xs
xsm
sm
md
lg

ความต้องการของพนักงานกับพลังขององค์กร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ถ้าให้ผมเปรียบเทียบความต้องการของพนักงานในอดีตกับความต้องการในปัจจุบันแล้ว ผมบอกได้เลยว่ามีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นความต้องการในเรื่องงานที่ทำ หัวหน้างาน และตัวองค์กรเอง

ในอดีต คนส่วนมากจะไม่ค่อยเปลี่ยนงานบ่อย ทำงานอยู่ที่ไหนก็อยู่ที่นั้นไปเรื่อยๆ หรือบางคนอยู่จนถึงเกษียณอายุ ความต้องการของพนักงานในยุคนั้นโดยส่วนมาก คือ ความมั่งคงในหน้าที่การงาน แต่ในปัจจุบันความต้องการมีมากขึ้นและสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการได้รับการยอมรับจากบุคคลรอบข้าง การมีโอกาสได้แสดงความสามารถของตนเอง และโอกาสในการพัฒนาตนเองจากงานที่ทำ

ในทางตรงข้ามกัน ถ้ามองจากมุมมองขององค์กร ตัวองค์กรเองก็พยายามหาทางในการดึงพลังและความมุ่งมั่นในการทำงานของพนักงานออกมาให้ได้มากที่สุด ด้วยการแข่งขันทางธุรกิจที่ดุเดือดมากขึ้นเรื่อยๆ การได้เปรียบในการแข่งขันจึงเป็นสิ่งสำคัญ และหนึ่งปัจจัยที่จะสามารถสร้างความได้เปรียบได้นั้น คือการดึงเอาพลังของพนักงานออกมาใช้ให้ได้ประโยชน์มากที่สุด

ถ้าให้ผมเปรียบเทียบ องค์กรก็เปรียบเสมือนรถฟอร์มูล่าวันที่ถูกดึงเบรกไว้ในขณะที่ขับ คิดดูสิครับว่า อะไรจะเกิดถึงถ้าคุณสามารถหาวิธีในการปลดเบรกออกได้ รถฟอร์มูล่าวันคันนี้ก็จะวิ่งฉิวไปข้างหน้าได้อย่างรวดเร็ว และนี่เปรียบเสมือนสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันของหลายๆองค์กร องค์กรมีพลังมากมายที่ถูกเก็บไว้ในรูปของความสามารถและพลังของพนักงาน แต่องค์กรยังไม่สามารถที่จะนำพลังและความสามารถเหล่านี้มาใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เพราะองค์กรยังไม่สามารถหาวิธีการในการปลดเบรกออกได้

ในโลกที่มีแต่การแข่งขัน มีทรัพยากรที่มีจำนวนจำกัด และมีความคาดหวังของลูกค้าที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ถ้าองค์กรต้องการจะประสบความสำเร็จ องค์กรไม่สามารถที่ละเลยพลังเหล่านี้ไปได้เลย ซึ่งนั้นหมายถึงการที่องค์กรและผู้นำในองค์กรทั้งหลายต้องหันมาให้ความสนใจในเรื่องของความต้องการของพนักงาน โดยเฉพาะความต้องการที่จะสามารถนำองค์กรไปสู่ความสำเร็จได้

แล้วพนักงานต้องการอะไร???

จากประสบการณ์ในการทำงานของผม จากการได้พูดคุยกับพนักงานหลายๆคนจากหลากหลายองค์กร ประกอบกับงานวิจัยที่ผมได้มีโอกาสอ่านพบ ผมมองว่า สิ่งที่พนักงานต้องการนั้นมีอยู่หลัก ๆ ด้วยกัน 8 อย่าง ซึ่ง 8 อย่างนี้เป็นสิ่งที่ต้องมีให้ครบ จะขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไปไม่ได้เลย ไม่เช่นนั้นพลังที่จะแสดงออกมาก็จะไม่เต็มที่เช่นกัน 8 อย่างที่ว่านี้ ประกอบไปด้วย

1.การทำงานที่มีความหมายและมีประโยชน์
พนักงานทุกคนต้องการที่จะรู้ว่าสิ่งที่ตนเองทำนั้นมีประโยชน์อย่างไร มีความเชื่อมโยงกับผลประโยชน์ขององค์กรและเป้าหมายหลักอย่างไร พนักงานต้องการที่จะเข้าใจว่าสิ่งที่เขาทำมีความสัมพันธ์กับวิสัยทัศน์ และภารกิจขององค์กรอย่างไร

ผมมีตัวอย่างหนึ่งที่ผมเห็นอยู่เป็นประจำ และเห็นในแทบทุกองค์กร คือการหางานอะไรก็ได้ให้พนักงานใหม่ทำ พนักงานที่เข้ามาทำงานใหม่ๆนั้น ยังไม่ค่อยทราบว่าตนเองต้องทำงานอะไร ในขณะที่คนที่จะต้องสอนงานหรือให้งานเขาก็ยุ่งกับงานที่ตนเองรับผิดชอบอยู่ เพื่อไม่ให้พนักงานใหม่ว่างงาน พนักงานเก่าส่วนมากก็จะหางานอะไรให้เขาทำไป่ก่อน เช่นการอ่านกฎระเบียบ อ่านคู่มือในการใช้ระบบคอมพิวเตอร์ หรือให้ไปยืนถ่ายเอกสาร ลองจินตนาการดูว่า พนักงานที่เข้ามาใหม่ส่วนมากจะไฟแรงสูง อยากทำงานเป็นชิ้นเป็นอัน อยากเรียนรู้อะไรใหม่ๆ อยากทำงานที่ตนเองถูกจ้างมาให้ทำ พอโดนให้ทำงานที่ไม่รู้ว่าทำไปเพื่ออะไรเป็นเวลานาน ไฟแรงสูงที่มีมาก็จะค่อยๆมอดหมดไป ถ้าหัวหน้างานไม่ทันสังเกตเห็นในสิ่งที่เกิดขึ้น ณ จุดนี้ ไฟที่กำลังมอดอยู่อาจจะมอดแล้วมอดเลย ไม่สามารถจุดใหม่ได้ หรือองค์กรอาจจะเสียบุคลากรคนนี้ไปเลยก็ได้

2.การทำงานร่วมกัน

คนโดยมากต้องการที่จะทำงานในสภาวะแวดล้อมที่สามารถสร้างแรงจูงใจและสร้างแรงบันดาลใจได้ และที่สำคัญคือการทำงานร่วมกันกับคนอื่นที่มีผลผลักดันให้กันและกันประสบความสำเร็จ พนักงานจำนวนหนึ่งลาออกจากองค์กรเพียงเพราะรู้สึกว่าจะทำอะไรสักที ก็ดูเหมือนวุ่นวายไปหมด ความคิดอยากจะช่วยเหลือกัน สนับสนุนกัน แทบจะไม่มีในองค์กร ทุกอย่างต้องจัดทำเป็นลายลักษณ์อักษร ผ่านหัวหน้าอนุมัติ มีขั้นตอนมากมาย

3.ความยุติธรรม

คนทุกคนต้องการทำงานกับองค์กรที่มีการจ่ายค่าตอบแทน สวัสดิการ และปริมาณงานที่ยุติธรรมและเสมอภาค ต้องการที่จะทำงานกับคนที่ให้ความเคารพซึ่งกันและกัน ในฐานะพนักงานทุกคนต้องการที่จะรู้สึกว่า ผู้บริหารและองค์กรในภาพรวมกำลังให้การดูแลพวกเขาและลูกค้าอย่างสม่ำเสมอและยุติธรรม

จริงๆแล้ว จากการพูดคุยของผมกับพนักงานหลายๆคนพบว่า หนึ่งในเหตุผลหลักที่ทำให้พนักงานตัดสินใจลาออก คือ ความรู้สึกที่เขาได้รับจากองค์กรและผู้บริหารว่า ไม่มีความยุติธรรมและความเสมอภาคให้กับเขา

4.อิสรภาพ

อิสรภาพในที่นี่หมายถึง การที่พนักงานได้รับข้อมูลที่เหมาะสมและจำเป็นสำหรับการทำงาน และการได้รับอำนาจในการตัดสินใจในงานที่ตนเองทำอยู่ ไม่ใช่ทุกอย่างต้องคอยรายงานหัวหน้า เพื่อให้หัวหน้าตัดสินใจก่อนจึงจะทำงานได้

5.การยอมรับ

จากการวิจัยพบว่า คนทุกคนต้องการได้รับคำชมบ้างในการทำงาน ได้รับการยอมรับ ได้รับการขอบคุณสำหรับสิ่งที่พวกเขาได้ทำไป การชมเชยเป็นปัจจัยหนึ่งที่ก่อให้เกิดพลังในการทำงาน เพราะคนเราเมื่อทำงานไป จะไม่สามารถรู้ตนเองได้เลยว่า ทำงานได้ดีแล้วหรือยัง จนกว่าจะมีคนบอก ซึ่งการชมเชยเป็นวิธีการหนึ่งในการบอกให้พนักงานได้ทราบถึงผลการทำงานของเขา

แต่วัฒนธรรมของคนไทยซึ่งเชื่อกันว่า การชมจะทำให้คนเหลิงนั้น ส่งผลให้พนักงานได้รับการกระทำสองอย่างจากหัวหน้าคือ โดนต่อว่า (หรือถ้าภาษาพื้นเมืองหน่อยก็คือ โดนด่า) กับเฉย ๆ (คือไม่ด่า! ซึ่งหัวหน้าหลาย ๆ คนไปตั้งกฎเอาเองว่า ไม่ด่าแปลว่า โอเค) ดังนั้นในการที่จะสร้างพลังในการทำงานให้กับพนักงานได้นั้น หัวหน้าจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองบ้าง ชมเชยลูกน้องเมื่อลูกน้องทำงานได้ดี แต่ผมแนะนำว่าอย่าชมทุกอย่างหรือทุกเรื่องที่ลูกน้องทำ เพราะนั่นจะทำให้กลายเป็นว่า หัวหน้าหรือองค์กรไม่มีความจริงใจให้กับลูกน้อง

6.การเติบโต

การเติบโตในที่นี่ ผมไม่ได้หมายถึงการเติบโตทางร่างกาย (ซึ่งผมคิดว่า หลายคนคงไม่อยากเติบโตทางด้านนี้เท่าไรนัก ร่วมถึงตัวผมเองด้วย ฮา !) การเติบโตในที่นี่หมายถึง การเติบโตและพัฒนาด้านทักษะและความรู้ต่างๆ ซึ่งจะส่งผลให้มีการเติบโตของหน้าที่การงานตามมา

ถ้าจะให้ชัดเจนมากขึ้น หนึ่งในวิธีการที่จะทำให้พนักงานรู้สึกถึงการเติบโตได้ดีคือ การที่เขาได้รู้ว่า เขาเป็นส่วนหนึ่งหรือเป็นคนหนึ่งที่อยู่ในแผนของกระบวนการการพัฒนาเพื่อความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน

7.ความรู้สึกผูกพันกับหัวหน้างาน

พนักงานทุกคนต้องการที่จะได้หัวหน้าที่แบ่งปันข้อมูล ให้ความเป็นกันเอง ให้ความไว้วางใจ เชื่อใจซึ่งกันและกัน ซึ่งความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างหัวหน้าและพนักงานนี้จะส่งผลให้พนักงานเต็มใจที่จะทำงานและพร้อมที่จะให้มากกว่าสิ่งที่เขารับผิดชอบ

8.ความรู้สึกผูกพันกับเพื่อนร่วมงาน

นอกจากความผูกพันที่มีต่อหัวหน้างานแล้ว ความผูกพันที่มีให้กันระหว่างพนักงานก็เป็นสิ่งที่สำคัญ สิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อความเต็มใจในการที่จะทำงานให้ได้ดีและมีประสิทธิภาพ ความยินยอมพร้อมใจในการที่จะทำงานที่เกินขอบเขตความรับผิดชอบของตนเอง การเข้าไปช่วยเพื่อนร่วมงานคนอื่นทำงาน

ปัจจัยทั้ง 8 ข้อที่ผมได้เขียนไปนี้ กล่าวได้ว่าเป็นปัจจัยหลักที่จะทำให้พนักงานเต็มใจและยินยอมพร้อมใจที่จะปลดปล่อยพลังที่ตนเองมีอยู่ออกมาอย่างเต็มที่ เพื่อให้องค์กรมุ่งไปสู่ความสำเร็จ นอกจากนี้ปัจจัยทั้ง 8 ยังมีผลต่อการดึงดูดพนักงานที่เก่งเช่นกัน เพราะในปัจจุบัน ค่าตอบแทนที่สูงไม่ได้เป็นปัจจัยเดียวที่ดึงดูดคนอีกต่อไป

แล้วตอนนี้ตัวคุณเอง ช่วยในการเสริมสร้างบรรยากาศทั้ง 8 อย่างนี้บ้างหรือยัง ถ้าคำตอบของคุณคือใช่ คุณได้สร้างบรรยากาศเหล่านี้แล้วในองค์กรหรือทีมงานของคุณ ผมก็ขอแสดงความยินดีด้วย แต่ถ้าคำตอบของคุณคือไม่ คุณคงต้องเริ่มพิจารณาในการสร้างบรรยากาศแล้วนะครับ อย่าปล่อยให้องค์กรหรือทีมของคุณติดเบรกอีกต่อไป!
กำลังโหลดความคิดเห็น