xs
xsm
sm
md
lg

พบ 5 ค่ายรถ โตโยต้า มาสด้า ฮอนด้า ซูซูกิ ยามาฮ่า โกงผลทดสอบความปลอดภัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผมอยากจะขอโทษอย่างจริงใจต่อลูกค้า อากิโอะ โตโยดะ ประธานบริษัทโตโยต้า กล่าว
อุตสาหกรรมยานยนต์แดนปลาดิบส่อแววระส่ำ หลังกระทรวงคมนาคมญี่ปุ่นตรวจพบว่า “โตโยต้า” (Toyota) และอีก 4 ค่ายรถแบรนด์ดังรายงานผลการทดสอบความปลอดภัยที่เป็นเท็จ ขณะที่ทางผู้บริหารโตโยต้าออกมาก้มหัวขออภัยต่อสาธารณชน พร้อมประกาศระงับการส่งมอบรถยนต์บางรุ่นแล้ว

ทางกระทรวงยังตรวจพบความผิดปกติในกระบวนการขอใบรับรองของค่ายมาสด้า (Mazda) ฮอนด้า (Honda)
ซูซูกิ (Suzuki) และยามาฮ่า (Yamaha) โดยพบว่าผู้ผลิตยานยนต์เหล่านี้ส่งผลการทดสอบที่บิดเบือนหรือไม่ตรงตามข้อเท็จจริง ระหว่างที่ยื่นขอใบรับรองความปลอดภัย


ทางกระทรวงมีคำสั่งให้โตโยต้า มาสด้า และยามาฮ่า ระงับการส่งมอบรถบางรุ่น และเตรียมส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบสำนักงานใหญ่ของโตโยต้าที่จังหวัดไอจิ (Aichi) ภายในวันนี้ (4มิ.ย.)

การเปิดเผยข้อมูลล่าสุดมีขึ้น หลังจากที่กระทรวงคมนาคมญี่ปุ่นได้ร้องขอเมื่อเดือน ม.ค. ให้ค่ายยานยนต์ต่างๆ ตรวจสอบกระบวนการยื่นขอใบรับรองความปลอดภัย ตามหลังกรณีอื้อฉาวที่ไดฮัตสุ (Daihatsu) โกงผลการทดสอบความปลอดภัยจนกระทั่งต้องยุติการผลิตไปเมื่อปีที่แล้ว

จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้หลายฝ่ายจับตาไปที่การประชุมใหญ่ของโตโยต้าซึ่งจะมีขึ้นในเดือนนี้ โดยล่าสุดมีข่าวว่า2บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำอย่างInstitutional Shareholder Services (ISS)และGlass Lewisได้แนะนำผู้ถือหุ้นบางคนให้โหวตคัดค้านการดำรงตำแหน่งอีกสมัยของ


อากิโอะ โตโยดะ (Akio Toyoda)ประธานกรรมการบริหารของกลุ่มบริษัทโตโยต้า โดยISSนั้นอ้างถึง“ความไม่ชอบมาพากลหลายอย่าง”ในกระบวนการทดสอบความปลอดภัยยานพาหนะของ โตโยต้า กรุ๊ป

ด้าน โตโยดะ ซึ่งเป็นหลานชายของผู้ก่อตั้งบริษัทโตโยต้า ได้ออกมาเปิดใจแถลงข่าว พร้อมก้มศีรษะขออภัยต่อสาธารณชนอีกครั้งเมื่อวานนี้ (3มิ.ย.)

“ในฐานะผู้บริหารของโตโยต้ากรุ๊ป ผมต้องขออภัยอย่างจริงใจต่อลูกค้า แฟนรถยนต์ และผู้ถือหุ้นทุกคนสำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น”เขากล่าว

โตโยดะ ระบุด้วยว่า โตโยต้าซึ่งครองแชมป์ค่ายรถอันดับ1ของโลกได้ตัดสินใจระงับการส่งมอบและจำหน่ายยานยนต์3รุ่นที่ผลิตในญี่ปุ่นแล้ว โดยยอมรับว่ายานพาหนะเหล่านี้ไม่ได้ผ่านขั้นตอนการตรวจรับรองความปลอดภัยอย่างถูกต้องก่อนที่จะจำหน่าย

ข่าวอื้อฉาวที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมยานยนต์ในครั้งนี้ยังส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาลญี่ปุ่น ซึ่งก่อนหน้านี้เคยได้รับเสียงชื่นชมจากบรรดานักลงทุนและผู้บริหารเกี่ยวกับนโยบายปฏิรูปองค์กรบริษัท (corporate reforms)

โยชิมาสะ ฮายาชิ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น ออกมาระบุว่าความผิดพลาดหละหลวมนี้เป็น“สิ่งที่น่าเสียใจ”

โตโยต้า แถลงยอมรับว่า ปัญหาการบิดเบือนผลทดสอบเกิดขึ้นทั้งหมด6ครั้งในช่วงปี 2014, 2015และ 2020 โดยครอบคลุมรถยนต์ 3 รุ่น ได้แก่ Corolla Fielder, Corolla AxioและYaris Cross และทางบริษัทได้ตัดสินใจระงับการผลิตรถรุ่นยอดนิยม 4 รุ่น รวมหนึ่งรุ่นหนึ่งที่จำหน่ายภายใต้แบรนด์Lexus

ในส่วนของมาสด้าได้ประกาศระงับการส่งมอบรถสปอร์ต Roadster RF และ Mazda 2 ตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่แล้ว (30พ.ค.) หลังจากพบว่ามีพนักงานบางคนทำการดัดแปลงซอฟต์แวร์ที่ควบคุมผลการทดสอบความปลอดภัย

ทางบริษัทยังพบว่าผลทดสอบการชนของรถรุ่น Atenza และAxelaซึ่งยุติการผลิตไปแล้วถูกบิดเบือนด้วยการใช้อุปกรณ์ตั้งเวลา (timer) ให้ถุงลมนิรภัยทำงานระหว่างทดสอบการชนด้านหน้า แทนที่จะใช้ระบบเซ็นเซอร์ที่ติดตั้งมากับรถยนต์

ทางด้านของยามาฮ่าได้ประกาศระงับการส่งมอบรถมอเตอร์ไซค์สปอร์ตรุ่นหนึ่ง ส่วนฮอนด้าตรวจพบว่ามีการโกงผลทดสอบด้านเสียงรบกวน (noise) ในรถยนต์กว่า 20 รุ่นที่ปัจจุบันไม่ได้มีการผลิตแล้ว รวมเป็นระยะเวลานานกว่า8ปีตั้งแต่ช่วงเดือน ต.ค. ปี 2017 เป็นต้นมา


กำลังโหลดความคิดเห็น