โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ประกาศแผนการดำเนินกลยุทธ์ภายใต้หัวเรือใหญ่คนใหม่ “โนริอากิ ยามาชิตะ” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ที่จะนำทัพโตโยต้าลุยทำตลาดเมืองไทย พร้อมด้วย “สุรศักดิ์ สุทองวัน” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ที่ให้สัมภาษณ์ร่วมกันในการพบกับสื่อมวลชนเป็นครั้งแรก
เทคโนโลยี EV มีพร้อม
“ความนิยมของรถยนต์ไฟฟ้าเกิดขึ้นจากกระแสการลดการปล่อยก๊าซไอเสียอย่าง “คาร์บอนไดออกไซด์” ของทั่วโลก ซึ่งรถยนต์คือหนึ่งในผู้สร้างปริมาณไอเสียเป็นจำนวนมาก ดังนั้นการแก้ปัญหาดังกล่าวให้สำเร็จเราทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกัน” คำกล่าวของ โนริอากิ ยามาชิตะ เมื่อถูกถามถึงเรื่องรถยนต์ไฟฟ้า พร้อมกับการกล่าวเพิ่มเติมว่า
“โตโยต้า มีเทคโนโลยีด้านรถยนต์ไฟฟ้าที่พร้อมในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นตัวรถยนต์ที่หลากหลายรูปแบบ, โรงงานประกอบแบตเตอรี่ที่สามารถทำการผลิตได้ และโรงงานกำจัดแบตเตอรี่เก่า เรียกว่ามีทุกอย่างรองรับอย่างพร้อมสรรพในการทำตลาดแบบครบวงจร”
ทั้งนี้ สิ่งสำคัญที่โตโยต้าได้ทำให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนคือ พัทยาโมเดล โดยนำรถยนต์ไฟฟ้าทุกรุ่นมาทดลองขับที่พัทยาเสมือนจริงเพื่อศึกษาหาข้อมูลในการเลือกรถยนต์ไฟฟ้าที่เหมาะสมกับพฤติกรรมการใช้งานของลูกค้าชาวไทยมากที่สุด แต่ขอสงวนสิทธิ์ไม่สามารถเปิดเผยได้ว่าจะเอารถอะไร รุ่นไหน มาลงเมื่อไร
อย่างไรก็ตามแม้จะมีความพร้อมในทุกด้าน แต่โตโยต้าทำคนเดียวไม่ได้ และมองว่าจะต้องทำควบคู่กันไปคือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้รองรับได้อย่างเพียงพอ ประเด็นนี้ เป็นสิ่งที่ต้องร่วมมือกันระหว่างภาคเอกชนและรัฐบาลในการทำงาน โดยรัฐบาลจะต้องเป็นผู้นำด้วยนโยบายต่างๆ
“หากในอนาคตเมืองไทยมีความพร้อม โตโยต้าก็พร้อมที่จะนำรถยนต์ไฟฟ้า100% มาทำตลาดอย่างแน่นอน แต่ช่วงเวลานี้ เรามองว่า รถยนต์ไฮบริดมีความเหมาะสมกับพฤติกรรมการใช้งานของผู้บริโภคชาวไทยมากสุด รวมถึงเครื่องยนต์ 1.8 ไฮบริดของโตโยต้าได้รับการยอมรับว่ามีความทนทานด้วยเช่นเดียวกัน ที่สำคัญเราสามารถขายรถไฮบริดในประเทศกว่า 100,000 คัน ส่งออกกว่า 5,000 คัน " ยามาชิตะ กล่าว
มั่นใจทวงบัลลังก์เบอร์หนึ่งทุกตลาด
ปีที่แล้วโตโยต้ามียอดขายรวม 244,316 คัน ลดลง 26.5% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ยังคงครองอันดับหนึ่งในตลาดรถยนต์รวม แต่หากแยกย่อยลงไป ตลาดรถยนต์นั่งโตโยต้ามียอดขาย 68,152 คัน ลดลง42.1% ทำให้คู่แข่งอย่างฮอนด้าขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่ง แทนด้วยยอดขาย 77,419 คัน
ด้านตลาดรถปิกอัพขนาด 1 ตัน (รวมกระบะดัดแปลง) โตโยต้า มียอดขาย 149,635 คัน หล่นมาเป็นอันดับสองรองจากอีซูซุที่ทำได้ 168,467 คัน นับเป็นการหล่นจากทั้งสองตลาดพร้อมกันเป็นครั้งแรกในรอบนับสิบปี ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ยอดขายลดลงมาจากผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 ทำให้ตลาดหดตัวลง ผู้บริโภคชะลอการซื้อออกไปรวมถึงมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการขายใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับการป้องกันการแพร่ระบาดของภาครัฐ
“โควิด-19 ทำให้ตลาดเกิดการเรียนรู้ใหม่ บางมาตรการของเรายังไม่ดีพอ ต้องมีการเตรียมแผนงานใหม่ให้พร้อม มีการปรับมาใช้ระบบออนไลน์ มาร์เก็ตติ้ง ใช้เอสเอ็มเอสติดต่อลูกค้ามากขึ้น โดยในปีนี้คาดว่าตลาดรวมน่าจะอยู่ที่ระดับ 850,000 – 900,000 คัน เติบโตจากปีที่แล้วราว 7-14% โดยมีปัจจัยสำคัญคือ มาตรการดูแลการแพร่ระบาดโควิด-19 ของภาครัฐที่ทำได้ดี จึงเชื่อว่าตลาดรถยนต์จะดีขึ้นในปีนี้” ยามาชิตะกล่าว
สำหรับเป้าหมายการขายของปี 2564 โตโยต้าตั้งเป้าหมายอยู่ระหว่าง 280,000 - 300,000 คัน หรือคิดเป็นยอดขายเพิ่มขึ้น 15 – 20% จากปีที่ผ่านมา คิดเป็นส่วนแบ่งการตลาด 33.3% แบ่งเป็นรถยนต์นั่ง 82,500-92,000 คัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ 197,500-208,000 คัน (รถปิกอัพ 1 ตัน 168,500-181,000คัน)
ส่วนยอดขายสะสมสองเดือนแรกของปี 2564 ตลาดรวม โตโยต้า มียอดขายทั้งสิ้น 33,655 คัน ลดลง13.3% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ครองส่วนแบ่งตลาด 29.5% ตลาดรถยนต์นั่ง 9,129 คัน ลดลง 31.1% และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ 24,496 คัน ลดลง 4.2% (เฉพาะรถปิกอัพ 1 ตัน รวมกระบะดัดแปลง 20,275 คัน ลดลง 9.4%)
“แม้ตัวเลขของเราจะยังตามคู่แข่งอยู่ แต่เชื่อว่าสถานการณ์น่าจะดีขึ้น มีการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้สดใหม่อย่างต่อเนื่อง รวมถึงเน้นการทำตลาดออนไลน์ พร้อมกับการออกแพ็คเกจใหม่ให้ง่ายต่อการซื้อมากกว่าเดิม รวมถึงการร่วมมือกับผู้แทนจำหน่ายจัดกิจกรรมเพื่อให้เข้าถึงลูกค้าโดยตรง ซึ่งได้รับผลตอบรับที่ดี ผู้แทนจำหน่ายมีความเชื่อมั่นว่ายอดขายจะดีขึ้นอย่างแน่นอน” สุรศักดิ์ กล่าว
สำหรับการแข่งขันในตลาดรถยนต์อีโคคาร์ของไทยมีความรุนแรงมาก เนื่องจากเป็นตลาดใหญ่ของลูกค้าที่จะซื้อรถคันแรก และคู่แข่งต่างมีการเปิดตัวสินค้าใหม่ออกสู่ตลาดด้วย ดังนั้นโตโยต้า จึงมีการเปิดตัว ยาริส และเอทีฟ เพลย์ รุ่นตกแต่งพิเศษ ซึ่งหลังเปิดตัวได้รับกระแสการตอบรับที่ดีจากลูกค้าจำนวนไม่น้อย
ปัญหาภายนอกรุม มั่นใจรับมืออยู่
หลังจากที่มีกระแสข่าวออกมาจาก โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชัน ซึ่งรายงานต่อตลาดหลักทรัพย์ของประเทศสหรัฐอเมริกาว่า มีความเป็นไปได้ของบริษัทลูกของโตโยต้าในประเทศไทยที่จะกระทำการละเมิดกฎหมายด้านการติดสินบนของสหรัฐอเมริกา ประเด็นนี้ทางผู้บริหารของโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทยได้ให้ความเห็นว่า พร้อมให้ความร่วมมือในการตรวจสอบ
“บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย มีการตรวจสอบภายในอย่างเข้มงวดมาโดยตลอด และเมื่อบริษัทแม่มีการแถลงดังกล่าวออกไป เรายินดีให้ความร่วมมือในการตรวจสอบครั้งนี้อย่างเต็มที่” ยามาชิตะ กล่าว โดยยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับการกระทำใด
ขณะที่อีกหนึ่งปัญหาของอุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลกกำลังประสบอยู่คือ การขาดแคลนชิ้นส่วน เซมิคอนดักเตอร์ ทำให้บริษัทผู้ผลิตรถยนต์หลายราย ไม่สามารถผลิตรถเพื่อส่งมอบให้กับลูกค้าได้ ซึ่งปัญหานี้ โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ระบุว่าสามารถจัดการได้
“โตโยต้า ไม่ได้ผลกระทบใดๆ จากปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วน ต้องชื่นชมฝ่ายจัดซื้อของเราที่สามารถดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี แผนการผลิตและการลงทุนต่างๆ ยังคงเดินหน้าไปตามที่กำหนดเอาไว้ เพื่อบรรลุเป้าหมายการเป็นอันดับ 1 ในทุกตลาด” ยามาชิตะ กล่าว
ถึงบรรทัดนี้ นับว่าเป็นอีกหนึ่งปีที่ยากลำบากสำหรับพี่ใหญ่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยต้องเจอปัจจัยลบทั้งภายในและภายนอก จึงกลายมาเป็นบททดสอบสำคัญอย่างยิ่งสำหรับ “โนริอากิ ยามาชิตะ” นายใหญ่คนใหม่ที่เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งท่ามกลางภาวะวิกฤตเช่นนี้ คงต้องจับตาดูว่าสุดท้ายแล้ว โตโยต้า จะกลับมายืนหนึ่งบนบัลลังก์ 3 มงกุฎได้เหมือนเดิมหรือไม่