บลจ.ยูโอบีตั้งเป้าโกยเงินเข้าพอร์ต ดันเอยูเอ็มแตะ 112,000 ล้านบาท หรือเติบโตจากปีที่แล้ว 36% เน้นส่งกองทุน "FIF-ECP-Structured notes" เป็นตัวชูโรง ล่าสุดประเดิมตลาดปีหนู เปิดขาย "ยูโอบี ซีเล็ค ทริปเปิ้ล เอท 1" มูลโครงการ 1,300 ล้านบาท ดึงกลยุทธ์ Carry Trade อิงอัตราแลกเปลี่ยนใน 8 ประเทศทั่วเอเชีย คาดการณ์ลงทุน 3 ปีรับผลตอบแทน 24% ไอพีโอถึง 28 ม.ค.นี้
นายวนา พูนผล ประธานหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ยูโอบี (จำกัด) เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้าหมายมีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการ (เอยูเอ็ม) ภายในปี 2551 เพิ่มขึ้นเป็น112,000 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นอัตราการเจริญเติบโต 36% จากปีที่แล้วที่มีมูลค่าสินทรัพย์ทั้งสิ้น 82,000 ล้านบาท โดยจะเน้นออกกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (FIF) ที่ลงทุนในตราสารหนี้ยุโรป (ECP) และกองทุนรวมที่ลงทุนในตั๋วสัญญาใช้เงินที่มีลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง (Structured notes) รวมกันประมาณ 8 กองทุน ส่วนที่เหลือจะเป็นกองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้ เพื่อตอบสนองความต้องการของนักลงทุน
ทั้งนี้ การลงทุนทั้งหมดของบริษัท จะเน้นที่นโยบายการลงทุนเป็นสำคัญโดยไม่เน้นการลงทุนในรายภูมิภาค นอกจากนี้ จะพิจารณาสภาวะอัตราดอกเบี้ย ภาวะตลาดหุ้น และกองทุนรวมในประเภทที่นักลงทุนต้องการลงทุนประกอบด้วยด้วย
ล่าสุด บริษัทเตรียมออกกองทุนรวมยูโอบี ซีเล็ค ทริปเปิ้ล เอท 1 (UOB Select Triple Eight 1 Fund) โดยเป็นกองทุนที่ให้โอกาสรับผลตอบแทนอ้างอิงกับดัชนี IncomeAsia 2.0 ที่ใช้กลยุทธ์ Carry Trade กับอัตราแลกเปลี่ยนใน 8 ประเทศทั่วเอเชีย ได้แก่ จีน ฮ่องกง อินโดนีเซีย อินเดีย เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน และสิงคโปรค์ ซึ่งในขณะนี้เงินสกุลเอเชียมีแนวโน้มเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกัน ความผันผวนด้านอัตรแลกเปลี่ยนจึงมีน้อย จึงทำให้ดัชนีสามารถได้กำไรจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย โดยไม่มีผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนมากนัก ซึ่งกองทุนนี้เหมาะกับนักลงทุนที่สามารถยอมรับความเสี่ยงได้ต่ำ เพราะมีลักษณะการลงทุนคล้ายกับการคุ้มครองเงินต้น โดยจะต้องถือยาว 3 ปี และคาดหวังผลตอบแทน 24% ต่อระยะเวลา 3 ปี
"สิ่งที่สำคัญของกลยุทธ์ Carry Trade คือ มีความแน่นอนอยู่ที่อัตราแลกเปลี่ยนจะไม่วิ่งสวนทางกัน และการทีไม่ลงทุนในค่าเงินที่มีส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยสูงมากจนเกินไป เพราะจะทำให้มีความเสี่ยงมาก โดยจะนำเงินจากประเทศในภูมิภาคเอเชียที่มีอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ และนำไปฝากเงินกับประเทศในภูมิภาคเอเชียที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง ซึ่งกำไร 80% จะมาจากส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ย และกำไร 20% มาจากส่วนต่างของอัตราแลกเปลี่ยน"นายวนากล่าว
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาดัชนี IncomeAsia 2.0 มีผลตอบแทนที่เป็นบวกทุกปี โดยเฉลี่ยปีละ 12.51% เพราะอัตราแลกเปลี่ยนปรับไปในทิศทางเดียวกัน ถ้าปรับตัวสวนทางกันอาจทำให้ขาดทุนได้ และยังมีจุดเด่นอยู่ที่การได้รับเงินต้นคืน 100% จากการลงทุนภายในระยะเวลา 3 ปี เนื่องจากกองทุนได้ซื้อตราสารหนี้ที่ของธนาคารพาณิชย์ที่ความเสี่ยงตั้งแต่ระดับ AA ขึ้นไป และได้รับผลตอบแทน 8% ต่อปี
โดยมีเงื่อนไขว่า ในปีที่ 1 หากดัชนี IncomeAsia 2.0 สามารถให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า 5% นักลงทุนจะได้รับผลตอบแทนที่ 8 % ในปีที่ 2 หากดัชนี IncomeAsia 2.0 สามารถให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า 15% นักลงทุนจะได้รับผลตอบแทนอีก 8 % และในปีที่ 3 หากดัชนี IncomeAsia 2.0 สามารถให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า 20% นักลงทุนจะได้รับผลตอบแทนเพิ่มอีก 8 % รวมเป็น 24%
ส่วนโอกาสที่นักลงทุนจะได้รับผลบตอบแทนทั้ง 3 ปีอยู่ที่ประมาณ 80.54% โอกาสที่นักลงทุนจะได้รับผลตอบแทนที่ 2 ปีอยู่ที่ประมาณ 15.48% โอกาสที่นักลงทุนจะได้รับผลตอบแทนเพียง 1 ปีอยู่ที่ประมาณ 3.98% ขณะที่โอกาสที่นักลงทุนจะไม่ได้รับผลตอบแทนเลยอยู่ที่ 0.00%
สำหรับกองทุนดังกล่าวเป็นกองทุนรวมที่เน้นลงทุนในตั๋วสัญญาใช้เงินที่มีลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง (Structured notes) ที่มีการจ่ายผลตอบแทนอ้างอิงกับดัชนี IncomeAsia 2.0 เพื่อเพิ่มผลตอบแทนของกองทุน โดยตัวตราสารหรือผู้ออกตราสารได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือในระดับที่สามารถลงทุนได้ (Investment Grade) ขึ้นไป มีอายุโครงการ 3 ปี และมีมูลค่าโครงการประมาณ 1,300 ล้านบาท ซึ่งกองทุนจะจ่ายเงินต้นทั้งหมดคืนเมื่อสิ้นสุดปีที่ 3 โดยจะเปิดเสนอหน่วยลงทุนครั้งแรก (IPO) และครั้งเดียวระหว่างวันที่ 21-28 มกราคม 2551 โดยมีมูลค่าเงินลงทุนขั้นต่ำที่ 10,000 บาท