ช่วงประมาณเดือนกันยายนปี 2550 ที่ผ่านมา ธุรกิจกองทุนรวมในบ้านเราได้ทำความรู้จักกับ กองทุน ECP เป็นครั้งแรก...หลายคนได้ยินชื่อ "กองทุน ECP" อาจจะไม่เข้าใจ แต่หากขยายความว่าเป็นกองทุนรวมต่างประเทศที่ลงทุนในตราสารหนี้คุณภาพดีของสถาบันการเงินในต่างประเทศ หรือลงทุนในตราสารที่เรียกว่า ECP (Euro Commercial Paper) น่าจะรู้จักเป็นอย่างดี
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้กองทุน ECP ได้รับความสนใจจากนักลงทุนและบรรดาบริษัทจัดการกองทุน...ก็คือ ผลตอบแทน ซึ่งในช่วงแรก กองทุนนี้ให้ผลตอบแทนประมาณ 3% กว่าๆ ก่อนจะขยับขึ้นได้สูงถึง 3.70% ต่อปี (สำหรับกองทุนที่มีอายุการลงทุน 6 เดือนและมีการป้องกันความเสี่ยงค่าเงินแล้ว 100%)...แน่นอนว่าผลตอบแทนที่อยู่ในระดับ 3% เช่นนี้ เป็นตัวเลือกที่นักลงทุนจะให้ความสนใจเป็นอันดับแรก เพราะถ้าลงทุนในตราสารหนี้บ้านเรา ณ ขณะนั้น ก็จมปลักอยู่กับอัตราดอกเบี้ยแค่ 2% กว่าๆ เท่านั้น
หลังจากเกิดปรากฏการณ์กองทุน ECP กองแรกๆ ออกมา...กองที่สอง ที่สาม และที่สี่....ก็ตามมาเป็นขบวน จนแถบนับไม่ท้วน ซึ่งจำนวนกองทุนที่ออก ก็ล้วนแล้วแต่ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า เต็มมูลค่าโครงการเกือบทุกกอง ส่งผลให้บรรดาบริษัทจัดการกองทุนยิ้มหน้าบานกันเป็นแถว เพราะช่วยเพิ่มสินทรัพย์ภายใต้การบริหารได้เยอะพอสมควร แล้วยิ่งเป็นการเพิ่มแบบไม่ต้องออกแรงมากเช่นนี้ด้วยแล้ว...
จบปี 2550 ที่ผ่านมา กองทุนรวมต่างประเทศหรือ FIF มีเงินลงทุนขยับขึ้นจากจำนวนเงินรวม 28,880.75 ล้านบาทในเดือนธันวาคม 2549 เป็น 209,274.05 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นเงินลงทุนใหม่ประมาณ 180,393.30 ล้านบาทหรือคิดเป็นการเติบโตในอัตรา 624.61%...แน่นอนว่า กองทุน ECP ถือว่ามีส่วนสำคัญเลยทีเดียว
...แต่หลังจากการประกาศลดอัตราดอกเบี้ยแบบฉุกเฉินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)ในอัตรา 0.75% ก่อนจะขยับลงอีกครั้ง 0.50% ในรอบการประชุมปกติในช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา...กลับกลายเป็นมาตรการคุมกำเนิดกองทุน ECP เลยก็ว่าได้ เพราะการปรับลดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยของตั๋ว ECP ลดลงชนิดที่ว่าไม่มีความน่าสนใจไปมากกว่าตราสารหนี้ในประเทศเลย ส่วนกองทุนที่กำลังจะจ่อคิวลุยตลาด ก็เป็นอันต้องเลื่อนไปโดยปริยาย...แล้วการลงทุนในประเทศก็เริ่มได้รับความสนใจจากผู้ลงทุนอีกครั้ง
ถึงวันนี้ กองทุน ECP อายุ 3 เดือน และ 6 เดือน กำลังจะครบอายุการลงทุนกันแล้ว หลายคนที่ลงทุนไปคงน่าจะพอใจกับผลตอบแทนที่ได้รับ...แต่เรื่องนี้ กลายเป็นโจทย์ที่มีความท้าทายของบริษัทจัดการกองทุน ในการสรรหากองทุนที่สามารถทดแทนกันได้ เพื่อรองรับเงินของลูกค้าที่อาจจะอยากลงทุนต่อ...
บลจ.ประสานเสียงตราสารหนี้ในประเทศฮอต!
สมชัย บุญนำศิริ กรรมการผู้จัดการ บลจ. กรุงไทย กล่าวว่า กองทุนตราสารหนี้ของเราที่ออกไปลงทุนตั๋ว ECP ได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดีเช่นกัน โดยมีมูลค่าเงินลงทุนรวมประมาณ 17,000 ล้านบาท จากจำนวนกองทุนอายุ 3 เดือนและ 6 เดือนประมาณ 10 กองทุน ซึ่งหลังจากกองทุนเริ่มทยอยครบอายุ แน่นอนว่าทางเลือกอันดับต้นๆ คงเป็นกองทุนตราสารหนี้ในประเทศ เพราะการลงทุนใน ECP ไม่ต่างจากตราสารหนี้ในประเทศมากนัก แถมบางช่วงอายุยังต่ำกว่าอีกด้วย
ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา บลจ.กรุงไทยเอง ได้ออกกองทุนตราสารหนี้เพื่อรองรับเงินลงทุนดังกล่าวไปบ้างแล้ว โดยกองทุนตราสารหนี้ดังกล่าว เน้นลงทุนในตั่วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาล รวมถึงตราสารหนี้ภาคเอกชนที่มีคุณภาพดี โดยมีสัดส่วนการลงทุนประมาณ 60% ในตั๋วเงินคลัง และอีก 40% ในตราสารหนี้เอกชนและให้ผลตอบแทนประมาณ 2.7% ต่อปี ซึ่งหลังจากเปิดขายก็ได้รับความสนใจจากลูกค้าในการเอาเงินมาลงทุนต่อเป็นจำนวนมาก
ขณะเดียวกัน เราก็หาแหล่งพักเงินให้กับลูกค้าเพื่อรอจังหวะการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ หรือรอโอกาสลงทุนในตั๋ว ECP อีกครั้งหากผลตอบแทนน่าสนใจ โดยเราเองแนะนำให้ลูกค้าใช้ "กองทุนเปิดกรุงไทยสะสมทรัพย์" ซึ่งเป็นกองทุนรวมตลาดเงิน (มันนี่มาร์เกต) เป็นแหล่งพักเงิน ซึ่งกองทุนดังกล่าวสามารถซื้อขายหน่วยลงทุนได้ทุกวัน
นางโชติกา สวนานนท์ กรรมการผู้จัดการ บลจ.ทหารไทย บอกว่า สำหรับบลจ.ทหารไทย เปิดขายกองทุนที่ลงทุนในตั๋ว ECP ไปประมาณ 15 กองทุน ซึ่งกองทุนของเราเอง ทยอยครบอายุไปตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมาแล้ว และกองทุนที่ครบอายุดังกล่าว เราจะแนะนำให้ลูกค้าลงทุนต่อ ผ่านกองทุนเปิดทหารไทยธนบดีเป็นหลัก
โดยในจำนวนกองทุนที่หมดอายุไปก่อนหน้านี้ ลูกค้าส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดก็สนใจลงทุนต่อผ่านกองทุนเปิดธนบดี ซึ่งจะเห็นได้อย่างชัดเจนจากจำนวนเงินลงทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 43,438.21 ล้านบาทในช่วงต้นปี มาอยู่ที่ 48,896.84 ล้านบาทในปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 13 ก.พ.) ส่วนหนึ่งเพราะกองทุนนี้เหมือนเป็นแหล่งพักเงินให้ลูกค้า เพื่อรอจังหวะการลงทุนในกองทุนอื่นๆ ต่อไป
นายจุมพล สายมาลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายการตลาด-กองทุนรวม บลจ. ไอเอ็นจี กล่าวว่า กองทุน ECP ของเราทยอยครบอายุไปบ้างแล้วตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา ซึ่งเราเองก็เปิดขายกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นในประเทศออกมารองรับ นั่นคือ กองทุนเปิด ไอเอ็นจี ไทย เอ็มเอ็ม 19 และกองทุนเปิด ไอเอ็นจี ไทย เอ็มเอ็ม 20 อายุ 3 เดือน ซึ่งทั้ง 2 กองทุนได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากลูกค้า จนสามารถระดมทุนได้เต็มมูลค่าทั้ง 2 กอง ซึ่งเงินลงทุนที่ไหลเข้ามาดังกล่าวพูดได้ 100%ว่า เป็นเงินลงทุนที่โยกมาจากกองทุน ECP ที่ครบอายุแล้ว
"ตอบได้ 100% ว่าเงินที่ไหลเข้ามาเป็นเงินลงทุนต่อเนื่องหลังจากกองทุน ECP ครบอายุแล้ว ซึ่งตราสารหนี้ในประเทศเองให้ผลตอบแทนในระดับที่ใกล้เคียงกัน และสามารถตอบโจทย์การลงทุนระยะสั้นของลูกค้าได้ เพียงแต่โยกการลงทุนต่างประเทศมาเป็นการลงทุนในประเทศเท่านั้น"
ประภาส ตันพิบูลย์ศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บลจ.อยุธยา กล่าวว่า กองทุน ECP ของเราจะเริ่มครบอายุการลงทุนประมาณเดือนมีนาคมนี้ ซึ่งในช่วงดังกล่าวเราจะออกกองทุนปิดที่มีลักษณะการลงทุนใกล้เคียงกันออกมารองรับ แต่จะเป็นกองทุน ECP อยู่หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับผลตอบแทนว่าจะอยู่ในระดับที่น่าสนใจและเป็นผลตอบแทนที่ลูกค้าพอใจหรือไม่ โดยอีกหนึ่งตัวเลือกที่เราสนใจคือ การลงทุนในกองทุนประเภทเครดิตลิ้งค์โน้ต
ขณะเดียวกัน ทางเลือกการลงทุนในตราสารหนี้ในประเทศก็น่าจะได้รับความสนใจจากผู้ลงทุน แต่ก็ขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกค้าด้วย ถ้าหากต้องการหาแหล่งลงทุนที่มั่นคงให้กับเงินของตัวเอง ดีมานด์การลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลก็คงจะเพิ่มขึ้น
ส่วนกองทุนเอฟไอเอฟประเภทอื่นๆ เช่นกองทุนหุ้น อาจจะได้รับการตอบรับค่อนข้างน้อย เพราะผู้ลงทุนส่วนใหญ่ยังกังวลกับปัญหาสินเชื่ออสังหาด้อยคุณภาพ (ซับไพรม์) ในสหรัฐที่ส่งผลกระทบต่อบรรยากาสการลงทุนทั่วโลกเป็นระยะๆ ในขณะนี้ ซึ่งในแง่ของผู้ลงทุนเอง อาจจะต้องการรอความชัดเจนของปัญหาดังกล่าวอีกสักระยะว่าจะคลี่คลายเมื่อไหร่ เพื่อความปลอดภัยของเงิน
"ตอนนี้ดีมานด์ของกองทุน ECP น้อยลงอย่างเห็นได้ชัด เพราะนักลงทุนส่วนใหญ่ห่วงว่าจะมีความเกี่ยวข้องกับปัญหาซับไพรม์ เนื่องจากกองทุนประเภท ECP เป็นการลงทุนในตราสารของสถาบันการเงินต่างประเทศ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว"
สำหรับบลจ.อยุธยา มีกองทุน ECP ออกมาประมาณ 11 กองทุน ซึ่งเป็นกองทุนระยะสั้นอายุ 6 เดือนทั้งหมด 10 กองทุนและกองทุนอายุ 3 เดือน 1 กองทุน โดยมีมูลค่าเงินลงทุนรวมประมาณ 15,000 ล้านบาท