ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ –ประชาพิจารณ์ “พ.ร.บ.ค้าปลีก: กติกาอยู่ร่วมกันในยุคทุนไร้พรมแดน?” ครั้งที่ 9 อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ก่นเสนอครม. ผู้ค้ารายย่อยเมืองสงขลา -หาดใหญ่ เผยความทุกข์ระทมหลังโมเดิร์นเทรดรุกหนักเปิดสาขาทั่วเมือง โดยใช้กลยุทธ์ราคาดึงดูดและเปิด 24 ชั่วโมง ทำให้ยอดโชวห่วยลดลงอย่างน่าใจหาย ซัด 9 ปีรัฐแก้ปัญหาปลายแถว แนะลดภาษีหนุนโชวห่วยที่มีรายได้ไม่เกิน 500,000 บาท และกันโมเดิร์นเทรดออกนอกเขตเทศบาลรัศมี 15 กิโลเมตร
เมื่อเร็วๆ นี้ที่โรงแรมโนโวเทล เซ็นทารา หาดใหญ่ จ.สงขลา กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เชิญผู้ประกอบการรายย่อย และผู้ประกอบการโชวห่วย ใน จ.สงขลากว่า 250 คน เข้าร่วมสัมมนาเชิงประชาพิจารณ์ ในหัวข้อ “พ.ร.บ.ค้าปลีก: กติกาอยู่ร่วมกันในยุคทุนไร้พรมแดน?” เป็นครั้งสุดท้ายก่อนนำข้อสรุปเสนอ ครม. เพื่อแก้ไข พ.ร.บ.ค้าปลีกต่อไป
นายวีระศักดิ์ จินารัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงภาพรวมในการจัดสัมมนาเชิงประชาพิจารณ์ทั้ง 9 ครั้งว่า ได้รับความคิดเห็นที่แตกต่างกันในเรื่องของขนาดธุรกิจที่จะต้องอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ แต่ส่วนใหญ่ทุกฝ่ายจะเห็นด้วยที่กระทรวงพาณิชย์จะพยายามผลักดันการทำธุรกิจในการหาตลาดใหม่ให้ ทั้งกลุ่มโมเดิร์นเทรดและผู้ประกอบการรายย่อย
ด้านดร.ฉัตรชัย ดวงรัตนพันธ์ ที่ปรึกษาสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า การนำระบบโมเดิร์นเทรดมาใช้ในประเทศไทย โดยภาพรวมแล้วไม่ส่งผลกระทบต่อร้านค้าปลีกรายย่อยแต่อย่างใด เพราะร้านค้าปลีกหรือร้านโชวห่วยในปัจจุบันสามารถเข้าไปซื้อของในโมเดิร์นเทรดเพื่อทำการค้าอีกทอดหนึ่งได้เช่นกัน ดังนั้น พ.ร.บ.ที่จะทำการร่างขึ้นมานี้ มีไว้เพื่อที่จะสร้างสมดุลระหว่างระบบโมเดิร์นเทรดและร้านค้าปลีก ตั้งแต่ระดับใหญ่ กลาง เล็กเท่านั้น
นายสุวิทย์ กิ่งแก้ว นายกสมาคมพัฒนาผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกทุนไทย กล่าวว่า ในการร่างพ.ร.บ.ค้าปลีกฯฉบับนี้ ควรจัดตั้งคณะกรรมการผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ในหลายองค์กร เช่น ผู้บริโภค บรรดาผู้ประกอบการ ผู้ว่าราชการจังหวัด อบต. อบจ. สำนักงานพาณิชย์จังหวัดสงขลา ภายใต้การแก้ปัญหาร่วมกันในเชิงบูรณาการระหว่างกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการคลัง ซึ่งกรรมการชุดนี้เปรียบเหมือนมีอำนาจเทียบเท่ากับ ครม. เพราะที่ผ่านมาพบว่ามีบุคลากรที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามาจัดการ เช่น คณะกรรมการที่มาจากกระทรวงสาธารณสุข และสภาอุตสาหกรรม เป็นต้น
ด้านนายกวิศพงษ์ สิริธนนนท์สกุล รองประธานหอการค้าจังหวัดสงขลา กล่าวว่า ในพื้นที่ อ.หาดใหญ่ห้างโมเดิร์นเทรดทั้ง บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ เทสโก้โลตัส คาร์ฟูร์ และแม็คโคร ตั้งอยู่ใจกลางเมืองหาดใหญ่ทั้งสิ้น ซึ่งมีผลกระทบต่อผู้ค้าปลีกรายย่อย รวมทั้งส่งผลต่อสภาพการจราจรเป็นอย่างยิ่ง จึงควรมีมาตรการที่ชัดเจนในการตั้งพื้นที่สำหรับโมเดิร์นเทรดที่จะตามมา ว่า หากมีขนาดตั้งแต่ 1,000 ตารางเมตร(ตร.ม.)ขี้นไป ควรตั้งให้ห่างจากเขตเทศบาลด้วยระยะ 15 กิโลเมตร(กม.) โดยมีคลังสินค้ารวมอยู่ในบริเวณห้าง เพราะในรัศมี 5 กม.นั้นได้มีการถือครองพื้นที่ไปหมดแล้ว
อย่างไรก็ตาม หนทางที่จะแก้ปัญหาร้านโชวห่วยให้มีความเข้มแข็งแบบยั่งยืนได้ เพราะจากการติดตามผลมา 9 ปี ยังไม่มีการแก้ไขที่เป็นรูปธรรม ที่ถึงแม้ว่าจะมีการจัดระบบเงินกู้ให้แก่โชวห่วยนำมาตกแต่งร้านก็ตาม แต่เนื่องด้วยลักษณะบริหารเงินของคนไทยที่ยังขาดการแบ่งสันปันส่วนอย่างเป็นระบบ จึงมองว่าการโยนเงินให้ก้อนให้ร้านโชวห่วยเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเท่านั้น
สอดคล้องกับ อ.ศิริกาญจน์ พิมพงศ์ไพศาล อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ซึ่งวิจัยเรื่องผลกระทบของดิสเคาน์สโตร์ที่มีต่อร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิมในเขตเทศบาลนครหาดใหญ่ เปิดเผยว่า การขยายตัวของโมเดิร์นเทรดแบบก้าวกระโดดในตัวเมืองหาดใหญ่ได้สร้างความเดือดร้อน ทำให้ร้านค้าปลีกรายย่อยหรือร้านโชวห่วยล้มหายตายจากในท้องถิ่นต่างๆ ไปมาก เนื่องจากไม่สามารถต่อกรกับราคาต่อหน่วยของโมเดิร์นเทรดได้ จากจำนวนในปี 2540 พบว่ามีการลดลงของร้านค้าในท้องถิ่นจากจำนวน 350 ร้านลดลงเหลือ 180 ร้านเท่านั้น
นางนฤมล อมรรัตน์วิทยา กรรมการบริหาร บริษัท โอเดียน เซาเทิร์น เซ็นเตอร์ จำกัด (ห้างโอเดียน แฟชั่นมอลล์) อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เปิดเผยว่า การค้าแบบเสรีเป็นเรื่องดี เพราะส่งผลในด้านราคาแก่ผู้บริโภค อย่างไรก็ตามควรจะต้องมีการควบคุมภายใต้กติกาที่แน่นอน เนื่องจากปัจจุบันพบว่าขณะที่สินค้าบางรายการมีการลดราคาในรูปแบบดิสเคานต์สโตร์ แต่ในขณะเดียวกันมีสินค้าอีกหลายรายการที่มีการคิดกำไรเกินควร ส่งผลให้ผู้บริโภคที่ไม่ได้ศึกษาข้อมูลในการซื้ออย่างแท้จริงอาจเสียผลประโยชน์ได้
“ผลกระทบอีกด้านหนึ่งจากการขยายกิจการโมเดิร์นเทรดจนมากเกินไป คือทำให้เกิดอัตราการว่างงานที่สูงขึ้น เนื่องจากนักศึกษาจบใหม่จะไม่มีการพัฒนาตนเองขึ้นไปเป็นเจ้าของกิจการ แต่จะกลายเป็นลูกจ้างตามห้างร้านต่างๆ มากกว่า” นางนฤมลกล่าว
นายสมศักดิ์ อรุโณประโยชน์ ผู้ประกอบการท้องถิ่น กล่าวว่า ด้านราคาที่ร้านโชวห่วยเสียเปรียบโมเดิร์นเทรดในด้านราคาต่อหน่วยที่ถูกกว่าว่า โมเดิร์นเทรดควรจะให้โอกาสร้านโชวห่วยให้มีการพัฒนาตนเองในทางด้านการขายสินค้ากับผู้บริโภค จึงจะทำให้โมเดิร์นเทรดและร้านโชวห่วยอยู่ร่วมกันได้ ทั้งนี้ โมเดิร์นเทรดไม่ควรนำกลยุทธ์ด้านราคามาเป็นจุดขาย และการเปิดร้านตลอด 24 ชั่วโมงมาแข่งขันกับร้านโชวห่วย
“ปัจจุบันร้านโชวห่วยได้ล้มหายตายจากไปจากท้องถิ่นจำนวนมาก ตั้งแต่มีโมเดิร์นเทรดขึ้นมา มันตรงข้ามกับเกมกีฬาที่ผู้แพ้จะต้องกลับไปพัฒนาฝีมือมาแข่งใหม่ แต่สำหรับร้านค้าของชาวบ้าน เมื่อขาดทุนแล้ว ก็ไม่มีโอกาสสร้างขึ้นมาใหม่ได้ และต้องออกจากเกม ธุรกิจไป” นายสมศักดิ์กล่าว
นายวรัณชัย คงจรัส ตัวแทนจากภาคประชาชน กล่าวว่า ตนเองกังวลใจว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้จะไม่สามารถช่วยร้านโชวห่วยได้ เนื่องจากความไม่มั่นคงของทางภาครัฐบาล แต่ในระยะยาวควรลดหย่อนภาษีให้แก่กลุ่มโชวห่วยที่มีรายได้รับต่อปีไม่ถึง 500,000 บาท/ปี เช่น ภาษีการค้า ภาษีโรงเรือน ภาษีป้าย เป็นต้น และควรผลักดันสินค้าชุมชนออกสู่ตลาดมากขึ้น เช่น ผลิตภัณฑ์โอทอป ดังเช่นตลาดนัดร้อยปี จ.สุพรรณบุรี ที่ได้รับการผลักดันจากทางท้องถิ่นจนประสบความสำเร็จในการกระตุ้นเศรษฐกิจของชุมชนมาแล้ว