ดร. ธีระศักดิ์ ณ ระนอง
อาจารย์ประจำภาควิชาการเงินการธนาคาร
มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (ABAC)
บทความที่ผ่านมาได้พูดถึงกลยุทธ์การลงทุนในช่วงตลาดมีความผันผวนมาก ไม่ว่าจะเป็นทางบวกหรือทางลบ ซึ่งได้แก่ Straddle, Strip, Strap และ Strangle บทความนี้จะพูดถึงกลยุทธ์ที่ท่านสามารถนำไปใช้ได้ในช่วงที่ตลาดมีความผันผวนน้อย โดยสามารถนำไปใช้ได้ทั้งตลาดขาขึ้น (Bull Market) หรือตลาดขาลง (Bear Market) ซึ่งท่านสามารถใช้กลยุทธ์นี้ โดยลงทุนใน Call Option หรือ Put Option ก็ได้ และกลยุทธ์ที่เราจะศึกษากันในบทความนี้ ก็คือ Bull Call Spread, Bull Put Spread, Bear Call Spread และ Bear Put Spread
1) Bull Call Spread หรือ Debit Bullish Spread
คือ การ Long Call Option ที่ราคาใช้สิทธิต่ำ (Premium สูง) และ Short Call Option ที่ราคาใช้สิทธิสูง (Premium ต่ำ) เช่น Long S50M08C600 และ Short S50M08C610 กลยุทธ์นี้เหมาะสำหรับภาวะตลาดขาขึ้นเล็กน้อย (Moderate Bullish Market)
ข้อดี : กลยุทธ์นี้เป็นกลยุทธ์ที่จำกัดความเสี่ยงในช่วงขาลง (Capped Risk) และมีจุดคุ้มทุนของกลยุทธ์ (Breakeven Point) ที่ต่ำกว่าการซื้อ Call Option เพียงอย่างเดียว
ข้อเสีย : สังเกตจากผลลัพธ์ในรูปที่ 1 จะเห็นได้ว่า กลยุทธ์นี้ก็จำกัดผลตอบแทนในช่วงขาขึ้นเช่นกัน (Capped Risk)
ฉะนั้นกลยุทธ์นี้จึงเหมาะกับภาวะที่ท่านคาดการณ์ว่า ตลาดเป็นช่วงขาขึ้นเล็กน้อยรวมทั้งมีความผันผวนที่ไม่มากนัก (Optimistic and Be Conservative)
2) Bull Put Spread หรือ Credit Bullish Spread
คือ การ Long Put Option ที่ราคาใช้สิทธิต่ำ (Premiumต่ำ) และ Short Put Option ที่มีราคาใช้สิทธิสูง (Premium สูง) เช่น Long S50M08P600 และ Short S50M08P610 กลยุทธ์นี้เหมาะสำหรับช่วงที่ตลาดผันผวนไม่มากนัก และเป็นช่วงตลาดขาขึ้นเล็กน้อย เช่นเดียวกับ Bull Call Spread
ข้อดี : กลยุทธ์นี้ผลลัพธ์จะเหมือนกับ Bull Call Spread คือ ใช้จำกัดความเสี่ยงในช่วงขาลง มีจุดคุ้มทุน (Breakeven Point) ที่ต่ำกว่าการซื้อ Put Option เพียงอย่างเดียว และยังมีกระแสเงินเข้า (Credit) สำหรับนักลงทุนด้วย โดยสังเกตว่าท่านได้จ่ายค่า Premium ในราคาที่ถูกกว่าค่า Premium ที่ท่านได้รับในราคาที่ขาย หรือ Short Put Option
ข้อเสีย : สังเกตจากรูป 2 จะเห็นได้ว่ากลยุทธ์นี้จำกัดความเสี่ยงในช่วงขาลง แต่ก็จำกัดผลตอบแทนในช่วงขาขึ้นด้วย (Capped Reward)
ฉะนั้นไม่ว่าท่านจะใช้ Call Option หรือ Put Option ในการทำกลยุทธ์นี้นั้น ผลลัพธ์ก็คือ เป็นการจำกัดความเสี่ยงในช่วงขาลง แต่จำกัดผลตอบแทนในช่วงขาขึ้นด้วย (Capped Risk & Capped Reward) ซึ่งจะใช้ได้ดีในช่วงตลาดขาขึ้นและความผันผวนไม่มากนัก
3) Bear Call Spread หรือ Credit Bearish Spread
คือ การ Long Call Option ที่มีราคาใช้สิทธิสูง (Premiumต่ำ) และ Short Call Option ที่มีราคาใช้สิทธิสูง (Premium ต่ำ) และ Short Call Option ที่ราคาใช้สิทธิต่ำ (Premium สูง) เช่น Long S50H08C600 และ Short S50H08C590 กลยุทธ์นี้เหมาะสำหรับช่วงที่คาดว่าอาจจะเป็นขาลงและมีความผันผวนต่ำ
ข้อดี : กลยุทธ์นี้ประกันความเสี่ยงในช่วงตลาดขาขึ้น และยังมีกระแสเงินเข้าให้แก่นักลงทุนด้วย (Bearish Income Strategy) เนื่องจากว่าท่านซื้อ Call Option โดยจ่าย Premium ต่ำ และขาย Call Option โดยรับ Premium ที่สูง เราจึงเรียกกลยุทธ์นี้ได้อีกชื่อคือ “Credit Bearish Spread”
ข้อเสีย : กลยุทธ์นี้ก็จำกัดผลตอบแทน (Capped Reward) ในกรณีที่ตลาดขาลงด้วย
4) Bear Put Spread หรือ Debit Bearish Spread
คือ การ Long Put Option ที่ราคาใช้สิทธิสูง (Premium สูง) และ Short Put Option ที่ราคาใช้สิทธิต่ำ (Premium ต่ำ) เช่น Long S50H08P600 และ Short S50H08P590 กลยุทธ์นี้เหมาะกับช่วงที่คาดว่าจะเป็นขาลงเล็กน้อย (Moderate Bearish Market) และมีความผันผวนไม่มากนัก
ข้อดี : กลยุทธ์นี้ช่วยประกันความเสี่ยง (Capped Risk) ในช่วงขาขึ้น เพราะท่านคาดการณ์ว่า ตลาดเป็นขาลง
ข้อเสีย : สังเกตได้จากผลลัพธ์ของกลยุทธ์นี้ จะจำกัดผลตอบแทนในเวลาตลาดขาลง (Capped Reward)
ขอขอบคุณ : ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บล.สินเอเซีย จำกัด (ACLS)