xs
xsm
sm
md
lg

ก.ล.ต.ทำความเข้าใจกรอบลงทุนCLN/CLD

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สำนักงานก.ล.ต. ออกหนังสือเวียน ทำความเข้าใจเรื่องของการให้ความเห็นชอบการลงทุนใน CLN/CLD ระบุสามารถลงทุนตราสารหนี้ ที่มีการจ่ายผลตอบแทนอ้างอิงกับเหตุการณ์ที่มีผลต่อการชำระหนี้ขององค์กรกลางระดับประเทศ องค์กรของรัฐบาลต่างประเทศ รวมถึงลงทุนตราสารที่โอนเปลี่ยนมือได้

รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า สำนักงานก.ล.ต. ได้ออกหนังสือเวียนถึงบริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ ประเภทการจัดการกองทุนรวม/กองทุนส่วนบุคคลทุกบริษัท ผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวมทุกราย นายกสมาคมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน เพื่อทำความเข้าใจในเรื่องของการให้ความเห็นชอบการลงทุนใน หรือมีไว้ซึ่งตราสารที่มีลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝงที่มีการจ่ายผลตอบแทนอ้างอิงกับเหตุการณ์ที่มีผลต่อการชำระหนี้ของตราสารหนี้ที่มีองค์การระหว่างประเทศ เป็นผู้ออกหรือผู้ค้ำประกัน และแนวทางพิจารณาความหมายของคำว่า “ตราสารหนี้ของรัฐบาลต่างประเทศ”

ทั้งนี้ จากประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เรื่อง การลงทุนและการมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน ซึ่งกำหนดให้กองทุนรวม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกองทุนส่วนบุคคลรายย่อย ลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งตราสารที่มีลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝงซึ่งได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน และต่อมาสำนักงานได้ให้ความเห็นชอบเป็นการทั่วไปให้ตราสารที่มีลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝงประเภท Credit Linked Note หรือ Credit Linked Deposit (“CLN/CLD”) ที่มีการจ่ายผลตอบแทนอ้างอิงกับเหตุการณ์ที่มีผลต่อการชำระหนี้ของตราสารภาครัฐไทยหรือตราสารหนี้ของรัฐบาลต่างประเทศ เป็นทรัพย์สินที่กองทุนรวม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุนส่วนบุคคลรายย่อยลงทุนหรือมีไว้ได้ นั้น

สำนักงานขอเรียนว่า เพื่อตอบสนองความต้องการเพิ่มประสิทธิภาพการลงทุนของบริษัทจัดการ เห็นชอบให้ตราสารที่มีลักษณะของสัญญา ซื้อขายล่วงหน้าแฝงประเภท CLN/CLD ที่มีการจ่ายผลตอบแทน อ้างอิงกับเหตุการณ์ที่มีผลต่อการชำระหนี้ของตราสารหนี้ที่มีองค์การระหว่างประเทศเป็นผู้ออกหรือผู้ค้ำประกัน เป็นทรัพย์สินที่กองทุนรวม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพและกองทุนส่วนบุคคลรายย่อยลงทุนหรือมีไว้ได้ โดยให้นำเงื่อนไขตามที่กำหนดไว้ก่อนหน้านี้มาใช้บังคับโดยอนุโลม ทั้งนี้ องค์การระหว่างประเทศ ได้แก่ World Bank International Monetary Fund (IMF) และ Asian Development Bank (ADB) เป็นต้น

ทั้งนี้ เนื่องจากมีบริษัทจัดการบางแห่งได้มีหนังสือถึงสำนักงานเพื่อขอหารือเกี่ยวกับความหมายของ “CLN/CLD ที่มีการจ่ายผลตอบแทนอ้างอิงกับเหตุการณ์ที่มีผลต่อการชำระหนี้ของตราสารหนี้ของรัฐบาลต่างประเทศ” สำนักงานจึงขอเรียนชี้แจงให้ทราบแนวทางการพิจารณาว่า ตราสารดังกล่าวหมายความรวมถึงตราสารดังต่อไปนี้ด้วย 1. CLN/CLD ที่มีการจ่ายผลตอบแทนอ้างอิงกับเหตุการณ์ที่มีผลต่อการชำระหนี้ขององค์กรกลางระดับประเทศ เช่น ธนาคารกลางของประเทศ 2. CLN/CLD ที่มีการจ่ายผลตอบแทนอ้างอิงกับเหตุการณ์ที่มีผลต่อการชำระหนี้ของตราสารหนี้ขององค์กรของรัฐบาลต่างประเทศ เช่น กระทรวง ทบวง กรม และ 3.CLN/CLD ที่มีการจ่ายผลตอบแทนอ้างอิงกับเหตุการณ์ที่มีผลต่อการชำระหนี้ ของตราสารหนี้ที่ออกโดยหน่วยงาน องค์กร หรือบุคคลอื่นใด ซึ่งค้ำประกันต้นเงินและดอกเบี้ยเต็มจำนวน แบบไม่มีเงื่อนไขโดยรัฐบาลต่างประเทศ องค์กรของรัฐบาลต่างประเทศ หรือองค์กรกลางระดับประเทศ

นอกจากนี้ ลักษณะของ “ตราสารหนี้ของรัฐบาลต่างประเทศ” ซึ่ง CLN/CLD ดังกล่าว มีการจ่ายผลตอบแทนอ้างอิงนั้น หมายความรวมถึงตราสารลักษณะอื่นใดที่พิจารณาได้ว่าเป็นรูปแบบของตราสารหนี้ซึ่งออกโดยรัฐบาลต่างประเทศ องค์กรของรัฐบาลต่างประเทศ หรือองค์กรกลางระดับประเทศ เช่น ตราสารที่โอนเปลี่ยนมือได้ (Transferable Note) เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น