xs
xsm
sm
md
lg

ลองทางยาว Haval ตัวท็อป H6 ประทะ Jolion คันไหนโดน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

หลังจากเปิดตัวแบรนด์ เกรท วอลล์ มอเตอร์ หรือ GWM ส่งโมเดลใหม่ทำตลาดอย่างต่อเนื่องตามคำมั่นสัญญาที่ให้เอาไว้กับผู้บริโภคชาวไทยว่า ภายในปีนี้ จะมีรถรุ่นใหม่เปิดตัว 4 รุ่น โดยมีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการพร้อมขายเป็นที่เรียบร้อยถึง 3 รุ่น ได้แก่ Haval H6 , Ora Good Cat และ Haval Jolion น้องใหม่ล่าสุด


ทั้งนี้ด้วยการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้การจัดกิจกรรมต่าง ๆ จึงต้องเว้นระยะห่างและทำตามเงื่อนไขของทางภาครัฐ จนกระทั่งรัฐได้เริ่มผ่อนคลายมาตรการและอนุญาตให้จัดกิจกรรมขึ้นได้ทาง เกรท วอลล์ มอเตอร์ จึงจัดทริปทดลองขับ Haval H6 และ Jolion พร้อมกัน นั่นหมายความว่า เราจะได้พิสูจน์สมรรถนะของรถทั้งสองรุ่นในเส้นทางเดียวกัน โดยทีมงานเลือกเส้นทาง ไปกลับ กรุงเทพฯ-เพชรบุรี ในการทดสอบคราวนี้



ณรงค์ สีตลายน กรรมการผู้จัดการ เกรท วอลล์ มอเตอร์ ประเทศไทย และ Haval Jolion
Haval Jolion สายแข็ง

เริ่มต้นกันด้วยขาไป เราออกเดินทางจากกรุงเทพด้วย Haval Jolion พร้อมเพื่อนร่วมทางอีก 2 ท่านและสัมภาระเป็นกระเป๋าเดินทางคนละหนึ่งใบ เรียกว่าใส่ไปได้อย่างสบาย ๆ ผู้เขียนรับหน้าที่เป็นสารถีก่อนคนแรก จึงได้ทดลองขับทั้งแบบในเมืองและนอกเมือง

ความรู้สึกแรกของการใช้งานในเมืองคือ อัตราเร่งช่วงออกตัวตอบสนองทันใจดี ต้องขอบคุณระบบไฮบริดของ GWM ที่ออกแบบมาได้ลงตัวดี แถมเสียงเครื่องยนต์ยังค่อนข้างเบาเมื่อขับในเมือง ซึ่งต้องยอมรับว่าเสียงดังรบกวนจากภายนอกเราจะได้ยินชัดกว่า โดยเฉพาะเสียงยางบดถนน ตรงจุดนี้ได้แจ้งทางทีมงานของเกรท วอลล์ มอเตอร์ให้รับทราบแล้ว ส่วนจะมีการปรับปรุงอย่างใดหรือไม่คงต้องรอดูกันต่อไป


ทัศนวิสัยและความคล่องตัวเป็นอีกหนึ่งหัวข้อที่เราประทับใจในเจ้าHaval Jolion พวงมาลัยน้ำหนักเบามือดี ควบคุมแม่นยำแม้จะมีระยะฟรีอยู่บ้างแต่ถือว่าไม่ไวจนทำให้เวียนหัว ส่วนการทรงตัวและการดูดซับแรงสะเทือน ถือว่าเป็นรถที่มีช่วงล่างเฟิร์มและค่อนข้างแข็งแบบรู้สึกได้

เมื่อเข้าสู่ช่วงทางยาววิ่งออกนอกเมือง ความแข็งของระบบช่วงล่างจะกลายเป็นจุดเด่นทันทีทำให้การทรงตัวของรถเมื่อวิ่งด้วยความเร็วสูงค่อนข้างมั่นคง น่าประทับใจสำหรับรถในคลาสนี้ ส่วนอัตราเร่งช่วงความเร็วปานกลางมาถึงความเร็วปลาย ถือว่าทำได้ดี ทันใจแม้ในบางจังหวะจะมีการรออยู่บ้าง แต่ยังเชื่อมั่นได้หากต้องการแซงแบบฉุกเฉิน


ตลอดการขับของเรา สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดเกี่ยวกับระบบช่วงล่างว่าทำผลงานได้ดีเพียงไรคือ การที่ผู้โดยสารทั้งคันรถสามารถหลับได้แบบม้วนเดียวจบจนถึงจุดหมาย ชนิดที่เมื่อลงมาถามไถ่กันแล้วได้ใจความว่า “หลับไม่รู้เรื่องเลย แต่เบาะหลังต้องจัดระเบียบท่านอนให้ดีก่อน”


หลังจากขับยาวมาถึงคิวเราสลับไปเป็นผู้โดยสารบ้างแล้ว เลือกตำแหน่งที่นั่งทางด้านหลัง พบว่าหากจะนอนให้สบายต้อง ถอดหัวหมอนออกเสียก่อน แล้วตัวเบาะจะพอดีให้เราเอนหลังหัวพิงหลับอย่างสบายตลอดการเดินทาง สำหรับเสียงรบกวนต้องยอมรับว่าเสียงยางบดถนนได้ยินชัด ส่วนเรื่องความร้อนจากแบตเตอรี่ที่อยู่ด้านหลัง เราไม่รู้สึกถึงไอร้อนแต่อย่างใด แอร์ในห้องโดยสารเย็นสบายไม่น่ากังวล


ระหว่างทางเพื่อเข้าไปสร้างโป่งเทียมเสริมแร่ธาตุและอาหารที่จำเป็นให้สัตว์ป่าในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานมีการขับแบบขึ้น-ลงทางลาดชันที่คดเคี้ยวพอสมควร แต่กลับไม่เวียนหัวเหมือนดังที่คาดเอาไว้ทีแรก แน่นอนว่ามาจากสไตล์การขับส่วนหนึ่งและอีกส่วนหนึ่งคือระบบช่วงล่างของตัวรถที่ต้องชมว่าดีจริง


เมื่อเราเดินทางมาถึงจุดหมายปลายทางรวมระยะทางกว่า 150 กม. อัตราบริโภคน้ำมันเฉลี่ยตามการแสดงผลบนหน้าจอระบุอยู่ราว 11 กม./ลิตร จำนวนผู้โดยสารพร้อมสัมภาระและการขับสไตล์ปกติของเราในเส้นทางลักษณะดังกล่าวได้ตัวเลขระดับนี้ยอมรับว่าดีแล้ว






Haval H6 สายนุ่ม

ขากลับเข้ากรุงเทพฯ รอบนี้เป็นคิวของ Haval H6 โดยมีสัมภาระเพิ่มขึ้นมาคือ เต็นท์และผ้าห่มพร้อมเครื่องนอน 3 ชุด บอกได้คำเดียว สบายสำหรับ Haval H6 พื้นที่ใส่ของทางด้านหลังเหลือเฟือ ต่างจาก Jolion ที่เมื่อมีสัมภาระเพิ่มขึ้นทำให้หลายคนที่โดนสลับไปใช้ Jolionบ่นว่า แน่นพื้นที่จะไม่พอใส่ แต่สุดท้ายเมื่อจัดเรียงให้ดี ทุกอย่างถูกขนกลับไปได้ด้วยเช่นเดียวกัน

รอบนี้ผู้เขียนเริ่มต้นด้วยการเป็นผู้โดยสารทางด้านหน้าก่อน ความรู้สึกคือนั่งสบาย ตัวรถใหญ่รู้สึกโอ่โถงโล่งมาก ระบบช่วงล่างค่อนข้างนุ่มนวลกว่า Jolion ชัดเจน คันที่เราขับเป็นรุ่นท็อปสุดของทั้งสองรุ่น เปรียบเทียบคุณภาพของวัสดุภายในแล้วถือว่าใกล้เคียงกัน ไม่แตกต่างสักเท่าใด ขึ้นกับว่าชอบสไตล์ของคันไหนมากกว่า


อย่างไรก็ตามไม่แน่ใจว่าเราไม่ถูกโฉลกกับ H6 หรือไม่ เนื่องจากระหว่างทางที่นั่งอยู่ มีจังหวะหนึ่งขับผ่านสี่แยกเกิดเสียงดังปังที่ล้อหน้าเหมือนรถตกหลุมใหญ่ แต่เมื่อหันไปดู ไม่เห็นอะไรที่เป็นหลุม ถ้ามีน่าจะเป็นเพียงรอยต่อถนนเท่านั้น สร้างความแปลกใจให้กับทั้งรถว่าเกิดอะไรขึ้น

ทั้งนี้ยังมีอีกหนึ่งครั้งเมื่อขับข้ามสะพานด้วยความเร็วสูงแต่เหยียบเบรกเพื่อชะลอตามปกติแล้ว เสียงดังปังลักษณะเดิมเกิดขึ้นอีก และตัวรถเมื่อลงคอสะพานมีอาการเด้งหลายครั้ง คล้ายกับอาการโช้คตายเหลือเพียงสปริงทำงานเท่านั้น ไม่แน่ใจว่าเกิดความผิดปกติอะไรขึ้น


ขณะที่เมื่อถึงจุดเปลี่ยนเราย้ายมาเป็นผู้ขับขี่ ได้ลองขึ้นสะพานลักษณะเดียวกันตรงจุดอื่น ๆ ตัวรถดูดซับแรงสะเทือนปกติ ทุกอย่างนุ่มนวลดี ภาพรวมเรียกได้ว่าเป็นรถขับนุ่ม หากใช้คำว่าย้วยดูจะใจร้ายเกินไป สุดท้ายระบบช่วงล่างไม่น่ากังวล มีเพียงแค่ 2 เหตุการณ์นี้เท่านั้นที่สร้างข้อสงสัยให้เรา โดยได้แจ้งให้ทีมงานเกรท วอลล์ ทราบเพื่อตรวจสอบแล้ว


ด้านอัตราเร่ง ยอดเยี่ยมแรงทันใจ การตอบสนองนุ่มนวลและความเร็วพุ่งขึ้นอย่างทันทีเรียบเนียนในทุกย่านความเร็ว แตกต่างจาก Jolion ชัด เพราะบางครั้งกดคันเร่งแล้วJolion มาช้ากว่าที่คาดเอาไว้ ส่วน H6 ทำผลงานได้ประทับใจกว่า แน่นอนแม้ว่าจะถูกพัฒนาบนพื้นฐานเดียวกันแต่มีจุดแตกต่างที่สำคัญคือ เครื่องยนต์ H6 มีเทอร์โบเข้ามาช่วยนั่นเอง


สำหรับระบบด้านความปลอดภัยช่วยควบคุมการขับขี่ ต้องยอมรับว่าทั้ง H6 และ Jolion ใส่มาให้อย่างครบถ้วน ส่วนการใช้งานฟังก์ชันและลูกเล่นต่าง ๆ ทั้งสองรุ่นต้องทำความเข้าใจ และจัดว่าใช้ยากพอสมควร ฉะนั้นแนะนำว่า ควรปรับเปลี่ยนหรือตั้งรายละเอียดข้อมูลที่ต้องการดูให้เรียบร้อยก่อนจะขับขี่

หน้าจอความบันเทิงและการควบคุม เทียบความลื่นไหลของการตอบสนองต้องรอเวลาประมวลผลนิดหน่อย ยังไม่ไวและเนียนเท่ากับรถญี่ปุ่น ซึ่งต้องยอมรับความจริงส่วนหนึ่งว่า ด้วยการใส่ระบบต่างๆ เข้าไปมาก มายทำให้ระบบทำงานช้า คล้ายกับการที่เราโหลดแอพต่างๆ เอาไว้ในมือถือจำนวนมาก การตอบสนองจะช้ากว่าอย่างไม่ต้องสงสัย




เหมาะกับใคร

การได้ขับทั้งสองรุ่นแบบต่อเนื่องกันยาว ๆ ทำให้เราทราบความรู้สึกที่ชัดเจนของการขับว่า Jolion เหมาะกับวัยรุ่นมากกว่า ส่วน H6 เหมาะกับครอบครัว ส่วนการเดินทางยาว ๆ ทำได้ดีและน่าประทับใจทั้งคู่ขึ้นกับว่า คุณชอบบุคลิกของรถแบบไหน ชอบนุ่มและใหญ่เลือก H6 ชอบเฟิร์มและกระทัดรัดเลือก Jolion ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่า ราคาที่แตกต่างกันในระดับ 2 แสนกว่าบาท ถือว่าเป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญ โดย H6 มีออปชันมากกว่าอย่างแน่นอน

การทำโป่งเทียมให้สัตว์ป่า




กำลังโหลดความคิดเห็น