xs
xsm
sm
md
lg

ในที่สุดเอเชียแปซิฟิก จะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ธีรนาถ รุจิเมธาภาส
รองกรรมการผู้จัดการ
หัวหน้าธุรกิจกองทุนรวมและกองทุนส่วนบุคคล บลจ. ทิสโก้

การปรับตัวลดลงในระยะสั้นของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในกลุ่มประเทศเอเชียแปซิฟิก หรือที่เราเรียกว่า market corrections นั้น กำลังจะกลายเป็นเรื่องที่ผู้ลงทุนเคยชิน ตลาดฯได้รับการทดสอบหลายครั้งในเดือนพฤษภาคม 2549, กุมภาพันธ์และสิงหาคมปี 2550 และล่าสุดในปี 2551 เมื่อเศรษฐกิจโลกกำลังผจญกับความไม่แน่นอนที่เริ่มต้นขึ้นในครึ่งปีหลังของปี 2550 ตลาดการเงินได้รับผลกระทบอย่างหนักจากข่าวร้าย ๆ อาทิเช่น เรื่องปัญหาราคาอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐอเมริกาที่ส่อแววจะพังลงมา และส่งผลกระทบต่อสินเชื่อประเภทซับไพรม์ที่สถาบันการเงินหลายแห่งเป็นผู้ปล่อยกู้ แถมยังมีการนำ port สินเชื่อเหล่านั้นไปขายให้กับนักลงทุนสถาบันต่าง ๆ รวมถึง เฮดจ์ฟันด์ และกองทุนตราสารหนี้ในต่างประเทศ, ข่าวการปรับตัวสูงขึ้นของราคาน้ำมันดิบที่ก่อให้เกิดความกังวลใจในเรื่องเงินเฟ้อ, การคาดการณ์เกี่ยวกับการด้อยค่าของเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ เป็นต้น สิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนก่อให้เกิดความหวาดกลัวว่าสหรัฐอเมริกากำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย ซึ่งไม่พ้นที่จะลากเศรษฐกิจโลกตามลงไปด้วย แล้วสิ่งนี้จะกระทบต่อภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในทิศทางใด ?

เราเชื่อว่าตลาดทุนในเอเชียแปซิฟิกจะได้รับผลกระทบซึ่งทำให้เกิดความผันผวนในระยะสั้น โดยเฉพาะสิงโปร์, ฮ่องกงและไต้หวัน ที่อาจได้รับผลกระทบที่มากหน่อย เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ผูกติดกับอเมริกามากกว่าใคร ๆ ในขณะที่ประเทศในกลุ่มอาเซียน อื่น ๆ จะได้รับผลกระทบในระยะสั้น แต่ในระยะปานกลางแล้ว ตลาดทุนของประเทศเหล่านี้น่าจะยังคงแข็งแกร่งอยู่ เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่มนี้ยังมีการขยายตัวในระดับสูง โดยมีอัตราการเติบโตของกำไรของบริษัทจดทะเบียนเป็นตัวขับเคลื่อนดัชนีราคาหลักทรัพย์

ในปี 2550 ดัชนี MSCI Asia Pacific ex Japan ปรับตัวสูงขึ้นถึงร้อยละ 37 ในขณะที่ตลาดหลักทรัพย์ของอเมริกา, อังกฤษ และยุโรป ปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 5, 7, และ 17 ตามลำดับ ซึ่งถือเป็นปีที่ 5 ติดต่อกันที่ตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกสามารถทำผลตอบแทนชนะตลาดหุ้นอื่น ๆ ได้อย่างน่าพึงพอใจ

IMF ยังคงเชื่อมั่นว่าจีนและอินเดียจะเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกในปี 2551 โดยคาดการณ์ว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคนี้จะเติบโตเฉลี่ยมากกว่าร้อยละ 7 ในอีก 1-2 ปีข้างหน้าเป็นอย่างน้อย ในขณะที่เศรษฐกิจของอเมริกา ยุโรป และอังกฤษ จะเติบโตเพียงปีละ 2% 2.6% และ 2.9% ตามลำดับ

หลังจากวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 ประเทศในเอเชียแปซิฟิกได้มีการปรับปรุงโครงสร้างทางการเงินขนานใหญ่ ลดการพึ่งพิงการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศในทุกรูปแบบ โดยเงินลงทุนส่วนใหญ่มาจากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ และเงินออมภายในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น โดยปัจจุบันทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของกลุ่มประเทศนี้อยู่ในระดับที่สูงที่สุดกว่าที่เคยเป็นมาคือประมาณ 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา โดยครึ่งหนึ่งเป็นของจีนซึ่งกลายเป็นประเทศมีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศที่สูงที่สุดในขณะนี้ ดังนั้น โอกาสที่เอเชียแปซิฟิกจะต้องพึ่งพิงชาติตะวันตกนั้นนับวันจะลดน้อยลงไปทุกที นอกจากนี้นักลงทุนยังมองว่าค่าเงินสกุลต่าง ๆ ในภูมิภาคนี้ยังมีมูลค่าที่ต่ำกว่าความเป็นจริง ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้สูงที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจของเอเชียจะยังดึงดูดเงินลงทุนจากประเทศต่าง ๆ เข้ามาได้อีก

ภูมิคุ้มกันที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือ การที่ประเทศในภูมิภาคนี้มีประชากรรวมกันมากที่สุดในโลก ดังนั้น ภาคการบริโภคภายในกลุ่มประเทศเหล่านี้จึงมีอยู่ในระดับสูง การค้าระหว่างกันจึงมีปริมาณมากขึ้นโดยลำดับ ดังจะเห็นได้ว่าการค้าภายในกลุ่มเอเชียแปซิฟิกนั้นสูงถึงร้อยละ 49.8 ซึ่งเป็นอัตราที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่การค้ากับสหรัฐอเมริกาลดลงจากร้อยละ 21.2 ในปี 2543 เหลือเพียงร้อยละ 17 ในปี 2549

นอกจากนี้ประชากรในกลุ่มเอเชียแปซิฟิก เป็นประชากรที่อยู่ในวัยทำงานเป็นสัดส่วนที่สูงมาก โดยเฉพาะจีนและอินเดีย มีประชากรในวัยทำงานสูงถึงร้อยละ 40 และ 50 ของจำนวนประชากรทั้งหมดของประเทศ ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดี เนื่องจากกลุ่มคนในวัยทำงานที่มากขึ้น หมายถึงการจับจ่ายเพื่อการบริโภคที่น่าจะเติบโตและมีความต้องการบริโภคที่กระจายตัวไปยังสินค้าและบริการที่หลากหลายประเภทอาทิ เช่น รถยนต์, โทรศัพท์มือถือ, สินค้าอิเล็คทรอนิกส์, การรักษาพยาบาล, ที่อยู่อาศัย เป็นต้น ในปีที่ผ่านมาการบริโภคภายในประเทศของจีนเพิ่มสูงขึ้นมากพอที่จะชดเชยการชะลอตัวของภาคการส่งออกได้อย่างสบาย ๆ ทั้งนี้ เนื่องจากคนจีนมีความสามารถในการจับจ่ายเพิ่มขึ้นจากรายได้ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งแนวโน้มนี้ถือเป็นสัญญาณที่ดี

การเติบโตทางเศรษฐกิจทำให้กลุ่มประเทศในเอเชียแปซิฟิกมีการขยายการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ตั้งแต่การสร้างทางรถไฟ, สนามบิน ไปจนถึงการสร้างโรงไฟฟ้า โดยคาดกันว่าจะการลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐานอีกประมาณปีละ 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งย่อมจะดึงดูดเงินลงทุนจากภูมิภาคอื่น ๆ ให้เข้ามาลงทุนและจ้างงานในภูมิภาคนี้มากขึ้น

ในส่วนของความแข็งแกร่งของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นเอเชียแปซิฟิกนั้นก็คือว่ามีการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันจนเป็นที่ยอมรับจากผู้บริโภคทุกมุมโลก วันนี้แบรนด์จากเอเชีย เช่น ซัมซุง ฮุนได สแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด และเอชเอสบีซี ล้วนเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง

จากวิกฤติเศรษฐกิจในรอบที่ผ่าน ๆ มา บริษัทในเอเชียให้ความสำคัญกับการเติบโตของกำไรไปพร้อม ๆ กับการสร้างความแข็งแกร่งทางการเงิน การบริหารจัดการ รวมถึงการกำกับดูแลกิจการที่ดี ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้บริษัทใหญ่ๆ ในแถบภูมิภาคนี้เป็นที่หมายปองของนักลงทุนมากขึ้น คาดว่าในปี 2551 การขยายตัวของกำไรของบริษัทจดทะเบียนในภูมิภาคนี้ก็จะยังคงเติบโตในระดับที่สูงกว่าร้อยละ 20 ในขณะที่การเติบโตของกำไรของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นอื่น ๆ ทั้งในแถบยุโรปหรือสหรัฐอเมริกาน่าจะลดต่ำลงกว่านี้มากทีเดียว

ดังนั้น สำหรับผู้ลงทุนที่มุ่งสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนระยะยาวและสามารถมองข้ามความผันผวนในระยะสั้นที่อาจเกิดขึ้น จากผลกระทบของภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจของประเทศสหรัฐอเมริกา การลงทุนในตลาดทุนเอเชียแปซิฟิกน่าจะเป็นคำตอบที่ดี

สหรัฐอเมริกาจะไม่ใช่แรงขับเคลื่อนเพียงหนึ่งเดียวสำหรับเศรษฐกิจโลกอีกต่อไป นับจากนี้เอเชียแปซิฟิก นำโดย จีน อินเดีย และออสเตรเลีย จะกลายเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่จะทำให้นักลงทุนไม่สามารถมองข้ามการลงทุนในภูมิภาคนี้ไปได้เลย
กำลังโหลดความคิดเห็น