้น
พฤกษาชี้ยกเลิก 30% สภาพคล่องจัดสรรเพิ่ม
นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการ บริษัทพฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน)กล่าวว่า สำหรับนักลงทุนต่างชาติ จะช่วยให้ผู้ประกอบการที่ติดกับดักสภาพคล่องหรือที่มีสต๊อกสินค้าในมือจำนวนมาก สามารถนำสต๊อกเหล่านั้นออกมาจัดตั้งเป็นกองทุนอสังหาริมทรัพย์ เพื่อนำเม็ดเงินไปลงทุนต่อได้
“ หลังจากมีการออกมาตรการกันสำรอง 30% ทำให้กองทุนอสังหาฯ หลายกองฯที่จัดตั้งไม่สำเร็จ และเริ่มเห็นนวัตกรรมทางการเงินแบบใหม่ๆออกมาในปีที่แล้ว ซึ่งกองทุนก็เปรียบเสมือนโรงรับจำนำของผู้ประกอบการอสังหาฯ ใครขายบ้านไม่ออกก็เอาไปตั้งกองทุนแล้วนำเงินไปลงทุนต่อ ไม่มีคนมาเช่าบ้านก็ต้องจ่ายผลตอบแทนประมาณ 6-7% ต่อไปนี้กองทุนอสังหาฯ จะเริ่มขายได้เหมือนเดิม การระดมเงินง่ายขึ้น ผู้ประกอบการที่ติดกับดักสภาพคล่องก็จะฟื้นตัวได้อีก”
นอกจากนี้ ยังกระตุ้นให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาซื้ออสังหาฯ ในเมืองไทยเหมือนเช่นในอดีต โดยเฉพาะอสังหาฯราคาแพงในเขตกรุงเทพฯ และในเมืองท่องเที่ยวสำคัญ นอกจากนี้อสังหาฯ ยังเปรียบเสมือนหัวรถจักรในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เมื่อเกิดอสังหาฯ 1 หน่วยจะขับเคลื่อนธุรกิจอื่นๆไปได้อีกถึง 2.5 เท่า อีกทั้งสินเชื่อในภาคอสังหาฯ ยังมีมูลค่าสูงถึง 25-30% ของสินเชื่อทั้งประเทศ.