xs
xsm
sm
md
lg

"วัฒนธรรมการลงทุน"อุปสรรคใหญ่ที่ต้องทำให้สำเร็จ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คนไทยกับการลงทุนเป็นเรื่องที่ยังมีความเข้าใจแบบกระจุกตัว แต่ไม่ได้หมายถึงการแบ่งแยกระหว่างคนในกรุงเทพฯ กับคนต่างจังหวัดแต่อย่างใด โดยสิ่งที่เป็นอุปสรรคมากที่สุดในเรื่องนี้คือความรู้ความเข้าใจ ที่คนไทยยังเข้าไม่ถึงเสียมากกว่า ซึ่งสังเกตได้ไม่ยาก เมื่อดูจากเงินออมที่ถูกนำไปสำรองในรูปเงินฝากของประชากรส่วนใหญ่ในประเทศ

สถานการณ์ในเรื่องความเข้าใจต่อการลงทุนนั้น ภาครัฐเองได้ตระหนักและมีการส่งเสริมให้ประชาชนหันมาลงทุนผ่านเครื่องมือต่างๆ ในตลาดหลักทรัพย์ แต่ที่ชัดเจนมากที่สุดเห็นจะเป็นการลงทุนผ่านกองทุนรวมประเภทต่างๆ ที่มีการใช้มาตรการภาษีมาเป็นตัวจูงใจ

หากติดตามการเคลื่อนไหวของการกระตุ้นการลงทุนผ่านกองทุนรวมแล้ว เชื่อว่ากิจกรรมส่งเสริมการลงทุนของตลาดหลักทรัพย์ฯ ด้วยการร่วมมือกับบลจ.ต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมาถือว่าสอบผ่านในระดับหนึ่ง แต่หลังจากนี้จะทำอย่างไรต่อไป และอุปสรรคที่ผ่านมาคืออะไรนี่แหละคือสิ่งที่หลายคนอยากทราบ

วิเชฐ ตันติวานิช รองผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ บอกกับเราว่า การลงทุนผ่านกองทุนรวมของคนไทยในช่วงที่ผ่านมาถือว่ามีการเปลี่ยนแปลงดีขึ้นมาก ซึ่งจากการจัดกิจกรรมของตลาดหลักทรัพย์เพื่อส่งเสริมการลงทุนผ่านกองทุนรวมในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาประสบความสำเร็จไปได้ด้วยดี

“ในช่วง 2-3 ปีแรกเราได้เน้นให้ความรู้เกี่ยวกับการลงทุน เพื่อให้นักลงทุนเข้าใจว่าการลงทุนผ่านกองทุนรวมเป็นอย่างไรบ้าง หลังจากที่เขาเจอวิกฤตจนทำให้เอ็นเอวีมีมูลค่าลดลง และก็ทำให้นักลงทุนมีการชะลอการขายลง โดยที่บ้างส่วนก็มีการลงทุนเพิ่มเต็มบ้างเช่นกัน”

ทั้งนี้ การทำกิจกรรมต่างๆ ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ทั้งโครงการ *”ให้เงินทำงานผ่านกองทุนรวม” และ””โครงการมีเงินต้องเก็บมี LTF ต้องใช้” *ทำให้ในช่วง 2 ปีหลังของการทำกิจกรรม ซึ่งเราจะเน้นการขายกองทุนเลยได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุนเป็นจำนวนมาก จนทำยอดนักลงทุนผ่านกองทุนประเภทนี้เพิ่มสุงกว่าร้อยเท่าในช่วงที่ผ่านมา

เห็นอย่างนี้แล้วชื่นใจเมื่อ คุณวิเชฐ ยังบอกอีกว่าคนไทยสมัยนี้มีความเข้าใจเกี่ยวกับการลงทุนเพิ่มมากขึ้นแล้ว หลังจากในช่วงก่อนที่มีเงินจะนำไปฝากแบงก์อย่างเดียว และถึงแม้การลงทุนผ่านกองทุน RMF และ LTF ของคนบางส่วนจะเป็นการลงทุนเพียงเพื่อต้องการสิทธิทางภาษีก็ตาม แต่การลงทุนผ่านกองทุนประเภทนี้ถือเป็นการลงทุนระยะยาวนักลงทุนน่าจะมีความรู้และได้ประโยชน์หลังจากลงทุนบ้างเช่นกัน

แต่ท่ามกลางความเข้าใจก็ยังมีอุปสรรคอยุ่เหมือนกัน และ”วัฒนธรรมการลงทุน”ถือเป็นงานหนัก และต้องระยะเวลานานทีเดียวกว่าที่คนไทยจะเข้าใจในเรื่องนี้

คุณวิเชฐ พูดถึงอุปสรรคในเรื่องนี้ว่า หลังจากที่เราได้มีการให้ความรู้นักลงทุนแล้ว แต่กลับต้องเผชิญสิ่งที่ท้าทายกว่าคือการสร้างวัฒนธรรมการลงทุนที่ชัดเจนให้กับคนไทย โดยประชาชนที่มีเงินเพียงแต่ใช้ หรือลงทุนบ้าง แต่ส่วนใหญ่ยังไม่มีการวางแผนการลงทุนไว้เพื่ออนาคต ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดเรื่องหนึ่ง

“อุปสรรคที่เจอหลังจากที่ประชาชนเริ่มมีความรู้เกี่ยวกับการลงทุนแล้ว คือการสร้างวัตนธรรมการลงทุนที่ชัดเจน ซึ่งเรายังไม่เห็นในสิ่งนี้ การลงทุนของประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่มีการวางแผนการเงินที่ชัดเจน ซึ่งต่อไปการสร้างจิตสำนึกในเรื่องจะเป็นสิ่งสำคัญที่เราต้องทำ แต่คงต้องใช้เวลานานพอสมควร”

อย่างไรก็ตาม ในปีนี้เรามีธีมหลักใหญ่ๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้เอาไว้แล้วได้แก่แนวคิด "ชีวิตคือการลงทุน” เพื่อปลูกฝังการลงทุนเพื่ออนาคต โดยจะมีการรณรงค์ให้คนไทยหันมาสนใจวางแผนการลงทุนในเรื่องนี้มากขึ้น ด้วยการเน้นในเรื่องของการลงทุนตามวิถีชีวิตที่เกี่ยวข้อง

การลิงก์การลงทุนให้เกี่ยวข้องการดำเนินชีวิตในรูปแบบต่างๆ เชื่อว่าจะสามารถทำให้ประชาชนเข้าถึงวัฒธรรมของการลงทุนได้ดีขึ้น ยกตัวอย่างเช่น คู่แต่งงานที่ต้องการมีลูก ก็ควรที่จะมีการลงทุนเพื่อวางแผนให้กับลูกในอนาคต ทั้งในเรื่องเรียนและการดำเนินชีวิตของเด็กเอง ส่วนคนที่เพิ่งเริ่มทำงานแล้วอยากมีเงินเรียนต่อก็สามารถลงทุนเพื่อการเรียนได้เช่นกัน

การกระจุกตัวของนักลงทุนที่มีความรู้

แม้ประชาชนจะเริ่มมีความรู้ในเรื่องนี้แล้วแต่ส่วนใหญ่ยังคงกระจุกตัวอยู่ตามหัวเมืองใหญ่ๆ มากกว่า ซึ่งที่ผ่านมาการจัดกิจกรรมต่างของตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้คำนึงถึงเรื่องนี้เช่นกัน

โดยวิเชฐ ได้บอกว่า การที่ประชาชนที่มีความเข้าใจเกี่ยวกับการลงทุนกระจุกตัวอยู่ตามหัวเมืองใหญ่ๆ ถือเป็นปัญหาในการกระจายความรู้ในเรื่องนี้เหมือนกัน แต่แนวทางหนึ่งที่คาดว่าน่าจะทำให้เกิดการกระจายตัวของนักลงทุนได้น่าจะเป็น การที่ตลาดหลักทรัพย์ได้เดินสายโรคโชว์ไปตามจังหวัดต่างๆ โดยการเน้นให้ความรู้การลงทุนแก่กลุ่มคนรุ่นใหม่เป็นหลัก ซึ่งหลังจากนี้คาดว่าจะทำให้คนรุ่นใหม่เหล่านี้ช่วยแก้ปัญหาการกระจุกตัวของความรู้ด้านการลงทุนได้

“คนรุ่นใหม่ที่เราเดินสายให้ความรู้ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ตอนนึ้คงจะอยู่ในวัยทำงานกันบ้างแล้ว และเมื่อเริ่มมีรายได้ขึ้นมาบนพื้นฐานความรู้ที่เราให้ เชื่อว่าจะทำให้เกิดการกระจายการลงทุนมากขึ้น โดยยิ่งตอนนี้ช่องทางการลงทุนต่างๆ มีเพิ่มขึ้นกว่าเมื่อก่อนแล้วด้วย จะทำให้การลงทุนมีการขยายตัวมากขึ้นได้อีก”

พ.ร.บ.คุ้มครองเงินฝากกับการขยายตัวของการลงทุน

ในช่วงที่ผ่านมามีหลายฝ่ายพูดถึงพ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นจำนวนมาก บ้างว่าจะทำให้มีเงินออมจากธนาคารไหลออกมาลงทุนในรูปแบบต่างๆ มากขึ้น แต่มีบ้างกลุ่มเชื่อว่าแบงก์เองน่าจะหาหนทางรักษาลูกค้าเอาไว้เช่นกัน แต่ที่แน่หากคนมีความรู้แล้วเปรียบเทียบความเสี่ยงที่ได้รับจาการลงทุนกับเงินฝากได้อะไรจะเกิดขึ้น

คุณวิเชฐ เชื่อว่า หลังจากพ.ร.บ.คุ้มครองเงินฝากบังคับใช้แล้ว จะกระทบต่อผู้มีเงินฝากมากว่า 1 ล้านบาท ซึ่งพ.ร.บ.นี้จะกลายเป็นตัวกระตุ้นการลงทุนได้เป็นอย่างดี และในช่วง 2-3 ปีแรกคงจะไม่เห็นผลเท่าไร แต่เมื่อลดอัตราคุ้มครองจนครบตามกำหนดแล้วคงจะมีนักลงทุนให้มาลงทุนเพิ่มมากขึ้น โดยนโยบายนี้จะผลักดันให้ประชาชนจำเป็นที่จะต้องหันมาสนใจการลงทุนมากขึ้น หลังจากที่การฝากเงินได้รับความคุ้มครองและไม่มีความเสี่ยง แต่หลังจาก 5 ปีแล้ว การฝากเงินเกิน 1 ล้านบาทจะมีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น และเมื่อเทียบกับการลงทุนแล้วประชาชนจะตัดสินใจลงทุนได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม

ทั้งนี้ไม่ว่าการลงทุนจะเป็นในรูปแบบใดก็ตาม น่าจะเป็นผลดีเพราะมีการลงทุนเข้ามาจริงๆ และหากนักลงทุนมีความเข้าใจมากขึ้นแล้ว ผลดีคงไม่ได้ตกอยู่เพียงแค่การลงทุนผ่านกองทุนรวมเท่านั้น แต่จะส่งผลต่อการลงทุนในช่องทางอื่นๆ ด้วย

“นักลงทุนที่เคยลงทุนผ่านกองทุนรวมแล้วจะเริ่มมีความรู้ เนื่องจากการให้ความรู้ก่อนการลงทุนของบลจ.ต่างๆ จะมีส่วนให้นักลงทุนเข้าใจในเรื่องนี้มากขึ้น และเมื่อมีความรู้มากขึ้นเชื่อว่า บางคนน่าจะมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการลงทุนไปลงทุนในรูปแบบอื่นได้ ไม่จำเป็นต้องผ่านมืออาชีพจากกองทุนรวมตลอดเวลา”

สำหรับการวางแผนการลงทุนเพื่ออนาคตนั้น ขณะนี้ได้มีการส่งเสริมการลงทุนกันอย่างต่อเนื่อง โดยบลจ.กสิกรไทย เองถือเป็นบลจ.แรกๆ ที่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ และพยายามยกระดับตัวเองให้เป็นที่ปรึกษาด้านการลงทุนเพื่ออนาคต ด้วยโครงการ K-WePlan ที่ร่วมมือกับธนาคารกสิกรไทย ขณะที่บลจ.เอ็มเอฟซี ก็มีการจัดตั้งกองทุนในรูปแบบใหม่ 4 กอง 4 สไตล์ เพื่อให้นักลงทุนได้วางแผนตามความต้องการ และความเสี่ยงของตนเองเช่นกัน

สรุปสุดท้ายเรื่องความรู้ และการสร้างวัฒนธรรมการลงทุน เป็นเรื่องสำคัญที่สุดสำหรับการกระตุ้นการลงทุนของคนในประเทศ แต่หลังจากที่ประชาชนเริ่มมีความรู้บ้างแล้ว การสร้างวัฒนธรรมการลงทุนที่ชัดเจน จะกลายเป็นเรื่องสำคัญมากขึ้นไปอีก และทุกคนควรจะต้องช่วยกันส่งเสริมเรื่องนี้ในระยะยาวต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น