xs
xsm
sm
md
lg

"แอสเซท พลัสพรีเมี่ยม 6M2" ลงทุน6เดือนรับผลตอบแทน3.1%ต่อปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เมื่อปีหมูไฟที่ผ่านมา กองทุนรวมต่างประเทศที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้ของสถาบันการเงินในยุโรป (ECP) เป็นที่นิยมของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เป็นอย่างมาก ซึ่งจะเห็นได้จากที่มีการทยอยออกกองทุนประเภทดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง เรียกได้ว่าเทรนด์นี้มาแรงมากเลยทีเดียว

ทว่า การลงทุนในตราสารหนี้ของสถาบันการเงินในยุโรป ก็มีอันต้องสร่างซาไปตามการเปลี่ยนแปลงของภาวะการลงทุนในตลาดโลก หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยสูงถึง 1.25% ภายในช่วงเวลาไม่ถึง 2 สัปดาห์ ส่งผลให้ผลตอบแทนของตราสารประเภทนี้ไม่เป็นที่น่าที่น่าสนใจของนักลงทุนอีกต่อไป

หากเปรียบไปแล้วก็คล้ายกับคลื่นลูกใหม่กระทบคลื่นลูกเก่า และเหมือนตัวตายตัวแทนกันนั่นเอง ซึ่งการลงทุนในเครดิตลิงก์โน้ต (CLN) นอกจากจะสามารถให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าแล้ว ยังมีแนวโน้มว่าจะมาแรงในปีนี้ด้วย ล่าสุด บลจ.แอสเซท พลัส ประเดิมเปิดตลาดกองทุนเครดิตลิงค์โน้ตเจ้าแรก วันนี้ คอลัมน์ “MutualFund IPO” เลยขอพามาเกาะติดกระแสกองประเภทนี้กัน

ลดาวรรณ เจริญรัชต์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน แอสเซท พลัส จำกัด เล่าให้ฟังว่า กองทุนเปิดแอสเซทพลัสพรีเมี่ยม 6M2 (ASP-P6M2) เป็นกองทุนรวมผสมที่ไม่ลงทุนในหุ้น มีนโยบายลงทุนในเครดิตลิงค์โน้ต ที่ใช้หลักทรัพย์อ้างอิงเป็นพันธบัตรรัฐบาลไทยในต่างประเทศและเกาหลีใต้ และทำสัญญาป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวน (Fully hedged) โดยมีรอบระยะเวลาการลงทุนสั้น ๆ ทุกประมาณ 6 เดือน

ทั้งนี้ จากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอย่างรวดเร็ว โดยลดลงจาก 4.25% มาอยู่ที่ระดับ 3.00% เพื่อช่วยแก้ปัญหาภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวของสหรัฐฯ ซึ่งส่งผลให้ผลตอบแทนตราสารประเภท ECP ของสถาบันการเงินในต่างประเทศไม่สามารถสร้างผลตอบแทนที่จูงใจเท่ากับช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับความวิตกกังวลถึงการขยายวงกว้างของปัญหาสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Sub prime) ในสถาบันการเงินต่างประเทศ ทำให้ผู้ลงทุนเริ่มกลับมาให้ความสนใจลงทุนในตราสารประเภทพันธบัตรมากขึ้น

จากการคาดการณ์แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยและภาวะการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ บริษัทจึงได้พัฒนารูปแบบการลงทุนในตราสารหนี้ที่อ้างอิงกับพันธบัตรรัฐบาลต่างประเทศ เพื่อเป็นอีกช่องทางในการเพิ่มผลตอบแทน ในขณะที่ไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงจากการลงทุนมากนัก คือการลงทุนใน CLN ซึ่งให้ผลตอบแทนในระดับที่น่าสนใจ และสูงกว่าการลงทุนในตราสารหนี้ในประเทศ โดยความเสี่ยงยังอยู่ในระดับต่ำจากการอ้างอิงหลักทรัพย์ประเภทพันธบัตรรัฐบาล คาดว่าตราสาร CLN จะได้รับความสนใจจากผู้ลงทุนเช่นเดียวกับการลงทุนใน ECP ที่ผ่านมา หลังจากที่ทางสำนักงาน ก.ล.ต.ได้ประกาศอนุญาตให้กองทุนสามารถลงทุนในตราสารประเภทนี้ได้แล้ว

"ลดาวรรณ" บอกว่า CLN ถือเป็นตราสารทางการเงินใหม่ ที่ใช้นวัตกรรมทางการเงินมาช่วยบริหารผลตอบแทนและความเสี่ยงจากการลงทุน โดยสถาบันการเงินที่ออกตราสารดังกล่าวจะจ่ายคืนเงินต้นและผลตอบแทนให้กับผู้ลงทุน ที่หลักทรัพย์อ้างอิงเป็นพันธบัตรรัฐบาล จึงถือได้ว่าความเสี่ยงของการผิดนัดชำระหนี้อยู่ในระดับต่ำมาก รวมถึงการทำสัญญาป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน ทำให้กองทุนไม่มีความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน จึงถือเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ สำหรับผู้ที่เน้นการลงทุนเฉพาะในตราสารหนี้ หรือผู้ลงทุนที่มีความกังวลกับปัญหาเรื่องซับไพรม์ และต้องการลงทุนในตราสารที่มีระดับความเสี่ยงต่ำ และต้องการโอกาสผลตอบแทนสูงกว่าเงินฝากประจำ จากการลงทุนในตราสารระยะสั้นประมาณ 6 เดือน โดยผลตอบแทนจากการลงทุนไม่เสียภาษี

วสุ สุทธิพงษ์ชัย ผู้จัดการกองทุน บลจ.แอสเซท พลัส กล่าวเสริมว่า CLN เป็นตราสารหนี้ประเภทหนึ่งที่ผลตอบแทนขึ้นอยู่กับความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ออก และหลักทรัพย์อ้างอิง ได้แก่ พันธบัตรรัฐบาล โดยผู้ออกตราสารจะจ่ายคืนเงินต้นและผลตอบแทนตามจำนวนหน้าตั๋วให้เมื่อครบกำหนดอายุของตราสารที่ลงทุน โดยทั่วไป CLN ที่กองทุนลงทุนได้ตามกฎ ก.ล.ต. (SEC) จะออกโดยสถาบันการเงินที่มีความมั่นคง โดยทั้งผู้ออกและหลักทรัพย์ที่ใช้อ้างอิง คือ พันธบัตรรัฐบาล จะต้องได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือระยะยาวอยู่ใน 3 อันดับแรก (ไม่ต่ำกว่า A โดย Standard & Poor's Ratings Services หรือ S&P) อันดับความน่าเชื่อถือระยะสั้นอยู่ใน 2 อันดับแรก (ไม่ต่ำกว่า A-1 โดย S&P) โดยสถาบันการจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับสากล เช่น S&P, Moody’s ทำให้โอกาสที่ตราสาร CLN และหลักทรัพย์อ้างอิงจะผิดนัดชำระหนี้อยู่ในระดับต่ำ

สำหรับรูปแบบการลงทุนของกองทุนแอสเซทพลัสพรีเมี่ยม 6M2 เป็นการใช้ประโยชน์จากลักษณะของตราสารประเภท CLN ที่เอื้อประโยชน์ให้สามารถลงทุนในตราสารคุณภาพแต่มีข้อจำกัดด้านการลงทุนต่างๆ เช่น การจำกัดสัดส่วนการลงทุนของผู้ลงทุนต่างชาติ การเก็บภาษีจากการลงทุนในต่างประเทศ เช่น พันธบัตรรัฐบาลเกาหลีใต้ เนื่องจากประเทศไทยไม่ได้ทำอนุสัญญาภาษีซ้อนกับประเทศเกาหลีใต้ ทำให้การซื้อพันธบัตรรัฐบาลเกาหลีใต้โดยตรงจะต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่ายถึง 15% บวกกับค่าใช้จ่ายของดูแลผลประโยชน์ทรัพย์สินของนักลงทุนต่างประเทศ

ดังนั้น กองทุนจึงลงทุนใน CLN ที่ออกโดยธนาคารที่มีความมั่นคงและได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือใน 3 อันดับแรก โดยมีหลักทรัพย์อ้างอิงเป็นพันธบัตรรัฐบาลเกาหลีใต้ และพันธบัตรรัฐบาลไทยที่ขายในต่างประเทศแทน ทำให้กองทุนสามารถสร้างผลตอบแทนที่สูงขึ้นจาก Credit Spread ตามจังหวะการลงทุน ภาษี และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ด้วย

"วสุ" บอกว่า ธนาคารผู้ออกตราสาร CLN ที่กองทุน ASP-P6M2 จะลงทุนเป็นสถาบันการเงินที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือใน 3 อันดับแรกจาก S&P เช่น ธนาคาร Swedish Export Credit Corporation (SEK) ซึ่งเป็นธนาคารที่ให้สินเชื่อกับผู้ส่งออกเพียงรายเดียวในประเทศสวีเดน ที่ถือหุ้นโดยรัฐบาลสวีเดน 100% มีมูลค่าสินทรัพย์สุทธิในปี 2006 ที่ 27,599 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ธนาคาร Eksportfinans ASA เป็นธนาคารผู้ให้สินเชื่อให้กับผู้ส่งออกรายใหญ่ของประเทศนอร์เวย์ ให้บริการทางด้านการเงินให้กับผู้ส่งออกภาคเอกชน เช่น บริษัท โนเกีย และรัฐบาล มีรัฐบาลของประเทศนอร์เวย์ถือหุ้นอยู่ 15% และอีก 57% ถือหุ้นโดย 3 ธนาคารที่ใหญ่ที่สุดของประเทศนอร์เวย์ มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิในปี 2006 ที่ 30,011 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้ผู้ลงทุนมั่นใจได้ว่าผู้ออกตราสาร CLN ที่กองทุนเลือกลงทุนเป็นสถาบันการเงินที่มีความมั่นคง และมีโอกาสจะผิดนัดชำระหนี้น้อยมาก

นอกจากนี้ อัตราผลตอบแทนของหลักทรัพย์อ้างอิง คือ พันธบัตรรัฐบาลเกาหลีใต้ และพันธบัตรรัฐบาลไทยในต่างประเทศ สามารถให้ผลตอบแทนที่น่าสนใจ โดยอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรหลังหักค่าใช้จ่ายการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนเต็มจำนวนแล้วจะอยู่ในระดับ 3.0 -3.1%

ทั้งนี้ แอสเซท พลัส กำหนดเสนอขายกองทุนเปิดแอสเซทพลัสพรีเมี่ยม 6M2 มูลค่าโครงการ 1,700 ล้านบาทตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ – 3 มีนาคม 2551 ซื้อขั้นต่ำเพียง 5,000 บาท สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์บริการลูกค้า โทรศัพท์ 02-672-1111 และผู้สนับสนุนการขายและรับซื้อคืนที่ บลจ.แอสเซท พลัส แต่งตั้ง หรือเว็บไซต์ www.assetfund.co.th


กำลังโหลดความคิดเห็น