xs
xsm
sm
md
lg

กองทุนรวมม.ค.โต4.9พันล้านจับตาพันธบัตรบูมหลังECPทยอยครบอายุ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กองทุนรวมเดือนแรกปีหนูยังฟืด เงินลงทุนใหม่ไหลเข้าเพียง 4,951.02 ล้านบาท แม้จะได้ตราสารหนี้-เอฟไอเอฟหนุนกว่า 2.7 หมื่นล้าน แต่กลับโดนกองทุนหุ้นสะกัดดาวรุ่ง หลังพิษซับไพรม์อาวะวาดหนัก ด้าน"ไทยพาณิชย์-กสิกรไทย" ยังแกร่งรักษาเบอร์ 1 และ 2 เอาไวเช่นเดิม ขณะที่ "บัวหลวง" เบียด "ทหารไทย" แซงขึ้นเบอร์ 3 จับตาเดือนกุมภาฯ กองทุนพันธบัตรระยะสั้นขายดี รองรับตั๋ว ECP ที่จะทยอยครบอายุ

รายงานข่าวจากสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (สมาคมบลจ.) เปิดเผยถึงการลงทุนในกองทุนรวมในเดือนมกราคมที่ผ่านมาว่า ยังคงมีเงินลงทุนในไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกองทุนตราสารหนี้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งจากรายงานจำนวนเงินลงทุนในกองทุนรวมทั้งระบบ ณ วันที่ 25 มกราคม 2551 มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 1.43 ล้านล้านบาท โดยคิดเป็นเงินลงทุนใหม่ที่เพิ่มขึ้นประมาณ 4,951.02 ล้านบาท จากจำนวนเงินลงทุนรวม 1.42 ล้านล้านบาท

ทั้งนี้ หากแยกออกเป็นเงินลงทุนในกองทุนแต่ละประเภทพบว่า กองทุนต่างประเทศ (FIF) เป็นกองทุนที่มีจำนวนเงินเพิ่มขึ้นสูงสุด โดยมีเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 287,102.64 ล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 77,828.58 ล้านบาท จากเงินลงทุนรวม 209,274.05 ล้านบาทในเดือนธันวาคมปีที่แล้ว โดยเงินลงทุนใส่วนใหญ่ที่เพิ่มขึ้น ยังคงมาจากกองทุนตราสารหนี้ประเภท ECP เป็นหลัก โดยมีกองทุนหุ้นต่างประเทศเข้ามาเสริมบ้าง

สำหรับกองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศ เริ่มเห็นจำนวนเงินลงทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด หลังจากปีที่ผ่านมานักลงทุนโยกไปลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศมากกว่า โดยในเดือนมกราคมมีจำนวนเงินลงทุนในกองทุนดังกล่าวรวมทั้งสิ้น 978,713.88 ล้านบาท เพิมขึ้นประมาณ 27,907.59 ล้่านบาทจากเงินลงทุนรวม 950,806.28 ล้านบาทในปีก่อน ทั้งนี้ สาเหตุนักลงทุนเริ่มหันกลับมาลงทุนในประเทศเพิ่มขึ้น น่าจะมาจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ ที่กดดันให้ผลตอบแทนในต่างประเทศลดลงตามไปด้วย

ขณะที่กองทุนที่มีสัดส่วนการลงทุนในหุ้น พบว่ามีเงินลงทุนลดลงกันอย่างถ้วนหน้า โดยเฉพาะกองทุนหุ้นที่มีจำนวนเงินลงทุนลดลงประมาณ 11,535.39 ล้านบาทมาอยู่ที่ 120,537.25 ล้านบาทจากจำนวนเงินลงทุนรวม 132,072.65 ล้านบาทในเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ส่วนกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ซึ่งมีนโยบายเน้นลงทุนในหุ้นก็มีจำนวนเงินที่ลดลงเช่นกัน โดยในเดือนมกราคม กองทุนแอลทีเอฟมีจำนวนเงินรวมทั้งสิ้น 45,594.20 ล้านบาท ลดลง 3,813.84 ล้านบาทจากเงินลงทุนรวม 49,408.05 ล้านบาท เช่นเดียวกับกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (อาร์เอ็มเอฟ) ซึ่งมีเงินลงทุนรวม 36,649.02 ล้านบาท ลดลงประมาณ 1,367.83 ล้านบาท จากเงินลงทุนรวม 38,016.85 ล้านบาท

"ถึงแม้ว่ากองทุนตราสารหนี้และกองทุนต่างประเทศจะขยายตัวได้ค่อนข้างมาก แต่การที่กองทุนหุ้นรวมถึงกองทุนพิเศษเช่น กองทุนแอลทีเอฟ อาร์เอ็มเอฟ ที่ลงทุนในหุ้นมีจำนวนเงินที่ลดลงจากการปรับตัวลดลงของดัชนี จึงส่งผลให้ภาพรวมของการลงทุนในเดือนแรกของปี 2551 มีเงินลงทุนรวมเพิ่มขึ้นเพียง 4 พันกว่าล้านเท่านั้น"รายงานข่าวกล่าว

สำหรับส่วนแบ่งการตลาด (มาร์เกตแชร์) พบว่า บริษัทจัดการกองทุน (บลจ.) ในเครือแบงก์ขนาดใหญ่ ยังคงรักษาฐานเงินลงทุนเอาไว้ได้อย่างเหนียวแน่น ขณะเดียวกันยังมีเงินลงทุนใหม่ไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยบลจ.ไทยพาณิชย์ และบลจ.กสิกรไทย ยังรักษาตำแหน่งเป็นอันดับ 1 และอันดับ 2 ตามลำดับ แต่ที่น่าสนใจคืออันดับ 3 ที่มีการเปลี่ยนแปลงหลังจากบลจ.บัวหลวงสามารถเบียดแทรกบลจ.ทหารไทย ขึ้นมารั้งตำแหน่งอันดับ 3 แทน

ทั้งนี้ บลจ.ไทยพาณิชย์ ซึ่งมีมาร์เกตแชร์เป็นอันดับ 1. มีสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) สำหรับกองทุนรวมอยู่ที่ 304,804.42 ล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 3,309.99 ล้านบาทจากจำนวนเงินลงทุน 301,494.43 ล้านบาทในช่วงสิ้นปีที่ผ่านมา อันดับ 2.บลจ.กสิกรไทย มีสินทรัพย์รวม 238,581.51 ล้านบาท เพิ่มขึ้นสูงสุดในอุตสาหกรรมถึง 6,702.38 ล้านบาทจากเงินลงทุน 231,879.13 ล้านบาทในเดือนธันวาคมปีที่แล้ว

อันดับ 3. บลจ.บัวหลวง มีเงินลงทุนรวม 142,008.32 ล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 5,915.48 ล้านบาทจากจำนวนเงินลงทุนรวม 136,092.84 ล้านบาท อันดับ 4.บลจ.ทหารไทย มีเงินลงทุนรวม 135,711.52 ล้านบาทลดลงประมาณ -2,646.99 ล้านบาท จากเงินลงทุนรวม 138,358.51 ล้านบาท และอันดับ 5 บลจ.กรุงไทย ซึ่งมีเงินลงทุนสำหรับกองทุนรวมทั้งสิ้น 115,486.08 ล้านบาท ลดลงประมาณ -3,621.44 ล้านบาท จากจำนวนเงินลงทุนรวมในสิ้นปี 2550 ที่ 119,107.52 ล้านบาท

รายงานข่าวกล่าวว่า ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคมนี้ จะเป็นช่วงที่กองทุนตราสารหนี้ที่ลงทุนในตั๋ว ECP ต่างประเทศจะเริ่มทยอยครบอายุ ดังนั้นช่วงเวลาดังกล่าว น่าจะเป็นช่วงที่บลจ.เริ่มหันให้ความสำคัญต่อการเลือกสรรกองทุนใหม่ๆ ออกมารองรับเพื่อรักษาเงินลงทุนดังกล่าวเอาไว้ ซึ่งได้รับการคาดหมายเอาไว้ว่า กองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นในประเทศ น่าจะเป็นแหล่งพักเงินในระยะแรก เพื่อมองหาทางเลือกการลงทุนที่น่าสนใจ ก่อนจะลงทุนต่อหลังจากภาวะการลงทุนโดยรวมมีผันผวนน้อยลงมากกว่านี้

นายพิชิต อัคราทิตย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แนวโน้มการลงทุนในกองทุนรวมเติบโตขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากนักลงทุนไทยเริ่มเข้าใจและคุ้นเคยกับการลงทุนในกองทุนรวมมากขึ้น ถึงแม้ที่ผ่านมาจะยังไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐมากนัก เพราะส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับภาคการลงทุนในธุรกิจโบรกเกอร์มากกว่า อย่างไรก็ตาม มองว่าหากภาครัฐหันมาให้ความสนใจกับการจัดการบริหารความมั่งคงให้กับผู้ลงทุนมากขึ้น ก็จะเป็นประโยชน์เพิ่มขึ้นด้วย

ทั้งนี้ มองว่าความต้องการของนักลงทุน จะเป็นตัวผลักดันที่สำคัญของธุรกิจกองทุนรวมได้เป็นอย่างดี ซึ่งหากนักลงทุนมีความรู้มากขึ้นก็จะผลักดันผู้ประกอบการให้ออกสินค้าที่ตรงตามความเข้าใจและความต้องการของผู้ลงทุน ซึ่งในไทยเองยังไม่ค่อยมี ดังนั้น จึงต้องส่งเสริมและให้ความรู้นักลงทุนมากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น